จักรกฤษณ์ พณิชย์ผาติกรรม
จักรกฤษณ์ พณิชย์ผาติกรรม | |
---|---|
เกิด | 31 มกราคม พ.ศ. 2516 |
เสียชีวิต | 19 ตุลาคม พ.ศ. 2556 (40 ปี) โรงพยาบาลเสรีรักษ์ |
บิดา | มานพ พณิชย์ผาติกรรม |
มารดา | บุญคิด พณิชย์ผาติกรรม |
คู่ครอง | ณิธิวดี ภู่เจริญยศ (พ.ศ. 2550–2556) |
อาชีพ | นักกีฬายิงปืน, นักแสดง |
ฐานข้อมูล | |
IMDb | |
ThaiFilmDb |
จ่าสิบเอก จักรกฤษณ์ พณิชย์ผาติกรรม ชื่อเล่น เอ็กซ์ (31 มกราคม พ.ศ. 2516 — 19 ตุลาคม พ.ศ. 2556)[1] เป็นนักกีฬายิงปืนทีมชาติไทย ประเภทปืนสั้นอัดลมยิงช้า[2] และเป็นนักแสดง มีผลงานแสดงนำเรื่อง หมากเตะรีเทิร์นส ในบทผู้จัดการฟุตบอลทีมชาติอาวี[3], ลิ้มโต๊ะเคี่ยม ใน ปืนใหญ่จอมสลัด และ อุปราชมังระ ในขุนรองปลัดชู
ประวัติ
[แก้]จักรกฤษณ์ เป็นบุตรชายของมานพ พณิชย์ผาติกรรม อดีตนักกีฬายิงปืนทีมชาติไทย เจ้าของหลายเหรียญทองในกีฬาซีเกมส์ และเอเชียนเกมส์[4] กับนางบุญคิด พณิชย์ผาติกรรม[5] จบการศึกษา ปวส. เครื่องกล จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ด้านชีวิตส่วนตัวสมรสกับแพทย์หญิงนิธิวดี ภู่เจริญยศ หรือ หมอนิ่ม มีบุตร 2 คน[2]
จักรกฤษณ์มีความสามารถด้านกีฬายิงปืน โดยเริ่มหัดยิงปืนตั้งแต่อายุ 15 ปี หลังจากติดตามบิดาที่เป็นนักกีฬาทีมชาติมาตั้งแต่เด็ก ติดทีมชาติครั้งแรกเมื่ออายุ 18 ปี เข้าแข่งขันเอเชียนเกมส์ 1994และได้เหรียญทองแดง ส่วนใน เอเชียนเกมส์ 1998 ได้ที่ 4 และเคยได้เหรียญเงินจากซีเกมส์ 2005 ที่ฟิลิปปินส์[6] และได้ 2 เหรียญทองแดงจากเอเชียนเกมส์ 2006 ที่ประเทศกาตาร์ และได้เข้าร่วมแข่งขันในโอลิมปิกฤดูร้อน 2008 ที่ประเทศจีนโดยได้ที่ 8 [2]
จักรกฤษณ์ ได้ชื่อว่าเป็นบุคคลที่มีความมั่นใจในตัวเอง เป็นตัวของตัวเอง มีอารมณ์ร้อน[4] มักมีเรื่องวิวาทกับสมาคมยิงปืน กับสื่อมวลชน หรือกับบุคคลอื่นอยู่เสมอ[2] โดยกรณีที่โด่งดังที่สุด คือ การส่งตัวกลับประเทศทั้งที่แข่งขันไม่จบในซีเกมส์ 2009 ที่เวียงจันทน์ จากการทะเลาะอย่างรุนแรงกับผู้จัดการทีม[7] และเมื่อเดือนกรกฎาคม 2556 นางปวีณา หงสกุล พาแภรรยาและมารดาของจักรกฤษณ์ ไปแจ้งความจับในคดีใช้ความรุนแรงในครอบครัว[8]
จักรกฤษณ์มีข่าวขัดแย้งกับคนในครอบครัว กระทั่งภรรยาแจ้งความกับทางตำรวจและมูลนิธิปวีณาฯ จนจักรกฤษณ์ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำทหาร ก่อนที่จะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว จากนั้นได้มีการแจ้งจับภรรยาตัวเองว่าลักทรัพย์ในตู้เซฟ ก่อนจะมีการไกล่เกลี่ยขอคืนดีกับภรรยาโดยมีปวีณา หงสกุล รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ให้การช่วยเหลือ[9]
การเสียชีวิตและคดีฆาตกรรม
[แก้]เมื่อเวลาประมาณ 19.10 นาฬิกา ของวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2556 ขณะจักรกฤษณ์กำลังขับรถยนต์ปอร์เช่ บ็อกซเตอร์สีดำของตน จากบ้านไปยังบ้านของหมอนิ่ม ภรรยา ได้ถูกคนร้ายประกบยิงที่บริเวณหน้าวัดบางเพ็งใต้ ถนนรามคำแหง-มีนบุรี เขตมีนบุรี กระสุนได้เข้าบริเวณหน้าอก บาดเจ็บสาหัส นำตัวส่งโรงพยาบาลเสรีรักษ์ และเสียชีวิตในเวลาต่อมา[9]
เจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งประเด็นการลอบสังหารในเบื้องต้นว่าอาจเกิดจากควาามขัดแย้งในสมาคมกีฬายิงปืน ปัญหายาเสพติด หรือความขัดแย้งในครอบครัว[10] แต่จากการสืบสวนมุ่งประเด็นไปที่ความขัดแย้งในครอบครัว[11] จนกระทั่งต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมนายจี (จิรศักดิ์ กลิ่นคล้าย) มือปืน ให้การรับสารภาพว่า มีนายอ้น (ธวัชชัย เพชรโชติ) เป็นคนขับขี่รถจักรยานยนต์ โดยได้รับการว่าจ้างจากนายทนายอี๊ด (สันติ ทองเสม) จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจขยายผลจับกุม น.ส.วรพรรณภูรี มนตรีอารีกุล (เจ๊แหม่ม) ผู้จัดหาทีมมือปืน ให้การรับสารภาพว่า รับจ้างจากนางสุรางค์ ดวงจินดา มารดาของหมอนิ่ม และหมอนิ่ม[11] อัยการสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งหมดต่อศาลจังหวัดมีนบุรี ยกเว้นน.ส.วรพรรณภูรี
วันที่ 19 มีนาคม พ.ศ.2559 ศาลจังหวัดมีนบุรี อ่านคำพิพากษา ให้ประหารชีวิตหมอนิ่ม และทนายอิ๊ด ผู้จ้างวาน ส่วนมือปืนและผู้ขี่รถจักรยานยนต์ ให้จำคุกตลอดชีวิต และยกฟ้องนางสุรางค์ มารดาของหมอนิ่ม[11]
ในการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ศาลเห็นว่านางสุรางค์ เป็นผู้ติดต่อกับทนายอี๊ด เพื่อจ้างนายจีและนายอ้น ไปยิงเอ็กซ์-จักรกฤษณ์ ในส่วนของหมอนิ่ม ศาลอุทธรณ์เห็นว่าพยานหลักฐานยังฟังไม่ได้ว่าเป็นผู้จ้างวาน จึงพิพากษาให้ ประหารชีวิตทนายอี๊ด และนางสุรางค์ โดยนางสุรางค์ให้การเป็นประโยชน์ ให้ลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต และพิพากษาให้จำคุกตลอดชีวิตนายจีและนายอ้น และให้ชดใช้เงิน 2.5 ล้านบาทให้พ่อแม่ของเอ็กซ์ จักรกฤษณ์ ส่วนหมอนิ่มพิพากษากลับให้ยกฟ้อง[11] ทั้งนี้ในวันที่อ่านคำพิพากษาทนายอิ๊ดไม่ได้เดินทางมาฟังคำพิพากษา ศาลเห็นว่ามีพฤติการหลบหนีจึงให้ออกหมายจับ[11]
จนกระทั่งวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2564 ได้มีการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ซึ่งศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ยกเว้นในส่วนของนางสุรางค์ ศาลฎีกาเห็นว่าคำให้การชั้นสอบสวนของนางสุรางค์เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา และนางสุรางค์กระทำความผิดเพราะตกอยู่ในความทุกข์อย่างสาหัส มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษคงลงโทษจำคุก 25 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ โดยศาลฎีกาให้เหตุผลตอนหนึ่งว่า[12]
ในส่วนของพฤติการณ์การกระทำผิดจำเลยที่ 2 (นางสุรางค์) ซึ่งเป็นแม่ยายผู้ตาย ศาลฎีกาเห็นว่าเกิดจากการที่ผู้ตายกระทำต่อจำเลยที่ 3 (พญ.นิธิวดี) ซึ่งเป็นบุตรคนเดียวของจำเลยที่ 2 (นางสุรางค์) ครั้งแล้วครั้งเล่า และบางครั้งยังกระทำต่อหน้าหลานเล็ก ๆ ของจำเลยที่ 2 (นางสุรางค์) อันเนื่องมาจากปัญหาการควบคุมอารมณ์ของผู้ตาย
โดยก่อนเกิดเหตุมีความไม่แน่นอนว่าผู้ตายซึ่งเป็นนักกีฬายิงปืน มีอาวุธปืนอาจใช้อาวุธปืนของตนกระทำต่อจำเลยที่ 3 (พญ.นิธิวดี) และครอบครัวในขณะควบคุมอารมณ์ไม่ได้ก็เป็นได้เพราะก่อนเกิดเหตุเพียง 2 เดือนก็ยังใช้อาวุธปืนยิงไปทางคนรับใช้และบุตรคนเล็กจนผู้ตายถูกจับและถูกควบคุมตัวที่เรือนจำและเพิ่งได้รับการประกันตัวมาไม่นาน การกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 (นางสุรางค์) ที่ขณะเกิดเหตุเป็นหญิงมีอายุถึง 72 ปีและบัดนี้มีอายุเกือบ 80 ปีแล้ว และไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน จึงเข้าลักษณะของผู้กระทำความผิดที่ตกอยู่ในความทุกข์อย่างสาหัส มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ที่ศาลอาจลดโทษได้ให้ไม่เกินกึ่งหนึ่ง
ผลงาน
[แก้]ภาพยนตร์
[แก้]- พ.ศ. 2549 - หมากเตะรีเทิร์นส รับบทเป็น ผู้จัดการฟุตบอลทีมชาติอาวี
- พ.ศ. 2551 - ปืนใหญ่จอมสลัด รับบทเป็น ลิ้มโต๊ะเคี่ยม
- พ.ศ. 2554 - ขุนรองปลัดชู รับบทเป็น อุปราชมังระ
มิวสิควีดีโอ
[แก้]- เพลง ฆาตกรดีเด่น - (หญิง ธิติกานต์)
- เพลง คนหน้าด้าน - (ศล อำพัน)
อัลบั้มร่วมกับศิลปินคนอื่น
[แก้]- ซีวิตผาติกรรม (2556)
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้]- พ.ศ. 2548 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ชั้นที่ 3 ตติยดิเรกคุณาภรณ์ (ต.ภ.)[13]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ จักรกฤษณ์ พณิชย์ผาติกรรม จาก สนุก! พีเดีย
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 เคยทำเพื่อชาติ! 'เอ็กซ์ จักรกฤษณ์' นักแม่นปืน สิ้นชีพด้วยอาวุธที่คุ้นเคย - ไทยรัฐ
- ↑ "เอ็กซ์-จักรกฤษณ์ ดีใจ หมากเตะรีเทิร์นส กลับมา เปรียบหนังเหมือนกีฬา ต้องอดทนรอ!!". www.sanook.com/movie. 2006-10-16.
- ↑ 4.0 4.1 พระเอกหนัง "หมากเตะ" หวิดเป็นฆาตกร[ลิงก์เสีย] จาก สยามดารา, 28 กรกฎาคม 2550
- ↑ ปิดคดีฆ่า 'เอ็กซ์ จักรกฤษณ์' แม่นปืนทีมชาติ 'หมอนิ่ม' รอด ฎีกาชี้ทุกข์สาหัสลดโทษแม่ยาย คุก 25 ปี ประหาร 'ทนายอี๊ด'
- ↑ ยิงปืนวัน2"เอ็กซ์"ล่าทองซีเกมส์[ลิงก์เสีย] หนังสือพิมพ์สยามรัฐ, 27 พฤศจิกายน 2550
- ↑ "ปองพลตัดขาดเอ๊กซ์ห้ามแข่งยิงปืนทุกรายการ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-12-22. สืบค้นเมื่อ 2009-12-18.
- ↑ "'แม่-ภรรยา'แจ้งแจ้งจับ'เอ็กซ์-จักรกฤษ'". bangkokbiznews. 2013-07-12.
- ↑ 9.0 9.1 เอ็กซ์-จักรกฤษณ์เสียชีวิตแล้วหลังถูกลอบยิง[ลิงก์เสีย]
- ↑ THAIRATH TV Originals (2021-08-09), เปิดปมสังหาร "เอ็กซ์-จักรกฤษณ์" นักแม่นปืน | เปิดแฟ้มคดีดัง | 09-08-64 | ไทยรัฐนิวส์โชว์, สืบค้นเมื่อ 2024-07-12
- ↑ 11.0 11.1 11.2 11.3 11.4 "เปิดคำพิพากษา 2 ศาล คดีฆ่า "เอ็กซ์ จักรกฤษณ์"". Thai PBS.
- ↑ "ศาลฎีกายกฟ้อง "หมอนิ่ม" คดีจ้างวานฆ่าเอ็กซ์-จำคุกแม่ 25 ปี". Thai PBS.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ประจำปี ๒๕๔๘ เก็บถาวร 2022-05-31 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๒ ตอนที่ ๒๒ ข หน้า ๑๓, ๓ ธันวาคม ๒๕๔๘
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- บุคคลที่เกิดในปี พ.ศ. 2516
- บุคคลที่เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2556
- นักยิงปืนโอลิมปิกทีมชาติไทย
- นักกีฬาเหรียญทองซีเกมส์ชาวไทย
- นักกีฬาเหรียญทองเอเชียนเกมส์ชาวไทย
- นักแสดงชายชาวไทย
- บุคคลจากโรงเรียนเทพศิรินทร์
- บุคคลจากคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
- ผู้เข้าแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อน 1996
- นักยิงปืนในโอลิมปิกฤดูร้อน 2004
- นักยิงปืนในโอลิมปิกฤดูร้อน 2008
- นักยิงปืนในโอลิมปิกฤดูร้อน 2012
- เสียชีวิตจากอาวุธปืน
- ชาวไทยที่ถูกลอบสังหาร
- ทหารบกชาวไทย
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ต.ภ.