ข้ามไปเนื้อหา

บริเตนยุคก่อนประวัติศาสตร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Prehistoric Britain)




ประวัติศาสตร์หมู่เกาะอังกฤษ

แบ่งตามลำดับเหตุการณ์

แบ่งตามประเทศ

แบ่งตามหัวเรื่อง

อังกฤษก่อนประวัติศาสตร์ (อังกฤษ: Prehistoric Britain) เป็นประวัติของการตั้งถิ่นฐานในบริเตนใหญ่ที่เริ่มตั้งแต่ปลายสมัยก่อนประวัติศาสตร์และมาสิ้นสุดลงเมื่อชาวโรมันเข้ามารุกรานในปี ค.ศ. 43 แม้ว่าจะมีหลักฐานเกี่ยวกับการตั้งถิ่นฐานก่อนหน้านั้นก็ตาม สมัยก่อนประวัติศาสตร์ก่อนหน้าที่จะมีการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ “โฮโม” เป็นส่วนหนึ่งของธรณีวิทยาของหมู่เกาะอังกฤษ สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตามปกติแล้วมักจะแบ่งออกเป็นสมัยย่อยๆ แต่ช่วงเวลาระหว่างสมัยเหล่านี้เป็นตัวเลขที่ไม่แน่นอน นอกจากนั้นการเปลี่ยนแปลงจากสมัยหนึ่งไปอีกสมัยหนึ่งก็ยังเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป นอกจากนั้นช่วงเวลาการเปลี่ยนสมัยหรือการเปลี่ยนแปลงก็แตกต่างจากแผ่นดินใหญ่ยุโรป

ที่มา

[แก้]

บริเตนเป็นที่ตั้งถิ่นฐานเป็นพักๆ ของมนุษย์ “จีนัสโฮโม” มาเป็นเวลาหลายแสนปี และต่อมาโดยมนุษย์ “โฮโมเซเปียน” (Homo sapiens) เป็นเวลาอีกหลายหมื่นปี จากการตรวจสอบหลักฐานทางดีเอ็นเอพบว่ามนุษย์สมัยใหม่มาตั้งถิ่นฐานในบริเตนก่อนหน้ายุคน้ำแข็งครั้งสุดท้าย เมื่อยุคน้ำแข็งเริ่มขึ้นอีกครั้งเมื่อแผ่นดินบริเตนส่วนใหญ่ถูกปกคลุมไปด้วยน้ำแข็งและส่วนอื่นๆ เป็นทุ่งทันดรา (tundra) ผู้ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเตนก็ย้ายหนีลงไปทางใต้ของยุโรป ในช่วงนี้ระดับน้ำทะเลของบริเตนต่ำกว่าระดับปัจจุบันราว 127 เมตร (416.67 ฟุต) ฉะนั้นแผ่นดินบริเตนจึงเป็นแผ่นดินที่ติดต่อกับทั้งไอร์แลนด์และยุโรปทำให้สามารถเดินผ่านถึงกันได้โดยไม่ต้องข้ามทะเลเช่นในปัจจุบัน

หลังจากยุคน้ำแข็งสิ้นสุดลงราว 9,500 ปีมาแล้วแผ่นดินไอร์แลนด์ก็แยกจากบริเตนและต่อมาราว 6,000 ก่อนคริสต์ศตวรรษบริเตนก็แยกออกจากแผ่นดินใหญ่ยุโรป ทางด้านการตั้งถิ่นฐานก็เริ่มมีผู้กลับมาตั้งถิ่นฐานราว 12,000 ก่อนคริสต์ศตวรรษที่เห็นได้จากหลักฐานทางโบราณคดี เมื่อราว 4000 ก่อนคริสต์ศตวรรษเกาะอังกฤษก็เป็นที่ตั้งถิ่นฐานของผู้คนจากยุคหินใหม่[1] แต่ผู้ตั้งถิ่นฐานก่อนโรมันไม่มีหลักฐานว่ามีภาษาเขียนที่หลงเหลืออยู่ให้เห็น การที่ไม่มีหลักฐานทางวรรณกรรมจากสมัยนี้ทำให้เป็นการยากที่จะทราบโดยตรงถึงประวัติ, วัฒนธรรมและความเป็นอยู่ ความรู้ความเข้าใจจึงต้องมาจากการศึกษาจากหลักฐานจากสิ่งที่พบทางโบราณคดีประกอบกับหลักฐานทางพันธุกรรมที่มีเพิ่มมากขึ้นทุกวันและยังคงวิวัฒนาการต่อไป ทางด้านภาษาก็มีหลักฐานเหลืออยู่เพียงเล็กน้อยที่มาจากชื่อแม่น้ำหรือเนินต่างๆ ที่อธิบายอย่างละเอียดในบทความสมัยก่อนเคลติค (Pre-Celtic) และสมัยเคลติค

หลักฐานจากงานเขียนที่สำคัญชิ้นแรกที่กล่าวถึงบริเตนและผู้อยู่อาศัยมาจากข้อเขียนของไพเธียส (Pytheas) นักเดินเรือกรีกผู้เดินทางมาสำรวจชายฝั่งทะเลในบริเวณบริเตนราว 325 ปีก่อนคริสต์ศตวรรษ แต่ก็อาจจะมีข้อมูลเกี่ยวกับบริเตนใน “Ora Maritima” ที่หายไปซึ่งรวมอยู่ในข้อเขียนของนักเขียนผู้อื่นในภายหลัง ชาวบริเตนโบราณมีการติดต่อค้าขายและการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมกับทวีปยุโรปมาตั้งแต่ยุคหินใหม่เป็นต้นมาโดยเฉพาะในการส่งดีบุกเป็นสินค้าออกซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่บริเตนมีมากมาย หลักฐานอื่นที่กล่าวถึงบริเตนมาจากจูเลียส ซีซาร์ผู้กล่าวถึงบริเตนราว 50 ก่อนคริสต์ศตวรรษ

การที่บริเตนตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือสุดของยุโรปทำให้เป็นผู้ที่ได้รับความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและวัฒนธรรมช้ากว่าบริเวณอื่นในยุโรปในยุคก่อนประวัติศาสตร์ โดยทั่วไปแล้วประวัติของบริเตนโบราณเป็นเรื่องราวของการตั้งถิ่นฐานเป็นช่วงๆ ของผู้มาจากแผ่นดินใหญ่ยุโรปผู้นำเอาวัฒนธรรมและความเจริญจากยุโรปเข้ามายังบริเตน แต่ทฤษฎีโบราณคดีเมื่อไม่นานมานี้ตั้งข้อสงสัยของตีความหมายที่ว่านี้ และสนับสนุนทฤษฎีใหม่ที่ว่าความสัมพันธ์ระหว่างยุโรปและบริเตนเป็นความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนกว่าที่เคยตีความหมายกันมา ความเปลี่ยนแปลงในสังคมบริเตนที่เห็นจากหลักฐานทางโบราณคดีใหม่แสดงให้เห็นว่าผู้ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเตนปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมที่เข้ามาใหม่แทนที่จะถูกกลืนหายไปโดยผู้ที่เข้ามารุกรานอย่างเช่นที่เข้าใจกันแต่เดิม

อ้างอิง

[แก้]