งูอนาคอนดาเขียว
งูอนาคอนดาเขียว | |
---|---|
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ชั้น: | Reptilia |
อันดับ: | Squamata |
อันดับย่อย: | Serpentes |
วงศ์: | Boidae |
วงศ์ย่อย: | Boinae |
สกุล: | Eunectes |
สปีชีส์: | E. murinus |
ชื่อทวินาม | |
Eunectes murinus (Linnaeus, 1758) | |
ชนิดย่อย | |
| |
ชื่อพ้อง | |
|
งูอนาคอนดาเขียว หรือ งูอนาคอนดาธรรมดา (อังกฤษ: Green anaconda, Common anaconda) เป็นงูขนาดใหญ่มากที่สุดในโลกที่ยังคงสืบเผ่าพันธุ์มาจนถึงปัจจุบันชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Eunectes murinus อยู่ในวงศ์ย่อย Boinae ในวงศ์ใหญ่ Boidae สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิดย่อย (ดูในตาราง)[1]
งูอนาคาคอนดาเขียวนับเป็นงูอนาคอนดา ชนิดที่ใหญ่ที่สุดและรู้จักดีที่สุด เมื่อโตเต็มที่อาจยาวได้ถึง 30 ฟุต และหนักได้ถึง 550 ปอนด์ มีผิวลำตัวสีเขียว มีลายเป็นวงกลมสีดำ ใต้ท้องเป็นสีขาว ตาเป็นสีดำ ตัวเมียมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้มาก อาศัยอยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำต่าง ๆ ในทวีปอเมริกาใต้ เช่น ป่าดิบชื้นแอมะซอนในประเทศบราซิล, ประเทศโบลิเวีย และประเทศกายอานา ในหนองน้ำ หรือบึง โดยมักจะอาศัยอยู่ในน้ำหรือหมกตัวในโคลนมากกว่าจะเลื้อยมาอยู่บนบก เนื่องจากน้ำหนักตัวที่มากทำให้งุ่มง่ามเชื่องช้ามากเมื่ออยู่บนบก แต่จะว่องไวกว่าเมื่ออยู่ในน้ำ ว่ายน้ำได้เก่ง บางครั้งอาจใช้วิธีการลอยน้ำอยู่บริเวณผิวน้ำแล้วปล่อยให้กระแสน้ำไหลพัดไป แต่มักจะขึ้นมาอาบแดดเป็นบางครั้งด้วยการเกาะเกี่ยวกับกิ่งไม้ริมน้ำ
ล่าเหยื่อด้วยการใช้แอ่งรับความร้อนอินฟราเรดที่อยู่บริเวณหน้าผาก ในเวลากลางคืน โดยกินอาหารได้หลากหลายมาก ทั้งสัตว์เล็กและสัตว์ใหญ่ เช่น แคพิบารา, เคแมน, ปลา, กบ หรือแม้กระทั่งวัว, ควาย หรือปศุสัตว์ต่าง ๆ ของชาวบ้าน โดยใช้วิธีการรัดเหยื่อด้วยลำตัวอย่างแน่น และกดลงไปในน้ำให้จมน้ำตายก่อนจะเขมือบกลืนเข้าไปทั้งตัว โดยเริ่มจากส่วนหัวก่อน ซึ่งอาจใช้เวลานานหลายชั่วโมง แต่กระนั้นก็จะทำให้ไม่ต้องกินอะไรอีกไปนานนับเดือน
ในยามที่อาหารขาดแคลนเช่นในช่วงฤดูร้อน อาจอดอาหารได้นานถึง 7 เดือน หลังจากนั้นแล้วจะเร่งรีบกินเพื่อชดเชยพลังงานที่สูญเสียไปและผสมพันธุ์ โดยถึงวัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุได้ 3-4 ปี ฤดูผสมพันธุ์จะตกอยู่ในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม ตัวเมียจะปล่อยกลิ่นเพื่อดึงดูดตัวผู้ให้มาผสมพันธุ์ โดยอาจผสมพันธุ์กับตัวผู้ได้มากถึง 2-12 ตัว ใช้เวลาตั้งท้องนาน 6 เดือน ตกลูกเป็นตัว[2] ซึ่งอาจออกได้ครั้งละ 40 ตัวหรือมากกว่านั้น ลูกงูที่ออกมาใหม่จะมีความยาวราว 2 ฟุต และจะไม่ถูกดูแลโดยแม่ ซึ่งอาจจะตกเป็นเหยื่อของสัตว์ที่ใหญ่กว่าหรือแม้กระทั่งงูอนาคอนดาด้วยกันเองกินก่อนที่จะโตต่อไปในอนาคต [3][4]
งูอนาคอนดาเขียวเป็นงูที่มนุษย์ให้ความสนใจมาก ด้วยขนาดที่ใหญ่โตและพละกำลังที่มากมายมหาศาล ดังนั้น เมื่อมีการจับงูชนิดนี้ได้ในแต่ละครั้งมักปรากฏเป็นข่าวโด่งดัง[5] และถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่องต่าง ๆ อาทิ Anaconda เมื่อปี ค.ศ. 1997 ของฮอลลีวูด เป็นต้น
อ้างอิง
[แก้]- ↑ จาก ITIS.gov (อังกฤษ)
- ↑ "Green Anaconda". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-08-04. สืบค้นเมื่อ 2011-10-20.
- ↑ [https://web.archive.org/web/20100204214402/http://animals.nationalgeographic.com/animals/reptiles/green-anaconda เก็บถาวร 2010-02-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Green Anaconda Eunectes murinus (อังกฤษ) จากเนชั่นแนล จีโอกราฟิก]
- ↑ วีรยุทธ์ เลาหะจินดา, วิทยาสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก หน้า 406 (พ.ศ. 2552) ISBN 978-616-556-016-0
- ↑ [https://web.archive.org/web/20120322034627/http://www.mcot.net/cfcustom/cache_page/268572.html เก็บถาวร 2012-03-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน นักชีววิทยาอังกฤษจับงูอนาคอนดาน้ำหนัก 100 กก. ด้วยมือเปล่าจากสำนักข่าวไทย]
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Eunectes murinus ที่วิกิสปีชีส์