ข้ามไปเนื้อหา

บาลด์วินที่ 5 เคานต์แห่งฟลานเดอส์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ตราประจำตัวของบาลด์วินที่ 5 แห่งฟลานเดอส์

บาลด์วินที่ 5 แห่งฟลานเดอส์ (อังกฤษ: Baldwin V of Flanders, ฝรั่งเศส: Baldwin de Lille, ละติน: Baldwin de Insulanus) เป็นขุนนางฝรั่งเศสและเคานต์แห่งฟลานเดอส์ ปกครองตั้งแต่ปี ค.ศ. 1035 จนกระทั่งเสียชีวิต บาลด์วินเป็นหนึ่งในเคานต์ที่มีอำนาจมากที่สุดในฝรั่งเศสในเวลานั้น

เคานต์แห่งฟลานเดอส์

[แก้]

บุตรชายของบาลด์วินที่ 4 เคานต์แห่งฟลานเดอส์กับภรรยาคนแรก โอจิฟแห่งลักเซมเบิร์ก[1] บุตรสาวของเฟรเดอริกแห่งลักเซมเบิร์ก[2] ในปี ค.ศ. 1028 บาลด์วินแต่งงานกับอาเดลาแห่งฝรั่งเศส[3] พระธิดาของพระเจ้ารอแบต์ที่ 2 แห่งฝรั่งเศส[1] ด้วยการยุยงของอาเดลา เขาก่อกบฏต่อบิดา บาลด์วินที่ 4 แต่ในปี ค.ศ. 1030 ทั้งคู่จับมือคืนดีกัน เมื่อบิดาเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1035 บาลด์วินสืบทอดตำแหน่งต่อจากเขา[1]

ความสัมพันธ์กับต่างแดน

[แก้]

ความสัมพันธ์กับบูโลญ

[แก้]

ยูซตาสที่ 1 เคานต์แห่งบูโลญมักบาดหมางกับบาลด์วินที่ 4 แต่กลับมีความสัมพันธ์ฉันท์มิตรกับบาลด์วินที่ 5[4] ทั้งคู่ลงนามในกฎบัตรของกันและกันและร่วมมือกันหลายครั้ง ยูซตาสที่ 1 ลงนามในกฎบัตรของบาลด์วินที่จำกัดอำนาจของผู้รักษาผลประโยชน์ทางด้านกฎหมายของโบสถ์และอาราม (advocate)

ความสัมพันธ์กับอังกฤษยุคแองโกลแซ็กซัน

[แก้]

ฟลานเดอส์ภายใต้การปกครองของบาลด์วินที่ 5 ไม่ได้มีความสัมพันธ์ที่ดีมากนักกับอังกฤษ[5] บาลด์วินให้ที่ลี้ภัยแก่ชาวอังกฤษที่ถูกขับไล่ออกจากประเทศและมักให้เรือกับกำลังพลแก่พวกเขา[5] เขาให้ความคุ้มครองแก่พระราชินีเอ็มมาในปี ค.ศ. 1036–1040 รวมถึงพระโอรสทั้งสองของพระองค์ อัลเฟรดและฮาร์ธาคนุต[5] เมื่อก็อดวิน เอิร์ลแห่งเวสเซ็กซ์และครอบครัวถูกพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดผู้สารภาพขับไล่ออกจากประเทศในปี ค.ศ. 1051–2 บาลด์วินให้การต้อนรับพวกเขา ทั้งยังช่วยพวกเขาเตรียมการกลับไปอังกฤษ[5] ฝั่งพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดผู้สารภาพก็ให้กองเรือประจำการอยู่นอกชายฝั่งฟลานเดอส์ในตอนที่บาลด์วินกำลังทำสงครามอยู่กับจักรพรรดิเฮนรีที่ 3 แห่งโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ การข่มขู่นี้ทำให้บาลด์วินขอทำสนธิสัญญาสันติภาพกับจักรพรรดิ[5]

ความสัมพันธ์กับฝรั่งเศส

[แก้]

บาลด์วินที่ 5 ได้อิทธิพลมากมายจากการแต่งงานสานสัมพันธไมตรีหลายครั้งระหว่างฟลานเดอส์กับอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนี[6] เขาสนิทสนมกับบุตรเขย พระเจ้าอ็องรีที่ 1 แห่งฝรั่งเศส[6] บาลด์วินเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินให้หลานชาย (ลูกชายของพี่ภรรยา) พระเจ้าฟิลิปที่ 1 แห่งฝรั่งเศส[5] ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1060 ถึงปี ค.ศ. 1067

ความสัมพันธ์กับจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์

[แก้]

ในปี ค.ศ. 1051 บาลด์วินบีบบังคับริคิลดิส ภรรยาม่ายของเคานต์แฮร์มันแห่งเอโนลต์ ให้แต่งงานกับบุตรชายของเขา บาลด์วินที่ 6[7] ทำให้เขาสามารถควบคุมเอโนลต์ผ่านทางบุตรชายได้ ทั้งยังทำให้เกิดความขัดแย้งต่อเนื่องระหว่างบาลด์วินที่ 5 กับจักรพรรดิเฮนรีที่ 3 เนื่องจากเอโนลต์เป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์[7] หลังพ่ายแพ้ต่อเนื่องจักรพรรดิเฮนรีที่ 3 ถอนทัพกลับไปเยอรมนีและสิ้นพระชนม์หลังจากนั้นไม่นาน ในปี ค.ศ. 1056 บาลด์วินได้รับรัฐชายแดนที่ติดกับแม่น้ำสเกลด์ต์ทั้งหมดเป็นที่ดินศักดินาจากแอ็กเนสแห่งปัวตูที่เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินให้พระโอรส จักรพรรดิเฮนรีที่ 4 แห่งโรมันอันศักดิ์สิทธิ์[8]

ความสัมพันธ์กับนอร์ม็องดีและอังกฤษยุคนอร์มัน

[แก้]

บุตรสาวของบาลด์วิน มาทิลดา แต่งงานกับวิลเลียมแห่งนอร์ม็องดีที่ต่อมากลายเป็นกษัตริย์แห่งอังกฤษ[7] ตอนแรกการแต่งงานถูกคว่ำบาตรจากพระสันนตะปาปาลีโอที่ 9 พระองค์ไม่ได้ให้เหตุผลไว้แต่เป็นไปได้ว่าเพราะทั้งคู่เป็นลูกพี่ลูกน้องกัน[9] ทั้งคู่แต่งงานกันในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1050 ถึงปี ค.ศ. 1052 แม้จะถูกคว่ำบาตรจากพระสันตะปาปาก็ตาม[9] แม้บาลด์วินจะให้การสนับสนุนการพิชิตอังกฤษของชาวนอร์มันพอสมควร แต่ความสัมพันธ์ระหว่างบาลด์วินกับบุตรเขย พระเจ้าวิลเลียมผู้พิชิต ไม่ค่อยเป็นมิตรต่อกันนัก[10] กษัตริย์อังกฤษระแวดระวังการเติบโตทางอำนาจของบาลด์วิน[7] แต่บาลด์วินในตอนนั้นก็แก่แล้ว และเสียชีวิตในวันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 1067[1]

ครอบครัว

[แก้]

บาลด์วินกับภรรยา อาเดลา มีบุตรด้วยกันสามคน คือ

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 1.6 Detlev Schwennicke, Europäische Stammtafeln: Stammtafeln zur Geschichte der Europäischen Staaten, Neue Folge, Band II (Marburg, Germany: J. A. Stargardt, 1984), Tafel 5
  2. Richard Mylius Sherman, The Ghents: A Flemish Family in Norman England, UMI Dissertation Information Service, Ann Arbor, MI (1988), p. 214
  3. David Nicholas, Medieval Flanders ( New York: Longman, 1992), p. 48
  4. Heather J. Tanner, Families, Friends, and Allies: Boulogne and Politics in Northern France and England, c. 879-1160 (Leiden; Boston : Brill, 2004), p. 83
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 5.4 5.5 Eljas Oksanen, Flanders and the Anglo-Norman World, 1066-1216 (Cambridge: Cambridge University Press, 2012), p. 11
  6. 6.0 6.1 Renée Nip, 'The Political Relations Between England and Flanders (1066-1128), Anglo-Norman Studies XXI: Proceedings of the Battle Conference 1998, ed. Christopher Harper-Bill (Woodbridge: Boydell Press, 1999), pp. 146-47
  7. 7.0 7.1 7.2 7.3 Renée Nip, 'The Political Relations Between England and Flanders (1066-1128), Anglo-Norman Studies XXI: Proceedings of the Battle Conference 1998, ed. Christopher Harper-Bill (Woodbridge: Boydell Press, 1999), p. 147
  8. Jean Dunbabin, France in the Making 843-1180, Second Edition (Oxford; New York: Oxford University Press, 2005), p. 209
  9. 9.0 9.1 David C. Douglas, William The Conqueror(Berkeley; Los Angeles: University of California Press, 1964), p. 76
  10. Renée Nip, 'The Political Relations Between England and Flanders (1066-1128), Anglo-Norman Studies XXI: Proceedings of the Battle Conference 1998, ed. Christopher Harper-Bill (Woodbridge: Boydell Press, 1999), p. 145