ข้ามไปเนื้อหา

ถ้ำนาคา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ถ้ำนาคา เป็นถ้ำในพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูลังกา อำเภอบึงโขงหลง จังหวัดบึงกาฬ มีจุดเด่นของลักษณะหินเกิดจากการกัดกร่อน มีลวดลายคล้ายเกล็ดงู

การค้นพบ

[แก้]

ถ้ำนาคาเป็นถ้ำที่ถูกค้นพบเมื่อราว พ.ศ. 2563 โดยมีกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เป็นลูกศิษย์ของพระอาจารย์วินิจ สุเมโทร จากวัดถ้ำชัยมงคล[1] ได้บันทึกภาพกลุ่มหินที่เกิดการกัดกร่อน มีลวดลายคล้ายเกล็ดปลาหรือเกล็ดงู ประกอบกับการโค้งตัวของหินทำให้รูปร่างโดยรวมคล้ายกับการขดตัวของงูใหญ่หรือพญานาค[2] และโพสต์รูปภาพเหล่านั้นขึ้นบนสื่อโซเชียล และเกิดการกระจายข่าวไปตามความเชื่อส่วนบุคคลจนเป็นที่โด่งดัง

ถ้ำนาคาเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่นิยมมาก แม้จะอยู่ในช่วงการระบาดทั่วของโควิด-19 ในประเทศไทย

ลักษณะทางกายภาพ

[แก้]

ถ้ำนาคาเป็นถ้ำขนาดเล็ก การเข้าถึงต้องเดินขึ้นเขาจากวัดถ้ำชัยมงคลขึ้นไปตามบันไดที่ชันมากหลายช่วง ประมาณไม่ต่ำกว่า 600 ขั้น ใช้เวลาเดินขึ้นจนไปถึงถ้ำประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง

หินเกิดจากการกัดกร่อน มีลวดลายคล้ายเกล็ดงู มีความสูง 5–30 เมตร บริเวณดังกล่าวเป็นหินทรายขนาดใหญ่ ทางธรณีวิทยา เรียกกันว่า ซันแครก (Sun Crack) หรือ หมอนหินซ้อน ลักษณะการแตกผิวหน้าของหิน เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิที่แตกต่างกัน ระหว่างกลางวันและกลางคืนอย่างรวดเร็ว ทำให้หินเกิดการขยายตัวและหดตัวสลับไปมา จนแตกเป็นลายเหลี่ยม ต่อมามีการผุผังและกัดเซาะโดยน้ำและอากาศในแนวดิ่ง ทำให้เกิดลักษณะเป็นชั้น ๆ[3] จากการคำนวณแล้วหินทรายชนิดนี้มีอายุประมาณ 70 ล้านปี[4] เป็นหินที่เกิดในยุคครีเทเชียสตอนปลาย

ตำนานและความเชื่อ

[แก้]

มีความเชื่อว่ากลุ่มหินรูปงู อาจจะเป็นงูยักษ์ตายแล้วกลายเป็นหิน เมื่อหลายร้อยล้านปีมาแล้ว งูยักษ์พอตายลงยังไม่เน่าเปื่อยก็โดยทับถมด้วยดินหินมานับล้านปี จนแร่ธาตุจับเกาะในตัวงูกลายเป็นหิน ผูกเข้ากับตำนานท้องถิ่นทีว่า องค์อือลือเคยอาศัยอยู่ เป็นราชาผู้ถูกสาปให้เป็นพญานาค ทำให้เมืองล่มสลายกลายเป็นบึงโขงหลง องค์อือลือจะพ้นคำสาปก็ต่อเมื่อบังเกิดเมืองขึ้นใหม่[5] ปัจจุบันเชื่อกันว่า เมืองที่ว่านี้อยู่ที่บึงโขงหลง จังหวัดบึงกาฬ

รายการอ้างอิง

[แก้]
  1. "เปิดตำนาน "ถ้ำนาคา" แห่งภูลังกา จ.บึงกาฬ ลือเป็นพญานาคถูกสาปให้แข็ง". สนุก.คอม.
  2. "ถ้ำนาคา (Naka Cave) - อุทยานแห่งชาติภูลังกา (เปิดบางแหล่ง)". สำนักอุทยานแห่งชาติ.
  3. "เจ้าเชื่อเรื่องพญานาคบ่ "ถ้ำนาคา" ตำนานเล่าขาน พลังศรัทธานักเที่ยวสายมู". ไทยรัฐ.
  4. "เปิดความลับ "ถ้ำนาคา" หินเกล็ดพญานาคเกิดขึ้นได้อย่างไร". คมชัดลึก.
  5. "เมื่อ 'ถ้ำนาคา' จ.บึงกาฬ ปลุกความเชื่อ 'พญานาค' กลับมาอีกครั้ง!". กรุงเทพธุรกิจ.