การประชุมสุดยอดลิสบอน พ.ศ. 2553
การประชุมสุดยอดลิสบอน พ.ศ. 2553 เป็นการประชุมของประมุขแห่งรัฐและหัวหน้ารัฐบาลของเนโท จัดขึ้นในลิสบอน ประเทศโปรตุเกส ระหว่างวันที่ 19-20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553
รัฐสมาชิกได้ลงมติยอมรับ "แนวคิดยุทธศาสตร์ใหม่" ซึ่งเป็นแผนการระยะเวลาสิบปีหลังจากการสิ้นสุดของแผนการก่อนหน้าที่ได้ลงมติยอมรับในการประชุมสุดยอดวอชิงตัน พ.ศ. 2542 นอกเหนือไปจากการเห็นชอบแนวคิดยุทธศาสตร์ซึ่งเตรียมการสำหรับความท้าทายสมัยใหม่อย่างเช่น การก่อการร้ายและการโจมตีไซเบอร์แล้ว รัฐสมาชิกยังได้ตกลงที่จะพัฒนาระบบการป้องกันขีปนาวุธร่วมกัน รัฐสมาชิกได้พบกับประธานาธิบดีอัฟกานิสถาน ฮามิด การ์ไซ เกี่ยวกับปฏิบัติการของเนโทในประเทศ และยังได้ตกลงที่จะค่อย ๆ ถอนกำลังรบออกจากอัฟกานิสถานจนหมดภายใน พ.ศ. 2557 เนโทได้กล่าวยืนยันซ้ำว่าความรับผิดชอบของกลุ่มในการคงกำลังทหารในอัฟกานิสถานเพื่อทำการฝึกและให้คำแนะนำแก่กองทัพและตำรวจอัฟกานิสถาน
หัวข้อการประชุม
[แก้]แนวคิดยุทธศาสตร์
[แก้]ได้มีการคาดการณ์ว่ารัฐสมาชิกจะมีการลงมติยอมรับแนวคิดยุทธศาสตร์ใหม่เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ พ.ศ. 2542 โดยเลขาธิการเนโท อันเดอร์ โฟค ราสมูสเซน ได้กล่าวก่อนการประชุมว่าเขาได้เตรียมร่างแผนดังกล่าวขึ้นมาด้วยตัวเอง และกล่าวอีกว่า เป้าหมายของแนวคิดยุทธศาสตร์ใหม่นี้ คือ "ต้องยืนยันงานหลักของเนโท - การป้องกันดินแดน - แต่ปรับปรุงวิธีการดำเนินการให้ทันสมัย รวมไปถึงการป้องกันไซเบอร์และการป้องกันขีปนาวุธ"[1] กลุ่มผู้เชี่ยวชาญ นำโดยอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา เมเดลีน อัลไบรท์ ได้ร่างรายงานเพื่อช่วยเตรียมแผนการดังกล่าว ในการประชุมก่อนการประชุมสุดยอด เจ้าหน้าที่ได้กล่าวว่าแผนการดังกล่าว "เสร็จสิ้นไปแล้ว 98%" และกล่าวว่าความไม่เห็นพ้องกันใด ๆ จะยกไปประชุม ร่างแผนดังกล่าวได้ยอมรับว่าภัยคุกคามสมัยใหม่ต่อรัฐสมาชิกมาในรูปแบบที่ไม่เหมือนเดิม อย่างเช่น การก่อการร้าย สิ่งที่เรียกว่า "รัฐอันธพาล" ซึ่งถือครองอาวุธอานุภาพทำลายล้างสูง และการโจมตีไซเบอร์ที่สามารถบั่นทอนสาธารณูปโภคด้านพลังงานได้[2]
ในระหว่างการประชุมสุดยอดวันแรก เมื่อ 19 พฤศจิกายน รัฐสมาชิกได้ตกลงยอมรับแผนยุทธศาสตร์ใหม่ซึ่งจะเป็นแผนพันธกิจของพันธมิตรเป็นเวลา 10 ปี เอกสารดังกล่าวได้แสดงถึงความสำคัญของการแก้ไขปัญหาถึงความมั่นคงระหว่างประเทศ การให้ความสำคัญอีกครั้งกต่อความรับผิดชอบที่จะร่วมมือกับสมาชิกในอนาคตและรัสเซีย[3][4] เอกสารที่มีความยาว 11 หน้านี้มีชื่อเรื่องว่า "ข้อตกลงแข็งขัน การป้องกันสมัยใหม่"[5]
อัฟกานิสถาน
[แก้]ประธานาธิบดีอัฟกานิสถาน ฮามิด การ์ไซ ได้เข้าร่วมการประชุมเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน โดยกล่าวว่าเขาต้องการให้เนโทคืนการปกครองประเทศภายในปลายปี พ.ศ. 2557[6] ก่อนหน้าการประชุม นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร เดวิด คาเมรอน ได้กล่าวว่า "การประชุมสุดยอดเนโทในลิสบอนถูกจัดขึ้นเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการส่งผ่านความรับผิดชอบด้านความมั่นคงให้กับกองทัพอัฟกานิสถานอย่างต่อเนื่อง"[7]
ในระหว่างการประชุมกับการ์ไซ รัฐสมาชิกได้ตกลงที่จะถอนปฏิบัติการรบอย่างต่อเนื่องจนถึง พ.ศ. 2557 หลังจากนั้น รัฐเนโทจะยังคังให้การสนับสนุนด้านการฝึกและให้คำแนะนำแก่กองทัพแห่งชาติอัฟกานิสถาน เลขาธิการเนโทได้กล่าวว่า "เราจะเริ่มกระบวนการโดยรัฐบาลอัฟกานิสถานจะเป็นผู้นำในการรักษาความมั่นคงภายในประเทศ อำเภอต่ออำเภอ"[8] ถึงแม้ว่ารัฐสมาชิกจะกำหนดให้ถอนทหารออกจากอัฟกานิสถานในปี พ.ศ. 2557 แต่หลายประเทศก็ได้กล่าวว่าการถอนกำลังทหารของตนจะเกิดขึ้นนอกเหนือจากการตัดสินใจของเนโท[8]
รัสเซีย
[แก้]ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2553 ราสมูสเซนได้ประกาศว่าประธานาธิบดีรัสเซีย ดมิทรี เมดเวเดฟ จะได้รับเชิญเข้าร่วมการประชุมด้วย[9] เมดเวเดฟได้ตอบตกลงที่จะเข้าร่วมหลังจากได้ประชุมกับประธานาธิบดีฝรั่งเศส นีกอลา ซาร์กอซี และนายกรัฐมนตรีเยอรมนี อังเงลา แมร์เคิล[10] ในระหว่างการประชุมสุดยอดดังกล่าวยังได้จัดการประชุมสภาเนโท-รัสเซียขึ้นเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ได้เริ่มก่อตั้งในปี พ.ศ. 2545 ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียและเนโทตึงเครียดนับตั้งแต่สงครามเซาท์ออสซีเชีย 2008 ซึ่งรัสเซียได้สนับสนุนและยอมรับพื้นที่ซึ่งแยกตัวออกมาจากจอร์เจีย ได้แก่ เซาท์ออสซีเชียและอับฮาเซีย
ก่อนหน้าการประชุม บทความในเดอะอีโคโนมิสท์ได้รายงานว่ารัสเซียอาจมีความกระตือรือร้นมากขึ้นที่จะร่วมมือกับประเด็นปัญหาของเนโทและอาจให้สัญญาที่จะสนับสนุนด้านกำลังพลไปยังอัฟกานิสถาน[2] ในการประชุม รัสเซียตกลงที่จะสนับสนุนโครงการการป้องกันขีปนาวุธที่เนโทต้องการจะพัฒนา รัสเซียยังได้ให้การสนับสนุนปฏิบัติการของเนโทในอัฟกานิสถานต่อไปโดยการอนุญาตให้มีการขนส่งเสบียงผ่านน่านฟ้ารัสเซียมากขึ้นและจัดหาเฮลิคอปเตอร์มิลมี-17 ให้แก่อัฟกานิสถานด้วย[11]
การป้องกันขีปนาวุธ
[แก้]ในวันแรกของการประชุม ผู้นำได้ตกลงที่จะสร้างโครงการระบบป้องกันขีปนาวุธที่จะมีขีดความสามารถครอบคลุมถึงรัฐสมาชิกทุกประเทศในยุโรป ตลอดจนถึงสหรัฐอเมริกาและแคนาดา[12][13] ระบบที่ได้รับการเสนอนั้นเคยเป็นจุดขัดแย้งระหว่างเนโทและรัสเซีย แต่ประธานาธิบดีรัสเซีย ดมิทรี เมดเวเดฟ ซึ่งเข้าร่วมการประชุม ได้แสดงความกระตือรือร้นมากยิ่งขึ้นที่จะร่วมมือกับเนโทในด้านดังกล่าว[14]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Childs, Nick (13 October 2010). "Nato considers new mission statement". BBC. สืบค้นเมื่อ 19 November 2010.
- ↑ 2.0 2.1 "Fewer dragons, less snakes". The Economist. 11 November 2010. สืบค้นเมื่อ 19 November 2010.
- ↑ "NATO adopts a new Strategic Concept". NATO. 19 November 2010. สืบค้นเมื่อ 19 November 2010.
- ↑ "NATO approves new strategic concept". Reuters. 19 November 2010. สืบค้นเมื่อ 19 November 2010.
- ↑ "Strategic Concept For the Defence and Security of The Members of the North Atlantic Treaty Organisation" (PDF). NATO. สืบค้นเมื่อ 19 November 2010.
- ↑ "Nato to debate Afghanistan at crucial Lisbon summit". BBC. 18 November 2010. สืบค้นเมื่อ 19 November 2010.
- ↑ Reynolds, Paul (18 November 2010). "What does Nato hope to achieve?". BBC. สืบค้นเมื่อ 19 November 2010.
- ↑ 8.0 8.1 Dempsey, Judy (20 November 2010). "NATO Agrees to Assist Afghanistan Past 2014". New York Times. สืบค้นเมื่อ 20 November 2010.
- ↑ "NATO-Russia Council Summit to take place in Lisbon". NATO. 19 October 2010. สืบค้นเมื่อ 19 November 2010.
- ↑ "Medvedev to attend NATO summit in Lisbon". Global Security.org. 19 October 2010. สืบค้นเมื่อ 19 November 2010.
- ↑ http://www.reuters.com/article/idUSTRE6AJ1EA20101120
- ↑ "NATO Members Back Joint Missile Defense System". NPR. 19 November 2010. สืบค้นเมื่อ 19 November 2010.
- ↑ "Obama: Missile defence shield for all Nato members". BBC. 19 November 2010. สืบค้นเมื่อ 19 November 2010.
- ↑ Parsons, Christi and Sergei L. Loiko (19 November 2010). "At Portugal NATO meeting, Obama to discuss Afghanistan; Medvedev to focus on missile shield". Los Angeles Times. สืบค้นเมื่อ 19 November 2010.