ป. อินทรปาลิต
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
ปรีชา อินทรปาลิต | |
---|---|
เกิด | 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2453 ตำบลหลานหลวง อำเภอดุสิต จังหวัดพระนคร |
เสียชีวิต | 25 กันยายน พ.ศ. 2511 (58 ปี) บ้านซอยโชคชัย กรุงเทพมหานคร |
นามปากกา | ป. อินทรปาลิต |
อาชีพ | นักเขียน |
สัญชาติ | ไทย |
ผลงานที่สำคัญ | พล นิกร กิมหงวน (สามเกลอ) |
คู่สมรส | นางไข่มุกด์ อินทรปาลิต นางปราณี อินทรปาลิต |
ลายมือชื่อ |
ป. อินทรปาลิต เป็นนามปากกาของ ปรีชา อินทรปาลิต (12 พฤษภาคม พ.ศ. 2453 - 25 กันยายน พ.ศ. 2511) เป็นนักเขียน แนวหัสนิยาย บันเทิง ผลงานที่สร้างชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก คือ พล นิกร กิมหงวน หรือ สามเกลอ
ประวัติ
[แก้]ปรีชา อินทรปาลิต เป็นบุตรชายคนที่สองของ พันโท พระวิสิษฐพจนการ (อ่อน อินทรปาลิต) และนางชื่น วิสิษฐพจนการ เกิดที่บ้านตำบลหลานหลวง อำเภอดุสิต จังหวัดพระนคร เมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น 4 ค่ำ เดือน 6 ปีจอ ตรงกับวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2453
พี่น้อง
[แก้]ปรีชา อินทรปาลิต มีพี่น้องร่วมบิดามารดา จำนวน 7 คน ได้แก่
- นางสาลี่ อรรถยุกติ
- นายปรีชา อินทรปาลิต คือ ป. อินทรปาลิต
- นางมาลัย อินทรปาลิต
- นายอุทัย อินทรปาลิต
- นายอรุณ อินทรปาลิต
- นายอาภรณ์ อินทรปาลิต
- นายโกมล อินทรปาลิต
ครอบครัว
[แก้]ป. อินทรปาลิตได้สมรสกับนางสาวไข่มุกด์ ระวีวัฒน์ คุณข้าหลวงของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐาสารี เมื่อ พ.ศ. 2472 มีธิดาด้วยกัน 2 คน คือ
- นายฤทัย อินทรปาลิต
- นางฤดี (อินทรปาลิต) เคนนี่
นางไข่มุกด์ ภรรยา นอกจากจะปฏิบัติหน้าที่แม่บ้านและเป็นแม่ของลูก ๆ แล้ว เธอยังเป็นนักอ่านนวนิยายอย่างแท้จริงคนหนึ่ง เป็นผู้มีความรอบรู้เรื่องต่าง ๆ เป็นอย่างดี ฉะนั้น จึงมีส่วนช่วยเหลือและเป็นกำลังใจให้แก่ ป. อินทรปาลิตตลอดมา จนกระทั่งเธอได้ถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคหัวใจและความดันโลหิตสูง เมื่อ พ.ศ. 2491
ต่อมา ป. อินทรปาลิต สมรสกับนางปราณี อินทรปาลิต ไม่มีบุตรด้วยกัน
ชีวิตการประพันธ์
[แก้]ด้วยความปรารถนาของ พันโท พระวิสิษฐพจนการ (อ่อน อินทรปาลิต) ผู้เป็นบิดา ที่จะให้บุตรชายได้เป็นนายทหารเหมือนอย่างตัวท่าน เมื่อปรีชา อินทรปาลิต ได้รับการศึกษาชั้นมัธยมต้นแล้ว จึงได้เข้าเรียนในโรงเรียนนายร้อยทหารบก (ปัจจุบัน คือ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า) ซึ่งขณะนั้นยังแยกเป็นโรงเรียนนายร้อยประถมและมัธยม เป็นนักเรียนร่วมรุ่นกับนายทหาร รุ่น 2474
แต่เนื่องจากปรีชา เป็นผู้มีนิสัยชอบความสนุกสนานและรักชีวิตอิสระมาตั้งแต่เยาว์วัย จึงไม่อาจจะศึกษาต่อให้สำเร็จได้ ด้วยความเป็นผู้ชอบอ่านหนังสือ และได้มีโอกาสรู้จักกับนักประพันธ์ผู้ใหญ่หลายท่านในสมัยที่บิดาเป็นทั้งอาจารย์และบรรณาธิการหนังสือ "เสนาศึกษาและแผ่วิทยาศาสตร์" ทำให้มีใจรักการประพันธ์และได้หัดเขียนเรื่องสั้น ๆ ตั้งแต่บัดนั้น เมื่อลาออกจากโรงเรียนแล้วได้เข้ารับราชการในกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม ต่อมาได้โอนไปอยู่กองทาง กรมโยธาเทศบาล ได้ใช้เวลาว่างเขียนหนังสืออยู่เสมอ และได้เคยส่งไปลงในหนังสือพิมพ์บางฉบับโดยมิได้รับผลประโยชน์ตอบแทน นอกจากความภูมิใจจากเรื่องสั้น ๆ กลายเป็นนวนิยายขนาดเล่มเดียวจบในสมัยนั้น เขียนแล้วเก็บไว้เป็นหลาย ๆ เรื่อง ซึ่งพี่ ๆ น้อง ๆ ก็ได้อ่านกันทุกเรื่อง และทุกคนก็ลงความเห็นพ้องต้องกันว่าเรื่อง "นักเรียนนายร้อย" เป็นเรื่องที่เขียนได้ดีที่สุด อาจจะเป็นเพราะเจ้าตัวมีแรงบันดาลใจมากกว่าเรื่องอื่น ด้วยเลือดเข้มของนักเรียนนายร้อยยังซ่อนเร้นอยู่ในห้วงลึกของจิตใจ และด้วยเรื่องสนับสนุนของวงศ์ญาติ นางไข่มุกด์ อินทรปาลิต ผู้เป็นภรรยา จึงได้นำต้นฉบับ "นักเรียนนายร้อย" ไปส่งยังสำนักพิมพ์เพลินจิตต์ ของนายเวช กระตุฤกษ์ เจ้าของสำนักพิมพ์ได้รับไว้ด้วยความยินดี เมื่อพิมพ์ออกมาจำหน่ายปรากฏว่าหนังสือขายได้เป็นจำนวนสูงในเวลาอันรวดเร็ว และเป็นเรื่องที่กล่าวขวัญในหมู่นักอ่านทั่วไป นับว่า "นักเรียนนายร้อย" เป็นผู้มอบความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ในความเป็นนักประพันธ์ให้แก่ ป. อินทรปาลิต สำนักพิมพ์รีบส่งผู้แทนมาติดต่อขอซื้อเรื่องต่อไปโดยด่วน นับแต่นั้นเรื่อยมาเรื่องของ ป. อินทรปาลิต ก็ทะยอยออกสู่ตลาดเรื่อย ๆ สำนักพิมพ์อื่น ๆ ก็ติดต่อขอซื้อเรื่องอีกหลายต่อหลายแห่งด้วยกัน
การศึกษา
[แก้]ป. อินทรปาลิต เริ่มการศึกษาที่โรงเรียนโสมนัสและเรียนต่อที่โรงเรียนนายร้อยฝ่ายประถม รุ่นเดียวกับจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์และเมื่อเรียนถึงชั้นปีที่สองฝ่ายชั้นมัธยม เกิดความรู้สึกว่าไม่ชอบอาชีพทหาร จึงขอลาออกจากโรงเรียนนายร้อย แต่ระบุในอัตตชีวประวัติของ ป.อินทรปาลิต ที่เขียนด้วยตนเอง เปิดเผยว่า เรียนโรงเรียนนายร้อย รุ่นเดียวกับ จอมพล ถนอม กิตติขจร และ มี จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นรุ่นพี่ และตนเองเรียนตกซ้ำชั้น 2 ปี เพราะต้องการรอเรียนกับเพื่อน เลยต้องรีไทร์จากโรงเรียนนายร้อย
อาชีพการงาน
[แก้]ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
ผลงาน
[แก้]- นักเรียนนายร้อย
- เสือดำ
- เสือใบ
- ชุดสามเกลอ พล นิกร กิมหงวน
- ดาวโจร
อาการเจ็บป่วย และมรณกรรม
[แก้]ป. อินทรปาลิต ได้ล้มป่วยด้วยโรคเบาหวาน เมื่อ พ.ศ. 2498 ได้รับการดูแลรักษาพยาบาลจาก นายแพทย์เดวิด เคนนี่ ผู้เป็นบุตรเขย อาการของโรคในระยะปีแรก ๆ ก็ไม่ร้ายแรงอะไรนัก
ต่อมา ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2510 อาการป่วยของ ป. อินทรปาลิต กำเริบขึ้น ถึงกับต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ การป่วยครั้งนี้มีอาการทางหัวใจและโรคปอดเข้าแทรก คณะแพทย์ได้ทำการรักษาพยาบาลอย่างดีที่สุด ได้พักรักษาตัวอยู่ประมาณหนึ่งเดือน แพทย์ก็อนุญาตให้กลับบ้านได้ ต่อมาเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2511 อาการของโรคเดิมได้กำเริบขึ้น จึงได้กลับเข้ารักษาตัว ณ ที่เดิมอีก คราวนี้รักษาตัวนานถึงสองเดือนเศษ และเมื่อทุเลาก็ได้รับอนุญาตให้กลับบ้านได้อีกครั้งหนึ่ง เมื่อกลับมาอยู่บ้าน มีอาการกำเริบบ้างเป็นครั้งคราว แล้วก็หายไป เป็นเช่นนี้เสมอมา และเนื่องจากชีวิตในบั้นปลายของ ป. อินทรปาลิต ต้องอยู่บ้านตามลำพัง เพราะบุตรชายหญิงทั้งคู่ต้องทำงานประกอบอาชีพ และแยกไปมีครอบครัวกันแล้วทั้งสิ้น ทั้งปราณีผู้เป็นภรรยา ก็ทำงานอยู่ ณ ร้านจำหน่ายหนังสือ ไม่สามารถจะลาหยุดบ่อย ๆ ได้ อาการป่วยเรื้อรังเช่นนี้ ควรจะได้มีผู้ดูแลประจำอยู่ พอดีกับน้องสาวและน้องเขย (นายชูชัย พระขรรค์ชัย) ของภรรยา ได้แสดงความมืน้ำใจเอื้อเฟื้อ ขอรับ ป. อินทรปาลิต ไปพักอยู่ด้วยกันที่บ้านของตนที่ซอยโชคชัย เพื่อจะได้มีโอกาสช่วยดูแลพยาบาล เป็นการตอบแทนบุญคุณที่ ป. อินทรปาลิต ได้มีต่อครอบครัวของตนอย่างดียิ่งมาช้านาน ซึ่งน้องสาวของภรรยาให้ความคารวะพี่เขยเสมอด้วยบิดาตน
โดยปกติแล้ว ป. อินทรปาลิต เป็นผู้ไม่ยอมรับความช่วยเหลือจากใครง่าย ๆ หากด้วยความเอ็นดูน้องภรรยาที่ ป. อินทรปาลิต เคยอุปถัมภ์มาตั้งแต่เยาว์วัย จึงยอมรับการแสดงออกซึ่งความกตัญญูกตเวทิตานั้น โดยได้ย้ายไปอยู่ ณ บ้านหลังดังกล่าว เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2511 อย่างไรก็ดี ป. อินทรปาลิต เป็นผู้มีทิษฐิในการยืนอยู่เป็นตัวของตัวเองอย่างยิ่ง แม้จะเจ็บป่วยสักเพียงไรก็ยังสามารถหารายได้จากการเขียนหนังสือเลี้ยงครอบครัว อาจจะกล่าวได้ว่าตราบจนลมหายใจครั้งสุดท้าย โดยปราณีผู้เป็นภรรยาได้รับเงินค่าเรื่องจากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ในตอนเช้าของวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2511 และเมื่อเวลา 18.15 น. ของวันเดียวกัน ป. อินทรปาลิต ก็ได้ถึงแก่กรรมโดยสงบด้วยอาการหัวใจวาย จะมีใครทราบล่วงหน้าก็หาไม่ รวมสิริอายุได้ 58 ปี
ป. อินทรปาลิต ได้รับการฌาปนกิจศพ ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม กรุงเทพมหานคร เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2512
อ้างอิง
[แก้]- ครอบครัวอินทรปาลิต. หนังสืออนุสรณ์งานฌาปนกิจศพ นายปรีชา อินทรปาลิต ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม เมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2512. พระนคร : ประชุมช่าง, 2512.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- Samgler.org - พล นิกร กิมหงวน (สามเกลอ) ในรูปแบบหนังสืออิเล็กทรอนิกส์
- ป. อินทรปาลิต คนขายฝันผู้ยิ่งใหญ่ เก็บถาวร 2007-03-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน