การออกเสียงคำว่า GIF
การออกเสียงคำว่า GIF ซึ่งเป็นคำย่อของวลีภาษาอังกฤษว่า Graphics Interchange Format ('รูปแบบสับเปลี่ยนภาพกราฟิกส์')[1] เป็นประเด็นโต้แย้งกันมาตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1990 ในภาษาอังกฤษนิยมออกเสียงคำย่อนี้เป็นคำพยางค์เดียวว่า /ɡɪf/ (เสียงคล้าย กิฟ, ) ด้วยเสียง g หนัก (เสียงคล้ายเสียงของ "ก") และ /dʒɪf/ (เสียงคล้าย จิฟ, ) ด้วยเสียง g เบา (เสียงคล้ายเสียงของ "จ") การออกเสียงทั้งสองแบบต่างกันที่หน่วยเสียงที่เขียนแทนด้วยอักษร G ที่มาของข้อถกเถียงมาจากข้อเท็จจริงว่าในภาษาอังกฤษไม่มีกฎกลางสำหรับการออกเสียงลำดับอักษร gi[2]
บุคคลสาธารณะและสถาบันจำนวนมากได้ออกมาแสดงจุดยืนของตนในประเด็นโต้แย้งเกี่ยวกับการออกเสียงคำว่า GIF เช่น สตีฟ วิลไฮต์ ผู้คิดค้นรูปแบบไฟล์ภาพนี้ เคยกล่าวสุนทรพจน์ที่งานมอบรางวัลเวบบี 2013 โดยโต้แย้งว่าการออกเสียงอักษร G ในคำนี้เป็น g เบา (เสียงคล้ายเสียงของ "จ") คือการออกเสียงที่ถูกต้อง ในขณะที่คนอื่น ๆ ชี้ว่าอักษร G ในคำนี้มีที่มาจากคำว่า graphics (เสียงคล้าย แกรฟิกส์) ซึ่งออกเสียงอักษร G เป็น g หนัก (เสียงคล้ายเสียงของ "ก") จึงควรออกเสียงอักษร G ในคำนี้เป็น g หนัก ตามไปด้วย
แม้ว่าความถี่ของการออกเสียงแต่ละแบบจะแตกต่างกันไปตามภูมิภาค แต่ผลการสำรวจโดยทั่วไปแสดงให้เห็นว่าการออกเสียงอักษร G ในคำว่า GIF เป็น g หนัก เป็นที่แพร่หลายมากกว่าในภาษาอังกฤษ ยิ่งไปกว่านั้น ผู้พูดภาษาอังกฤษบางคนยังอ่านออกเสียงคำย่อนี้แบบเรียงตัวอักษรว่า /dʒiː aɪ ɛf/ (เสียงคล้าย จีไอเอฟ, ) พจนานุกรมภาษาอังกฤษโดยทั่วไปยอมรับการออกเสียงทั้งสองแบบหลัก และการวิเคราะห์ทางภาษาศาสตร์ไม่พบว่ามีการออกเสียงแบบใดที่มีความได้เปรียบทางสถิติอย่างเด่นชัด เมื่อพิจารณาจากความถี่ของรูปแบบการออกเสียงคำที่คล้ายกันในภาษาอังกฤษ นอกจากนี้ การออกเสียงคำว่า GIF ยังอาจแตกต่างกันไปในภาษาอื่น ๆ นอกเหนือจากภาษาอังกฤษเช่นกัน
ภูมิหลัง
[แก้]รูปแบบสับเปลี่ยนภาพกราฟิกส์ (Graphics Interchange Format; GIF) เป็นรูปแบบไฟล์ภาพที่ได้รับการพัฒนาขึ้นใน ค.ศ. 1987 โดยสตีฟ วิลไฮต์ ที่คอมพิวเซิร์ฟ ผู้ให้บริการออนไลน์สัญชาติอเมริกัน ไฟล์สกุลนี้เป็นที่นิยมใช้เพื่อแสดงภาพเคลื่อนไหวที่มีขนาดสั้นและวนซ้ำ[3][4] คำย่อ GIF ซึ่งโดยทั่วไปนิยมออกเสียงเป็นคำพยางค์เดียวกลายเป็นประเด็นถกเถียงว่าควรออกเสียงพยัญชนะต้นคำอย่างไร บางคนออกเสียงคำนี้โดยใช้เสียง g หนัก (เสียงคล้ายเสียงของ "ก") เป็น /ɡɪf/ (เสียงคล้าย กิฟ, ) ในขณะที่คนอื่น ๆ ออกเสียงคำนี้โดยใช้เสียง g เบา (เสียงคล้ายเสียงของ "จ") เป็น /dʒɪf/ (เสียงคล้าย จิฟ, )[2] ผู้พูดส่วนน้อยกลุ่มหนึ่งอ่านออกเสียงคำย่อนี้แบบเรียงตัวอักษร จึงเกิดเป็นคำอ่านว่า /dʒiː aɪ ɛf/ (เสียงคล้าย จีไอเอฟ, )[5]
วิลไฮต์และทีมงานที่พัฒนารูปแบบไฟล์ภาพนี้ระบุไว้ในข้อกำหนดทางเทคนิคว่าคำย่อนี้ให้ออกเสียงด้วย g เบา ในข้อกำหนดดังกล่าว ทีมงานเขียนหัวข้อคำถามหนึ่งไว้ว่า "โปรแกรมเมอร์ที่ช่างเลือก เลือก [การออกเสียงว่า] "กิฟ" หรือ "จิฟ"?"[a] ซึ่งเป็นการล้อคำขวัญโฆษณาสินค้าของบริษัทเนยถั่วจิฟที่ว่า "คุณแม่ที่ช่างเลือก เลือกจิฟ"[b][2] เอบีซีนิวส์ระบุว่าการถกเถียงเรื่องการออกเสียงคำนี้สามารถสืบย้อนไปได้ถึง ค.ศ. 1994 ที่ซึ่งผู้แต่งสารานุกรมรูปแบบไฟล์ภาพเล่มหนึ่งระบุว่า ดูเหมือนว่า "คนส่วนใหญ่" จะนิยมออกเสียง G ในคำนี้เป็น g หนัก มากกว่า g เบา (ซึ่งตัวเขาเองนิยม)[6]
ในภาษาอื่น ๆ
[แก้]ในภาษาฝรั่งเศสมีแนวโน้มที่จะออกเสียงคำว่า GIF เป็น [ʒif] (เสียงคล้าย ชิฟ)[7] โดยใช้เสียงเสียดแทรก หลังปุ่มเหงือก ก้อง [ʒ] (เสียงคล้ายเสียงของ "ช") อย่าง j ในคำว่า joie (เสียงคล้าย ชัว) ในภาษาฝรั่งเศส หรืออย่าง s ในคำว่า measure (เสียงคล้าย เมชเชอร์) และ vision (เสียงคล้าย วิชชัน) ในภาษาอังกฤษ แม้ว่าจะมีแนวโน้มที่จะคงเสียง [[[เสียงกักเสียดแทรก หลังปุ่มเหงือก ก้อง|dʒ]]] (ซึ่งไม่ปรากฏในวงศัพท์ฝรั่งเศสดั้งเดิม) ไว้ในคำยืมจากภาษาอังกฤษ (เช่น jeans; เสียงคล้าย จีน) ก็ตาม[8] บางภาษาไม่มีเสียง g หนัก หรือไม่มีเสียง g เบา ในระบบเสียงของตน เช่น ภาษาสเปนและภาษาฟินแลนด์ไม่มีเสียง [ʒ] ในวงศัพท์ดั้งเดิม ภาษาอาหรับถิ่นหลายภาษาไม่มีเสียง [ɡ][9][10] ในขณะที่ภาษาไทยไม่มีทั้งเสียง [ɡ], [ʒ] และ [dʒ] เป็นต้น ในภาษานอร์เวย์ อักษร G ในคำว่า GIF ออกเสียงเป็น g หนัก ([ɡ])[11] ซึ่งต่างกับการออกเสียงลำดับอักษร ⟨gi⟩ ในคำนอร์เวย์ดั้งเดิมเป็นเสียงเปิด เพดานแข็ง ก้อง [j] อย่าง y ในคำว่า yes (เสียงคล้าย เยส) ในภาษาอังกฤษ[12]
การวิเคราะห์ข้อถกเถียง
[แก้]สาเหตุ
[แก้]ในภาษาอังกฤษ ข้อถกเถียงทางภาษาศาสตร์นี้ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากข้อเท็จจริงที่ว่าไม่มีกฎกลางว่า ลำดับอักษร gi จะต้องออกเสียงเช่นไร โดยที่เสียง g หนัก ปรากฏในคำเช่น gift และเสียง g เบา ปรากฏในคำเช่น gin (เสียงคล้าย จิน) เป็นต้น ในภาษาอังกฤษเก่า อักษร g อาจออกเสียงเป็นเสียง g เบา หรืออาจออกเสียงเป็นเสียง y (ที่เป็นพยัญชนะ) และเมื่อภาษาอังกฤษรับเสียง g หนัก เพิ่มเข้ามาในภายหลัง การออกเสียง g ทั้งแบบเบาและแบบหนักก็ยังปรากฏต่อไปในบริบทที่ซึ่ง g นำหน้า i[2]
การวิเคราะห์คำจำนวน 269 คำ โดยไมเคิล ดาว (Michael Dow) นักภาษาศาสตร์ชาวอเมริกัน พบว่าแนวโน้มการออกเสียง g หนัก หรือ g เบา เมื่อพิจารณาจากคำภาษาอังกฤษอื่น ๆ มีผลลัพธ์เกือบเท่ากัน กระนั้น ผลการวิเคราะห์อาจแตกต่างไปบ้างขึ้นอยู่กับกรอบค่าที่ใช้ในการวิเคราะห์[13] ในบรรดาคำ 105 คำที่มี gi อยู่ในตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งของคำนั้น มี 68 คำที่ออกเสียง g เบา ในขณะที่มีเพียง 37 คำที่ออกเสียง g หนัก อย่างไรก็ตาม พบว่าคำที่ออกเสียง g หนัก ปรากฏบ่อยกว่าอย่างมีนัยสำคัญในภาษาอังกฤษที่ใช้ในชีวิตประจำวัน โดยคำที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักอย่าง flibbertigibbet (เสียงคล้าย ฟลิบเบอร์ทิจิบบิต) และ tergiversate (เสียงคล้าย เทอร์จิเวอร์เซต) ซึ่งออกเสียง g เบา นั้นมีรวมอยู่ในรายการคำ 68 คำที่ออกเสียง gi เบา เมื่อนำความชุกของคำแต่ละคำเข้ามาพิจารณาด้วย พบว่าเสียง g หนัก และ g เบา ปรากฏในความถี่เกือบเท่ากันในบรรดาคำที่มี gi และไม่พบแนวโน้มที่ชัดเจนไปในทางใดทางหนึ่งเช่นกันไม่ว่าจะพิจารณาเฉพาะคำที่ขึ้นต้นด้วย gi หรือพิจารณาเฉพาะคำพยางค์เดียวอย่าง gift (เสียงคล้าย กิฟต์) และ gin (เสียงคล้าย จิน) เป็นต้นก็ตาม
เกรตเชิน แม็กคัลล็อก นักภาษาศาสตร์ชาวแคนาดา เสนอทฤษฎีโดยอ้างจากงานของไมเคิล ดาว ว่า ในเมื่อเสียง g หนัก และ g เบา ในบริบทนี้มีการใช้งานในความถี่ที่แทบจะเท่ากัน เมื่อบุคคลหนึ่งพบคำว่า GIF เป็นครั้งแรก บุคคลนั้นก็จะคาดเดาการออกเสียงในลักษณะคล้ายกับการโยนหัวโยนก้อย โดยการเทียบคำนี้กับคำอื่น ๆ ที่ตนเองได้พบมาในอดีต และเมื่อตัดสินใจได้แล้วว่าจะออกเสียงแบบใด ความคิดนั้นก็จะฝังรากไปเลย แม็กคัลล็อกจึงให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า "นี่อาจหมายความว่าเราจะต่อสู้กันในสงครามการออกเสียงคำว่า gif ไปอีกหลายชั่วอายุคน"[14]
ข้อโต้แย้ง
[แก้]การวิเคราะห์ใน ค.ศ. 2019 โดยมาร์เติน ฟัน เดอร์ เมอเลิน นักภาษาศาสตร์ชาวดัตช์ พบว่าข้อโต้แย้งที่มีผู้ยกมาใช้บ่อยที่สุดในโลกออนไลน์เกี่ยวกับการออกเสียงคำว่า GIF คือข้อโต้แย้งประเภท "ระบบ" ซึ่งสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในการโต้เถียงโดยยืนกรานว่ารูปแบบการออกเสียงควรเป็นผลสืบเนื่องมาจากกฎที่คงเส้นคงวาของภาษา[15] ตัวอย่างหนึ่งของข้อโต้แย้งประเภทนี้คือ "คำย่อตามระบบ" ซึ่งเสนอว่า ในเมื่ออักษร G ในคำว่า GIF ย่อมาจากคำว่า graphics เราก็ควรจะออกเสียงอักษรนี้โดยใช้หน่วยเสียงเดียวกัน (กล่าวคือ g หนัก) ข้อโต้แย้งนี้บางครั้งมาพร้อมกับการประชดประชันว่า หากเราต้องออกเสียงคำย่อ GIF โดยใช้ g เบา แล้ว เราก็ควรออกเสียงคำเต็มของมันว่า /ˈdʒræfɪks/ (เสียงคล้าย จแรฟิกส์) ให้เหมือนกันด้วย[16][17][18][19] ข้อโต้กลับสำหรับข้อโต้แย้งนี้มีอยู่ว่า อักษรในคำย่อไม่จำเป็นต้องออกเสียงเหมือนอักษรในคำรากของมัน เช่น อักษร u ในคำว่า scuba (ย่อมาจาก self-contained underwater breathing apparatus) ออกเสียงเป็น /uː/ (เสียง อู) แม้ว่าอักษร u ในคำราก underwater จะออกเสียงเป็น /ʌ/ (เสียงคล้าย อะ) ก็ตาม[16] เช่นเดียวกับกรณีคำย่อ NASA (ย่อมาจาก National Aeronautics and Space Administration) ซึ่งออกเสียงว่า /ˈnæsə/ (เสียงคล้าย แนซา, ) และไม่ได้ออกเสียงว่า /ˈneɪsə/ (เสียงคล้าย เนซา)[14][16]
อีกตัวอย่างหนึ่งของข้อโต้แย้งประเภท "ระบบ" คือการวิเคราะห์ความถี่ ซึ่งสำรวจว่าคำภาษาอังกฤษอื่น ๆ มีกี่คำที่ออกเสียงโดยใช้ g หนัก หรือ g เบา ในสถานการณ์อื่น ๆ ซึ่งคล้ายกับการวิเคราะห์ของไมเคิล ดาว[20] หลังจากที่สตีฟ วิลไฮต์ ประกาศความเห็นของเขาว่าการออกเสียงแบบ g เบา เป็นแบบที่ถูกต้องแบบเดียวเท่านั้น ได้เกิดการพูดคุยอย่างมีนัยสำคัญจากทั้งสองฝ่ายของประเด็นนี้ในสื่อสังคมและสื่อมวลชน[4] เคซี แชน ซึ่งเขียนบทความให้แก่ กิซโมโด โต้แย้งว่าวิลไฮต์เป็นฝ่ายผิด เนื่องจากเสียง g เบา ที่ตามด้วย if ควรจะสะกดด้วยอักษร j ดังเช่นในคำว่า jiffy (เสียงคล้าย จิฟฟี) ในชื่อบริษัทเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง Jiffy Lube (เสียงคล้าย จิฟฟีลูบ) และในวลี be back in a jiffy (เสียงคล้าย บีแบ็กอินอะจิฟฟี) หรือในชื่อบริษัทเนยถั่ว Jif (เสียงคล้าย จิฟ) เป็นต้น[21]
ข้อโต้แย้งที่พบได้บ่อยที่สุดในลำดับถัดมาในการวิเคราะห์ของฟัน เดอร์ เมอเลิน คือข้อโต้แย้งที่อ้างถึงผู้มีอำนาจกำหนด (authority) รายใดรายหนึ่งซึ่งมักจะเป็นวิลไฮต์ในฐานะผู้คิดค้นรูปแบบไฟล์ภาพนี้[22] หลังจากที่วิลไฮต์ประกาศสนับสนุนการออกเสียงแบบ g เบา หลายคนยอมรับว่าเขาเป็นผู้มีอำนาจกำหนดคำอ่านออกเสียงของคำนี้เนื่องจากเขาเป็นผู้สร้างสรรค์รูปแบบไฟล์ภาพ วิลไฮต์เป็นผู้มีมีสิทธิอำนาจในการกำหนดการออกเสียงคำว่า GIF ที่ได้รับการอ้างถึงมากที่สุดในการวิเคราะห์ โดยคิดเป็นร้อยละ 65.2 ของบรรดาข้อโต้แย้งที่สนับสนุนการออกเสียงแบบ g เบา โดยอ้างถึงผู้มีสิทธิอำนาจ[22] บางคนซึ่งรวมถึงเคซี แชน อ้างถึงประธานาธิบดีบารัก โอบามา เพื่อสนับสนุนการออกเสียงแบบ g หนัก[21] และคนอื่น ๆ อ้างถึงพจนานุกรมหรือซอฟต์แวร์ผู้ช่วยต่าง ๆ (อย่างซีรีเป็นต้น) ในฐานะผู้มีอำนาจในการกำหนดการออกเสียงคำว่า GIF[22]
ผลสำรวจ
[แก้]การสำรวจซึ่ง แมชาเบิล จัดขึ้นใน ค.ศ. 2014 และมีผู้เข้าร่วมตอบมากกว่า 30,000 คนทั่วโลก พบว่าเจ็ดในสิบคนออกเสียงอักษร G ในคำว่า GIF เป็นเสียง g หนัก[23] การวิเคราะห์ของฟัน เดอร์ เมอเลิน พบว่าร้อยละ 57.2 ของข้อความออนไลน์ที่เขารวบรวมมานั้นสนับสนุนการออกเสียงแบบ g หนัก ในขณะที่ร้อยละ 31.8 พอใจที่จะออกเสียงแบบ g เบา นอกจากนี้ยังพบว่าร้อยละ 8.2 สนับสนุนการออกเสียงทั้งสองแบบ แต่เอียงไปทางแบบ g เบา มากกว่า และร้อยละ 2.8 เลือกออกเสียงคำนี้แบบแยกทีละตัวอักษร[24]
การสำรวจบรรดานักพัฒนาซอฟต์แวร์อย่างไม่เป็นทางการใน สแต็กโอเวอร์โฟลว์ พบว่าผู้ตอบแบบสำรวจร้อยละ 65.6 เลือกออกเสียงแบบ g หนัก, ร้อยละ 26.3 เลือกออกเสียงแบบ g เบา, ร้อยละ 6 เลือกออกเสียงแบบแยกทีละตัวอักษร และร้อยละ 2 ไม่ได้ออกเสียงหนึ่งในสามแบบข้างต้น[25] อย่างไรก็ตาม บทวิเคราะห์จาก ดิอีโคโนมิสต์ โต้แย้งว่าสัดส่วนในผลสำรวจดังกล่าวต่างกันมากเกินจริงเนื่องจากความเอนเอียงในการเลือกตัวอย่าง กล่าวคือ ในขณะที่ประชากรของประเทศที่นิยมใช้เสียง g หนัก มีสัดส่วนคิดเป็นเพียงร้อยละ 45 ของประชากรโลก ผู้ตอบแบบสำรวจจากประเทศเหล่านั้นกลับมีสัดส่วนมากถึงร้อยละ 79 ของกลุ่มตัวอย่างการสำรวจ และเมื่อคำนวณใหม่โดยถ่วงน้ำหนักประชากรของแต่ละประเทศแล้ว สัดส่วนของผู้ออกเสียงแบบ g หนัก ยังคงนำอยู่ แต่ก็นำอยู่ไม่มากที่ร้อยละ 44 ต่อร้อยละ 32 ซึ่งเป็นสัดส่วนของผู้ออกเสียงแบบ g เบา การถ่วงน้ำหนักประชากรยังทำให้สัดส่วนผู้ออกเสียงแบบแยกทีละตัวอักษรเพิ่มขึ้นมาที่ร้อยละ 21 อีกด้วย รูปแบบการออกเสียงแยกทีละตัวอักษรนี้พบได้ทั่วไปในประเทศแถบเอเชีย โดยพบว่าผู้ตอบแบบสำรวจชาวจีนประมาณครึ่งหนึ่ง และผู้ตอบแบบสำรวจชาวเกาหลีใต้ประมาณร้อยละ 70 เลือกออกเสียงแบบนี้ ส่วนประเทศพัฒนาแล้วโดยรวมมีแนวโน้มเลือกออกเสียงแบบ g หนัก มากกว่า[5]
พจนานุกรม
[แก้]พจนานุกรมออนไลน์ ดิกชันนารีดอตคอม เก็บคำอ่านออกเสียงของคำว่า GIF ไว้ทั้งแบบ g หนัก และแบบ g เบา โดยให้คำอ่านแบบ g เบา เป็นแบบหลัก[26] ในขณะที่ พจนานุกรมภาษาอังกฤษแบบอเมริกันของเคมบริดจ์ และ พจนานุกรมเคมบริดจ์สำหรับผู้เรียนระดับสูง เก็บคำอ่านออกเสียงแบบ g หนัก ไว้เพียงแบบเดียว[27] พจนานุกรมออนไลน์ของเมร์เรียม-เวบสเตอร์[28] และเล็กซิโกเก็บคำอ่านออกเสียงไว้ทั้งสองแบบ[29] นิวออกซ์เฟิร์ดอเมริกันดิกชันนารี ฉบับปี 2005 เก็บคำอ่านออกเสียงแบบ g เบา ไว้เพียงแบบเดียว[30] ส่วน ออกซ์เฟิร์ดดิกชันนารีออฟอิงกลิช ฉบับปี 2010 เก็บคำอ่านออกเสียงไว้ทั้งสองแบบ แต่เรียงเอาคำอ่านแบบ g เบา ขึ้นก่อน[31] พจนานุกรมภาษาฝรั่งเศส เปอตีรอแบร์ และ เปอตีลารุส เก็บคำอ่านออกเสียงไว้เพียงแบบเดียวคือ [ʒif] (เสียงคล้าย ชิฟ)[32][33] พจนานุกรมภาษานอร์เวย์ของบัณฑิตยสถานนอร์เวย์เก็บคำอ่านออกเสียงแบบ g หนัก ไว้เป็น [gifː] (เสียงคล้าย กิฟฟ์)[11] หนังสือ ศัพท์คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ฉบับปี 2006 กำหนดคำทับศัพท์ของคำว่า GIF ไว้เพียงแบบเดียวคือ "จิฟ"[1] ซึ่งมีที่มาจากคำอ่านออกเสียงแบบ g เบา ในภาษาอังกฤษ
เหตุการณ์
[แก้]ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2013 วิลไฮต์ได้รับรางวัลสาขาความสำเร็จสูงสุดในงานประกาศรางวัลเวบบีซึ่งเชิดชูเกียรติความสำเร็จทางอินเทอร์เน็ต ขณะเขาขึ้นรับรางวัล หน้าจอเหนือเวทีในงานก็แสดงข้อความว่า:
"จิฟ" ในที่นี้หมายถึงการออกเสียงแบบ g เบา[4] หลังจากกล่าวสุนทรพจน์แล้ว วิลไฮต์กล่าวกับ เดอะนิวยอร์กไทมส์ ว่า "พจนานุกรมภาษาอังกฤษ ฉบับออกซฟอร์ด ยอมรับการออกเสียงทั้งสองแบบ พวกเขาเข้าใจผิด มันออกเสียงแบบ g เบา เท่านั้น ... จบนะ"[4][17]
ผู้เข้าร่วมงานมีปฏิกิริยาตอบรับในทางบวกต่อสุนทรพจน์สั้น ๆ ของวิลไฮต์ แต่กลับเกิดการโต้เถียงขึ้นในโลกออนไลน์ซึ่งมีผู้ใช้บางส่วนแสดงความเห็นต่อต้านรูปแบบการออกเสียงของเขา[34][35] ฟัน เดอร์ เมอเลิน ตั้งข้อสังเกตว่านี่ "ดูเหมือนจะเป็นคนบัญญัติคำ (หรือคำย่อ ถ้าจะกล่าวให้ถูก) คนแรกที่ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการใช้คำที่เขาบัญญัติขึ้นเอง"[36] มีการทวีตมากกว่า 17,000 ครั้งภายหลังการกล่าวสุนทรพจน์ ทำให้ "GIF" กลายเป็นหนึ่งในประเด็นที่กำลังได้รับความนิยมทางทวิตเตอร์ในขณะนั้น[34] และมีการเขียนบทความข่าวถึงเหตุการณ์ครั้งนี้มากกว่า 50 บทความ[4] สามปีถัดมา โคลัมเบียเจอร์นัลลิสม์รีวิว ตั้งข้อสังเกตว่าการโต้เถียงในประเด็นนี้ดูเหมือนจะขึ้นสู่จุดสูงสุดร่วมกับเหตุการณ์ดังกล่าว[35] บริษัทเนยถั่วจิฟตอบทวีตหนึ่งซึ่งถามบริษัทรู้สึกอย่างไรหลังได้ฟังสุนทรพจน์ของวิลไฮต์ โดยระบุว่า "พวกเราคลั่งไคล้เขามากเลย!"[d][4] เจ็ดปีให้หลัง จิฟจัดกิจกรรมเรียกความสนใจร่วมกับกิฟี ฐานข้อมูลไฟล์ภาพเคลื่อนไหวขนาดสั้น ทั้งสองบริษัทออกแถลงการณ์ร่วมโดยโต้แย้งว่าการออกเสียงที่ถูกต้องคือแบบ g หนัก และเปิดตัวเนยถั่วรุ่นผลิตจำกัดจำนวนซึ่งเปลี่ยนตัวสะกดชื่อยี่ห้อบนฉลากจาก JIF เป็น GIF[37]
ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2013 เดอะนิวยอร์กไทมส์ ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์เล็กน้อยทางสื่อสังคมหลังจากเผยแพร่บทความหนึ่งที่ขึ้นต้นว่า "GIF ซึ่งออกเสียงว่าจิฟ เป็นรูปแบบไฟล์ภาพบีบอัดที่คิดค้นขึ้นใน ค.ศ. 1987"[38] บทความนั้นมีลิงก์ไปยังบทความก่อนหน้าของ เดอะนิวยอร์กไทมส์ ที่มีรายงานเกี่ยวกับสุนทรพจน์ของวิลไฮต์และคำพูดที่เขากล่าวกับหนังสือพิมพ์[4][38] ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2013 อเล็กซ์ ทริเบก ผู้ดำเนินรายการเกมโชว์ทางโทรทัศน์ เจพาร์ดี! ดึงดูดความสนใจจากสื่อหลังจากคำใบ้สุดท้ายในตอนหนึ่งของรายการอ้างถึงความเห็นของวิลไฮต์เกี่ยวกับการออกเสียงคำว่า GIF ทริเบกอ่านคำตอบของผู้เข้าแข่งขันโดยใช้เสียง g เบา เมื่อคำว่า GIF ปรากฏเป็นคำตอบที่ถูกต้องของผู้เข้าแข่งขันทั้งสามคน[39] ในอดีต ทริเบกออกเสียงคำนี้แบบเรียงตัวอักษรเพื่อแสดงตัวเป็นกลางในประเด็นโต้เถียงนี้[40]
ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2014 บารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐในขณะนั้น ออกความเห็นว่าควรออกเสียงคำย่อนี้ด้วยเสียง g หนัก หลังประเด็นดังกล่าวผุดขึ้นมาระหว่างการสนทนากับเดวิด คาร์ป ผู้ก่อตั้งทัมเบลอร์ ไมลส์ คลี จาก เดอะเดลีดอต นำโพสต์หนึ่งที่บัญชีทัมเบลอร์ของทำเนียบขาวลงไว้เมื่อเดือนเมษายนปีก่อนหน้ามาทำให้เป็นจุดสนใจ ในโพสต์ดังกล่าวมีอินโฟกราฟิกเชิงขบขันพร้อมข้อความ "ภาพเคลื่อนไหว GIF (g หนัก)"[e][41]
หมายเหตุ
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 "ศัพท์บัญญัติสำนักงานราชบัณฑิตยสภา". สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. สืบค้นเมื่อ July 1, 2022.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 Greenfield, Rebecca (February 1, 2011). "Tech etymology: animated GIF". The Atlantic. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ November 29, 2021. สืบค้นเมื่อ November 28, 2021.
- ↑ Biersdorfer, J. D. (January 12, 2022). "How to make your own animated GIFs". The New York Times. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ February 28, 2022. สืบค้นเมื่อ March 3, 2022.
- ↑ 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 4.5 4.6 O'Leary, Amy (May 23, 2013). "Battle over GIF pronunciation erupts". The New York Times. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ November 29, 2021. สืบค้นเมื่อ November 28, 2021.
- ↑ 5.0 5.1 "How do you pronounce GIF?". The Economist. June 29, 2017. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ November 29, 2021. สืบค้นเมื่อ November 28, 2021.
- ↑ Webb, Tiger (August 9, 2018). "Is it pronounced GIF or JIF? And why do we care?". ABC News. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ December 29, 2021. สืบค้นเมื่อ December 28, 2021.
- ↑ Mercier, Jacques (June 12, 2016). "Faut-il dire «guif» ou «jif» ?". Le Figaro (ภาษาฝรั่งเศส). สืบค้นเมื่อ June 15, 2022.
- ↑ Fagyal, Zsuzsanna; Kibbee, Douglas; Jenkins, Fred (2006). French: A Linguistic Introduction. Cambridge University Press. p. 44. ISBN 978-0-521-82144-5.
- ↑ Dumazet, Mathilde (June 30, 2017). "La prononciation du mot GIF dépend du pays dans lequel vous habitez" [The pronunciation of the word GIF depends on the country you live in]. Slate (ภาษาฝรั่งเศส). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ February 18, 2022. สืบค้นเมื่อ February 21, 2022.
- ↑ Ryding, Karin C. (June 2014). "Arabic phonology". Arabic: A Linguistic Introduction. Cambridge University Press. pp. 18–19. doi:10.1017/CBO9781139151016. ISBN 9781139151016. OL 34503724M.
- ↑ 11.0 11.1 "gif". Det Norske Akademis ordbok (ภาษานอร์เวย์). Norwegian Academy for Language and Literature. สืบค้นเมื่อ April 12, 2022.
- ↑ Kristoffersen, Gjert (December 15, 2007). "Word phonology". The Phonology of Norwegian. The Phonology of the World's Languages. Oxford University Press. p. 112. ISBN 9780199229321.
- ↑ Dow, Michael (August 31, 2020). "It's gif and gif: The English lexicon goes both ways". mcdowlinguist.github.io. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ October 4, 2020. สืบค้นเมื่อ December 28, 2021.
- ↑ 14.0 14.1 McCulloch, Gretchen (December 24, 2021). "Why the pronunciation of GIF really can go either way". Mental Floss. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ December 24, 2021. สืบค้นเมื่อ December 24, 2021.
- ↑ van der Meulen 2019, pp. 46, 49.
- ↑ 16.0 16.1 16.2 van der Meulen 2019, p. 46.
- ↑ 17.0 17.1 Locker, Melissa (February 26, 2020). "Here's a timeline of the debate about how to pronounce GIF". Time. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ March 1, 2022. สืบค้นเมื่อ March 3, 2022.
- ↑ Rodriguez, Salvador (June 15, 2012). "GIF's 25th birthday: Is it pronounced gif or jif?". Los Angeles Times. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ November 29, 2021. สืบค้นเมื่อ March 3, 2022.
- ↑ Hatfield, Daemon (May 2, 2017). "Most people pronounce GIF as ghif". IGN. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ November 12, 2020. สืบค้นเมื่อ March 3, 2022.
- ↑ van der Meulen 2019, p. 49.
- ↑ 21.0 21.1 Chan, Casey (May 21, 2013). "The creator of the GIF says it's pronounced JIF. He is wrong". Gizmodo. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ November 29, 2021. สืบค้นเมื่อ November 28, 2021.
- ↑ 22.0 22.1 22.2 van der Meulen 2019, p. 48.
- ↑ Buck, Stephanie (October 21, 2014). "70 percent of people worldwide pronounce GIF with a hard g". Mashable. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ December 23, 2021. สืบค้นเมื่อ December 24, 2021.
- ↑ van der Meulen 2019, p. 47.
- ↑ "Developer survey results". Stack Overflow. 2017. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ February 18, 2022. สืบค้นเมื่อ February 21, 2022.
- ↑ "GIF". Dictionary.com Unabridged. Random House. สืบค้นเมื่อ November 28, 2021.
- ↑ "GIF". Cambridge Dictionary (Online). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ February 27, 2014. สืบค้นเมื่อ February 19, 2014.
- ↑ "GIF". Merriam-Webster (Online). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ October 22, 2013. สืบค้นเมื่อ June 6, 2013.
- ↑ "GIF". Lexico (Online). Oxford University Press. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ October 12, 2014. สืบค้นเมื่อ October 7, 2014.
- ↑ The New Oxford American Dictionary 2005, p. 711.
- ↑ Oxford Dictionary of English 2010, p. 737.
- ↑ "gif". Petit Robert (Online) (ภาษาฝรั่งเศส). Dictionnaires Le Robert. สืบค้นเมื่อ March 18, 2022.
- ↑ "gif". Petit Larousse (Online) (ภาษาฝรั่งเศส). Éditions Larousse. สืบค้นเมื่อ March 18, 2022.
- ↑ 34.0 34.1 Gross, Doug (May 22, 2013). "It's settled! Creator tells us how to pronounce GIF". CNN. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ March 1, 2022. สืบค้นเมื่อ March 3, 2022.
- ↑ 35.0 35.1 Perlman, Merrill (July 18, 2016). "The great GIF debate". Columbia Journalism Review. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ November 30, 2020. สืบค้นเมื่อ March 3, 2022.
- ↑ van der Meulen 2019, p. 45.
- ↑ Ritzen, Stacey (February 25, 2020). "Jif peanut butter and Giphy have joined forces on how to pronounce GIF". The Daily Dot. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ November 28, 2021. สืบค้นเมื่อ November 28, 2021.
- ↑ 38.0 38.1 Bump, Philip (October 22, 2013). "If you pronounce GIF with a hard g, you must be new to the internet". The Atlantic. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ June 16, 2014. สืบค้นเมื่อ November 28, 2021.
- ↑ Rothberg, Daniel (December 4, 2013). "Jeopardy wades into GIF pronunciation battle". Los Angeles Times. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ November 28, 2021. สืบค้นเมื่อ November 28, 2021.
- ↑ Dewey, Caitlin (December 4, 2013). "Jeopardy has conclusively settled the GIF pronunciation war". The Washington Post. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ March 4, 2022. สืบค้นเมื่อ March 3, 2022.
- ↑ Klee, Miles (June 13, 2014). "Obama to America: Pronounce GIF with a hard g". The Daily Dot. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ November 28, 2021. สืบค้นเมื่อ November 28, 2021.
บรรณานุกรม
[แก้]- van der Meulen, Marten (May 22, 2019). "Obama, SCUBA or gift?: Authority and argumentation in online discussion on the pronunciation of GIF". English Today. 36 (1): 45–50. doi:10.1017/S0266078419000142.
- McKean, Erin, บ.ก. (2005). The New Oxford American Dictionary (2nd ed.). Oxford: Oxford University Press. ISBN 978-0-19-517077-1. OCLC 123434455.
- Stevenson, Angus, บ.ก. (2010). Oxford Dictionary of English (3rd ed.). Oxford: Oxford University Press. ISBN 978-0-19-957112-3. OCLC 729551189.