พระคณาจารย์จีนธรรมปัญญาจริยาภรณ์ (เย็นเชี้ยว)
พระคณาจารย์จีนธรรมปัญญาจริยาภรณ์ (เย็นเชี้ยว) | |
---|---|
仁晁 | |
ส่วนบุคคล | |
เกิด | สุทธิธรรม โพธิวิสุทธิธรรม พ.ศ. 2483 เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร |
มรณภาพ | 25 ตุลาคม พ.ศ. 2558 (75 ปี) |
ศาสนา | ศาสนาพุทธ |
บุพการี |
|
นิกาย | มหายาน |
สาย | คณะสงฆ์จีนนิกายแห่งประเทศไทย |
ตำแหน่งชั้นสูง | |
ที่อยู่ | วัดมังกรกมลาวาส กรุงเทพมหานคร |
บรรพชา | พ.ศ. 2502 สำนักสงฆ์หลับฟ้า |
อุปสมบท | พ.ศ. 2503 วัดโพธิ์เย็น จังหวัดกาญจนบุรี |
ตำแหน่ง |
|
พระคณาจารย์จีนธรรมปัญญาจริยาภรณ์ (เย็นเชี้ยว)[1] (จีน: 仁晁) เป็นพระภิกษุนิกายมหายาน ชาวไทยเชื้อสายจีนกวางตุ้ง อดีตรองเจ้าคณะใหญ่คณะสงฆ์จีนนิกายแห่งประเทศไทย รองประธานคณะกรรมการสงฆ์จีนนิกาย อดีตเจ้าอาวาสวัดมังกรกมลาวาสรูปที่ 9 และอดีตรักษาการเจ้าอาวาสวัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์
ประวัติ
[แก้]พระคณาจารย์จีนธรรมปัญญาจริยาภรณ์ มีนามเดิมว่า สุทธิธรรม นามสกุลโพธิวิสุทธิธรรม เกิดในตระกูลแซ่เจียม เกิดเมื่อปีพ.ศ. 2483 มีภูมิลำเนาเดิมอยู่เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร บิดาท่านชื่อ นายยุ่นฮะ แซ่เจียม มารดาท่านชื่อ นางซิ้วเกียว แซ่ลี้ เชื้อชาติจีน (จีนแต้จิ๋ว) มณฑลกวางตุ้ง สัญชาติไทย
ท่านเจ้าคุณเมื่อครั้งเป็นเด็กชายสุทธิธรรมท่านได้ฟังธรรมจากพระมหาคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตร (โพธิ์แจ้ง) ท่านเกิดศรัทธาปสาทะในเนกขัมมวิสัย จึงถวายตัวเป็นศิษย์ ต่อมาได้บรรพชาเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๒ ณ สำนักสงฆ์หลับฟ้า พระนคร และอุปสมบทเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๓ ณ วัดโพธิ์เย็น อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี โดยมีพระมหาคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตร (โพธิ์แจ้ง) เป็นพระอุปัชฌาย์ มีหลวงจีนคณาณัติจีนพรต (เย็นบุญ) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และมีหลวงจีนธรรมรสจีนศาสน์ (ซิวแจ๋) เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาทางธรรมว่า เย็นเชี้ยว
หลังจากท่านได้ก้าวสู่ร่มกาสาวพัสตร์แล้ว ได้ตั้งปณิธานมอบกายถวายชีวิตแด่พระพุทธศาสนา ตั้งใจบำเพ็ญสมณธรรม สำรวมอินทรีสังวร เคร่งครัดในศีลจารวัตรพระวินัย ศึกษาพระธรรมคำภีร์จนแตกฉาน เอาใจใส่ศาสนกิจของคณะสงฆ์ ปรนนิบัติรับใช้พระอุปัชฌาย์ ด้วยคุณธรรมอันเป็นสัทธิวิหาริกพึงกระทำ น้อมนำการประพฤติปฏิบัติจริยาวัตรที่งดงามตามที่พระอุปัชฌาย์สั่งสอนอย่างเคร่งครัด สืบทอดปณิธานแห่งบูรพาจารย์ มายึดถือปฏิบัติด้วยสัมมาทิฎฐิ สมดังมหาปณิธานที่ท่านได้ปรารภไว้ว่า[2]
"ควรเอาพุทธจิตมาเป็นจิตของตน เอาปณิธานอันแน่วแน่ของครูบาอาจารย์ มาเป็นดังปณิธานของตน"
ตลอดชีวิตการครองสมณเพศ ท่านเจ้าคุณเป็นพระนักพัฒนาที่ให้ความสำคัญด้านการศึกษาของคณะสงฆ์จีนนิกาย โดยเป็นผู้ก่อตั้ง โรงเรียนมังกรกมลาวาสวิทยาลัย ซึ่งเป็นโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา แห่งแรกของคณะสงฆ์จีนนิกายในประเทศไทย และได้ประสานความร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา เปิดการเรียนการสอนสาขาภาษาจีน ในคณะศิลปศาสตรบัณฑิต เพื่อให้พระภิกษุ สามเณร ได้ศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา และสนับสนุนทุนการศึกษาอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งบริจาคเงินแก่องค์กรและหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลืองานสาธารณะกุศล ที่สำคัญยังเป็นผู้ก่อตั้งวัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์ฯ หรือวัดเล่งเน่ยยี่ 2 เพื่อเป็นพุทธสถานให้สาธุชนได้ปฏิบัติธรรม และเป็นโรงเรียนพระปริยัติธรรม ไทย-จีน ทั้งนี้ก่อนมรณภาพท่านได้ริเริ่มโครงการก่อสร้างสถาบันอุดมศึกษาระดับนานาชาติ ของคณะสงฆ์จีนนิกาย ที่เน้นสอนภาษาจีน ณ วัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์ฯ
มรณภาพ
[แก้]หลังตรุษจีน ปีพ.ศ. 2558 เจ้าคุณพระคณาจารย์จีนธรรมปัญญาจริยาภรณ์ (เย็นเชี้ยว) มีอาการอาพาธโรคลำไส้อักเสบที่เคยรับการผ่าตัดมาแล้วกำเริบ ได้เข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลกรุงเทพ ท่านเจ้าคุณมรณภาพลงอย่างสงบเมื่อวันอาทิตย์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2558 เวลา 2 นาฬิกา 7 นาที สิริอายุ 76 ปี พรรษา 56 ได้รับพระราชทานหีบทองทึบประกอบเกียรติยศ ตามสมณศักดิ์เทียบพระราชาคณะชั้นเทพพิเศษ พระราชทานน้ำหลวงสรงสรีระสังขาร โดยมี สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ)ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชในขณะนั้น เป็นผู้แทนพระองค์ในการพระราชทานน้ำหลวงสรงศพ ณ วัดมังกรกมลาวาส วันอาทิตย์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2558 เวลา 17 นาฬิกา [3]
วันเสาร์ที่ 12 และวันอาทิตย์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2558 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดบำเพ็ญกุศล 50 วัน พระราชทานศพ
วันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก(อัมพร อมฺพโร) เสด็จเป็นประธานประกอบพิธีบำเพ็ญกุศลบรรจุศพเจ้าคุณพระคณาจารย์จีนธรรมปัญญาจริยาภรณ์ (เย็นเชี้ยว) ณ วัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์ [4]
วันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 เวลา 18 นาฬิกา 12 นาที สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปยัง เจดีย์ธรรมปัญญาจริยานุสรณ์ วัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์ คณะสงฆ์จีนนิกายรังสรรค์ หรือ วัดเล่งเน่ยยี่ 2 อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี ในการพระราชทานดินบรรจุศพ พระคณาจารย์จีนธรรมปัญญาจริยาภรณ์ ( เย็นเชี้ยวมหาเถระ) [5]
ตำแหน่งบริหารปกครอง
[แก้]- พ.ศ. 2511 เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดโพธิ์แมนคุณาราม
- พ.ศ. 2512-2530 เป็นกรรมการสงฆ์จีนนิกาย
- พ.ศ. 2517 เป็นรักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดบำเพ็ญจีนพรต เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร และรักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดโพธิทอง อำเภอบางบัวทอง นนทบุรี
- พ.ศ. 2518 เป็นพระอุปัชฌาย์จีนนิกาย และเป็นรองปลัดซ้าย
- พ.ศ. 2519 เป็นรักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดโพธิทัตตาราม อำเภอศรีราชา ชลบุรี
- พ.ศ. 2520 เป็นรองเจ้าอาวาสวัดมังกรกมลาวาส
- พ.ศ. 2523 เป็นเจ้าอาวาสวัดมังกรกมลาวาส
- พ.ศ. 2525 เป็นผู้ช่วยเจ้าคณะใหญ่จีนนิกาย
- พ.ศ. 2530 เป็นรองเจ้าคณะใหญ่จีนนิกาย และ รองประธานและเลขานุการคณะกรรมการสงฆ์จีนนิกาย
- พ.ศ. 2542 เป็นรักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์
สมณศักดิ์
[แก้]- พ.ศ. 2511 ได้รับแต่งตั้งเป็นหลวงจีนปลัด (เย็นเชี้ยว)
- พ.ศ. 2518 ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์เป็น หลวงจีนธรรมนันท์จีนประพัทธ์ รองปลัดซ้ายจีนนิกาย [6]
- พ.ศ. 2525 ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์เป็น พระอาจารย์จีนวินยานุกร ผู้ช่วยเจ้าคณะใหญ่จีนนิกาย[7] (เสมอพระครูสัญญาบัตรชั้นพิเศษ)
- พ.ศ. 2530 ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์เป็น พระคณาจารย์จีนธรรมคณาธิการ ไพศาลสมณกิจ รองเจ้าคณะใหญ่จีนนิกาย ตั้งคณานุกรมได้ 3 รูป[8] (เสมอพระราชาคณะชั้นสามัญ)
- พ.ศ. 2535 ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์เป็น พระคณาจารย์จีนธรรมวิริยาจารย์ ไพศาลสมณกิจ ตั้งคณานุกรมได้ 4 รูป[9] (เสมอพระราชาคณะชั้นราช)
- พ.ศ. 2539 ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์เป็น พระคณาจารย์จีนธรรมวิริยาจารย์ ไพศาลสมณกิจ ประสิทธิ์สิริมงคลคุณาภิวัฒน์ ตั้งคณานุกรมได้ 5 รูป[10] (เสมอพระราชาคณะชั้นเทพ)
- พ.ศ. 2542 ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนสมณศักดิ์เป็น พระคณาจารย์จีนธรรมปัญญาจริยาภรณ์ ไพศาลสุนทรสมณกิจ ประสิทธิ์สิริมงคลคุณาภิวัฒน์ พุทธบริษัทจีนวิเนตา มีคณานุศักดิ์ตั้งคณานุกรมได้ 5 รูป[11] (เสมอพระราชาคณะชั้นเทพพิเศษ)
อ้างอิง
[แก้]- ↑ dhammajariya.blogspot
- ↑ dhammajariya.blogspot
- ↑ Nationtv
- ↑ เว็บไซด์จังหวัดนนทบุรี[ลิงก์เสีย]
- ↑ ข่าวในพระราชสำนัก[ลิงก์เสีย]
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์บรรพชิตจีนนิกาย, ฉบับพิเศษ, เล่ม 92 ตอนที่ 263, 26 ธันวาคม 2518, หน้า 45
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์บรรพชิตจีนนิกาย, ฉบับพิเศษ, เล่ม 99 ตอนที่ 184, 17 ธันวาคม 2525, หน้า 37
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์บรรพชิตจีนนิกาย, ฉบับพิเศษ, เล่ม 104 ตอนที่ 253, 5 ธันวาคม 2530, หน้า 62
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์บรรพชิตจีนนิกาย, ฉบับพิเศษ, เล่ม 109 ตอนที่ 155, 5 ธันวาคม 2535, หน้า 64
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์บรรพชิตจีนนิกาย, เล่ม 113 ตอนที่ 23 ข, 5 ธันวาคม 2539, หน้า 68
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์บรรพชิตจีนนิกาย, เล่ม 116 ตอนที่ 23 ข, 27 ธันวาคม 2542, หน้า 55