จักรพรรดินีโชเก็ง พระพันปีหลวง
จักรพรรดินีโชเก็ง | |
---|---|
พระพันปีหลวง | |
จักรพรรดินีญี่ปุ่น | |
ดำรงพระยศ | 11 มกราคม พ.ศ. 2412 – 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2455 |
พระพันปีหลวง | |
ดำรงพระยศ | 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2455 – 9 เมษายน พ.ศ. 2457 |
พระราชสมภพ | 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2392 เกียวโต จักรวรรดิญี่ปุ่น |
สวรรคต | 9 เมษายน พ.ศ. 2457 (64 ปี) นูมาซุ จังหวัดชิซูโอกะ จักรวรรดิญี่ปุ่น |
คู่อภิเษก | จักรพรรดิเมจิ (พ.ศ. 2412–2455) |
ราชวงศ์ | ญี่ปุ่น (อภิเษกสมรส) |
พระราชบิดา | ทาดาโยชิ อิจิโจ |
พระราชมารดา | ทามิโกะ นีฮาตะ |
ศาสนา | ชินโต |
จักรพรรดินีโชเก็ง พระพันปีหลวง (ญี่ปุ่น: 昭憲皇太后; โรมาจิ: Shōken kōtaigō; 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2392 — 9 เมษายน พ.ศ. 2457) พระนามเดิม มาซาโกะ อิจิโจ (ญี่ปุ่น: 一条 勝子; โรมาจิ: Ichijō Masako) และฮารูโกะ อิจิโจ (ญี่ปุ่น: 一条 美子; โรมาจิ: Ichijō Haruko) ตามลำดับ เป็นพระจักรพรรดินีอัครมเหสีในจักรพรรดิเมจิ ทรงเป็นจักรพรรดินีพระองค์แรกแห่งยุคสมัยใหม่ของญี่ปุ่น แต่อย่างไรก็ตามทั้งสองพระองค์ไม่มีพระราชโอรสพระธิดาด้วยกัน อันเนื่องมาจากมีพระวรกายผิดปกติจึงไม่สามารถทรงพระครรภ์ได้ แม้จะเป็นเช่นนี้แต่มีบันทึกว่าจักรพรรดิเมจิโปรดที่จะเสด็จไปพบสมเด็จพระจักรพรรดินีแทบทุกวัน
พระราชประวัติ
[แก้]พระชนม์ชีพช่วงต้น
[แก้]จักรพรรดินีโชเก็ง พระพันปีหลวง พระราชสมภพเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2392 ณ เฮอังเกียว มีพระนามเมื่อแรกประสูติว่ามาซาโกะ เป็นธิดาคนที่สามของทาดาโยชิ อิจิโจ (一条忠香, พ.ศ. 2355–2406) อดีตเสนาบดีฝ่ายขวาและผู้สืบตระกูลอิจิโจอันเป็นสาขาย่อยของตระกูลฟูจิวาระ กับอนุภริยาชื่อทามิโกะ นีฮาตะ (新畑民子, พ.ศ. 2370–2451) ลูกสาวของหมอประจำตระกูลอิจิโจ
จักรพรรดินีโชเก็งฉายแววความเฉลียวฉลาดมาตั้งแต่ยังเยาว์ชันษา เพราะมีพระปรีชาในการอ่านบทร้อยกรองในประชุมบทร้อยกรองญี่ปุ่นขณะมีพระชันษาสี่ปี และพระราชนิพนธ์กลอนวากะได้โดยพระองค์เองเมื่อพระชันษาได้ห้าปี ครั้นมีพระชันษาได้เจ็ดปี พระองค์สามารถอ่านภาษาจีนโบราณโดยมีผู้คอยถวายคำแนะนำบางครั้ง ทรงร่ำเรียนอักษรวิจิตรแบบญี่ปุ่น และละครโน ต่อมาขณะมีพระชันษาสิบสองปี ทรงเรียนการเล่นโคโตะ (ลักษณะคล้ายคลึงกับกู่เจิงของจีน) การจัดดอกไม้แบบญี่ปุ่น และพิธีชงชาอย่างญี่ปุ่น[1]
จักรพรรดินีโชเก็งทรงหมั้นกับจักรพรรดิเมจิในวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2410 หลังจากนั้นมีการเปลี่ยนพระนามจาก "มาซาโกะ" เป็น "ฮารูโกะ" รัฐบาลโทกูงาวะอ้างว่าจะมอบทองคำ 15,000 เรียวในวันอภิเษกสมรส และจะมอบรายได้ปีละ 500 โคกุแก่พระองค์ แต่หลังเกิดการปฏิรูปเมจิ ของกำนัลที่จะมอบให้ในงานอภิเษกสมรสก็ไม่ถูกส่งมอบ ทั้งนี้พระองค์มีพระชันษามากกว่าจักรพรรดิเมจิถึงสามปี ด้วยเหตุนี้จึงได้มีการเปลี่ยนแปลงปีพระราชสมภพของพระองค์จากเดิมในปี พ.ศ. 2392 เป็น พ.ศ. 2393[1] พระราชพิธีอภิเษกสมรสถูกเลื่อนเพราะมีการไว้ทุกข์แก่จักรพรรดิโคเม พระราชชนกของจักรพรรดิเมจิ และซาเนโยชิ อิจิโจ พระเชษฐาของพระองค์เอง ทั้งยังเกิดการจลาจลรอบเกียวโตช่วง พ.ศ. 2410–2411[1]
จักรพรรดินี
[แก้]พระราชพิธีอภิเษกสมรสระหว่างจักรพรรดิเมจิกับฮารูโกะ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2412[1] ได้รับพระอิสริยยศเป็น "เนียวโง" และ "โคโง" ถือเป็นพระอัครมเหสีพระองค์แรกในรอบหลายร้อยปี แต่พระองค์ไม่สามารถให้ประสูติการพระราชบุตรได้ จักรพรรดิเมจิมีพระราชบุตร 12 พระองค์ ที่เกิดกับนางบาทบริจาริกา 5 ท่าน จักรพรรดินีฮารูโกะทรงเลี้ยงเจ้าชายโยชิฮิโตะ พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ของจักรพรรดิเมจิกับบาทบริจาริกาชื่อนารูโกะ ยานางิวาระ ที่ต่อมาเจ้าชายพระองค์ดำรงพระอิสริยยศเป็นมกุฎราชกุมาร หลังจากนั้นพระราชวงศ์ญี่ปุ่นจึงย้ายราชธานีจากเกียวโตไปโตเกียว[2] ในช่วงเปลี่ยนผ่านทางวัฒนธรรมยุคเก่ากับใหม่ จักรพรรดิเมจิมีพระบรมราชโองการให้บรรดาเจ้านายฝ่ายในและนางสนองพระโอษฐ์เข้าศึกษาหลักสากลพื้นฐานกับพระองค์ เพื่อพัฒนาเจ้านายผู้หญิงให้ทัดเทียมชาติตะวันตก[3]
ปลายพระชนม์
[แก้]หลังจักรพรรดิเมจิเสด็จสวรรคตใน พ.ศ. 2455 มกุฎราชกุมารโยชิฮิโตะสืบราชสมบัติเป็นจักรพรรดิโยชิฮิโตะ และสถาปนาให้จักรพรรดินีฮารูโกะ ซึ่งเป็นพระมารดาเลี้ยงขึ้นเป็นพระพันปีหลวง (皇太后) สองปีต่อมา พระพันปีฮารูโกะเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2457 ณ พระตำหนักในเมืองนูมาซุ จังหวัดชิซูโอกะ พระบรมศพถูกฝังเคียงข้างพระบรมศพจักรพรรดิเมจิพระสวามี บนเนินเขาฝั่งตะวันออกในฟูชิมิโมโมยามะเรียว แขวงฟูชิมิ เมืองเกียวโต มีการถวายสักการะดวงพระวิญญาณของพระองค์ที่ศาลเจ้าเมจิ หลังการสวรรคตพระองค์ได้รับการเฉลิมพระอภิไธยว่า พระพันปีโชเก็ง เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2457[4]
อิทธิพล
[แก้]ด้านวัฒนธรรม จักรพรรดินีฮารูโกะสวมฉลองพระองค์อย่างตะวันตกเสด็จไปร่วมในพิธีจบการศึกษาที่โรงเรียนขุนนางเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2429 และวันที่ 10 สิงหาคมปีเดียวกันนั้น พระองค์และพระราชวงศ์สวมฉลองพระองค์อย่างยุโรปเข้าชมการแสดงดนตรีตะวันตกครั้งแรก[5] นับแต่นั้นเป็นต้นมาพระบรมวงศานุวงศ์ญี่ปุ่นจะสวมฉลองพระองค์แบบยุโรปปรากฏต่อธารกำนัล ครั้นเดือนมกราคม พ.ศ. 2430 จักรพรรดินีฮารูโกะทรงพระอักษรเกี่ยวกับการแต่งกายไว้ว่า การแต่งกายแบบญี่ปุ่นดั้งเดิมนั้นไม่เหมาะกับยุคสมัยใหม่ และเครื่องแต่งกายแบบตะวันตกนั้นคล้ายกับกิโมโนที่คนญี่ปุ่นใส่มาแต่โบราณ[6] ใน ราชกิจจานุเบกษา ซึ่งเป็นเอกสารของไทย ระบุถึงฉลองพระองค์องค์จักรพรรดินีเมื่อคราวถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์เมื่อ พ.ศ. 2442 ไว้ว่า "...เอมเปรสยืนประทับอยู่ มีนารีพนักงานยืนอยู่ด้วยสองนาง แต่งตัวอย่างนารีฝรั่ง..."[7]
ด้านการทูต จักรพรรดินีฮารูโกะทรงต้อนรับจูเลีย แกรนต์ ภรรยาของยูลิซีซ เอส. แกรนต์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ ระหว่างเยือนประเทศญี่ปุ่น และปรากฏพระองค์เคียงคู่พระราชสวามีเมื่อครั้งสมาคมกับพระเจ้าคาลาคาอัวแห่งฮาวายใน พ.ศ. 2424 ภายในปีเดียวกัน จักรพรรดินีฮารูโกะทรงร่วมถวายการต้อนรับเจ้าชายอัลเบิร์ตและเจ้าชายจอร์จ พระราชโอรสในพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 แห่งสหราชอาณาจักรซึ่งเสด็จเยือนญี่ปุ่น เจ้าชายทั้งสองถวายวอลาบีจากออสเตรเลียแก่พระองค์คู่หนึ่ง[8]
ด้านการทหาร จักรพรรดินีฮารูโกะตามเสด็จจักรพรรดิเมจิไปเมืองโยโกซูกะ จังหวัดคานางาวะ เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2429 เพื่อทอดพระเนตรเรือ นานิวะ และ ทากาชิโฮะ ซึ่งเป็นเรือลาดตระเวนลำใหม่ของกองทัพเรือญี่ปุ่น ทดสอบการประลองยุทธและการยิงตอร์ปิโด หลัง พ.ศ. 2430 เป็นต้นมา พระองค์จะปรากฏอยู่เคียงข้างพระราชสวามีหากทรงเสด็จเยี่ยมกองทัพญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการแทบทุกครั้ง[9] ครั้นจักรพรรดิเมจิทรงพระประชวรใน พ.ศ. 2431 จักรพรรดินีฮารูโกะทรงประกอบพระราชกรณียกิจต่าง ๆ แทน เช่น เสด็จออกรับราชทูตจากสยาม[7] เสด็จพระราชดำเนินในพิธีปล่อยเรือรบ และทรงเยี่ยมมหาวิทยาลัยโตเกียว[10] และใน พ.ศ. 2432 จักรพรรดินีฮารูโกะโดยเสด็จพระราชสวามีเยือนเมืองนาโกยะและเกียวโตอย่างเป็นทางการ ขณะที่จักรพรรดิเมจิเสด็จไปทอดพระเนตรฐานทัพเรือที่เมืองคูเรและซาเซโบะ จักรพรรดินีฮารูโกะเสด็จไปสักการะศาลเจ้าที่เมืองนาระ[11]
ด้านการกุศล จักรพรรดิฮารูโกะเป็นที่รู้จักว่าทรงสนับสนุนงานการกุศลและการศึกษาสตรีมาตลอด โดยเฉพาะในช่วงสงครามจีน–ญี่ปุ่นครั้งที่หนึ่ง (พ.ศ. 2437–2438) ทรงก่อตั้งและร่วมบริหารสภากาชาดญี่ปุ่น ทรงก่อตั้งทุนจักรพรรดินีโชเก็ง (The Empress Shōken Fund) สำหรับเป็นสวัสดิการในการจัดกิจกรรมในต่างประเทศ หลังจักรพรรดิเมจิทรงย้ายกกองบัญชาการทหารจากโตเกียวไปฮิโรชิมะ ครั้นตามเสด็จพระสวามีเมื่อคราวเยือนฮิโรชิมะในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2438 องค์จักรพรรดินีทรงยืนกรานที่จะเสด็จไปโรงพยาบาลทหารผ่านศึก เพื่อให้กำลังใจแก่ทหารผู้บาดเจ็บทุกวันที่พระองค์มาประทับฮิโรชิมะ[12]
พระเกียรติยศ
[แก้]พระอิสริยยศ
[แก้]- 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2392 — 2 กันยายน พ.ศ. 2410 : มาซาโกะ อิจิโจ
- 2 กันยายน พ.ศ. 2410 — 11 มกราคม พ.ศ. 2412 : ฮารูโกะ อิจิโจ
- 11 มกราคม พ.ศ. 2412 — 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2455 : จักรพรรดินีฮารูโกะ
- 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2455 — 19 เมษายน พ.ศ. 2457 : จักรพรรดินีฮารูโกะ พระพันปีหลวง
- 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2457 : จักรพรรดินีโชเก็ง พระพันปีหลวง
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้]- เครื่องราชอิสริยาภรณ์รัตนมงกุฎ ชั้นที่ 1
- เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์[7]
พงศาวลี
[แก้]พงศาวลีของจักรพรรดินีโชเก็ง พระพันปีหลวง[13] | |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
|
อ้างอิง
[แก้]- เชิงอรรถ
- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 Keene, Donald. (2005). Emperor of Japan:Meiji and His World, pp. 106-108.
- ↑ Keene, p. 188.
- ↑ Keene, p. 202.
- ↑ 大正3年宮内省告示第9号 (Imperial Household Ministry's 9th announcement in 1914)
- ↑ Keene, p. 404.
- ↑ Keene, p. 404.
- ↑ 7.0 7.1 7.2 "บอกอรรคราชทูตสยาม เรื่องเฝ้าถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์เอมเปรสกรุงญี่ปุ่นถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ บรมมหาจักรีวงษ์ฝ่ายใน ซึ่งสมเด็จพระบรมราชินีนารถมีพระราชเสาวณีย์โปรดเกล้า ฯ ให้เชิญมาถวายเอมเปรสญี่ปุ่น" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 16 (46): 658. 11 กุมภาพันธ์ 2442. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2019-05-08. สืบค้นเมื่อ 2021-07-07.
- ↑ Keene, pp. 350-351.
- ↑ Keene, p. 411.
- ↑ Keene, pp. 416.
- ↑ Keene, p. 433.
- ↑ Keene, p. 502.
- ↑ "Genealogy". Reichsarchiv (ภาษาญี่ปุ่น). สืบค้นเมื่อ 28 October 2017.
- บรรณานุกรม
- Keene, Donald. (2002). Emperor Of Japan: Meiji And His World, 1852-1912. New York: Columbia University Press. ISBN 978-0-231-12340-2; OCLC 237548044
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ จักรพรรดินีโชเก็ง
ก่อนหน้า | จักรพรรดินีโชเก็ง พระพันปีหลวง | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
อาซาโกะ คูโจ | จักรพรรดินีแห่งญี่ปุ่น (พ.ศ. 2412–2455) |
ซาดาโกะ คูโจ | ||
อาซาโกะ คูโจ | พระพันปีหลวงแห่งญี่ปุ่น (พ.ศ. 2455–2457) |
ซาดาโกะ คูโจ |