ลิ้นเหนือสูบ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ส่วนประกอบของระบบเปิด-ปิดลิ้นไอดีและไอเสีย

ลิ้นเหนือสูบ (อังกฤษ: Overhead valve, OHV) หรือวาล์วเหนือสูบ คือกลไกการทำงานแบบหนึ่งของเครื่องยนต์สันดาปภายใน ทำหน้าที่เปิดและปิดลิ้นไอดีและลิ้นไอเสีย โดยอาศัยแรงขับจากเพลาลูกเบี้ยวที่รับแรงขับมาจากเพลาข้อเหวี่ยงอีกทอดหนึ่ง เครื่องยนต์ที่ใช้ลิ้นเหนือสูบมีชื่อเล่นในวงการยานยนตร์ว่าเครื่องตะเกียบ

ลักษณะของเพลาลูกเบี้ยว[แก้]

เพลาลูกเบี้ยวมีลักษณะเป็นแท่งเหล็กกลม ยาวประมาณเกือบเท่าความยาวของเครื่องยนต์ เรียกว่าแกนเพลา และมีโลหะยื่นออกมาตามจุดต่างๆ คล้ายทรงรูปไข่บริเวณนี้เรียกว่าลูกเบี้ยวหรือลูกกระทุ้ง (camfollower)

การทำงาน[แก้]

ระบบลิ้นเหนือสูบอาศัยแรงขับจากเพลาข้อเหวี่ยงอาจใช้เฟืองหรือโซ่ในการส่งแรงขับไปสู่เพลาลูกเบี้ยว ที่ติดตั้งไว้ด้านข้างของเสื้อสูบเครื่องยนต์จากนั้นเพลาลูกเบี้ยวจะดันก้านกระทุ้ง (push arm) แล้วปลายอีกด้านของก้านกระทุ้งส่งแรงผลักไปดันกระเดื่องลิ้น หรือกระเดื่องวาล์ว (rocker arm)บริเวณเหนือลูกสูบเพื่อกดลิ้นให้เปิดมีผลทำให้เกิดการไหลเข้าของอากาศและเชื้อเพลิงเข้าสู่ห้องเผาไหม้และปิด จากนั้นลูกเบี้ยวตัวอื่นจะทำการกดเพื่อเปิดลิ้นไอเสียให้อากาศเสียไหลออกสู่ท่อไอเสีย[1][2]

เครื่องยนต์ที่ใช้ระบบนี้ส่วนใหญ่เป็นรุ่นเก่า ปัจจุบันเครื่องยนต์ที่ยังใช้ระบบนี้อยู่ เช่น เครื่องยนต์ Y ของโตโยต้า รวมไปถึงเครื่องยนต์แปดสูบหลายๆรุ่นที่ผลิตในสหรัฐอเมริกา เช่น เครื่องยนต์ Hemi ของไครสเลอร์

จุดแข็งของระบบลิ้นเหนือสูบ[แก้]

  • ถ้าเครื่องยนต์มีการจัดวางลูกสูบเป็นรูปตัววี ลิ้นเหนือสูบจะมีชิ้นส่วนน้อยกว่า เพราะในเครื่องยนต์รูปตัววีที่ใช้แคมเหนือสูบ จะมีแคมชาฟต์อย่างน้อยสองอัน และชุดโซ่ขับสองชุด ในขณะที่เครื่องลิ้นเหนือสูบจะมีแคมชาฟต์แคมเดียว และมีชุดโซ่ขับชุดเดียว ลดการสูญเสียกำลังขับได้มาก
  • เครื่องมีความสูงน้อยหว่าเครื่องแบบแคมเหนือสูบ เพราะไม่มีส่วนประกอบอะไรอยู่เหนือฝาสูบ

 จุดอ่อนของระบบลิ้นเหนือสูบ[แก้]

  • รองรับจำนวนลิ้นต่อสูบได้น้อย เครื่องยนต์ลิ้นเหนือสูบส่วนใหญ่มีสองลิ้นต่อสูบ ในขณะที่เครื่องแคมเหนือสูงทั่วไปจะมีสี่ลิ้นต่อสูบ เนื่องจากก้านกระทุ้งค่อนข้างเทอะทะ อาจทำให้การสร้างเครื่องลิ้นเหนือสูงที่รอบรับลิ้นมากกว่าสองลิ้นต่อสูบเป็นการลดประสิทธิภาพของเครื่องลงเนื่องจากมีความซับซ้อนมากเกินไป
  • รอบรับความเร็วรอบต่อนาทีของเครื่องได้น้อย เนื่องจากกลไกมีน้ำหนักมากกว่าและซับซ้อน จึงทำให้มีความเสี่ยงลิ้นลอยถ้าเครื่องทำงานในรอบสูง

อ้างอิง[แก้]

  1. "ชิ้นส่วนเครื่องยนต์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-09-25. สืบค้นเมื่อ 2011-05-15.
  2. กว่าจะมาเป็นเครื่องยนต์[ลิงก์เสีย]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]