โรเคียร์ ฟัน เดอร์ไวเดิน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Rogier van der Weyden)
โรเคียร์ ฟัน เดอร์ไวเดิน ภาพโดยคอร์เนลิส คอร์ต ค.ศ. 1572

โรเคียร์ ฟัน เดอร์ไวเดิน (ดัตช์: Rogier van der Weyden) หรือ รอฌีเย เดอ เลอ ปัสตูร์ (ฝรั่งเศส: Rogier de le Pasture; ค.ศ. 1399/1400 - 18 มิถุนายน ค.ศ. 1464) เป็นจิตรกรคนสำคัญของจิตรกรรมเนเธอร์แลนด์เริ่มแรกของประเทศเนเธอร์แลนด์ในคริสต์ศตวรรษที่ 15 เขาเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญทางการเขียนภาพสีน้ำมันและการเขียนบานพับภาพ

ชีวิต[แก้]

รอฌีเย เดอ เลอ ปัสตูร์ เกิดที่ตูร์แน (ปัจจุบันอยู่ในประเทศเบลเยียม) ระหว่างปี ค.ศ. 1399 ถึงปี ค.ศ. 1400 พ่อและแม่ของเขาชื่อ อ็องรี เดอ เลอ ปัสตูร์ และอาแญ็ส เดอ วาเทรโล อ็องรีและอาแญ็สมาตั้งหลักแหล่งอยู่ที่ตูร์แนก่อนที่รอฌีเยจะเกิด พ่อของรอฌีเยเป็นช่างทำมีด ในปี ค.ศ. 1426 รอฌีเยแต่งงานกับเอลีซาเบต โคฟฟาร์ต ผู้เป็นลูกสาวของช่างทำรองเท้าจากบรัสเซลส์ ทั้งคู่มีลูกด้วยกัน 4 คน สองคนแรกคือ กอร์เนลียึส (ซึ่งต่อมาบวชเป็นพระคาร์ทูเซียน) และมาร์กาเรตา ก่อนวันที่ 21 ตุลาคม ค.ศ. 1435 รอฌีเยกับครอบครัวก็ย้ายไปบรัสเซลส์ซึ่งเป็นที่เกิดลูกสองคนหลังคือปีเตอร์และยัน ตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม ค.ศ. 1436 รอฌีเยก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็น "ช่างเขียนประจำเมืองบรัสเซลส์" ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีหน้ามีตาเพราะในเวลานั้นบรัสเซลส์เป็นที่ตั้งของราชสำนักของดุ๊กแห่งเบอร์กันดี ในโอกาสนั้นเขาก็เปลี่ยนชื่อจากภาษาฝรั่งเศส "รอฌีเย เดอ เลอ ปัสตูร์" ไปเป็นภาษาดัตช์ "โรเคียร์ ฟัน เดอร์ไวเดิน"

การฝึกงาน[แก้]

หลักฐานที่ปรากฏกล่าวว่าตูร์แนมอบไวน์เป็นค่าครูให้แก่ครูบานามว่า "ครูรอฌีเย เดอ เลอ ปัสตูร์" เมื่อวันที่ 17 มีนาคม ค.ศ. 1426 แต่มาเมื่อถึงวันที่ 5 มีนาคม ค.ศ. 1427 บันทึกของชมรมช่างเขียนกล่าวว่า รอฌีเย เดอ เลอ ปัสตูร์ เข้าฝึกงานกับโรงฝึกงานของโรเบิร์ต กัมปินพร้อมกับฌัก ดาแร (Jacques Daret) ห้าปีต่อมาเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม ค.ศ. 1432 รอฌีเย เดอ เลอ ปัสตูร์ก็ได้รับตำแหน่งเป็น มาสเตอร์ หรือจิตรกรเต็มตัว แต่ก็เป็นที่สงสัยกันว่า ผู้ฝึกงานของกัมปินชื่อ "รอเฌอแล" (Rogelet) จะเป็นคนคนเดียวกับมาสเตอร์รอฌีเยผู้ได้รับไวน์เป็นค่าครูเมื่อปี ค.ศ. 1426 หรือไม่ และระหว่างปี ค.ศ. 1426 ถึงปี ค.ศ. 1427 โรเคียร์ (รอฌีเย) มีอายุได้ยี่สิบปีกว่าและแต่งงานแล้ว ซึ่งเมื่อคำนึงถึงอายุผู้ฝึกงานกันแล้วทำให้สันนิษฐานกันว่า รอเฌอแลน่าจะเป็นจิตรกรที่อายุน้อยกว่าที่มีชื่อเดียวกัน แต่ในระหว่างทศวรรษที่ 1420 ระบบการปฏิบัติงานของชมรมช่างเขียนที่เมืองตูร์แนออกจะมีปัญหา ฉะนั้นอาจจะเป็นไปได้ว่าการฝึกงานเมื่ออายุมากกว่าปกติของโรเคียร์ (รอฌีเย)/รอเฌอแล อาจจะเป็นเพียงหลักฐานที่เป็นไปตามกฎหมายเท่านั้น นอกจากนั้นฌัก ดาแรเองก็มีอายุราวยี่สิบปีกว่าและพักพิงและทำงานอยู่กับกัมปินมาอย่างน้อยก็ร่วมยี่สิบปี ข้อสันนิษฐานอีกข้อหนึ่งก็คืออาจจะเป็นไปได้ว่าโรเคียร์อาจจะได้รับแต่งตั้งให้เป็นจิตรกรเต็มตัวมาก่อนหน้านั้นแล้ว และไวน์ที่ได้รับก็อาจจะเป็นการฉลองโอกาสที่ได้รับการแต่งตั้งในตำแหน่งนั้น นอกไปจากนั้นแล้วเมื่อคำนึงถึงลักษณะ คุณภาพ และองค์ประกอบของงานที่สมบูรณ์แบบของโรเคียร์แล้วก็เป็นอีกข้อหนึ่งที่สนับสนุนประเด็นการสันนิษฐานข้อหลังนี้ สถานะทางสังคมและทางสติปัญญาในบั้นปลายชีวิตของโรเคียร์ก็ดูจะเหนือกว่าการเป็นเพียงช่างในสมัยนั้น โดยทั่วไปแล้วลักษณะงานที่เกี่ยวข้องกับงานที่บันทึกไว้ของฌัก ดาแร และงานเขียนที่ว่ากันว่าเป็นงานของโรเบิร์ต กัมปินและโรเคียร์ ฟัน เดอร์ไวเดินทำให้สันนิษฐานกันว่าโรเคียร์ ฟัน เดอร์ไวเดินเป็นลูกศิษย์ของโรเบิร์ต กัมปิน

อาชีพ[แก้]

หลังจากที่ไปตั้งหลักฐานอยู่ที่บรัสเซลส์แล้ว โรเคียร์ก็เริ่มสร้างชื่อเสียงจนในที่สุดก็กลายเป็นจิตรกรคนสำคัญคนหนึ่งของยุโรป ซึ่งจะเห็นได้จากหลักฐานของอสังหาริมทรัพย์และการลงทุนต่าง ๆ ที่โรเคียร์เป็นเจ้าของ นอกจากนั้นก็ยังมีหลักฐานปรากฏว่าโรเคียร์มีความสนิทสนมกับเจ้านายและคนสำคัญต่าง ๆ ในยุโรปจะเห็นได้จากงานภาพเหมือนของดุ๊กแห่งเบอร์กันดีหลายองค์ รวมทั้งพระญาติพระวงศ์ ข้าราชสำนัก และบุคคลผู้มีฐานะร่ำรวยและมีอำนาจในเวลานั้น

งานแท่นบูชามิราโฟลเรส (Miraflores Altarpiece) อาจจะเป็นงานที่รับจากพระเจ้าฆวนที่ 2 แห่งกัสติยา เพราะพระเจ้าฆวนทรงอุทิศให้สำนักสงฆ์แห่งมิราโฟลเรสในปี ค.ศ. 1445 ในปี ค.ศ. 1450 โรเคียร์อาจจะเดินทางไปแสวงบุญที่กรุงโรมที่ทำให้มีโอกาสได้ทำความคุ้นเคยกับศิลปินและผู้อุปถัมภ์ศิลปินชาวอิตาลี ซึ่งจะเห็นได้จากการที่สมาชิกในตระกูลเอสเตและตระกูลเมดีชีจ้างให้โรเคียร์เขียนภาพหลายภาพ และบีอังกา มารีอา วิสกอนตี ดัชเชสแห่งมิลาน ถึงกับส่งซาเนตโต บูกัตโต (Zanetto Bugatto) ผู้เป็นช่างเขียนประจำสำนักไปบรัสเซลส์เพื่อให้ไปศึกษาการเขียนภาพกับโรเคียร์ ความมีชื่อเสียงของโรเคียร์ไปในประเทศต่าง ๆ ในยุโรปก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ระหว่างคริสต์ทศวรรษ 1450 และ 1460 นักปราชญ์เช่นนิโคลัสแห่งคูส, ฟีลาเรเต และบาร์โตโลเมโอ ฟาซีโอ กล่าวสรรเสริญโรเคียร์อย่างเลิศลอยว่าเป็น ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุด ในบรรดาจิตรกรทั้งหลาย

ลักษณะสำคัญของภาพเขียนโดยโรเคียร์ก็คือการที่ทำให้ผู้ดูรู้สึกสะเทือนอารมณ์ ซึ่งจะเห็นได้อย่างชัดเจนจากภาพเขียน "ชะลอร่างจากกางเขน" (พิพิธภัณฑ์ปราโด มาดริด ประเทศสเปน) ที่เชื่อกันว่าเขียนโดยโรเคียร์ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16 งานชิ้นนี้ผู้จ้างอาจจะเป็น "สมาคมนายขมังธนูแห่งนักบุญจอร์จ" (Saint Georges Guild of the crossbowmen) สำหรับวัด "Onze-Lieve-Vrouw van Ginderbuiten" ที่เลอเฟิน แต่นักวิชาการบางท่านเช่น มักซ์ ยอท. ฟรีดเลนเดอร์ (Max J. Friedländer) และเมื่อไม่นานมานี้ เฟลิกซ์ เทือร์เลอมันน์ (Felix Thürlemann) สันนิษฐานจากการเปรียบเทียบลักษณะงานว่าเป็นงานของโรเบิร์ต กัมปิน มิใช่โรเคียร์ ฟัน เดอร์ไวเดินตามที่สันนิษฐานกันมาก่อนหน้านั้น

อิทธิพล[แก้]

ลักษณะงานที่เต็มไปด้วยชีวิตจิตใจและการแสดงออก และการเขียนเกี่ยวกับเรื่องศาสนาเป็นลักษณะการเขียนของโรเคียร์ที่มีอิทธิพลไปทั่วยุโรปไม่แต่จะเป็นฝรั่งเศสและเยอรมนีแต่ยังรวมไปถึงอิตาลีและสเปน ฮันส์ แม็มลิงเป็นจิตรกรที่ได้รับอิทธิพลโดยตรงจากโรเคียร์ แต่ก็ไม่มีหลักฐานใดที่กล่าวว่าแม็มลิงเป็นลูกศิษย์ของโรเคียร์ นอกไปจากนั้นโรเคียร์ก็ยังมีอิทธิพลต่อมาร์ติน โชนเกาเออร์ (Martin Schongauer) จิตรกรและช่างภาพพิมพ์โลหะชาวเยอรมันผู้มีผลงานไปทั่วยุโรปตอนปลายคริสต์ศตวรรษที่ 15

ผลงาน[แก้]

ผลงานสำคัญ ๆ ที่สันนิษฐานกันว่าเป็นงานของโรเคียร์ งานเกือบทั้งหมดประกอบด้วยงานจิตรกรรมแผง และหลายชิ้นเป็นงานบานพับภาพสอง, บานพับภาพ และบานพับหลายชิ้น แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายว่างานบานพับภาพบางส่วนก็สูญหายไปหรือถูกแบ่งเป็นชิ้น ๆ แยกกันไปเป็นของพิพิธภัณฑ์ต่างทั้งในยุโรปและสหรัฐอเมริกา งานทุกชิ้นเป็นภาพสีน้ำมันบนแผงไม้โอ๊กนอกไปจากบรรยายว่าเป็นวัสดุอื่น

งานประมาณระหว่างปี ค.ศ. 1425 ถึงปี ค.ศ. 1430

งานประมาณระหว่างปี ค.ศ. 1430 ถึงปี ค.ศ. 1432

งานประมาณระหว่างปี ค.ศ. 1430 ถึงปี ค.ศ. 1435

งานประมาณระหว่างปี ค.ศ. 1435 ถึงปี ค.ศ. 1440

งานประมาณระหว่างปี ค.ศ. 1440 ถึงปี ค.ศ. 1445

งานประมาณระหว่างปี ค.ศ. 1445 ถึงปี ค.ศ. 1450

งานประมาณระหว่างปี ค.ศ. 1450 ถึงปี ค.ศ. 1455

งานประมาณระหว่างปี ค.ศ. 1455 ถึงปี ค.ศ. 1464

อ้างอิง[แก้]

  • Ibiblio.org: Rogier van der Weyden [1]
  • Web Gallery of Art: Rogier van der Weyden [2]

ดูเพิ่ม[แก้]

สมุดภาพ[แก้]