จักรพรรดิถั่ญ ท้าย
สมเด็จพระจักรพรรดิถั่ญ ท้าย | |||||
---|---|---|---|---|---|
จักรพรรดิแห่งเวียดนาม | |||||
ครองราชย์ | 28 มกราคม ค.ศ. 1889 – ค.ศ. 1907 | ||||
ก่อนหน้า | สมเด็จพระจักรพรรดิด่ง คั้ญ | ||||
ถัดไป | สมเด็จพระจักรพรรดิซวี เติน | ||||
ประสูติ | 14 มีนาคม ค.ศ. 1879 | ||||
สวรรคต | 24 มีนาคม ค.ศ. 1954 | (75 ปี)||||
พระราชบุตร | เจ้าชายเหงียน ฟุก วิญ ซัน พระราชโอรส 18 พระองค์ พระราชธิดา 26 พระองค์ | ||||
| |||||
ราชวงศ์ | เหงียน | ||||
พระราชบิดา | สมเด็จพระจักรพรรดิสุก ดึ๊ก | ||||
พระราชมารดา | สมเด็จพระจักรพรรดินีตือ มิญ |
สมเด็จพระจักรพรรดิถั่ญ ท้าย (เวียดนาม: Thành Thái, 成泰; 14 มีนาคม ค.ศ. 1879 – 24 มีนาคม ค.ศ. 1954) แห่งราชวงศ์เหงียน พระนามเดิม เจ้าชายเหงียน ฟุก บื๋ว เลิน (Nguyễn Phúc Bửu Lân, 阮福寶嶙) พระราชโอรสของสมเด็จพระจักรพรรดิสุก ดึ๊ก[1][2] และสมเด็จพระจักรพรรดินีตือ มิญ ครองราชย์ตั้งแต่ยังมีพระชนมายุ 10 พรรษา และทรงครองราชย์แต่ปี ค.ศ. 1889 – ค.ศ. 1907
พระราชประวัติ
[แก้]เมื่อจักรพรรดิด่ง คั้ญขึ้นเถลิงราชสมบัติ เจ้าชายบืว เลินกับพระมารดาของพระองค์ถูกกักบริเวณไว้อยู่ในพระตำหนักจากการที่ได้มีการติดต่อกับผู้ที่ต่อต้านพระองค์ เมื่อจักรพรรดิด่ง คั้ญทรงเสด็จสวรรรคต เจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสและเสนาบดีอำมาตย์ขุนนาง ตกลงปลงใจให้เจ้าชายบืว เลินเป็นผู้เหมาะสมต่อการสืบราชสมบัติ ด้วยความหลังอันเจ็บปวดพระทัยที่ได้สูญเสียพระสวามีไปจากการที่ถูกลอบปลงพระชนม์นั้น ผู้เป็นพระราชชนนีของพระองค์ได้ทรงกันแสงเมื่อพระราชโอรสของพระองค์ได้ถูกเชิญออกจากพระตำหนัก ด้วยความเกรงกลัวว่าพระองค์จะต้องพบกับชะตากรรมอย่างเดียวกับพระราชชนก หลังจากนั้นแล้ว พระองค์ได้ขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระจักรพรรดิแห่งเวียดนาม ประกาศใช้รัชศกว่า ถั่ญ ท้าย
ด้วยพระชนมายุเพียง 10 พรรษา พระองค์เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วว่าพระองค์ทรงมีความฉลาดเฉลียวมาก ขณะที่จักรพรรดิด่ง คั้ญ มีท่าทีที่เป็นมิตรของฝรั่งเศสนั้น จักรพรรดิถั่ญ ท้าย กลับทรงพยายามต่อต้านฝรั่งเศสอย่างลับๆ แม้ว่าพระองค์จะไม่ได้ก่อกบฏโดยทันที (ซึ่งเหมือนกับการปลงพระชนม์พระองค์เองในทางการเมือง) พระองค์จึงไม่ได้แสดงความคิดนั้นของพระองค์โดยตรง แต่ทรงพยายามแสดงท่าทีและพระดำรัสที่ค่อนข้างแอบกระแทกกระทั้นอยู่เสมอ เพื่อให้เห็นว่าพระองค์นั้นเป็นมิตรกับตะวันตก พระองค์ยังถือว่าพระองค์เป็นคนของประชาชน และเป็นจักรพรรดิผู้ปกป้องแผ่นดินอย่างถึงแก่น พระองค์มักจะเสด็จออกจากพระราชวังและสวมฉลองพระองค์อย่างสามัญชนและไต่ถามประชาชนเกี่ยวกับการปกครองอยู่เสมอ
พระองค์ยังเป็นพระจักรพรรดิพระองค์แรกของเวียดนามที่ทรงตัดพระเกศาเป็นแบบฝรั่งเศสและทรงเรียนรู้การขับรถ พระองค์ยังสนับสนุนการศึกษาแบบฝรั่งเศส แต่ยังทรงเก็บความรู้สึกอันขมขื่นต่อการปกครองของฝรั่งเศสในแผ่นดินของพระองค์ นอกจากนี้ พระองค์ยังสนับสนุนโครงการการก่อสร้างเป็นอันมากและยังทรงสนพระทัยต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของราษฎรด้วย เมื่อพระองค์ทรงเสด็จพบกับกลุ่มประชาชน พระองค์จะทำในสิ่งที่ประชาชนอเมริกาเรียกว่า "การประชุมเมือง" (Town Hall meetings) ซึ่งพระองค์จะประทับบนเสื่อกับบรรดาราษฎรที่เข้าเฝ้าพระองค์ที่ร่ายล้อมอยู่รอบพระองค์ เพื่อที่พระองค์จะปรึกษาหารือรับฟังความเห็นของราษฏรอยู่ต่อเนื่องทุกวัน
จากนั้น พระจักรพรรดิทรงเริ่มรู้ถึงการที่มีสายของฝรั่งเศสเข้ามาแฝงอยู่ในพระราชวังของพระองค์ พระองค์จึงแกล้งเสียพระสติเพื่อที่จะไม่ให้มีการตรวจสอบพระองค์ได้ กับบรรดาผู้จับตาของพระองค์เชื่อว่าพระองค์เสียพระสติอย่างไม่น่าจะเป็นอันตรายอะไรนัก พระองค์จึงสามารถดำเนินพระราชกรณียกิจได้มากขึ้นเพื่อความเป็นเอกราชของเวียดนามขณะที่พระองค์เริ่มรอวันที่จะโค่นล้มอำนาจอาณานิคมนี้ออกไป พระองค์ได้พยายามเข้าร่วมกับขบวนการต่อต้านฝรั่งเศสแต่ถูกฝรั่งเศสจับได้และประกาศว่าพระองค์เสียพระสติและบังคับพระองค์ให้สละราชสมบัติ
ปี ค.ศ. 1907 พระราชโอรสของพระองค์ขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระจักรพรรดิซวี เติน พระองค์ถูกเนรเทศไปยังเมืองหวุงเต่าในเวียดนามใต้ และเมือพระราชโอรสพยายามก่อกบฏอีก ทั้งสองพระองค์จึงถูกเนรเทศไปยังเกาะเรอูนียง ในปี ค.ศ. 1916
พระองค์ยังไม่เคยยอมแพ้ต่อการพยายามปลดปล่อยแผ่นดินจนกระทั่งปี ค.ศ. 1945 พระองค์ได้รับอนุญาตให้เสด็จกลับเวียดนามแต่ยังทรงถูกกักบริเวณในเมืองหวุงเต่า พระองค์เสด็จสวรรคตที่เมืองไซง่อน ในวันที่ 24 มีนาคม ค.ศ. 1954
พระเกียรติยศ
[แก้]- เครื่องอิสริยาภรณ์เลฌียงดอเนอร์ สาธารณรัฐฝรั่งเศส – ค.ศ. 1889
- เครื่องราชอิสริยาภรณ์พระราชอาณาจักรกัมพูชา ราชอาณาจักรกัมพูชา – ค.ศ. 1889
อ้างอิง
[แก้]ก่อนหน้า | จักรพรรดิถั่ญ ท้าย | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
สมเด็จพระจักรพรรดิด่ง คั้ญ | สมเด็จพระจักรพรรดิแห่งเวียดนาม (เหงียน) (ค.ศ. 1889 – ค.ศ. 1907) |
สมเด็จพระจักรพรรดิซวี เติน |