ข้ามไปเนื้อหา

พิศวาสหลอน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Vertigo (film))
พิศวาสหลอน
โปสเตอร์ภาพยนตร์ฉบับดั้งเดิม
กำกับอัลเฟร็ด ฮิตช์ค็อก
เขียนบทนวนิยาย:
ปิแอร์ บัวโล-โธมัส นาร์เซอฌัค
บทภาพยนตร์:
อเล็ค คอปปัล
แซมมวล เอ. เทเลอร์
อำนวยการสร้างอัลเฟร็ด ฮิตช์ค็อก
นักแสดงนำเจมส์ สจ๊วต
คิม โนแว็ค
บาบาร่า เบล กอสเดส
ทอม เฮลมอร์
กำกับภาพโรเบิร์ต เบิร์กส์
ตัดต่อจอร์จ โทมาชินี่
ดนตรีประกอบเบอร์นาร์ด เฮอร์มานน์
ผู้จัดจำหน่ายพาราเมาท์ / ยูนิเวอร์แซล
วันฉาย8 พฤษภาคม ค.ศ. 1958
ความยาว128 นาที
ประเทศสหรัฐอเมริกา
ภาษาอังกฤษ
ทุนสร้าง2,479,000 ดอลลาร์สหรัฐ
ข้อมูลจาก All Movie Guide
ข้อมูลจาก IMDb

พิศวาสหลอน (อังกฤษ: Vertigo) เป็นภาพยนตร์แนวระทึกขวัญจิตวิทยาที่ออกฉายในปี 1958 กำกับโดย อัลเฟร็ด ฮิตช์ค็อก นำแสดงโดย เจมส์ สจ๊วต, คิม โนแว็ค, บาบาร่า เบล กอสเดส, ทอม เฮลมอร์ ความยาว 124 นาที ออกฉายในปี พ.ศ. 2501 (ค.ศ. 1958) เข้าฉายในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2507 (ค.ศ. 1964) ในชื่อภาษาไทยว่า ปมพิศวาส

เนื้อเรื่องย่อ

[แก้]

จอห์นนี่ โอ หรือ สก๊อตตี้ เฟอร์กูสัน (เจมส์ สจ๊วต) อดีตนายตำรวจซานฟรานซิสโกเกษียณตัวเองออกจากงาน เนื่องจากความฝังใจที่เห็นเพื่อนตำรวจด้วยกันตกตึกตายไปต่อหน้าต่อตาจากการพยายามช่วยเหลือเขาขณะที่กำลังไล่ล่าผู้ร้ายบนหลังคาตึก และจากความฝังใจครั้งนี้ทำให้เขากลายเป็นโรคกลัวความสูงขึ้นมาทันที

สก๊อตตี้ขณะกำลังเกาะรางน้ำบนหลังคาตึก ที่ทำให้เขาเป็นโรคกลัวความสูง

สก๊อตตี้ถูกติดต่อจากเพื่อนเก่าที่หายไปนาน ชื่อ เกวิน เอลสเตอร์ (ทอม เฮลมอร์) เจ้าของธุรกิจอู่ต่อเรือให้ช่วยติดตาม เมดเดอลีน (คิม โนแว็ค) ภรรยาของเอลสเตอร์ที่ระยะหลังมักทีท่าทีแปลก ๆ ชอบหายตัวไปทั้งวัน โดยไม่รู้ว่าเธอไปไหน เมื่อสอบถามหรือพูดคุยเธอก็จำเหตุการณ์ไม่ได้ สก๊อตตี้ปฏิเสธที่จะทำงานให้ แต่ก็รับในที่สุด สก๊อตตี้ได้สะกดรอยตามเมดเดอลีนไป พบว่าเธอได้ไปซื้อช่อดอกไม้ที่ร้านขายดอกไม้ จากนั้นก็ไปยังสุสาน โดยที่เธอยืนอยู่หน้าหลุมศพหลุมหนึ่งเป็นระยะเวลานาน และจากนั้นเธอก็ไปยังที่พิพิธภัณฑ์ประจำเมือง โดยนั่งจ้องรูปวาดรูปหนึ่งเป็นเวลานานโดยไม่พูดอะไรเลย สก๊อตตี้สืบทราบว่ารูปวาดนั้น มีชื่อว่า รูปเหมือนของคาราด้า (Portrait of Carada) โดยที่ปอยผมท้ายทอยและช่อดอกไม้ของผู้หญิงในรูปที่ชื่อ คาราด้า เหมือนกับของเมดเดอลีนไม่มีผิด และเมดเดอลีนยังไปเช่าห้องในโรงแรมเก่า ๆ แห่งหนึ่งด้วย แต่เมื่อสก๊อตตี้ตามไป และขอให้เปิดห้อง แต่ไม่พบว่าเมดเดอลีนอยู่ในห้อง

เมดเดอลีนขณะกำลังจะกระโดดน้ำ
เมดเดอลีนเมื่อฟื้นขึ้นมา

สก๊อตตี้สืบทราบเรื่องราวของคาราด้าพบว่าเธอคือยายทวดของเมดเดอลีน โดยการช่วยเหลือของ มิช (บาบาร่า เดล กอสเดส) อดีตคู่หมั้นเก่า ผู้ยังรักสก๊อตตี้อยู่

วันหนึ่งขณะที่ติดตามเมดเดอลีนเหมือนเดิม เมดเดอลีนจู่ ๆ ก็กระโดดลงไปในอ่าวซานฟรานซิสโก สก๊อตตี้กระโดดลงไปช่วย และนำเธอไปยังอพาร์ตเมนต์ของเขา เมื่อเมดเดอลีนฟื้นขึ้น เขาได้ถามเธอว่าไปไหนมา และเธอทำอะไร แต่เมดเดอลีนจำอะไรไม่ได้เลย

ต่อมา ความผูกพันของสก๊อตตี้กับเมดเดอลีนนับวันยิ่งสัมพันธ์ขึ้น จู่ ๆ วันหนึ่ง เมดเดอลีนบอกว่าเธอจำได้แล้ว ในฝันของเธอ เธอพบว่าตัวเองอยู่ในหลุมศพแห่งหนึ่งที่โบสถ์สีขาวทรงสเปน สก๊อตตี้พาเมดเดอลีนไปยังโบสถ์แห่งนั้นซึ่งมีอยู่จริง เพื่อที่อาการของเธอจะหาย แต่ปรากฏว่าเมดเดอลีนกลับวิ่งหนีเขาหายไปในหอคอย สก๊อตตี้ไม่สามารถจะติดตามไปได้เพราะอาการโรคกลัวความสูงกลับมาเล่นงานเขาอีกครั้ง และเมดเดอลีนก็ได้กระโดดลงมาตาย

ต่อมา ความฝังใจในเรื่องนี้ประกอบความรักที่มีต่อเมดเดอลีน ทำให้สก๊อตตี้โหยหาที่จะพบเมดเดอลีน เขาไปในสถานที่ต่าง ๆ และได้พบเห็นผู้หญิงหลายคนที่เหมือน เมดเดอลีน ในที่สุด สก๊อตตี้ก็ต้องเข้าโรงพยาบาลโรคประสาท โดยมีมิชมาเยี่ยม และมิชบอกกับหมอว่า เธอไม่เชื่อว่าสก๊อตตี้จะสามารถหายดีเป็นปกติได้

เวลาผ่านไป สก๊อตตี้หายดีแล้ว และเขาได้พบกับ จูดี้ บาร์ตัน (คิม โนแว็ค) หญิงสาวคนหนึ่งที่หน้าตาเหมือนเมดเดอลีนมาก สก๊อตตี้พยายามจะคบกับจูดี้ และเขาพยายามจะเปลี่ยนแปลงจูดี้ให้เหมือนเมดเดอลีนทุกอย่าง โดยที่จูดี้เองก็ไม่เต็มใจแต่ก็ยอมทำไปเพื่อสก๊อตตี้ แต่ในที่สุด สก๊อตตี้ก็พบว่าสร้อยคอของจูดี้เหมือนกับสร้อยในรูปวาด ทั้งจูดี้เละเอลสเตอร์รวมกันหลอกเขาเกี่ยวกับเรื่องเมดเดอลีน แต่ก็สายไปแล้ว

งานสร้างภาพยนตร์

[แก้]
โฆษณาในหนังสือพิมพ์บางกอกไทม์ ฉบับวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2507 ที่ใช้ชื่อภาษาไทยว่า "ปมพิศวาส"

Vertigo ผลงานระดับมาสเตอร์พิสของผู้กำกับอัจฉริยะอย่าง อัลเฟรด ฮิตช์ค็อก ที่บรรยายสภาพจิตใจอันเปราะบางของมนุษย์ สอดประสานกับองค์ประกอบศิลป์ได้อย่างลึกซึ้ง ส่งต่ออารมณ์ให้กับผู้ชมจมดิ่งและคล้อยตามไปกับโลกแห่งจินตภาพบนแผ่นฟีลม์

โปสเตอร์ฉบับดั้งเดิม ที่ใช้ขณะออกฉาย

จินตภาพ ถ่ายทอดออกมาได้อย่างงดงาม สร้างนัยลงในรายละเอียดของหนังได้อย่างน่ามหัศจรรย์ เริ่มต้นจากภาพลายเส้นขดม้วนในดวงตาหญิงสาวระหว่างเครดิต เป็นศิลปะแบบไซคีเดลิคของซอล เบสส์ สื่อความหมายถึงความลึกลับซับซ้อน วกวนอย่างน่าพิศวง เชื่อมโยงลักษณะการจัดรูปแบบของฉากและการเคลื่อนกล้องไปในทิศทางเดียวกัน ตั้งแต่การเลือกใช้บันไดเวียนที่โค้งตัวอยู่ในหอระฆังโบสถ์ ปอยผมขดม้วนบนศีรษะของแมดเดลีน เส้นรอบวงอายุของต้นไม้ และการเลือกใช้สถานที่ถ่ายทำอย่างซานฟรานซิสโกตอกย้ำให้ผู้ชมได้วิงเวียน ชวนปวดหัวร่วมกับตัวละคร ด้วยภูมิประเทศที่มีลักษณะสูงต่ำ และเส้นทางอันลดเลี้ยวไปมา

เครื่องแต่งกาย เสริมมิติให้กับตัวละคร เป็นการเพิ่มความหมายให้แก่ผู้ที่สวมใส่โดยเฉพาะตัวนำเรื่องอย่างแมเดลีนใน ชุดเด่นๆ สามแบบคือ ชุดสูทเทาอึมครึม เป็นสีที่มีผลกระทบในเชิงจิตวิทยามากที่สุด ชุดราตรีสีดำคลุมด้วยเสื้อคลุมสีเขียวเพิ่มความรู้สึกหรูหราแต่แฝงด้วยความ ลึกลับ และเสื้อสีบลอนด์คลุมด้วยโค้ตสีขาวบ่งบอกถึงคู่ตรงข้ามสร้างความขัดแย้งในตัวเอง หนังสร้างมาจากนวนิยายในช่วงที่มีการออกฉายใหม่ๆ หนังเรื่องนี้ยังไม่ได้รับความสนใจจากผู้ชมเท่าไร แต่เมื่อผ่านไปหลายปี นักวิจารณ์ภาพยนตร์ได้มีการวิเคราะห์และตีความอย่างกว้างขวางมากขึ้น จนทำให้ Vertigo จัดเป็นภาพยนตร์ที่ทรงคุณค่าในเวลาต่อมา

คำวิจารณ์และปรากฏการณ์ภาพยนตร์

[แก้]

Vertigo เป็นภาพยนตร์ที่สร้างมาจากนวนิยายเรื่อง D'entre les morts หรือ Among the Dead ในชื่อภาษาอังกฤษ ในขณะที่ออกฉาย ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังไม่ถูกจัดว่าเป็นภาพยนตร์ที่ดีที่สุดของฮิตช็ค็อก แต่เมื่อเวลาได้ผ่านไป ได้มีการวิเคราะห์และตีความอย่างกว้างขวาง จนได้รับการยอมรับจากนักวิจารณ์ว่าเป็นภาพยนตร์ที่ดีที่สุดของอัลเฟร็ด ฮิตช์ค็อก แม้เนื้อเรื่องจะลึกลับและมีบางอย่างไม่สามารถอธิบายได้ โดยที่หลายเสียงบอกตรงกันว่า เมื่อได้ดูมีความรู้สึกเหมือนภาพยนตร์กำลังสะกดจิตคนดูหรือรู้สึกถูกดูดลงไปในเรื่อง ทั้งนี้เพราะฮิตช์ค็อกกำหนดให้ผู้ชมชมภาพยนตร์โดยผ่านมุมมองของสก๊อตตี้ โดยใช้การจัดสี และเสียง เป็นองค์ประกอบสำคัญ

ในปี พ.ศ. 2539 (ค.ศ. 1996) มีผู้นำฟิล์มภาพยนตร์เรื่องนี้กลับมาตัดต่อใหม่ โดยแปลงจากขนาดเดิม 35 มม. ให้เป็น 65 มม. ทำให้สามารถชมได้อย่างเต็มจอ พร้อมทั้งใส่สีและลงดนตรีใหม่ในแบบดิจิตอล และทำสำเนาฟิล์มเก็บไว้เป็นจำนวนมาก ซึ่งจะทำให้มี Vertigo ดูได้อีกราว 200 ปี เลยทีเดียว และในปี พ.ศ. 2540 (ค.ศ. 1997) บริษัท ซีวีดี อินเตอร์เนชั่นแนล ก็ได้ออกจำหน่ายวิดีโอภาพยนตร์เรื่องนี้ในฉบับตัดต่อใหม่[1]

อ้างอิง

[แก้]
  1. หนังสือ ตำนานระทึกขวัญ อัลเฟรด ฮิตช์ค็อค โดย ประวิทย์ แต่งอักษร สำนักพิมพ์ แพรว (กรุงเทพ, กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2543) ISBN 974-85060-0-2

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]