ข้ามไปเนื้อหา

นีโคไล อัฟค์เซนเตียฟ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
นีโคไล อัฟค์เซนเตียฟ
Николай Авксентьев
อัฟค์เซนเตียฟ เมื่อ ค.ศ. 1921
ประธานรัฐบาลชั่วคราวแห่งรัสเซียทั้งปวง
ดำรงตำแหน่ง
23 กันยายน – 18 พฤศจิกายน ค.ศ. 1918
ก่อนหน้าสถาปนาตำแหน่ง
(วลาดีมีร์ วอลสกี ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ)
ถัดไปยกเลิกตำแหน่ง
(อะเลคซันดร์ คอลชัค ในฐานะผู้ปกครองสูงสุดแห่งรัสเซีย)
ประธานสภาชั่วคราวแห่งสาธารณรัฐรัสเซีย
ดำรงตำแหน่ง
3 ตุลาคม – 7 พฤศจิกายน ค.ศ. 1917
ก่อนหน้าสถาปนาตำแหน่ง
ถัดไปยกเลิกตำแหน่ง
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
แห่งรัฐบาลชั่วคราวรัสเซีย
ดำรงตำแหน่ง
7 สิงหาคม – 15 กันยายน ค.ศ. 1917
ก่อนหน้าอีรัคลี เซเรเตลี
ถัดไปอะเลคเซย์ นีคีติน
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด28 พฤศจิกายน ค.ศ. 1878
เปนซา จักรวรรดิรัสเซีย
เสียชีวิต4 มีนาคม ค.ศ. 1943(1943-03-04) (64 ปี)
นครนิวยอร์ก สหรัฐ
พรรคการเมืองพรรคสังคมนิยมปฏิวัติ
(ค.ศ. 1905–1921)
การศึกษามหาวิทยาลัยไฮเดิลแบร์ค

นีโคไล ดมีตรีเยวิช อัฟค์เซนเตียฟ (รัสเซีย: Никола́й Дми́триевич Авксе́нтьев; 28 พฤศจิกายน ค.ศ. 1878 – 24 มีนาคม ค.ศ. 1943) เป็นสมาชิกแกนนำพรรคสังคมนิยมปฏิวัติ ผู้ดำรงตำแหน่งประธานรัฐบาลชั่วคราวแห่งรัสเซียทั้งปวง ซึ่งเป็นตำแหน่งประมุขแห่งรัฐรัสเซียตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน ค.ศ. 1918 ถึงวันที่ 18 พฤศจิกายน ค.ศ. 1918 หลังจากการโค่นล้มอำนาจและจับกุมตัวเขาโดยอะเลคซันดร์ คอลชัค ผู้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสงคราม ซึ่งต่อมากลายเป็นผู้ปกครองสูงสุดแห่งรัสเซีย

เขาเกิดที่เปนซาเมื่อ ค.ศ. 1878 ในครอบครัวชนชั้นสูง[1] เขาเข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยมอสโกจนกระทั่งถูกขับออกใน ค.ศ. 1899 เนื่องจากเข้าร่วมกิจกรรมการล้มล้างการปกครอง จากนั้นเขาจึงลี้ภัยเรียนต่อที่เยอรมนีในระหว่าง ค.ศ. 1900 ถีง ค.ศ. 1904[1]

ต่อมาเขาได้รับเลือกเป็นประธานร่วมในสภาโซเวียตเซนต์ปีเตอส์เบิร์กในช่วงการปฏิวัติรัสเซีย ค.ศ. 1905 ในฐานะตัวแทนของพรรคสังคมนิยมปฏิวัติ[2] แต่หลังจากความล้มเหลวของการปฏิวัติ พรรคสังคมนิยมปฏิวัติก็เข้าสู่วิกฤตที่ร้ายแรง[3] ทำให้อัฟค์เซนเตียฟเริ่มหันเหสู่กระแสการเมืองใหม่ที่เรียกว่า "ลัทธิกำจัด" (iquidationism) ซึ่งเป็นกระแสการเมืองฝ่ายขวาสุดของพรรคและใกล้ชิดกับฝ่ายเสรีนิยมมากกว่าฝ่ายสังคมนิยมอื่น ๆ โดยเขาเชื่อมั่นถึงความจำเป็นในการเข้าร่วมกับสถาบันที่ก้าวหน้าอย่างเซมสตโว (земство)[4] ในการประชุมครั้งที่สองของพรรคที่จัดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1907 เขาได้รับเลือกเป็นสมาชิกคณะกรรมการส่วนกลางและบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ของพรรค[5] ในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เขาเป็นหนึ่งในผู้นำสังคมนิยมกระแสลัทธิป้องกันของพรรคสังคมนิยมปฏิวัติ[6] โดยเขาอาศัยอยู่ที่ปารีสในระหว่างความขัดแย้งและเดินทางกลับกรุงเปโตรกราดในช่วงฤดูใบไม้ผลิของ ค.ศ. 1917[7]

ท่ามกลางการปฏิวัติรัสเซีย อัฟค์เซนเตียฟกลายเป็นสมาชิกคณะกรรมการบริหารของสภาผู้แทนแรงงานและทหารเปโตรกราด (สภาโซเวียตเปโตรกราด) โดยการมีส่วนร่วมของเขาถูกจำกัดเนื่องจากกิจกรรมของเขาในสภาชาวนาที่เขาเป็นประธาน[8] อัฟค์เซนเตียฟเป็นหนึ่งในสมาชิกฝ่ายขวาของพรรค (เช่นเดียวกับเพื่อนนักเรียนที่เหลือของเขาจากมหาวิทยาลัยไฮเดิลแบร์ค) ซึ่งเป็นกลุ่มส่วนน้อยแต่มีอิทธิพลมาก[9] โดยภายในกลุ่มนี้ อัฟค์เซนเตียฟเป็นที่โดดเด่นจากมีบทบาทหลักต่อการสนับสนุนการทำสงครามโลกของรัสเซีย[9] รวมถึงยังแสดงการสนับสนุนการจัดตั้งรัฐบาลผสมระหว่างชนชั้นนายทุนและนักสังคมนิยมอย่างแข็งขัน[10] เขาดํารงตําแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยตั้งแต่วันที่ 6 สิงหาคม [ตามปฎิทินเก่า: 24 กรกฎาคม] ค.ศ. 1917 แทนที่อีรัคลี เซเรเตลี ถึงกลางเดือนกันยายน ปีเดียวกัน[11][12]

ต่อมาอัฟค์เซนเตียฟกลายเป็นประธานสภาชั่วคราวแห่งสาธารณรัฐรัสเซีย[13] ซึ่งเขาไม่เห็นด้วยต่อการเถลิงอำนาจของบอลเชวิคของเลนินในช่วงการปฏิวัติเดือนตุลาคม[14] โดยหลังจากการปฏิวัติ เขาจึงเป็นประธานคณะกรรมการเพื่อความอยู่รอดของบ้านเกิดเมืองนอนและการปฏิวัติ ซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้ามกับบอลเชวิค คณะกรรมการมีส่วนในการจลาจลต่อต้านบอลเชวิคที่ล้มเหลวของนักเรียนนายร้อยในเปโตรกราด ภายหลังการบดขยี้กลุ่มกบฏ[15] อัฟค์เซนเตียฟจึงหลบหนีออกจากเปโตรกราด[16] เขาพยายามรวบรวมการสนับสนุนจากสามเหล่าทัพที่อยู่ในแนวรบโรมาเนียแต่ไม่สําเร็จ[17] เขาถูกจับกุมในวันที่ 30 ธันวาคม [ตามปฎิทินเก่า: 17 ธันวาคม] ค.ศ. 1917 ซึ่งการจับกุมครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของมาตรการของรัฐบาลต่อสภาร่างรัฐธรรมนูญ และถือเป็นครั้งแรกในการจับกุมนักสังคมนิยมด้วยข้อหาต่อต้านการปฏิวัติ[18]

ในฤดูร้อนของ ค.ศ. 1918 เขาได้หลบหนีไปที่ซามาราเช่นเดียวกับผู้นําการปฏิวัติทางสังคมที่สำคัญคนอื่น ๆ เมื่อคณะกรรมาธิการสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญจัดตั้งรัฐบาลต่อต้านบอลเชวิค ณ ที่แห่งนี้[19] จากนั้นในเดือนสิงหาคม เขากลายเป็นผู้มีอํานาจเต็มของสหภาพเพื่อการฟื้นฟูรัสเซีย โดยมีความพยายามในการรวมกลุ่มต่อต้านบอลเชวิคหลังจากการจลาจลของหน่วยทหารเชโกสโลวักแต่ก็ล้มเหลว[20] และยังเป็นประธานการประชุมแห่งชาติที่จัดขึ้นที่อูฟาจากนั้นไม่นาน[21][22] ต่อมาในฤดูใบไม้ร่วงของ ค.ศ. 1918 เขาดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการออมสค์ ซึ่งเป็นรัฐบาลชั่วคราวที่จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 23 กันยายน แต่รัฐบาลของเขานั้นเป็นเพียงองค์กรขนาดเล็กที่ไม่มีแหล่งเงินทุน และในไม่ช้าก็ถูกกองทัพที่สนับสนุนพลเรือเอก อะเลคซันดร์ คอลชัค รัฐประหารรัฐบาล[23] อัฟค์เซนเตียฟไร้ซึ่งอํานาจที่แท้จริงและไม่ได้รับความไว้วางใจจากพรรคสังคมนิยมปฏิวัติตลอดจนฝ่ายขวา อัฟค์เซนเตียฟเป็นเสมือนผู้นำรัฐบาลแต่ไร้อำนาจ ซึ่งคล้ายคลึงกับรัฐบาลชั่วคราวรัสเซียในช่วงท้ายภายใต้เคเรนสกี[23] ทั้งกองกําลังพันธมิตร พรรคสังคมนิยมปฏิวัติ และฝ่ายขวา ต่างก็สมคบคิดเพื่อโค่นล้มเขาและรัฐบาลตั้งแต่ทีแรก[23] อัฟค์เซนเตียฟถูกกองกำลังฝ่ายขวาของคอลชัคจับกุมเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน และถูกเนรเทศ[24] เขาพำนักอยู่ที่ปารีสและยังคงเคลื่อนไหวอยู่ท่ามกลางเหล่าผู้อพยพขวาของรัสเซีย[25] และหลังจากความพ่ายแพ้ของฝรั่งเศสในตอนต้นของสงครามโลกครั้งที่สอง เขาจึงย้ายไปอยู่ที่สหรัฐ[26] และถึงแก่อสัญกรรมใน ค.ศ. 1943[1]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 Hildermeier 2000, p. 376.
  2. Trapeznik 2007, p. 39.
  3. Radkey 1958, p. 80.
  4. Radkey 1958, p. 82.
  5. Hildermeier 2000, pp. 187, 376.
  6. Boniece 1995, p. 197.
  7. Radkey 1958, p. 138.
  8. Radkey 1958, p. 136.
  9. 9.0 9.1 Radkey 1958, p. 198.
  10. Radkey 1958, p. 209.
  11. Rabinowitch 1978, p. 55.
  12. Lincoln 1989, p. 236.
  13. Rabinowitch 1978, p. 259.
  14. Figes 1998, p. 510.
  15. Radkey 1963, p. 19.
  16. Radkey 1963, p. 39.
  17. Radkey 1963, p. 80.
  18. Carr 1966, p. 251.
  19. Figes 1998, p. 578.
  20. Smele 1996, p. 37.
  21. Lincoln 1989, pp. 236–237.
  22. Smele 1996, p. 45.
  23. 23.0 23.1 23.2 Figes 1998, p. 585.
  24. Smele 1996, p. 113.
  25. Johnston 1988, p. 48.
  26. Collomp 2005, p. 124.

บรรณานุกรม

[แก้]