บิวอิคก์
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
ประเภท | บริษัทลูก |
---|---|
อุตสาหกรรม | ยานยนต์ |
ก่อตั้ง | (ค.ศ. 1899 ภายใต้ชื่อ บริษัท บิวอิคก์ ออโต้-วิม แอนด์ เพาเวอร์) 19 พฤษภาคม ค.ศ. 1903 |
ผู้ก่อตั้ง | David Dunbar Buick |
สำนักงานใหญ่ | เมืองดีทรอยต์ รัฐมิชิแกน สหรัฐอเมริกา |
บุคลากรหลัก | เดวิด ดันบาร์ บิวอิคก์ |
ผลิตภัณฑ์ | รถยนต์หรูหรา |
บริษัทแม่ | เจเนรัลมอเตอร์ |
เว็บไซต์ | buick.com |
บิวอิคก์ หรือ บูอิค (อังกฤษ: Buick) เป็นยี่ห้อรถยนต์ระดับหรูของสหรัฐอเมริกาในเครือเจเนรัลมอเตอร์ (จีเอ็ม) รถยนต์บิวอิคก์มีจำหน่ายอย่างเป็นทางการในสหรัฐอเมริกา แคนาดา เม็กซิโก จีน และอิสราเอล บิวอิคก์ขึ้นชื่อเป็นยี่ห้อรถยนต์ที่เก่าแก่ที่สุดในสหรัฐอเมริกาที่ยังคงอยู่ รถยนต์ของบิวอิคก์เกือบทุกรุ่นยังมีส่วนคล้ายกับรถยนต์จากยี่ห้ออื่น ๆ ในเครือจีเอ็มทางด้านสถาปัตยกรรมของรถยนต์อีกด้วย
ประวัติ
[แก้]ยุคแรกเริ่ม
[แก้]บิวอิคก์เป้นยี่ห้อรถยนต์อเมริกันที่เก่าแก่ที่สุดที่ยังคงอยู่ และเป็นหนึ่งในยี่ห้อรถยนต์ที่เก่าแก่ที่สุดของโลกอีกด้วย บิวอิคก์ก่อตั้งภายใต้ชื่อ บริษัท บิวอิคก์ ออโต้-วิม แอนด์ เพาเวอร์ ในปี ค.ศ. 1899 โดยเป็นบริษัทผลิตเครื่องยนต์สันดาปภายในและรถยนต์ ภายหลังบริษัทถูกรวมเข้าด้วยกันเป็นบริษัท บิวอิคก์มอเตอร์ ในวันที่ 19 พฤษภาคม ค.ศ. 1903 โดย เดวิด ดันบาร์ บิวอิคก์ ในเมืองดีทรอยต์ รัฐมิชิแกน ต่อมาในปีนั้น เจมส์ เอช. ไวติง ได้ซื้อบริษัทไป ย้ายบริษัทไปที่ เมืองฟลินต์ รัฐมิชิแกน บ้านเกิดของเขา แล้วให้ วิลเลียม ซี. ดูแรนต์ มาดูแลบริษัทของเขาแทน ส่วน เดวิด บิวอิคก์ นั้นขายหุ้นทั้งหมดเพื่อแลกกับเงินเพียงเล็กน้อย แล้วเสียชีวิตในอีก 25 ปีต่อมา
บิวอิคก์ในยุคแรกเริ่ม
|
---|
ระหว่างปี ค.ศ. 1899 และ ค.ศ. 1902 นั้น วอลเทอร์ ลอเรนโซ มารร์ ได้สร้างรถต้นแบบสองคันที่เมืองดีทรอยต์ รัฐมิชิแกน มีเอกสารของรถต้นแบบปี ค.ศ. 1901 หรือ ค.ศ. 1902 ที่มีการบังคับคล้ายกับด้ามของหางเสือเรือนั้นคล้ายกับรถโอลด์สโมบิล เคิร์ฟด์ แดช ในกลางปี ค.ศ. 1904 รถต้นแบบอีกคันถูกสร้างขึ้นเพื่อทดสอบความทนทาน ซึ่งโน้มน้าวให้เจมส์ เอช. ไวติง เริ่มต้นการผลิตรถเพื่อขายให้กับประชาชนทั่วไป สถาปัตยกรรมของรถต้นแบบคันนี้ถูกใช้เป็นพื้นฐานของรถบิวอิคก์ โมเดลบี รถยนต์คันแรกของบิวอิคก์
บิวอิคก์ โมเดลบี รถยนต์คันแรกของบิวอิคก์ที่ผลิตมาเพื่อขายให้กับผู้คนทั่วไปนั้น ถูกประกอบขึ้นที่เมืองฟลินต์ รัฐมิชิแกน ในปี ค.ศ. 1904 ในปีแรกของการผลิตนั้น บิวอิคก์ได้ผลิตรถยนต์ได้เพียง 37 คัน โดยที่ไม่มีคันไหนสามารถรอดมาได้จนถึงทุกวันนี้ แต่ยังมีรถจำลองสองคันที่ยังมีอยู่ นั่นก็คือรถต้นแบบที่ใช้ทดสอบความทนทาน ปี ค.ศ. 1904 ถูกจัดแสดงไว้ที่ศูนย์วิจัยและจัดแสดงรถยนต์บิวอิคก์ที่เมืองฟลินต์ และรถโมเดลบีที่ถูกประกอบขึ้นใหม่โดยผู้ที่คลั่งไคล้รถยนต์บิวอิคก์ในรัฐแคลิฟอร์เนียเพื่อการฉลองครบรอบ 100 ปี ของบิวอิคก์ รถทั้งสองคันนี้ถูกประกอบขึ้นด้วยชิ้นส่วนจากรถยนต์บิวอิคก์ในสมัยนั้น รวมถึงใช้ชิ้นส่วนทดแทนที่ผลิตขึ้นมาใหม่อีกด้วย รถแต่ละคันใช้เครื่องยนต์บิวอิคก์ดั้งเดิมที่รอดมาได้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1904 ในช่วงแรก บิวอิคก์ถูกผลิตมาเพื่อจำลองห้องรับแขกบนรถยนต์ จึงถูกให้ฉายาว่า "เก้าอี้ยาวเคลื่อนที่แห่งอเมริกา" (อังกฤษ: "moving couch of America")
ระบบส่งกำลังและโครงรถยนต์ของโมเดลบีถูกใช้อย่างต่อเนื่องไปจนถึงบิวอิคก์ โมเดลเอฟ ปี ค.ศ. 1909 ความสำเร็จในช่วงแรกของบิวอิคก์นั้นเกิดจากการใช้เครื่องยนต์ระบบลิ้นเหนือสูบ ซึ่งถูกจดสิทธิบัตรโดยยูจีน ริชาร์ด และพัฒนาโดยเดวิด บิวอิคก์ รถบิวอิคก์ โมเดลเอฟนั้นใช้เครื่องยนต์ 2 สูบ ช่วงล้อ 87 นิ้ว และหนัก 1,800 ปอนด์ ความประสบผลสำเร็จของรถยนต์บิวอิคก์นั้นมีส่วนในการก่อตั้งของเจเนรัลมอเตอร์ จึงสามารถกล่าวได้ว่าแบบรถยนต์ของวอลเทอร์ มารร์ และยูจีน ริชาร์ด นั้นก่อให้เกิดบริษัทจีเอ็มขึ้นมา
การออกแบบของรถบิวอิคก์ปี ค.ศ. 1904 นั้นนับได้ว่าเป็นที่น่าพอใจแม้เทียบกับมาตรฐานปัจจุบัน เครื่องยนต์สูบนอน 2 สูบถูกจัดไว้อย่างสมดุล โดยมีแรงบิดต่อตัวรถในแบบตามยาว ทำให้แรงยกที่หน้ารถหายไป แทนที่จะเกิดแรงเคลื่อนไหวที่ไม่ต้องการทางด้านข้างของตัวรถ เครื่องยนต์ถูกจัดวางไว้ตรงกลางห้องเครื่อง ซึ่งเป็นจุดที่เหมาะสมที่สุดตามความคิดของผู้คนปัจจุบัน
วิลเลียม ดูแรนต์ ผู้มีทักษะการส่งเสริมโดยกำเนิด ได้พัฒนาบิวอิคก์จนกลายเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของสหรัฐอเมริกา จากเงินกำไรที่ได้จากการขายรถยนต์บิวอิคก์ วิลเลียม ดูแรนต์ได้เริ่มดำเนินการควบรวมบริษัทต่าง ๆ ที่เขาได้มาเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ แล้วตั้งชื่อบริษัทใหม่ของเขาว่าเจเนรัลมอเตอร์ ตอนแรก บริษัทลูกของจีเอ็มนั้นแข่งขันกันเอง วิลเลียม ดูแรนต์ ได้ยกเลิกระบบนั้น แล้วเปลี่ยนเป็นการจัดเรียงบริษัทลูกตามความต้องการของผู้คนในแต่ละชนชั้นแทน ในระบบใหม่นี้ บิวอิคก์อยู่เกือบบนสุด โดยมีเพียงคาดิลแลคที่มีเกียรติภูมิสูงกว่า บิวอิคก์ยังรักษาตำแหน่งเดิมในจีเอ็มจนถึงทุกวันนี้ กลุ่มลูกค้าที่บิวอิคก์มุ่งหมายไว้เป็นผู้คนที่มีฐานะร่ำรวยในระดับหนึ่ง แต่ไม่สามารถซื้อรถคาดิลแลคได้ หรือเป็นผู้ที่ไม่ชอบความโอ่อ่าของรถคาดิลแลคแต่ต้องการสิ่งที่เหนือกว่ารถทั่วไป
บิวอิคก์ได้เริ่มเข้าร่วมการแข่งรถในปี ค.ศ. 1909 แล้วชนะในการแข่งขันวันแรกที่อินเดียแนโพลิสมอเตอร์สปีดเวย์
ในปี ค.ศ. 1911 บิวอิคก์ได้แนะนำรถยนต์แบบตัวรถปิดหมด ซึ่งล้ำหน้าฟอร์ดไป 4 ปี ในปี ค.ศ. 1929 บิวอิคก์ได้เปิดตัวยี่ห้อพี่น้อง ชื่อ มาร์เควตต์ เพื่อเติมเต็มช่องโหว่ของราคาระหว่างบิวอิคก์กับโอลด์สโมบิล เนื่องด้วยแผนงานยี่ห้อสหายของเจเนรัลมอเตอร์ อย่างไรก็ตาม รถมาร์เควตต์ก็ถูกยกเลิกไปในปี ค.ศ. 1930 รถบิวอิคก์ปี ค.ศ. 1931 ทุกคันนั้นใช้เครื่องยนต์บิวอิคก์สูบแถวเรียง 8 สูบแบบลิ้นเหนือสูบและการส่งกำลังแบบประสานกันยกเว้นรุ่นซีรีส์ 50 เครื่องยนต์นี้มีสามความจุให้เลือก ขนาด 220 ลูกบาศก์นิ้ว 77 แรงม้าเพลา มาพร้อมกับรุ่นซีรีส์ 50 ขนาด 272 ลูกบาศก์นิ้ว 90 แรงม้าเพลา มาพร้อมกับรุ่นซีรีส์ 60 ส่วนรุ่นซีรีส์ 80 และ 90 นั้นใช้ขนาด 344 ลูกบาศก์นิ้ว 104 แรงม้าเพลา คันเร่งไฟที่อยู่บนแกนพวงมาลัยถูกแทนที่ด้วยกลไกเร่งไฟสุญญากาศอัตโนมัติ แม้ว่าคันงัดฉุกเฉินถูกติดตั้งไว้บนแผงหน้าปัดแล้ว ในปี ค.ศ. 1939 บิวอิคก์เป็นผู้ผลิตรถยนต์รายแรกที่เริ่มทำสัญญาณไฟเลี้ยว รถบิวอิคก์ปี ค.ศ. 1939 ทุกคันมีคันเกียร์ติดตั้งไว้บนแกนพวงมาลัย
ในคริสต์ทศวรรษ 1930 รถยนต์บิวอิคก์เป็นที่นิยมมากในราชวงศ์อังกฤษ โดยเฉพาะสมเด็จพระเจ้าเอดเวิร์ดที่ 8 พระองค์ได้ทรงนำเข้าและใช้รถยนต์แมคลาฟลิน-บิวอิคก์ ซึ่งเป็นยี่ห้อระดับสูงสุดของจีเอ็มในแคนาดาในสมัยนั้น พระองค์ได้ใช้รถแมคลาฟลิน-บิวอิคก์ เพื่อการเดินทางท่องเที่ยวไปตามแนวชายฝั่งของแคนาดาในปี ค.ศ. 1939
ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง
[แก้]คริสต์ทศวรรษ 1940 - 1970
|
---|
คริสต์ทศวรรษ 1940
[แก้]- ค.ศ. 1942 — ผลิตรถถัง เอ็ม 18 เฮลแคท
- ค.ศ. 1948 — เกียร์อัตโนมัติไดนาโฟลว์ถูกเสนอขายเป็นครั้งแรก
- ค.ศ. 1949 — เปิดตัวช่องลมเวนทิพอร์ต
คริสต์ทศวรรษ 1950
[แก้]- ค.ศ. 1953 — บิวอิคก์ครบรอบ 50 ปี และการเปิดตัวเครื่องยนต์บิวอิคก์สูบวี 8 สูบและรถบิวอิคก์ โรดมาสเตอร์ สกายลาร์ค
- ค.ศ. 1955 — บิวอิคก์ทำยอดขายที่ดีที่สุดในสมัยนั้นด้วยยอดขาย 738,814 คัน
- ค.ศ. 1957 — เปลี่ยนเสื้อสูบเป็นแบบใหม่ให้กับเครื่องยนต์ขนาด 364 ลูกบาศก์นิ้ว เปิดตัวระบบรองรับล้อหน้าแบบใช้ลูกหมาก ดุมเบรกของรถบิวอิคก์ โรดมาสเตอร์มีครีบอะลูมิเนียมเพิ่มเข้าไป
- ค.ศ. 1959 — เปิดตัวรถบิวอิคก์ อิเล็กตรา อินวิคตา และเลอเซเบอร์ และเครื่องยนต์สูบวี 8 สูบขนาด 401 ลูกบาศก์นิ้ว (ถูกใช้ในรถอิเล็กตราและอินวิคตา)
คริสต์ทศวรรษ 1960
[แก้]- ค.ศ. 1961 — รถสกายลาร์ค กลับมาเป็นรุ่นที่เหนือกว่าของรถบิวอิคก์ สเปเชียล ซึ่งเป็นรถยนต์นั่งขนาดเล็ก กับเครื่องยนต์สูบวี 8 สูบอะลูมิเนียมขนาด 251 ลูกบาศก์นิ้ว
- ค.ศ. 1962 — เปิดตัวรถบิวอิคก์ ไวลด์แคท ในรูปแบบรุ่นย่อยของรถอินวิคตา รถบิวอิคก์ สเปเชียล ได้รางวัลรถยนต์มอเตอร์เทรนด์แห่งปี
- ค.ศ. 1963 — รถบิวอิคก์ ริเวียรา แยกตัวออกมาเป็นรุ่นของมันเองโดยมีเครื่องยนต์สูบวี 8 สูบขนาด 425 ลูกบาศก์นิ้วเป็นตัวเลือก รถบิวอิคก์ ไวลด์แคท แยกตัวออกมาเป็นรุ่นของมันเอง
คริสต์ทศวรรษ 1970
[แก้]- ค.ศ. 1970 — รายการเหมาเพิ่มสมรรถนะจีเอสเอ็กซ์ถูกเสนอครั้งแรกบนรถบิวอิคก์ แกรน สปอร์ต (จีเอส) 455
- ค.ศ. 1971 — เปิดตัวรถบิวอิคก์ เซนจูเรียนและริเวียราทรง "หางเรือ" (อังกฤษ: "boat-tail")
- ค.ศ. 1973 — เปิดตัวรถบิวอิคก์ อะพอลโล และบิวอิคก์ รีกัล ในรูปแบบรุ่นย่อยของรถเซนจูรี
- ค.ศ. 1975 — เปิดตัวรถบิวอิคก์ สกายฮอว์ค และบิวอิคก์ พาร์ค แอฟวะนิว ในรูปแบบรายการเหมาของรถอิเล็กตรา 225 ลิมิเต็ด
- ค.ศ. 1977 — บิวอิคก์ทำยอดขายที่ดีที่สุดในสมัยนั้นด้วยยอดขาย 773,313 คัน
- ค.ศ. 1978 — บิวอิคก์ครบรอบ 75 ปี และการเปิดตัวเครื่องยนต์บิวอิคก์สูบวี 6 สูบระบบขับเคลื่อนแบบเทอร์โบในรถรีกัลรุ่นสปอร์ตคูเป้ บิวอิคก์ทำยอดขายที่ดีที่สุดในสมัยนั้นด้วยยอดขาย 795,316 คัน
- ค.ศ. 1979 — รถบิวอิคก์ ริเวียรา เอส-ไทป์ ได้รางวัลรถยนต์มอเตอร์เทรนด์แห่งปี
คริสต์ทศวรรษ 1980 - 1990
|
---|
คริสต์ทศวรรษ 1980
[แก้]- ค.ศ. 1980 — เครื่องยนต์ดีเซลโอลด์สโมบิลกลายเป็นตัวเลือกในรถบิวอิคก์บางรุ่น เปิดตัวรถบิวอิคก์ ซัมเมอร์เซ็ทในรูปแบบรายการเหมาของรถรีกัล ลิมิเต็ด
- ค.ศ. 1981 — รายการเหมาเพิ่มสมรรถนะที-ไทป์ถูกเสนอครั้งแรกบนรถริเวียรา
- ค.ศ. 1982 — รายการเหมาเพิ่มสมรรถนะแกรนด์ เนชันแนลถูกเสนอครั้งแรกบนรถรีกัล รถริเวียราเปิดประทุนถูกผลิตขึ้นเป็นครั้งแรก
- ค.ศ. 1983 — บิวอิคก์ทำยอดขายที่ดีที่สุดในสมัยนั้นด้วยยอดขาย 810,435 คัน
- ค.ศ. 1984 — รถยนต์ประจำการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อนปี ค.ศ. 1984 บิวอิคก์ทำยอดขายที่ดีที่สุดในสมัยนั้นด้วยยอดขาย 906,626 คัน
- ค.ศ. 1985 — รถบิวอิคก์ ซัมเมอร์เซ็ทแยกตัวออกมาเป็นรุ่นของมันเอง บิวอิคก์ทำยอดขายที่ดีที่สุดในสมัยนั้นด้วยยอดขาย 915,336 คัน
- ค.ศ. 1987 — การผลิตและเสนอขายรายการเหมาเพิ่มสมรรถนะจีเอ็นเอ็กซ์ในรุ่นรีกัลในเวลาหนึ่งปี
- ค.ศ. 1988 — รถยนต์ประจำนักกีฬาโอลิมปิกทีมชาติสหรัฐอเมริกา รถบิวอิคก์ ริอัตตา 2 ที่นั่งถูกผลิตขึ้นเป็นครั้งแรก
- ค.ศ. 1989 — เปิดตัวรายการเหมาอุลตร้าสำหรับรถอิเล็กตรา พาร์ค แอฟวะนิว
คริสต์ทศวรรษ 1990
[แก้]- ค.ศ. 1990 — รถริอัตตาเปิดประทุนถูกผลิตขึ้นเป็นครั้งแรก
- ค.ศ. 1991 — รถบิวอิคก์ พาร์ค แอฟวะนิวแยกตัวออกมาเป็นรุ่นของมันเอง รถบิวอิคก์ โรดมาสเตอร์ถูกผลิตขึ้นอีกครั้งหลังจากที่หายไป 33 ปี
- ค.ศ. 1999 — รถริเวียรา ซิลเวอร์ แอร์โรว์ถูกผลิตขึ้นในจำนวนจำกัดเพื่อเฉลิมฉลองรถต้นแบบคันเดิมจากปี ค.ศ. 1963
คริสต์ทศวรรษ 2000 — 2010
[แก้]บิวอิคก์ในยุคคริสต์ทศวรรษ 2000 — 2010
|
---|
หลังเวลาผ่านไป จำนวนรุ่นรถยนต์บิวอิคก์ลดลง ทั้งรถยนต์ขนาดเล็กและรถยนต์สมรรถนะสูงก็ถูกทอดทิ้งไปด้วยกัน อย่างไรก็ตาม บิวอิคก์ก็ยังคงรถยนต์รุ่นเซนจูรี รีกัล เลอเซเบอร์ และพาร์ค แอฟวะนิว ซึ่งเป็นรุ่นดั้งเดิมไว้ ในปี ค.ศ. 2001 บิวอิคก์ได้เปิดตัวรถบิวอิคก์ รานดะวู เอสยูวีคันแรกของบิวอิคก์ โดยมีไทเกอร์ วูดส์ นักกอล์ฟชื่อดังเป็นโฆษก
ในปี ค.ศ. 2003 บิวอิคก์ได้สร้างรถต้นแบบ บิวอิคก์ ซ็องเทียม เนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปีของบิวอิคก์
ในปี ค.ศ. 2005 บิวอิคก์ได้ทำการรวบรวมรุ่นต่าง ๆ ของมันเข้าด้วยกันจนเหลือเพียง 3 รุ่น นั่นก็คือ บิวอิคก์ ละครอส ลูเซิร์น และอ็องเคลฟ แม้ว่ายอดขายโดยรวมก็ยังคงตกลงเรื่อย ๆ ความประสบผลสำเร็จของรุ่นพวกนี้สามารถรับรองได้ว่าจีเอ็มจะยังคงเก็บยี่ห้อบิวอิคก์ไว้ต่อไป
ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2005 นั้น จีเอ็มได้ค่อย ๆ รวมยี่ห้อบิวอิคก์เข้ากับตัวแทนจำหน่ายรถจีเอ็มซีและพอนทิแอค (ในเมื่อก่อน) เพื่อสร้างเครือข่ายบิวอิคก์-จีเอ็มซีในปัจจุบัน ในช่วงแผนฟื้นฟูของจีเอ็มและวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจและเมื่อปี ค.ศ. 2009 จีเอ็มได้แต่งตั้งบิวอิคก์เป็นหนึ่งใน "ยี่ห้อหลัก" โดยอ้างถึงความสำเร็จของบิวอิคก์ในจีน จีเอ็มได้เริ่มย้ายผลิตภัณฑ์ของยี่ห้ออื่นมาให้บิวอิคก์ เช่นรถโอเปิล อินซิกเนียแต่เดิมจะมาเป็นรถแซทเทิร์น ออรารุ่นที่ 2 แต่ภายหลังกลับกลายเป็นรถบิวอิคก์ รีกัลรุ่นใหม่แทน
ในเดือนมกราคม ค.ศ. 2009 บิวอิคก์ได้เปิดตัวรถบิวอิคก์ ละครอสรุ่นใหม่ โดยมีทั้งการออกแบบแนวใหม่กับแบบดั้งเดิมผสมผสานกันอยู่ ซึ่งรถยนต์คันนี้ก็ได้รับการตอบรับที่ดีจากตลาด และถูกนำไปเปรียบเทียบกับรถยนต์หรูคันอื่นเช่นรถเล็กซัส อีเอส ในผลวิจัยความน่าเชื่อถือรถยนต์ของเจ. ดี. เพาเวอร์และคณะ ปี ค.ศ. 2009 บิวอิคก์เทียบเท่าจากัวร์ในการเป็นยี่ห้อรถยนต์ที่น่าเชื่อถือที่สุดในสหรัฐอเมริกา
ในปี ค.ศ. 2010 บิวอิคก์ได้กลายเป็นผู้ผลิตรถยนต์ที่เติบโตเร็วที่สุดและสามารถดึงดูดกลุ่มลูกค้าที่อายุน้อยได้ รถบิวอิคก์ รีกัลรุ่นใหม่ซึ่งคล้ายรถโอเปิล อินซิกเนียจากยุโรป ถูกเปิดตัวในปี ค.ศ. 2011 หลังจากที่หายไป 7 ปี
ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2011 รถบิวอิคก์ ลูเซิร์นถูกยกเลิกหลังจากที่ถูกผลิตมา 6 ปี หลายเดือนต่อมา บิวอิคก์ได้เปิดตัวรถบิวอิคก์ เวอราโน นอกจากนี้ รถบิวอิคก์ รีกัล จีเอสก็ถูกผลิตขายอีกครั้งและกลายเป็นรถยนต์บิวอิคก์คันแรกที่มีทั้งระบบส่งกำลังแบบธรรมดาและตัวอัดบรรจุอากาศเทอร์โบในรอบกว่า 20 ปี ในปี ค.ศ. 2012 บิวอิคก์ได้เริ่มเข้าสู่ตลาดรถยนต์ไฮบริดหลังจากที่เสริมเทคโนโลยีอีอะซิสท์ (อังกฤษ: eAssist technology) บนรถบิวอิคก์ ละครอสและรีกัลรุ่นปี ค.ศ. 2012 ซึ่งทำให้ค่าประเมินประสิทธิภาพในการประหยัดน้ำมันสูงกว่ารุ่นที่ใช้น้ำมันถึง 38% ในขณะเดียวกัน ยอดขายของรถอ็องเคลฟก็ยังคงสูงอยู่
ในเดือนมกราคม ค.ศ. 2012 บิวอิคก์ได้เปิดตัวรถมินิครอสโอเวอร์ บิวอิคก์ อ็องคอร์ ที่งานแสดงรถยนต์ทวีปอเมริกาเหนือในเมืองดีทรอยต์ ในปีเดียวกัน บิวอิคก์ได้นำเสนอรถบิวอิคก์ เวอราโนแบบที่มีระบบขับเคลื่อนแบบเทอร์โบและรถบิวอิคก์ อ็องเคลฟก็ถูกออกแบบใหม่สำหรับรุ่นปี ค.ศ. 2013
ณ ตอนนี้ (ค.ศ. 2013) รถยนต์บิวอิคก์ในทวีปอเมริกาเหนือทั้งหมดประกอบไปด้วยรถบิวอิคก์ อ็องคอร์ (รถมินิครอสโอเวอร์) บิวอิคก์ เวอราโน (รถซีดานขนาดเล็กระดับเริ่มต้น) บิวอิคก์ รักัล (รถซีดานสมรรถนะสูงขนาดกลาง) บิวอิคก์ ละครอส (รถซีดานขนาดกลาง) และบิวอิคก์ อ็องเคลฟ (รถครอสโอเวอร์หรูหราขนาดใหญ่)
โฆษกประจำบริษัทจีเอ็มได้กล่าวว่าบิวอิคก์นั้นถูกจัดวางไว้เป็นยี่ห้อหรูหราระดับต้นเพื่อแข่งขันกับแอคิวรา เล็กซัส และวอลโว่ ในขณะที่คาดิลแลคมุ่งหมายไปยังกลุ่มรถหรูหราสมรรถนะสูง โดยมีคู่แข่งเป็นบีเอ็มดับเบิลยูและเมอร์เซเดส-เบนซ์ แม้ว่ารถบิวอิคก์ ละครอสและรีกีลจะใช้แพลตฟอร์มเอปไซลอน II เหมือนกัน แต่รถละครอสที่หรูหรากว่าจะต้องสู้กับรถเล็กซัส อีเอส 350 และแอคิวรา ทีแอลในตลาด ในขณะที่คู่แข่งของรถรีกัลคือรถแอคิวรา ทีเอสเอ็กซ์ และโฟล์กสวาเกน ซีซี
ในปี ค.ศ. 2013 จีเอ็มได้ยืนยันแผนการสร้าง "ยี่ห้อลูกผสมจากทั่วโลก" (อังกฤษ: "hybrid global brand") โดยจะให้รถโอเปิล/วอกซ์ฮอลล์และบิวอิคก์ใช้แบบรถร่วมกันมากขึ้น
ในปี ค.ศ. 2017 รถเก๋งซีดานขนาดโตเต็มพิกัดสายพันธุ์อเมริกันอีกแบบหนึ่งที่เลือกมาให้ชื่นชมกันในเดือนนี้ เป็นผลงานของ บิวอิค (BUICK) 1 ในบรรดาสินค้ารถยนต์รวม 10 ยี่ห้อ ที่อยู่ภายในร่มเงาของยักษ์ใหญ่เมืองมะกันนี้ ซึ่งได้แก่ เชฟโรเลต์ (CHEVROLET บิวอิค (BUICK) จีเอมซี (GMC) แคดิลแลค (CADILLAC) โอเพล (OPEL) วอกซ์ฮอลล์ (VAUXHALL) โฮลเดน (HOLDEN) เบาจุน (BAOJUN) วูหลิง (WULING) และ จีฟาง (JIEFANG) มีการทำตลาดหลักในประเทศจีนกว่า 80%
คริสต์ทศวรรษ 2020
[แก้]ยุคปัจจุบัน
[แก้]บิวอิคก์ในยุคปัจจุบัน
|
---|
ลักษณะเด่น
[แก้]สัญลักษณ์โล่สามอัน
[แก้]สัญลักษณ์โล่บนรถยนต์บิวอิคก์
|
---|
สัญลักษณ์โล่สามอัน (อังกฤษ: Trishield) ของบิวอิคก์มีรากฐานมาจากตราประจำตระกูลของเดวิด ดันบาร์ บิวอิคก์ ผู้ก่อตั้งบริษัท ซึ่งตรานั้นมีลักษณะเป็นโล่สีแดงที่มีเส้นทแยงมุมสีเงินและฟ้าลายตารางหมากรุกตัดผ่านจากบนซ้ายไปล่างขวา โดยมีกวางตัวผู้อยู่ครึ่งบนและกางเขนที่มีรูอยู่ตรงกลางอยู่ครึ่งล่าง บิวอิคก์เริ่มใช้ตราสัญลักษณ์โล่เดี่ยวบนกระจังหน้ารถเมื่อปี ค.ศ. 1937 ตรานี้ถูกปรับปรุงใหม่ในปี ค.ศ. 1960 สัญลักษณ์โล่เดี่ยวกลายเป็นโล่สามอันสีแดง ขาว และน้ำเงิน เพื่อแสดงถึงรถบิวอิคก์ เลอเซเบอร์ อินวิคตา และอิเล็กตรา ซึ่งยังถูกผลิตอยู่ในยุคนั้น สัญลักษณ์โล่หายไปหลังจากที่บิวอิคก์เริ่มใช้เหยี่ยวเป็นสัญลักษณ์แทนในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1970 ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1980 บิวอิคก์ได้นำสัญลักษณ์โล่สามอันมาใช้ใหม่ แม้ลวดลายและรายละเอียดจะหายไป สัญลักษณ์โล่ก็ยังคง "สีแห่งความรักชาติ" ไว้อยู่เหมือนเดิม ในยุคปัจจุบัน สัญลักษณ์โล่สามอันของบิวอิคก์ก็ยังคงหมายถึงรถทั้งสามคันที่บิวอิคก์กำลังผลิตอยู่ แต่ได้ถูกออกแบบใหม่โดยใช้สีเพียงสีเดียวและให้มีรูปทรงที่หนักแน่นกว่าเดิม
ช่องลมเวนทิพอร์ต
[แก้]บิวอิคก์เริ่มเพิ่มช่องลมสามหรือสี่ช่องไว้ข้างบนบังโคลนตรงหลังล้อหน้าในปี ค.ศ. 1949 จุดกำเนิดของลักษณะการออกแบบนี้เริ่มต้นมาจากรถแต่งของ เน็ด นิกเคิลส์ นักออกแบบรถบิวอิคก์ ในรถแต่งของเขา เขาได้เสริมช่องลมบนรถของเขาและเพิ่มไฟกระพริบเข้าไปในแต่ละช่อง โดยมีหัวเทียนพิเศษกำหนดจังหวะเพื่อเลียนแบบเปลวไฟที่พุ่งออกมาจากท่อไอเสียของเครื่องบินรบ เมื่อนำมารวมกับสัญลักษณ์เครื่องเล็งเป้าการทิ้งระเบิด (อังกฤษ: bombsight mascot) ซึ่งเริ่มใช้ในปี ค.ศ. 1946 ช่องลมเวนทิพอร์ต (อังกฤษ: VentiPorts) ทำให้คนขับเสมือนอยู่หน้าแผงควบคุมของเครื่องบินรบสมมติ ไฟกระพิบนั้นไม่ได้ถูกใช้ในรถที่ผลิตขึ้นจริง ช่องลมเวนทิพอร์ตจึงเป็นเพียงของตกแต่งที่ใช้การไม่ได้จริง ทำให้หลายคนเรียกช่องลมเหล่านี้ว่า "รูหนู"
ช่องลมเหล่านี้ถูกเรียกว่า "เวนทิพอร์ต" เนื่องจากแผ่นพับโฆษณาของปี ค.ศ. 1949 ได้กล่าวไว้ว่าช่องลมเวนทิพอร์ตสามารถช่วยระบายอากาศภายในห้องเครื่อง มีข้อเสนอให้ช่องลมเวนทิพอร์ตสามารถระบายลมออกจากห้องเครื่องได้โดยใช้วิธีการว่า เมื่อลมไหลผ่านกระจังหน้ารถเข้าสู่ห้องเครื่อง ลมจะถูกเพิ่มความดันโดยพัดลมหม้อน้ำรถยนต์ แล้วก็ออกทางช่องลมเวนทิพอร์ต วิธีการนั้นอาจถูกใช้จริงในต้นปี ค.ศ. 1949 แต่หลังจากรุ่นปีนั้นไม่นานช่องลมเหล่านี้ก็ถูกอุดและใช้การไม่ได้เหมือนเดิม นับแต่นั้นมา ช่องลมเวนทิพอร์ตได้ปรากฏบนรถยนต์บิวอิคก์เป็นระยะ ๆ และถูกใช้ในรถบิวอิคก์ทั้ง 5 รุ่นในปัจจุบัน (รถบิวอิคก์ เวอราโน รีกัล ละครอส อ็องคอร์ และอ็องเคลฟ สำหรับรุ่นปี ค.ศ. 2014)
ในช่วงแรก ๆ หลังการเปิดตัวช่องลมเวนทิพอร์ต จำนวนช่อง (3 หรือ 4) แสดงถึงขนาดของเครื่องยนต์สูบแถวเรียง 8 สูบของรถคันนั้น ด้วยเหตุที่ว่าความแตกต่างของความจุเครื่องยนต์ในเครื่องยนต์แถวเรียง 8 สูบนั้นทำให้เครื่องยนต์ยาวกว่าเครื่องยนต์สูบวี 8 สูบธรรมดา รถบิวอิคก์ โรดมาสเตอร์ (ซึ่งเป็นรถรุ่นเดียวในขณะนั้นที่ใช้เครื่องยนต์แบบที่ยาวกว่าปกติ) จึงต้องใช้โครงกระจังหน้ารถที่ยาวกว่าปกติเพื่อจุเครื่องยนต์เข้าไปได้ ช่องลมเวนทิพอร์ตที่เพิ่มมาอีกช่องจึงสอดคล้องกันกับความยาวเพิ่มเติมของส่วนหน้ารถด้วย หลังจากที่เครื่องยนต์สูบวี 8 สูบซึ่งใช้เนื้อที่น้อยกว่ามาแทนที่เครื่องยนต์แถวเรียงในปี ค.ศ. 1953 ความแตกต่างในความยาวของส่วนหน้ารถจึงหายไป แต่อย่างไรก็ตาม ธรรมเนียมนี้ก็ยังคงถูกใช้อยู่ ดังนั้น เมื่อรถบิวอิคก์ เซนจูรี ซึ่งใช้โครงรถที่มีขนาดเล็กของรถบิวอิคก์ ซูเปอร์ ถูกเปิดตัวอีกรอบในปี ค.ศ. 1954 มันจึงได้รับช่องลมเวนทิพอร์ต 4 ช่องเพื่อแสดงถึงความจุเครื่องยนต์ที่มากกว่า อย่างไรก็ตาม ในปี ค.ศ. 1955 รถบิวอิคก์ ซูเปอร์ ซึ่งใช้โครงรถที่มีขนาดใหญ่ของรถบิวอิคก์ โรดมาสเตอร์ ได้รับช่องลมเวนทิพอร์ตเพิ่มขึ้นจาก 3 เป็น 4 ช่องแม้ว่าจะมีความจุเครื่องยนต์ที่น้อยกว่า ในทำนองเดียวกัน รถบิวอิคก์ อินวิคตาซึ่งมาแทนที่รถบิวอิคก์ เซนจูรีในปี ค.ศ. 1959 มีโครงรถที่เล็กกว่ากับความจุเครื่องยนต์ที่มากกว่า แต่กลับถูกลดช่องลมเวนทิพอร์ตจาก 4 เป็น 3 ช่อง จึงสามารถกล่าวได้ว่าในสมัยนั้น จำนวนช่องลมเวนทิพอร์ตบ่งบอกขนาดของโครงรถ ไม่ใช่ขนาดของเครื่องยนต์ รถบิวอิคก์เกือบทั้งหมดตั้งแต่ปี ค.ศ. 1949 จนถึง ค.ศ. 1957 (ยกเว้นรถบิวอิคก์ สกายลาร์ค ปี ค.ศ. 1953 - 1954) และบางรุ่น(เช่นรถบิวอิคก์ ไวลด์แคท ริเวียรา และเซนจูเรียน) ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1960 จนถึง ค.ศ. 1981 ล้วนมีช่องลมเวนทิพอร์ตหมด
ในปี ค.ศ. 2003 ช่องลมเวนทิพอร์ตได้ถูกนำกลับมาใช้ใหม่ในรถบิวอิคก์ พาร์ค แอฟวะนิว หลังจากที่รถพาร์ค แอฟวะนิวถูกยกเลิกในปี ค.ศ. 2005 บิวอิคก์ได้นำช่องลมเวนทิพอร์ตกลับมาใช้ใหม่ในรถบิวอิคก์ ลูเซิร์นสำหรับปี ค.ศ. 2006 โดยให้รุ่นที่ใช้เครื่องยนต์สูบวี 6 สูบมีช่องลมเวนทิพอร์ต 3 ช่อง และให้รุ่นที่ใช้เครื่องยนต์สูบวี 8 สูบมี 4 ช่อง เพื่อให้สอดคล้องกับระบบจำนวนช่องลมดั้งเดิมที่ใช้กันบนรถบิวอิคก์ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1949 จนถึง ค.ศ. 1954
ช่องลมเวนทิพอร์ตรูปแบบใหม่มีลักษณะที่ดูทันสมัยและขอบเหลี่ยมกว่า เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับช่องลมทรงคล้ายวงรีที่ถูกใช้ตกแต่งบนรถบิวอิคก์มายาวนานหลายปี ปัจจุบัน ช่องลมเวนทิพอร์ตได้ถูกใช้อย่างกว้างขวางบนรถยนต์ในยี่ห้อบิวอิคก์อีกครั้ง โดยถูกใช้ทั้งบนรถบิวอิคก์ ลูเซิร์น บนรถยนต์เอนกประสงค์สมรรถนะสูง บิวอิคก์ อ็องเคลฟ ซึ่งเป็นที่นิยม บนส่วนนูนของฝากระโปรงของรถบิวอิคก์ ละครอสรุ่นปี ค.ศ. 2010 และบนรถบิวอิคก์ รีกัลรุ่นปี ค.ศ. 2012 โดยมีช่องลมเพียง 2 ช่อง ซึ่งหมายถึงเครื่องยนต์ 4 สูบในรถยนต์
ช่องลมเวนทิพอร์ตทรงใหม่ถูกใช้บนรถบิวอิคก์รุ่นปี ค.ศ. 2014 ทุกคัน
แถบสวีปสเปียร์
[แก้]ลักษณะการออกแบบของบิวอิคก์อีกอย่างที่ถูกใช้ระหว่างช่วงคริสต์ทศวรรษ 1940 ตลอดจนคริสต์ทศวรรษ 1970 คือแถบสวีปสเปียร์ (อังกฤษ: Sweepspear) ซึ่งเป็นแถบเส้นโค้งที่วิ่งเป็นแนวยาวบนด้านข้างของรถ แถบสวีปสเปียร์ปรากฏครั้งแรกบนรถบิวอิคก์ โรดมาสเตอร์ ริเวียราหลังคาแข็งในรูปแบบส่วนเสริม โดยที่เป็นแถบเหล็กชุบโครเมียมหรือเหล็กกล้าเส้นยาวที่เริ่มจากหน้ารถเป็นเส้นตรงและค่อย ๆ โค้งงอจนเกือบติดพื้นรถตรงหน้าล้อหลัง แล้วก็โค้งรอบล้อหลังครึ่งล้อก่อนที่จะตรงไปจบที่ไฟท้ายรถ แถบสวีปสเปียร์เคยถูกเรียกว่า "ส่วนเสริมรถริเวียรา" ในช่วงแรก ภายหลัง แถบสวีปสเปียร์ก็เริ่มถูกใช้บนรถโรดมาสเตอร์เปิดประทุนในช่วงเกือบสิ้นรุ่นปี แถบสวีปสเปียร์ได้รับความนิยมสูงมากจนในปี ค.ศ. 1951 แถบสวีปสเปียร์กลายเป็นมาตรฐานบนรถบิวอิคก์ทุกคัน ในคริสต์ทศวรรษ 1950 ผู้คนกำลังนิยมรถสองสีเป็นอย่างมาก แถบสวีปสเปียร์จึงถูกใช้คั่นระหว่างสีทั้งสองสี หลังจากนั้น แถบเส้นโค้งส่วนมากก็เป็นเพียงแถบไวนิลหรือส่วนนูนที่ถูกหล่อลงบนแผ่นเหล็กดังรอยนูนบนรถต้นแบบ บิวอิคก์ อินวิคตา ปี ค.ศ. 2008 และรถบิวอิคก์ ละครอส รุ่นปี ค.ศ. 2010
ครีบหางทรงสามเหลี่ยม
[แก้]บิวอิคก์รุ่นปี ค.ศ. 1958 เริ่มถูกขายในเดือนกันยายน ค.ศ. 1957 หลังจากที่ยุคอวกาศเริ่มต้นได้เพียงไม่นานด้วยการปล่อยดาวเทียมสปุตนิก 1ในวันที่ 4 ตุลาคม ของปีนั้น บิวอิคก์รุ่นนี้ถูกให้ชื่อว่าเป็น "ราชาแห่งโครม" (อังกฤษ: "the king of chrome") และมีครีบหางรูปทรงคล้ายปีกของยานอวกาศ ในปี ค.ศ. 1959 ครีบหางทรงสามเหลี่ยม (อังกฤษ: Delta Fin) ซึ่งถูกออกแบบให้สอดคล้องกับอากาศพลศาสตร์ได้เริ่มถูกใช้บนรถบิวอิคก์ ครีบหางนี้ทำให้การจอดรถยากขึ้นและบดบังทัศนวิสัยของคนขับ ในปี ค.ศ. 1960 ครีบหางนี้ถูกทำให้ทู่ลงจนหายไปในปี ค.ศ. 1961 ร่องรอยของครีบหางทรงสามเหลี่ยมสามารถถูกพบเห็นได้บนรถบิวอิคก์ เลอเซเบอร์ ปี ค.ศ. 2000 - 2005 โดยเป็นเพียงส่วนที่นูนขึ้นมาทางด้านข้างของรถ
รูปทรงไฟท้ายรถ
[แก้]ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1950 ไฟท้ายรถของรถบิวอิคก์ส่วนมากจะมีลักษณะเป็นรูปร่างกลม ๆ คล้ายลูกปืนที่ถูกเรียงไว้เป็นชั้น ในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1960 รถเกือบทุกรุ่นเริ่มใช้ไฟท้ายรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่ยาวขึ้น จนรถบิวอิคก์ สกายลาร์คและอิเล็กตรา รุ่นปี ค.ศ. 1965 ได้ใช้ไฟท้ายที่ยาวครอบคลุมทั้งความกว้างของท้ายรถ หลังจากนั้น ไฟท้ายรถกว้าง ๆ ก็ได้กลายเป็นเครื่องหมายรับรองคุณภาพของบิวอิคก์ตั้งแต่นั้นมา
กระจังหน้ารถแบบดั้งเดิม
[แก้]ลักษณะการออกแบบของบิวอิคก์ที่ถูกใช้มาตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1940 และได้ถูกนำกลับมาใช้ใหม่หลายครั้งที่สุด เป็นกระจังหน้ารถรูปวงรีในแนวนอนที่มีเหล็กชุบโครเมียมเป็นซี่ ๆ นูนออกมา บางครั้ง ลักษณะการออกแบบนี้ก็ถูกเรียกว่า "ดอลลาร์ กริน" (อังกฤษ: "dollar grin") โดยเฉพาะบนรถบิวอิคก์ในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1950 เพราะมีเหล็กซี่ที่หนาและเป็นมันวาวมาก และมีลักษณะคล้ายกับฟัน รถรุ่นปี ค.ศ. 1950 เป็นจุดสูงสุดของเหล็กซี่เหล่านี้ โดยมี "ฟัน" ยื่นออกมาหน้ากันชน จึงเผยถึง "รอยยิ้ม" ของรถรุ่นปี ค.ศ 1950 ในปี ค.ศ. 1951 เหล็กซี่เหล่านี้ได้ถูกดันกลับไปหลังกันชนเหมือนเดิม รถบิวอิคก์ในปัจจุบันใช้กระจังหน้ารถที่มีลักษณะเป็นการนำกระจังแบบดั้งเดิมมาออกแบบใหม่ โดยเรียกกันว่า "กระจังหน้ารถแบบน้ำตก"
กระจังหน้ารถแบบน้ำตก
[แก้]ในยุคปัจจุบัน บิวอิคก์ได้นำกระจังหน้ารถแบบน้ำตก (อังกฤษ: Waterfall Grille) กลับมาใช้ใหม่ ดังที่เห็นบนรถต้นแบบบิวอิคก์ เวไลท์ ปี ค.ศ. 2004 และถูกใช้ในการผลิตครั้งแรกบนรถบิวอิคก์ ลูเซิร์น สำหรับรุ่นปี ค.ศ. 2006 กระจังหน้ารถแบบน้ำตกมีส่วนคล้ายกับกระจังหน้ารถของรถบิวอิคก์ในคริสต์ทศวรรษ 1980 เช่นบนรถบิวอิคก์ แกรนด์ เนชันแนล
เครื่องยนต์เนลเฮด
[แก้]เครื่องยนต์บิวอิคก์สูบวี 8 สูบ หรือที่เรียกกันว่าเนลเฮด (อังกฤษ: Nailhead) เนื่องจากมีลิ้นไอดีและไอเสียที่ค่อนข้างเล็ก ทำให้มีลักษณะคล้ายตะปู เครื่องยนต์นี้เป็นที่นิยมในหมู่นักแต่งรถมากในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1950 ตลอดจนคริสต์ทศวรรษ 1960 เพราะมีฝาครอบวาล์วที่ถูกติดไว้ในแนวตรง โดยเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับเครื่องยนต์สูบวี 8 สูบธรรมดาซึ่งมีฝาครอบวาล์วที่ถูกติดไว้ในแนวเฉียง เครื่องยนต์เนลเฮดนั้นกะทัดรัดกว่าและสะดวกในการบำรุงรักษามากกว่าเครื่องยนต์สูบวี 8 สูบธรรมดา
ในปี ค.ศ. 1967 บิวอิคก์ได้สร้างประวัติศาสตร์อย่างเงียบ ๆ โดยการใช้เครื่องยนต์สูบวี 8 สูบที่ธรรมดายิ่งขึ้น ซึ่งเลิกใช้การออกแบบ "เนลเฮด" แต่มีสมรรถนะสูงกว่า สำหรับรถรุ่นปี ค.ศ. 1967 บิวอิคก์ได้เปลี่ยนชื่อรถสมรรถนะสูง "แกรน สปอร์ต" (ระวังสับสนกับรถ "ซูเปอร์ สปอร์ต" ของเชฟโรเลต) เป็น "จีเอส" ในปี ค.ศ. 1970 มันถูกนำโดยรถจีเอส 455 สเตจ 1 ที่ใช้เครื่องยนต์ 455 ลูกบาศก์นิ้ว (7.5 ลิตร) ด้วยรายการเหมาเพิ่มสมรรถนะ "สเตจ 1" เนื่องจากรถจีเอสใช้แพลตฟอร์ม "เอ-บอดี" เหมือนกับรถเชฟโรเลต เชเวล โอลด์สโมบิล คัทลัส โอลด์สโมบิล 442 พอนทิแอค จีทีโอ และพอนทิแอค เลอม็อง รถจีเอสจึงเป็นรถสมรรถนะสูงที่เกิดมาจากรถสกายลาร์คของบิวอิคก์ (ซึ่งก็ใช้แพลตฟอร์มเอ-บอดีเช่นกัน) และได้ลักษณะตัวรถที่สวยงามจากแพลตฟอร์มเอ-บอดี รถจีเอสถูกเสนอในทั้งรูปแบบรถหลังคาแข็งและรถเปิดประทุน
จีเอสเอ็กซ์
[แก้]กลางปีนั้น บิวอิคก์ได้เปิดตัวรถรุ่นจีเอสเอ็กซ์ (อังกฤษ: GSX) ซึ่งเป็นรายการเหมาเพิ่มความสวยงามของรถ คล้ายกับรายการเหมา "จัดจ์" ของรถพอนทิแอค จีทีโอ สีรถเริ่มแรกในรายการเหมาจีเอสเอ็กซ์นั้นอยู่ในเฉดสีเหลืองและขาว โดยมีสีอื่น ๆ ตามมาทีหลังเพื่อให้เข้ากับฝากระโปรงรถสีดำซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของรถจีเอสเอ็กซ์ และลายสีดำด้านข้างที่คล้ายกับแถบสวีปเสปียร์เล็กน้อย รถจีเอสเอ็กซ์มาพร้อมกับเครื่องยนต์ 350 355 หรือ 455 สเตจ 1 และมีอุปกรณ์ติดตั้งเหมือนรถจีเอสทั่วไป อาทิ ช่องลมเข้าคู่บนฝากระโปรงรถที่มีระบบ "แรม-แอร์" ที่ใช้ได้จริง และท่อไอเสียคู่ การประเมินแรงม้าของเครื่องยนต์ 455 สเตจ 1 นั้นได้ค่าแรงม้า 360 แรงม้า (หรือบางแหล่งข้อมูลบอกว่า 370) ซึ่งค่อนข้างน้อย แต่มีแรงบิด 510 ลูกบาศก์ฟุต (690 นิวตันเมตร) ที่ 2200 รอบต่อนาที ซึ่งดีต่อการขับเคลื่อนรถที่ใช้เครื่องยนต์ 455 สเตจ 1 ซึ่งค่อนข้างหนัก ไป ¼ ไมล์ภายในเวลา 13.4 วินาที บิวอิคก์หยุดการผลิตรถจีเอสเอ็กซ์หลังรุ่นปี ค.ศ. 1972
รถต้นแบบ บิวอิคก์ จีเอสเอ็กซ์ คันเดิมนั้นรอดชีวิตมาได้จากวงจรการจัดแสดง มันเป็นรถที่ขับได้จริงที่ไม่ได้รอดชีวิตจากทั้งวงจรชีวิต "สร้าง-แสดง-ทำลาย" ของรถแสดงทั่วไปเพียงอย่างเดียว แต่รอดจากวงจรชีวิตของรถยนต์ธรรมดาด้วยเช่นกัน หลังจากที่ถูกขายโดยตัวแทนจำหน่ายหลังจากที่ถูกจัดแสดงอยู่ช่วงหนึ่ง รถคันนี้รอดมาได้จนถึงทุกวันนี้ โดยถูกซ่อมแซม ได้รับการจดทะเบียน และพร้อมขับบนท้องถนนแล้ว
ชื่อ "จีเอสเอ็กซ์" ถูกฟื้นฟูอีกครั้งในรูปแบบของรายการเหมาเพิ่มความสวยงามของรถบิวอิคก์ อะพอลโล ปี ค.ศ. 1974 รถบิวอิคก์ อะพอลโล จีเอสเอ็กซ์ มาพร้อมกับเครื่องยนต์เชฟโรเลตสูบแถวเรียง 6 สูบ ขนาด 250 ลูกบาศก์นิ้ว หรือเครื่องยนต์บิวอิคก์สูบวี 8 สูบ ขนาด 350 ลูกบาศก์นิ้ว ก่อนที่จะถูกยกเลิกการผลิตหลังจากหนึ่งปี โดยมียอดการผลิตอยู่ที่ประมาณ 1,500 คัน
ภูมิภาคที่มีจำหน่าย
[แก้]ประเทศเม็กซิโก
[แก้]รถยนต์บิวอิคก์เคยมีจำหน่ายในประเทศเม็กซิโกระหว่างปี ค.ศ. 1921 จนถึง ค.ศ. 1962 เมื่อนโยบายคุ้มครองในนามของรัฐบาลได้จำกัดอัตราส่วนการนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์ที่จะถูกใช้ในการผลิตรถยนต์และยอดขายของรถยนต์นำเข้า ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ผลิตภัณฑ์ทั้งหมดของจีเอ็มล้วนถูกขายโดยตัวแทนจำหน่ายเชฟโรเลต ในปี ค.ศ. 1990 หลังจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายคุ้มครองครั้งใหญ่ จีเอ็มก็ได้เริ่มประกอบรถบิวอิคก์ เซนจูรีในประเทศเม็กซิโก ที่โรงงานในเมืองรามอส อริซเป รัฐโกอาวีลา ซึ่งอยู่ติดกับทางใต้ของรัฐเท็กซัส และนำไปขายผ่านตัวแทนจำหน่ายเชฟโรเลตในประเทศเม็กซิโก จึงไม่แปลกที่จะได้ยินชาวเม็กซิโกหลายคนเรียกมันว่า "เชฟโรเลต เซนจูรี" ในปี ค.ศ. 1997 จีเอ็มได้ยุติการผลิตและจำหน่ายรถบิวอิคก์ในประเทศเม็กซิโกจนถึงปี ค.ศ. 2009
หลังจากการประกาศยกเลิกยี่ห้อพอนทิแอคในปี ค.ศ. 2009 มีการคาดการณ์ไว้ว่ารถยนต์บิวอิคก์อาจถูกรำเข้ามาจำหน่ายในประเทศเม็กซิโกอีกครั้ง เนื่องจากมีเครือข่ายตัวแทนจำหน่ายพอนทิแอค-จีเอ็มซีอยู่แล้วในเม็กซิโก ในวันที่ 24 กรกฎาคม ค.ศ 2009 เกรซ ลีเบล็นด์ ประธานคนใหม่ของจีเอ็มเม็กซิโก ได้เปิดเผยว่ารถบิวอิคก์จะถูกจำหน่ายอีกครั้งในประเทศเม็กซิโกในปลายเดือนกันยายนของปีนั้น หลังจากที่หายไป 12 ปี โดยมีสองรุ่น คือ รถบิวอิคก์ ละครอสและอ็องเคลฟ รถบิวอิคก์ถูกขายในอาคารตัวแทนจำหน่ายเดียวกันกับรถพอนทิแอคและจีเอ็มซี จนกระทั่งยี่ห้อพอนทิแอคเลือนหายไปในฤดูร้อนของปี ค.ศ. 2010
ประเทศนิวซีแลนด์
[แก้]ประเทศนิวซีแลนด์เคยมีรถยนต์บิวอิคก์จำหน่าย โดยถูกผลิตที่โรงงานจีเอ็มเอ็นแซดในชานเมืองเพโทนี นอกเมืองเวลลิงตัน หลังจากที่สงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง ยี่ห้อบิวอิคก์ไม่ได้รับการฟื้นฟูสำหรับตลาดนิวซีแลนด์
ตะวันออกกลาง
[แก้]ในประเทศอิสราเอล รถยนต์บิวอิคก์ถูกนำเข้าโดยบริษัทยูนิเวอร์แซล มอเตอร์ส จำกัด (อังกฤษ: Universal Motors, Ltd.) ซึ่งก็เป็นผู้นำเข้ารถยนต์จีเอ็มรุ่นอื่น ๆ ด้วย สำหรับรุ่นปี ค.ศ. 2004 - 2005 รถยนต์ที่มีจำหน่ายคือรถบิวอิคก์ เลอเซเบอร์และรานดะวู ส่วนในรุ่นปี ค.ศ. 2006 - 2007 รถบิวอิคก์ ละครอสและลูเซิร์นถูกขายอยู่กับรถบิวอิคก์ รานดะวู ในรุ่นปี ค.ศ. 2008 รถยนต์ที่มีจำหน่ายคือรถบิวอิคก์ ละครอสและลูเซิร์น รถยนต์บิวอิคก์มีจำหน่ายอยู่ทั่วทุกที่ในตะวันออกกลางจนกระทั่งรถบิวอิคก์ โรดมาสเตอร์ถูกยกเลิกการผลิตไป
ทวีปเอเชีย
[แก้]ตลาดที่ใหญ่ที่สุดของบิวอิคก์คือประเทศจีน โดยประกอบไปถึง 35% ของยอดขายทั้งหมดของบิวอิคก์ ซึ่งมากกว่ายอดขายในสหรัฐอเมริกาเสียอีก ในปี ค.ศ. 2007 เจเนรัลมอเตอร์สามารถขายรถยนต์บิวอิคก์ได้กว่า 330,000 คัน ซึ่งมากกว่ายอดขายในสหรัฐอเมริกากว่าสองเท่า ในประเทศจีนยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง รถยนต์หนึ่งในห้าคันนั้นเป็นรถบิวอิคก์ จึงสามารถกว่าวได้ว่าบิวอิคก์เป็นยี่ห้อรถยนต์ชั้นนำในประเทศจีน
ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1999 รถบิวอิคก์ เซนจูรีและรีกัลรุ่นของจีนได้ถูกผลิตขึ้นและจำหน่ายในจีนแผ่นดินใหญ่โดยเซี่ยงไฮ้จีเอ็ม รถบิวอิคก์ได้รับความนิยมมากในกลุ่มคนที่มีฐานะดี จึงทำให้บิวอิคก์เป็นหนึ่งในยี่ห้อรถที่นิยมกันมากที่สุดในประเทศจีน นอกจากนี้ บิวอิคก์ที่ประเทศจีนยังขายรถขนาดเล็กที่มีชื่อว่าเอ็กเซลล์ รถแฮทช์แบคชื่อเอ็กเซลล์ เฮชอาร์วี และรถมินิแวนชื่อจีแอล 8 ซึ่งเป็นรถพอนทิแอค มอนทานารุ่นแรกที่ถูกนำมาปรับแต่งใหม่ บิวอิคก์หลายคันในตลาดจีนใช้เครื่องยนต์แบบเพลาลูกเบี้ยวคู่เหนือสูบ ซึ่งประหยัดน้ำมันกว่าเครื่องยนต์แบบลิ้นเหนือสูบที่ถูกใช่ในรถรุ่นเดียวกันสำหรับตลาดสหรัฐอเมริกา เครื่องยนต์สำหรับรถเชฟโรเลต อิควิน็อกซ์และพอนทิแอค ทอร์เรนต์ รุ่นปี ค.ศ. 2005 - 2009 ซึ่งเคยตั้งใจไว้สำหรับใช้ในรถบิวอิคก์จีนแต่แรก ถูกผลิตขึ้นในจีนและนำเข้าสู่สหรัฐอเมริกาโดยเจเนรัลมอเตอร์
ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2005 บิวอิคก์ได้ประกาศว่าจะนำรถโฮลเดน คะพรีซจากประเทศออสเตรเลียเข้ามาขายในจีนแผ่นดินใหญ่โดยใช้ชื่อว่าบิวอิคก์ รอยัม (ปี ค.ศ. 2005 - 2006) ก่อนหน้านั้น บิวอิคก์เคยจำหน่ายรถบิวอิคก์ เซล โดยมีต้นกำเนิดมาจากกิจการของจีเอ็มในเอเซียและใช้รถโอเปิล คอร์ซา บี บีเป็นต้นแบบ เซี่ยงไฮ้จีเอ็มออกจำหน่ายรถรุ่นนี้จนถึงปี ค.ศ. 2005 โดยนำรถเชฟโรเลต เซลมาจำหน่ายแทน บิวอิคก์ได้กล่าวไว้ว่ามันมีจุดมุ่งหมายที่จะทำให้ประเทศจีนเป็นตลาดที่ใหญ่สุดเป็นอันดับสองของมัน
ในปี ค.ศ. 2006 บิวอิคก์เปิดตัวรถบิวอิคก์ ละครอสรุ่นของจีน โดยแตกต่างจากรุ่นในสหรัฐอเมริกาเพียงแค่การออกแบบภายนอก เครื่องยนต์ชนิดต่าง ๆ ที่มีให้เลือก และการปรับปรุงภายในรถ มันถูกจัดระดับไว้ด้านบนรถบิวอิคก์ รีกัลแต่อยู่ล่างรถบิวอิคก์ รอยัม
ในเดือนเมษายน ค.ศ. 2007 เซี่ยงไฮ้จีเอ็มได้ประกาศเปิดตัวรถบิวอิคก์ พาร์ค แอฟวะนิวสำหรับตลาดจีนเท่านั้น รถคันนี้ใช้รถโฮลเดน คะพรีซเป็นแบบ และใช้เครื่องยนต์ที่ถูกผลิตในประเทศออสเตรเลีย
ในปี ค.ศ. 2009 บิวอิคก์ทำยอดขายได้ 447,011 คัน ซึ่งมากกว่าของปีก่อนอยู่ 59.6%
บิวอิคก์ได้จำหน่ายรถในประเทศจีนแล้วกว่า 2 ล้านคัน โดยที่ยอดขายล้านคันแรกใช้เวลาแปดปี ในขณะที่ยอดขาย 2 ล้านคันใช้เวลาเพียงแค่สามปี
จีเอ็มไต้หวันถูกก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1989 ในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1990 บิวอิคก์และยี่ห้ออื่น ๆ ของจีเอ็มได้รับความนิยมมากในเกาะไต้หวันและมีให้พบบ่อยมากบนท้องถนนไต้หวัน รถบิวอิคก์ พาร์ค แอฟวะนิว รีกัลรุ่นที่ 3 - 4 และสกายลาร์ครุ่นที่ 6 ล้วนเคยมีจำหน่ายที่ไต้หวัน
ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2004 เจเนรัลมอเตอร์ได้เซ็นสัญญากับยูลอน ซึ่งเป็นบริษัทไต้หวัน เพื่อการประกอบรถบิวอิคก์ที่ไต้หวัน บริษัทยูลอน จีเอ็ม มอเตอร์ จำกัด (ยูลอนจีเอ็ม) ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างยูลอนกับจีเอ็มโดยมียูลอนถือหุ้นอยู่ 51 % และจีเอ็ม 49% ถูกก่อตั้งขึ้นในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2005
ในวันที่ 17 เมษายน ค.ศ. 2006 ยูลอนจีเอ็มได้เปิดตัวรถบิวอิคก์คันแรกที่ถูกสร้างขึ้นในไต้หวัน คือรถบิวอิคก์ ละครอส ซึ่งคล้ายกับรถละครอสรุ่นของจีนเป็นอย่างมาก
การแข่งรถ
[แก้]บิวอิคก์เคยเข้าแทนที่เชฟโรเลตในการแข่งรถมาหลายปี ประมาณคริสต์ทศวรรษ 1960 บิวอิคก์เข้าร่วมแข่งการแข่งขันอินเดียแนโพลิส 500 เหมือนกับผู้ผลิตรถของสหรัฐอเมริการายอื่น และเข้าร่วมการแข่งขันแกรนด์ เนชันแนลด้วยโดยที่ช่วงแรกใช้รถบิวอิคก์ รีกัลและแกรน สปอร์ตในเวลาต่อมา
ยุคทองในการแข่งรถของบิวอิคก์เป็นช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1980 เจเนรัลมอเตอร์ได้ส่งรถบิวอิคก์ รีกัล โดยเฉพาะอย่างยิ่งรุ่นแกรนด์ เนชันแนลเข้าร่วมแข่งแนสคาร์ วินสตัน คัพ ซีรีส์ เคียงคู่กับรถโอลด์สโมบิล คัทลัส บิวอิคก์ก็ยังเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงของการแข่งขันคาร์ท อินดีคาร์ ซีรีส์ และไอเอ็มเอสเอ จีที ซีรีส์ (โดยเฉพาะในระดับไอเอ็มเอสเอ จีทีพี คลาส) มาหลายปี ในคริสต์ทศวรรษ 1990 จีเอ็มได้นำโอลด์สโมบิลมาแทนบิวอิคก์ จึงกลายเป็นจุดจบของการเข้าร่วมแข่งรถของบิวอิคก์ จนเมื่อจีเอ็มยุติยี่ห้อโอลด์สโมบิลในปี ค.ศ. 2004 จีเอ็มจึงนำพอนทิแอคมาแทนจนปี ค.ศ. 2009 พอนทิแอคถูกปิดตัวลง จีเอ็มจึงนำเชฟโรเลตมาแทนที่พอนทิแอค
รถบิวอิคก์ก็เคยเข้าร่วมการแข่งขันแทรนซ์-แอม ซีรีสในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1980 จนถึงคริสต์ทศวรรษ 1990 โดยใช้เครื่องยนต์สูบวี 8 สูบเทียบรุ่น
สมาคมบิวอิคก์แห่งสหรัฐอเมริกา
[แก้]สมาคมบิวอิคก์แห่งสหรัฐอเมริกา ถูกก่อตั้งในปี ค.ศ. 1966 เป็นองค์การไม่แสวงหาผลกำไรที่อุทิศให้กับการซ่อมแซมและเก็บรักษารถยนต์บิวอิคก์
การโฆษณา
[แก้]-
ป้ายโฆษณารถยนต์บิวอิคก์
ปี ค.ศ. 1911 -
โลโก้ของบิวอิคก์
ปี ค.ศ. 1913 -
โฆษณารถยนต์บิวอิคก์
ปี ค.ศ. 1916 โดยตัวแทนจำหน่าย บริษัท โฮวาร์ด ออโตโมบิล จากซานฟรานซิสโก -
ปกแฟ้มโฆษณา ปี ค.ศ. 1925 จากตัวแทนจำหน่ายในสวีเดน
อ้างอิง
[แก้]แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- บิวอิคก์ - หน้าแรก (อังกฤษ)
- บิวอิคก์ ที่เว็บไซต์ Curlie (อังกฤษ)
- http://buickcity.blogspot.com/ ประวัติของโรงงานบิวอิคก์ (อังกฤษ)