วายแมกซ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก WiMAX)

วายแมกซ์ (WiMAX เป็นชื่อย่อของ Worldwide Interoperability for Microwave Access) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีบรอดแบนด์ไร้สายความเร็วสูงที่ถูกพัฒนาขึ้นมาบนมาตรฐาน IEEE 802.16 และได้พัฒนามาตรฐาน IEEE 802.16d ให้รองรับการทำงานแบบจุดต่อจุด ขึ้นโดยได้เผยแพร่เอกสารมาตรฐานฉบับสมบูรณ์เมื่อเดือนมกราคม ปี ค.ศ. 2004 โดยสถาบันวิศวกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (IEEE: Institute of Electrical and Electronics Engineers) ในช่วงแรกมาตรฐาน IEEE802.16 ได้ออกแบบให้ส่งข้อมูลแบบจุดต่อจุด(Point-to-Point) จึงทำให้ส่งข้อมูลได้ระยะไกลส่งข้อมูลได้ระยะห่าง 30 ไมล์ (ประมาณ 50 กิโลเมตร) ด้วยอัตราความเร็วในการส่งผ่านข้อมูลสูงสุดถึง 75 เมกะบิตต่อวินาที (Mbps)

จากความต้องการใช้งานบอร์ดแบนด์ไร้สายในขณะเคลื่อนที่ทำให้สถาบันวิศวกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ผู้กำหนดมาตรฐาน IEEE802.16 ทำการศึกษาและพัฒนามาตรฐาน IEEE802.16 ให้รองรับการใช้งานแบบเคลื่อนที่โดยตั้งชื่อกลุ่มว่า IEEE 802.16e มาตรฐานใหม่นี้มีความสามารถในการส่งกระจายสัญญาณในลักษณะจากจุดเดียวไปยังหลายจุด (Point-to-multipoint) ได้พร้อมๆ กัน โดยมีความสามารถรองรับการทำงานในแบบ Non-Line-of-Sight ได้ สามารถทำงานได้แม้กระทั่งมีสิ่งกีดขวาง (ต้นไม้ อาคาร) ได้เป็นอย่างดี มาตรฐาน IEEE 802.16e นี้ใช้งานอยู่บนคลื่นไมโครเวฟที่ความถี่ระหว่าง 2-11 จิกะเฮิรตซ์(GHz) และยังสามารถใช้งานร่วมกับอุปกรณ์มาตรฐาน IEEE802 ชนิดอื่นๆ ที่ออกมาก่อนหน้านี้ได้เป็นอย่างดี

จากจุดเด่นข้างต้น ทำให้เทคโนโลยีตัวนี้สามารถสนองความต้องการของการเชื่อมต่อเครือข่ายอินเทอร์เน็ตให้กับพื้นที่ที่ห่างไกลที่สายเคเบิลไม่สามารถลากไปไม่ถึงได้เป็นอย่างดี ตลอดจนเพิ่มความสะดวกสบายและประหยัดสำหรับการขยายเครือข่ายในเมืองที่มีอยู่แล้ว เนื่องจากไม่ต้องลงทุนขุดถนนเพื่อวางสายเคเบิลใยแก้วใหม่ นอกจากนั้น วายแมกซ์ ยังได้รับการปรับปรุงประสิทธิภาพของคุณภาพในการให้บริการ (QoS) ซึ่งสามารถรองรับการใช้งานภาพ (video) งานเสียง (voice) และข้อมูล (data) ภายใต้เทคโนโลยีการบริหารจัดการทรัพยากรเครือข่ายไร้สายชื่อว่า OFDMA อีกทั้งในเรื่องของความปลอดภัยยังได้รับอนุญาต (authentication) ก่อนที่จะเข้าออกเครือข่ายและข้อมูลต่างๆ ที่รับส่งก็จะได้รับการเข้ารหัส (encryption) อีกด้วย ทำให้การรับส่งข้อมูลบนมาตรฐานตัวนี้มีความปลอดภัยมากขึ้น

ตารางเปรียบเทียบเทคโนโลยีไร้สายในแบบต่างๆ[แก้]

เทคโนโลยี มาตรฐาน เครือข่าย ความเร็ว ระยะทาง ความถี่
วายฟาย IEEE 802.11a WLAN สูงสุด 54 Mbps 100 m 5 GHz
วายฟาย IEEE 802.11b WLAN สูงสุด 11 Mbps 100 m 2.4 GHz
วายฟาย IEEE 802.11g WLAN สูงสุด 54 Mbps 100 m 2.4 GHz
วายแมกซ์ IEEE 802.16d WMAN สูงสุด 75 Mbps มาตรฐาน 6.4-10 km ไม่เกิน 11 GHz
วายแมกซ์ IEEE 802.16e โมบาย WMAN สูงสุด 30 Mbps มาตรฐาน 1.6-5 km 2-6 GHz
WCDMA/UMTS 3G WWAN สูงสุด 2 Mbps/10 Mbps (HSDPA) มาตรฐาน 1.6-8 km 1800, 1900, 2100 MHz
CDMA2000 1x EV-DO 3G WWAN สูงสุด 2.4 Mbps มาตรฐาน 1.6-8 km 400, 800, 900, 1700, 1800, 1900, 2100 MHz
EDGE 2.5G WWAN สูงสุด 345 Kbps มาตรฐาน 1.6-8 km 1900 MHz
UWB IEEE 802.15.3a WPAN 110-480 Mbps 10 m 7.5 GHz

ความสามารถในการขยายสัญญาณ[แก้]

วายแมกซ์ มีความสามารถในเรื่องการรองรับการใช้งานแบนด์วิดท์ ช่องสัญญาณ สำหรับการสื่อสารได้ด้วยความยืดหยุ่น โดยสามารถปรับให้สอดคล้องกับแผนการติดตั้งเซลล์ในย่านความถี่ที่ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ หรือย่านความถี่ที่ได้รับการยกเว้นค่าลิขสิทธิ์ทั่วโลก เช่น โอเปอเรเตอร์ที่ให้บริการนั้นได้รับความถี่ 20 MHz ก็สามารถที่จะทำการแบ่งคลื่นความถี่นี้ออกเป็น 2 ส่วน โดยแต่ละส่วนนั้นจะอยู่ที่ 10 MHz หรือจะแบ่งออกเป็น 4 ส่วนๆ ละ 5 MHz ก็ได้ ทำให้โอเปอเรเตอร์สามารถบริหารจัดการแต่ละส่วนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังเพิ่มเติมผู้ใช้งานในแต่ละส่วนได้อีกด้วย

การจัดลำดับความสำคัญของงานบริการ (QoS - Quality of Service) สำหรับระบบเครือข่ายไร้สายมาตรฐาน วายแมกซ์ มีคุณสมบัติด้าน QoS ที่รองรับการทำงานของบริการสัญญาณเสียงและสัญญาณวิดีโอ

ระบบรักษาความปลอดภัย[แก้]

โดยคุณสมบัติของการรักษาความลับของข้อมูลและการเข้ารหัสข้อมูล ในมาตรฐาน วายแมกซ์ จะช่วยให้การสื่อสารมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น แถมยังมีระบบตรวจสอบสิทธิการใช้งานและมีระบบการเข้ารหัสข้อมูลในตัวด้วย

สำหรับอุปกรณ์ที่ใช้งานร่วมกับเทคโนโลยีบรอดแบนด์ไร้สายมาตรฐาน วายแมกซ์ นั้น มีองค์กรที่ได้รับการจัดตั้งจากบรรดาบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำ เพื่อร่วมกันพัฒนาและกำหนดมาตรฐานกลางของเทคโนโลยีบรอดแบนด์ไร้สายความเร็วสูงมาตรฐาน IEEE 802.16 รวมถึงการทำหน้าที่ทดสอบและออกใบรับรองให้แก่อุปกรณืที่ใช้มาตรฐานไร้สายระบบใหม่ ทั้งนี้มาตรฐาน IEEE 802.16 จะถูกเรียกกันทั่วไปว่า วายแมกซ์ เช่นเดียวกับมาตรฐาน IEEE 802.11 ที่รู้จักกันในชื่อ Wi-Fi

อ้างอิง[แก้]

  • Ksc Newsletter ฉบับเดือนสิงหาคม 2007
  • Ksc Newsletter ฉบับเดือนกันยายน 2007
  • Ksc Newsletter ฉบับเดือนตุลาคม 2007
  • [1]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]