หล่อฮังก๊วย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Siraitia grosvenorii)
หล่อฮังก๊วย
ผลหลอฮังก๊วยสด
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
โดเมน: Eukaryote
อาณาจักร: Plantae
ไฟลัม: Streptophyta
ชั้น: Equisetopsida
ชั้นย่อย: Magnoliidae
อันดับ: Cucurbitales
วงศ์: Cucurbitaceae
สกุล: Siraitia
สปีชีส์: S.  grosvenorii
ชื่อทวินาม
Siraitia grosvenorii
(Swingle) C.Jeffrey ex A.M.Lu & Zhi Y.Zhang
ชื่อพ้อง[1]
  • Momordica grosvenorii Swingle
  • Thladiantha grosvenorii (Swingle) C.Jeffrey

หล่อฮังก๊วย (ชื่อวิทยาศาสตร์: Siraitia grosvenorii) เป็นพืชที่อยู่ในวงศ์แตง (Cucurbitaceae) เป็นพืชพื้นเมืองของทางตอนใต้และตอนกลางของจีนรวมถึงภาคเหนือของไทย[2]

หล่อฮังก๊วยจัดได้ว่าเป็นพืชสมุนไพรจีนชนิดหนึ่ง ผลของหล่อฮังก๊วยมีลักษณะกลมเหมือนไข่เป็ด มีเปลือกแข็งล้อมรอบเนื้อผลไม้แต่มีความเปราะ ในช่วงที่ยังไม่สุกผลจะมีสีเขียวและเข้มขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นสีเขียวเข้มแกมดำและผลจะรีลง ในการแพทย์แผนจีนจะนำผลของหล่อฮังก๊วยไปตากแห้งหรือลนไฟจนแห้ง จากนั้นจะทำการเคาะหากใช้ได้แล้วจะมีเสียงกังวาน สามารถนำมาต้มหรือผสมกับจับเลี้ยงเพื่อปรุงเครื่องดื่มแก้ร้อนในได้[3]สามารถเก็บเกี่ยวจากต้นได้เหมือนพืชวงศ์แตงทั่วไป

ชื่อ[แก้]

"หล่อฮังก๊วย" มาจากภาษาจีนซึ่งสำเนียงกลางว่า "หลัวฮั่นกั่ว" (จีน: 羅漢果; พินอิน: luóhàn guǒ) คำว่า "หลัวฮั่น" กร่อนจาก "อาหลัวฮั่น" (จีน: 阿羅漢; พินอิน: āluóhàn) ซึ่งทับศัพท์จากสันสกฤตว่า "อรฺหนฺต" และชื่อในภาษาสันสกฤตของหล่อฮั่งก๊วย คือ "อรฺหนฺตผล" แปลว่า ผลไม้ของอรหันต์

ชื่อสามัญของหล่อฮังก๊วยในภาษาอังกฤษ คือ arhat fruit, Buddha fruit, monk fruit หรือ longevity fruit ส่วนในภาษาญี่ปุ่นใช้ว่า "ระกังกะ" (ญี่ปุ่น: ラカンカโรมาจิrakanka)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์[แก้]

หล่อฮังก๊วยเป็นพืชที่อยู่ในวงศ์แตง (Cucurbitaceae) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Monordica grosvenoril (Swingle) หล่อฮังก๊วยจัดได้ว่าเป็นพืชสมุนไพรจีนชนิดหนึ่ง ผลของหล่อฮังก๊วยมีลักษณะกลมเหมือนไข่เป็ด มีเปลือกแข็งล้อมรอบเนื้อผลไม้แต่มีความเปราะ ในช่วงที่ยังไม่สุกผลจะมีสีเขียวและเข้มขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นสีเขียวเข้มแกมดำและผลจะรีลง[3]ลำต้นเถายาวประมาณ 3–5 เมตรมีมือพันที่ลำต้นไว้ยึดเกาะยื่นไปทางก้านใบ มีรากเป็นรูปกระสวย ใบเป็นรูปหัวใจยาว 10–20 ซม. ขอบใบหยัก ช่อดอกแบบช่อกระจะ กลีบดอกสีเหลือง กลีบเลี้ยงและเกสรเพศผู้อยู่บนรังไข่ ผลสดมีรูปร่างกลมรี มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 4–8 เซนติเมตร ผิวเรียบมันสีเขียวอ่อน เมื่อผลแห้งจะมีสีน้ำตาลเข้ม

ผลหลอฮังก๊วยแห้งผ่าซีกนำไปต้มกับน้ำเป็นเครื่องดื่มสมุนไพร

สรรพคุณ[แก้]

หล่อฮังก๊วยเมื่อนำมาสกัดจะให้สารให้ความหวานแทนน้ำตาล โดยสารให้ความแทนน้ำตาลที่สกัดได้นี้ให้ความหวานถึง 250–300 เท่าของน้ำตาลทราย จึงนิยมนำมาเป็นสารเพิ่มความหวานในอาหารและเครื่องดื่มที่มีรสหวานในอุตสาหกรรมอาหาร โดยที่ไม่ส่งผลต่อการเพิ่มของน้ำตาลในกระแสเลือด[3]

การแพทย์แผนจีนจะนำผลของหล่อฮังก๊วยไปตากแห้งหรือลนไฟจนแห้ง จากนั้นจะทำการเคาะหากใช้ได้แล้วจะมีเสียงกังวาน สามารถนำมาต้มหรือผสมกับจับเลี้ยงเพื่อปรุงเครื่องดื่มแก้ร้อนในได้ ซึ่งสรรพคุณที่ได้กล่าวมานี้ช่วยผู้ป่วยที่มีอาการไอ เสียงแหบแห้ง บรรเทาอาการหลอดลมอักเสบ และโรคทางเดินหายใจ ในสมัยโบราณผู้ป่วยที่มีโรคไอกรนแพทย์มักจะแนะนำให้ผู้ป่วยดื่มน้ำที่มีหล่อฮังก๊วยผสมอยู่เพราะสามารถช่วยบรรเทาอาการของโรคได้ นอกจากนี้ในผู้ป่วยที่มีปัญหาอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร หล่อฮังก๊วยยังมีสรรพคุณในการบำรุงระบบทางเดินอาหารช่วงล่าง เช่น ภาวะลำไส้ใหญ่ไม่มีแรงบีบตัว และอาการทวารหย่อน เป็นต้น

บทบาททางการแพทย์[แก้]

หล่อฮังก๊วยเมื่อนำมาสกัดจะให้สารที่ให้ความหวานแทนน้ำตาลชื่อว่า "โมโกรไซด์ (Mogrosides)" เป็นสารที่อยู่ในกลุ่มไกลโคไซด์ ซึ่งไตรเทอร์พีนไกลโคไซด์ (Triterpene Glycosides) เป็นสารที่ให้ความหวานแทนน้ำตาลประมาณ 250–300 เท่า แต่กลับไม่ให้พลังงาน ดังนั้นจึงไม่ส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด (อินซูลิน) ของผู้ป่วย โดยแพทย์จะอนุญาตให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานสามารถดื่มเครื่องดื่มที่มีรสหวานได้ แต่เครื่องดื่มต้องไม่มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบสำคัญอยู่ภายใน[3][4]

การเพาะปลูก[แก้]

การปลูกด้วยเมล็ดนั้นงอกช้าและอาจใช้เวลาหลายเดือนในการเจริญเติบโต พื้นที่ปลูกส่วนใหญ่อยู่ในเขตปกครองตนเองกวางสีจ้วงทางตอนใต้ของจีน (ส่วนใหญ่ในพื้นที่ภูเขาใกล้กุ้ยหลิน) เช่นเดียวกันในกวางตุ้ง กุ้ยโจว หูหนาน เจียงซี และจังหวัดอื่น ๆ พื้นที่ภูเขาในท้องถิ่นมีต้นไม้ร่มรื่นและมักถูกล้อมรอบด้วยหมอก ทำให้พืชหลีกเลี่ยงการได้รับแสงแดดโดยตรงส่งผลให้หล่อฮังก๊วยเป็นของหายากในป่าจึงมีการนำมาปลูกเป็นเวลาหลายร้อยปี

บันทึกแรกสุดที่พบคือในปี พ.ศ. 2356 ระบุว่าพืชชนิดนี้ถูกปลูกในกวางสี และในปัจจุบันมีพื้นที่ที่เพาะปลูกประมาณ 16 ตารางกิโลเมตรบนภูเขาบริเวณกุ้ยหลิน โดยมีผลผลิตประมาณ 100 ล้านผลต่อปี พื้นที่เพาะปลูกส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเขตหลิงกุ้ย (Lingui) ในเขตปกครองตนเองกวางสีจ้วง และจังหวัดหวิญฟุก (Vĩnh Phúc) ประเทศเวียดนาม

ที่ระดับความสูง 300 ถึง 1,400 เมตร ในพื้นที่ป่าไหล่เขากึ่งเขตร้อนชื้น ต้องการแสงสว่างเพียง 7–8 ชั่วโมงต่อวัน ความชื้นในอากาศสัมพัทธ์ร้อยละ 75 ถึง 85 มีฝนตกชุก และอุณหภูมิ 22 ถึง 28 °C ลำต้นสามารถเติบโตอย่างรวดเร็ว และสามารถยาวได้ 3–5 เมตร มีมือพันเกาะเกี่ยวตามต้นไม้และภูมิประเทศอื่นเหมือนเถาวัลย์ เนื้อชั้นในรับประทานดิบ และเปลือกที่มีรสขมใช้ชงชา

ความสำคัญทางเศรษฐกิจ[แก้]

เป็นพืชเศรษฐกิจที่สามารถปลูกได้บริเวณชายเขาที่อากาศเย็นแถวภาคเหนือของประเทศไทย ซึ่งมีภูมิอากาศใกล้เคียงกับแถบตอนใต้ของประเทศจีน แต่ยังไม่นิยมปลูกในไทยมากนักเนื่องจากยังไม่มีองค์ความรู้ที่มากพอและภูมิอากาศที่ไม่เอื่ออำนวยทำให้ไม่สามารถปลูกได้ตามต้องการมากนัก ในประเทศจีนมีบริษัทหลายแห่งในพื้นที่ที่เชี่ยวชาญด้านการผลิตสารสกัดหล่อฮังก๊วยและผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป และเป็นประเทศที่ส่งออกหล่อฮังก๊วยรายใหญ่ของโลก

งานวิจัยเกี่ยวข้อง[แก้]

นักวิจัยชาวญี่ปุ่นที่ทำการวิจัยที่ มหาวิทยาลัยนิฮอน ในประเทศญี่ปุ่น ค้นพบว่าหล่อฮังก๊วยมีสารประกอบบางชนิดในการต่อต้านเนื้องอก และมหาวิทยาลัยในเมืองฮิโรชิมะค้นพบว่าสารโมโกรไซด์ (Mogrosides) มีคุณสมบัติในการยับยั้งการเจริญของเนื้องอกใต้ผิวหนังของผู้ป่วยได้[3]

นอกจากนี้ในประเทศไทยยังมีงานวิจัยที่เกี่ยวข้องในการนำสรรพคุณของหล่อฮังก๊วยมาทำเป็นลูกอมให้กับบุคคลทั่วไปและผู้ป่วยได้รับประทานอีกด้วยในงานวิจัยชื่อว่า น้ำสมุนไพรอัดเม็ด ของภาควิชาเภสัชอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยมหิดล โดยในงานวิจัยฉบับนี้ระบุว่าได้นำสมุนไพร 3 ชนิด ได้แก่ บัวบก หล่อฮั้งก๊วย และ เก๊กฮวย มาผ่านกระบวนการอัดเม็ด ผลปรากฏว่าเป็นที่ชื่นชอบของผู้รับประทานและสามารถคงสรรพคุณของหล่อฮังก๊วยไว้ในลูกอมไว้ได้[5]

อ้างอิง[แก้]

  1. "Siraitia grosvenorii (Swingle) C.Jeffrey ex A.M.Lu & Zhi Y.Zhang". The Plant List.
  2. Dharmananda, Subhuti (มกราคม 2004). "Luo han guo: Sweet fruit used as sugar substitute and medicinal herb". Inst Trad Med Online. Portland, Oregon. สืบค้นเมื่อ 30 ตุลาคม 2012.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 "ส่วนประกอบและสรรพคุณของหล่อฮังก๊วย". kingopop1.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 เมษายน 2014. สืบค้นเมื่อ 30 มีนาคม 2014.
  4. สุพัตรา กาญจนประทุม; จิราภรณ์ สิริสัณห์; ประพันธ์ ปิ่นศิโรดม. "สารให้ความหวานจากธรรมชาติ". สมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหารแห่งประเทศไทย (FoSTAT). สืบค้นเมื่อ 25 เมษายน 2024.
  5. "น้ำสมุนไพรอัดเม็ด". ภาควิชาเภสัชอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยมหิดล. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 มีนาคม 2016. สืบค้นเมื่อ 30 มีนาคม 2014.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

  • ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Siraitia grosvenorii ที่วิกิสปีชีส์
  • วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ หล่อฮังก๊วย