ข้ามไปเนื้อหา

ตาว

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ตาว
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ แก้ไขการจำแนกนี้
อาณาจักร: พืช
Plantae
เคลด: พืชมีท่อลำเลียง
Tracheophytes
เคลด: พืชดอก
Angiosperms
เคลด: พืชใบเลี้ยงเดี่ยว
Monocots
เคลด: Commelinids
Commelinids
อันดับ: Arecales
Arecales
วงศ์: ปาล์ม (พืช)
Arecaceae
สกุล: สกุลตาว
Arenga
(Wurmb) Merr.
สปีชีส์: Arenga pinnata
ชื่อทวินาม
Arenga pinnata
(Wurmb) Merr.

ตาว, ต๋าว หรือ ชก (ชื่อวิทยาศาสตร์: Arenga pinnata, ชื่ออื่น ๆ เช่น "ฉก" หรือ "กาฉก" (ระนอง)[1], หมึ่กล่าง (ลัวะ), ต๋งล้าง (ม้ง), ต่าว (เมี่ยน)[2] เป็นต้น) เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวชนิดหนึ่งที่อยู่ในวงศ์ปาล์มเช่นเดียวกับตาลและมะพร้าว มีถิ่นกำเนิดในเอเชียเขตร้อนตั้งแต่ทางตะวันออกของอินเดีย ไปจนถึงมาเลเซีย, อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์[3] ในประเทศไทยพบมากในป่าดิบชื้น เช่น ป่าลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์และจังหวัดน่าน

ลำต้นตรง ใหญ่กว่าต้นตาล ไม่แตกหน่อ ใบเป็นแฉกคล้ายใบมะพร้าวแต่ใหญ่กว่า ดอกเป็นดอกช่อ แยกตัวผู้ตัวเมีย ช่อดอกตัวผู้ออกได้หลายครั้ง แต่ช่อดอกตัวเมียออกเพียงครั้งเดียว ออกผลเพียงครั้งเดียวก็ตาย ผลเป็นพวงทะลายมีผลติดอยู่มากมาย เป็นพูตื้นสามพู เมื่ออ่อนสีเขียว พอแก่เป็นสีเหลืองแดงและน้ำตาล ไม่มีก้านผล โดยกลีบเลี้ยงติดกับช่อดอกโดยตรง และติดทนจนเป็นผล[1]

การใช้ประโยชน์

[แก้]
ผลตาว

น้ำตาลที่ปาดได้จากช่อดอกตัวผู้ ทำเป็นน้ำตาลสด น้ำตาลเมา และน้ำส้มได้ ในอินเดียปาดเอาน้ำหวานต้นตาวไปทำน้ำตาลเรียก gur และหมักเป็นน้ำส้มสายชู ทางภาคใต้ของไทยนิยมทำน้ำตาลจากต้นตาวเช่นกัน โดยเรียกว่า น้ำตาลฉก[1] ชาวชวาและบาหลีนิยมใช้ใบมุงหลังคา ในอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์รับประทานผลตาวทั้งผลดิบและนำไปเชื่อม

แป้งที่สกัดได้จากลำต้นใช้ทำอาหารเช่นบักโซในอินโดนีเซีย ตัวหนอนของด้วงแรดที่อาศัยในลำต้นนำมารับประทานได้ ยอดอ่อนรับประทานได้ ดอกมีน้ำหวานใช้เลี้ยงผึ้ง ราก ลำต้นและก้านใบย่อยเป็นส่วนที่ให้เส้นใย ใช้ทำเชือก แปรงทาสี วัสดุเสริมคอนกรีต เยื่อละเอียดบริเวณกาบใบใช้ทำคบไฟและหมันเรือ สายเบ็ด สายแร้วดักนก หรือสานเสื่อ ใบอ่อนรับประทานได้ ก้านใบย่อยทำไม้กวาดและไม้เสียบสะเต๊ะ ใบใช้มวนบุหรี่ มัดสิ่งของ ก้านช่อดอกใช้ทำไม้เท้าได้ เปลือกผลอ่อนมีผลึกออกซาเลต ทำให้คัน ผลดิบตำให้ละเอียดใช้เบื่อปลา รากอ่อนใช้รักษานิ่วในไต รากแก่ใช้แก้ปวดฟัน เยื่อละเอียดในกาบใบใช้รักษาแผลไฟไหม้ น้ำตาลที่ได้มีสรรพคุณเป็นยาระบาย[4]

ภาพวาดต้นตาว

ในประเทศไทยใบตาวใช้มุงหลังคา กั้นฝาบ้าน ก้านใบทำไม้กวาด เส้นใยของลำต้นใช้ทำแปรง ยอดอ่อนนำมาทำอาหารได้เช่นเดียวกับหน่อไม้ หรือนำไปดองแบบหน่อไม้ดองก็ได้ ผลตาวใช้ทำลูกชิด[5] โดยต้องนำผลตาวไปต้มในน้ำเดือดจนนิ่ม นำมาปาดหัวให้เห็นเนื้อในแล้วบีบเอาลูกตาวข้างในออกมา แล้วนำลูกตาวนี้ไปแช่น้ำ เปลี่ยนน้ำบ่อย ๆ จนเป็นสีขาว นำไปต้ม แล้วแช่น้ำเชื่อมไว้อีก 1 คืน จากนั้น นำไปทำเป็นลูกชิดปี๊บ ลูกชิดกระป๋อง ลูกชิดอบแห้ง ซึ่งจะนำไปทำขนมได้หลายชนิด เช่น ใส่ในไอศกรีม หวานเย็น รวมมิตร โดยแหล่งผลิตลูกตาวที่สำคัญอยู่ที่จังหวัดน่าน ซึ่งเป็นโรงงานแปรรูปตาวแห่งเดียวในเขตพื้นที่ภาคเหนือ[6]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 มัณฑนา นวลเจริญ. 2552. สารานุกรมความหลากหลายทางชีวภาพตำบลกะเปอร์ อำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง. กทม. สำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. พิมพ์ครั้งที่ 2. หน้า 42. ISBN 978-974-286-649-5.
  2. "รวมพลังรักษาป่า ด้วยศาสตร์พระราชา" เล่ม 2 (PDF). การประชุมวิชาการป่าไม้ประจําปี พ.ศ. 2560. กรุงเทพฯ: สํานักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช. สิงหาคม 2017. p. 76.
  3. Uhl, Natalie W. and Dransfield, John (1987) Genera Palmarum – A classification of palms based on the work of Harold E. Moore. Lawrence, Kansas: Allen Press. ISBN 0-935868-30-5, 978-0-935868-30-2.
  4. พีรศักดิ์ วรสุนทโรสถ และคณะ. Prosea ทรัพยากรพืชในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 9: พืชให้คาร์โบไฮเดรตที่ไม่ใช่เมล็ด. กทม. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย. 2544. หน้า 66–67. ISBN 974-8054-66-7.
  5. นิดดา หงส์วิวัฒน์ และทวีทอง หงส์วิวัฒน์. ตาว ใน ผลไม้ 111 ชนิด: คุณค่าอาหารและการกิน. กทม. แสงแดด. ตุลาคม 2550. หน้า 301–303. ISBN 978-974-9665-74-9.
  6. อภิวัฒน์ คำสิงห์ (19 สิงหาคม 2011). "'ต๋าว' พืชเฉพาะถิ่น นครน่าน หนึ่งของดี แปรรูปได้". มติชน. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 มีนาคม 2016. สืบค้นเมื่อ 21 ตุลาคม 2012.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)

บรรณานุกรม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]