วันมิลเลียนดอลลาร์พารานอร์มัลชาเลนจ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก One Million Dollar Paranormal Challenge)

วันมิลเลียนดอลลาร์พารานอร์มัลชาเลนจ์ (อังกฤษ: One Million Dollar Paranormal Challenge; แปล: รางวัลท้าทายเรื่องเหนือธรรมชาติล้านดอลลาร์สหรัฐ) เป็นโครงการของมูลนิธิการศึกษาเจมส์แรนดี้ (James Randi Educational Foundation ตัวย่อ JREF) ที่จะจ่ายเงินรางวัล 1,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 36,320,000 บ้านในต้นปี 2559) ให้กับใครก็ตามที่สามารถแสดงความสามารถเหนือธรรมชาติหรือปาฏิหาริย์ ภายใต้กฏการทดสอบทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถตกลงกันได้ โครงการรูปแบบเดียวกันเริ่มขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2507 และตั้งแต่นั้นมา มีคนเกินกว่าพันที่ได้สมัครเพื่อชิงรางวัล แต่ยังไม่มีใครชนะรางวัล

ประวัติ[แก้]

นักมายากลและนักแฉเรื่องหลอกลวง นายเจมส์ แรนดี้ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิการศึกษาเจมส์แรนดี้

นักมายากลและนักแฉเรื่องหลอกลวง นายเจมส์ แรนดี้ ได้เกิดไอเดียนี้ขึ้น เมื่อเขาร่วมอยู่ในการสนทนาทางวิทยุที่นักปรจิตวิทยา (ผู้ศึกษาปรากฏการณ์ทางจิตที่อธิบายไม่ได้) ท้าให้เขาเดิมพันสิ่งที่เขาพูด[1] ดังนั้นในปี พ.ศ. 2507 เขาจึงได้เริ่มเงินรางวัลหนึ่งพันดอลลาร์สหรัฐ (เท่ากับเงินประมาณ 274,136 บาทในปัจจุบัน) และต่อจากนั้นจึงเพิ่มเป็นหมื่นดอลลาร์ ต่อมาบริษัทกระจายเสียงเล็กซิงตันต้องการให้เขาทำรายการโชว์ชื่อว่า $100,000 Psychic Prize (รางวัลผู้มีอำนาจทางจิตวิญญาณหนึ่งแสนเหรียญสหรัฐ) ดังนั้น บริษัทจึงเพิ่มให้อีกเก้าหมื่นเหรียญเพิ่มเงินทุนเริ่มต้นที่ได้ ในที่สุดในปี 2539 เพื่อนของเขาคือนายริก อะดัมส์ ผู้เป็นนักบุกเบิกอินเทอร์เน็ต ได้บริจาคเงินหนึ่งล้านเหรียญสหรัฐเพื่อใช้เป็นรางวัล[2]

โดยวันที่ 1 เมษายน 2550 ผู้ที่มีชื่อเสียงทางสื่อและการรับรองจากนักวิชาการเท่านั้น ที่จะสามารถสมัครชิงรางวัลได้ ข้อแม้นี้มีเพื่อจะไม่ต้องทดสอบคนสมัครที่ไม่มีชื่อเสียงหรือเป็นโรคจิต แล้วให้เวลากับพวกนักจิตวิญญาณและผู้อ้างว่ามีอำนาจเหนือธรรมชาติที่มีชื่อเสียง โดยเผยแพร่เรื่องทางสื่อ[3]

ในวันที่ 4 มกราคม 2551 มีการประกาศว่าจะมีการยกเลิกรางวัลในวันที่ 6 มีนาคม 2553 เพื่อที่จะใช้เงินรางวัลทำอย่างอื่น แต่ก่อนที่จะยกเลิก คนที่ต้องการก็สามารถสมัครชิงรางวัลนั้นได้ เหตุผลที่ให้ในการยกเลิกก็คือผู้อ้างอำนาจเหนือธรรมชาติที่มีชื่อเสียงไม่เต็มใจที่จะสมัครชิงรางวัล[4] ต่อมา ในงานประชุมจอมมหัศจรรย์ (The Amazing Meeting) ครั้งที่ 7 จึงมีการประกาศว่า จะไม่ยกเลิกรางวัล และในวันที่ 30 กรกฎาคม 2552 มูลนิธิจึงได้ปรับข้อมูลเว็บไซต์อย่างเป็นทางการประกาศว่า รางวัลจะดำเนินต่อไป และกล่าวว่า จะให้ข้อมูลในภายหลังเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงของกฎระเบียบและวิธีการ[5]

โดยทำเป็นการเล่นตลกในวันที่ 1 เมษายน 2551 (วันเมษาหน้าโง่) นายแรนดี้แกล้งให้รางวัลกับนักมายากลอีกคนหนึ่งหลังจากที่ทดสอบ "ความสามารถทางจิตวิญญาณ" ของเขา[6]

ต่อมาวันที่ 8 มีนาคม 2554 มูลนิธิประกาศว่า มีการเปลี่ยนคุณสมบัติในการสมัครเพื่อให้มีผู้สมัครชิงรางวัลได้มากขึ้น ก่อนหน้านี้ ผู้สมัครต้องส่งเรื่องที่เผยแพร่ในสื่อมวลชน และจดหมายจากสถาบันวิชาการเพื่อที่จะสมัครชิงรางวัล แต่กฏใหม่ให้ผู้สมัครส่งเรื่องที่เผยแพร่ในสื่อมวลชน หรือจดหมายจากสถาบันวิชาการ หรือวิดีโอสาธารณะที่แสดงความสามารถของตน มูลนิธิอธิบายว่า กฎใหม่จะทำให้ผู้ไม่มีหลักฐานทางสื่อมวลชนหรือจากสถาบันวิชาการสามารถสมัครได้ และมูลนิธิก็จะสามารถใช้วิดีโอออนไลน์และบริการเครือข่ายสังคมเพื่อจะเข้าถึงคนเป็นจำนวนเพิ่มขึ้นได้[7]

ตั้งแต่ตั้งรางวัลนี้ในปี 2507 มีผู้สมัครชิงรางวัลแล้วประมาณพันคน แต่ยังไม่มีใครได้รางวัล[1] นายแรนดี้แจ้งว่า ผู้สมัครที่ล้มเหลวเพียงไม่กี่คนเท่านั้น ที่ได้พิจารณาตนเองอย่างจริงจังว่า การทำไม่สำเร็จอาจเป็นเพราะตนไม่มีอำนาจตามที่เชื่อว่ามี[8]

กฎและการตัดสิน[แก้]

ผู้สมัครที่อ้างว่า แถบข้อมือจะสามารถช่วยความสมดุลได้ ในภาพนี้นายเจมส์ อันเดอร์ดาวน์ (แสดงหลังให้กล้อง) แสดงความสมดุลเพื่อการทดสอบเบื้องต้นในการชิงรางวัลที่งานประชุมจอมมหัศจรรย์ปี 2555

กฏทางการของรางวัลกำหนดว่า ผู้สมัครต้องตกลงเป็นลายลักษณ์อักษร เรื่องสภาวะและกฎเกณฑ์ในการทดสอบ ผู้สมัครที่ไม่สามารถทดสอบได้ในสภาวะการทดลองจะสมัครชิงรางวัลไม่ได้ ผู้สมัครสามารถต่อรองเรื่องการทดสอบและเรื่องผู้เข้าร่วมการทดสอบ เมื่อสมัครชิงรางวัลและในช่วงการต่อรองในระยะต้น ๆ แต่วิธีการที่อาจเกิดอันตรายสาหัสหรือเสี่ยงตาย จะใช้สมัครเพื่อทดสอบไม่ได้

เพื่อให้แน่ใจว่า สภาวะการทดลองจะไม่มีผลลบต่อความสามารถของผู้สมัคร จะมีการทดสอบเบื้องต้นแบบไม่อำพราง (ดู การทดลองแบบอำพราง) เพื่อเป็นตัวควบคุม ยกตัวอย่างเช่น ในการทำนายหาวัตถุ (dowsing) มูลนิธิทำการทดลองตัวควบคุม โดยให้คนทำนายพยายามหาวัตถุเป้าหมายโดยใช้อำนาจ โดยเปิดเผยให้รู้ว่าวัตถุเป้าหมายอยู่ที่ไหน การไม่สามารถทำนายได้ 100% ในช่วงการทดสอบแบบเปิด จะมีผลให้ผู้ทำนายหมดสิทธิชิงรางวัลทันที แต่โดยปกติแล้ว ผู้สมัครจะสามารถทำงานได้สำเร็จในการทดสอบแบบเปิดนี้ เป็นการยืนยันว่า สภาวะทางการทดลองใช้ได้

ผู้ชิงรางวัลจะต้องตกลงว่าอะไรเป็นบรรทัดฐานการกระทำว่าสำเร็จ ที่สามารถเห็นได้อย่างชัดเจนก่อนการทดสอบ ผลการทดสอบที่ได้ต้องชัดเจนว่า เข้ากับบรรทัดฐานได้หรือไม่ นายแรนดี้กล่าวว่า เขาไม่จำเป็นจะต้องอยู่ในการทดลองด้วย และยินดีที่จะไปจากสถานที่ทดลองเพื่อป้องกันความรู้สึกว่า อคติต่อต้านเรื่องเหนือธรรมชาติของเขาจะมีอิทธิพลต่อผลการทดลอง[9]

ช่วงหนึ่ง เรื่องที่สนทนากันระหว่างมูลนิธิกับผู้สมัครจะปรากฏในเว็บบอร์ดให้ทุกคนสามารถเห็นได้ แต่ต่อมาตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงต่อกฏที่บังคับให้ผู้สมัครต้องมีชื่อเสียงในระดับหนึ่ง บทสนทนากับผู้สมัครใหม่ ๆ ก็ไม่ปรากฏในเว็บบอร์ดอีกต่อไป แต่ว่ามูลนิธิก็ยังคงดำรงรักษาเรื่องสนทนาของผู้สมัครก่อน ๆ อยู่[10]

ตัวอย่างการทดสอบ[แก้]

ในปี 2522 นายแรนดี้ทดสอบบุคคลสี่คนในประเทศอิตาลีเรื่องการทำนายหาน้ำ (dowsing) รางวัลในตอนนั้นมีมูลค่าหนึ่งหมื่นดอลลาร์สหรัฐ สภาพการทดสอบก็คือจะใช้พื้นที่จตุรัสขนาด 10 ม. x 10 ม. มีแหล่งน้ำและที่กักน้ำ อยู่ภายนอกติดกับเขตที่ใช้ทดสอบ มีท่อพลาสติก 3 ท่อวิ่งผ่านใต้ดินจากแหล่งน้ำไปยังที่กักน้ำตามท่อที่อำพรางไว้ ท่อแต่ละท่อจะวิ่งผ่านเขตทดสอบโดยเข้ามาในเขตจากริมขอบและจะออกจากเขตที่ริมขอบ ท่อท่อหนึ่งจะไม่วิ่งตัดข้ามตนเอง แต่อาจจะวิ่งตัดข้ามท่ออื่น ๆ ท่อมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 3 ซม. และฝังไว้ครึ่งเมตรใต้ดิน มีลิ้นปิดน้ำเพื่อใช้เลือกว่าน้ำจะวิ่งผ่านท่อไหน และจะมีท่อท่อเดียว (จาก 3 ท่อ) ที่มีน้ำวิ่งผ่าน อัตราน้ำวิ่งไหลผ่านท่อจะเป็นอย่างน้อย 5 ลิตร/วินาที ผู้ทำนายจะต้องตรวจสอบเขตทดสอบล่วงหน้า เพื่อดูว่ามีน้ำธรรมชาติหรืออะไรอย่างอื่นที่เป็นตัวกวนการทดสอบหรือไม่ และจะมีการจดบันทึกเขตเหล่านั้นไว้ นอกจากนั้นแล้ว ผู้ทำนายต้องแสดงให้เห็นว่า อำนาจการทำนายใช้ได้กับท่อที่ยังไม่ได้ฝังเมื่อน้ำวิ่งไหลผ่าน ต่อจากนั้น ก็จะปล่อยให้น้ำวิ่งไหลผ่านท่อใดท่อหนึ่งโดยสุ่มในการทดสอบแต่ละครั้ง ผู้ทำนายจะต้องฝังสลักตั้งแต่ 10 ถึง 100 อันบนดินตามทางที่น้ำวิ่งไหลผ่าน สลัก 2 ใน 3 ที่ฝังต้องอยู่ไม่เกิน 10 ซม. จากศูนย์กลางของท่อที่น้ำไหลผ่าน เพื่อที่จะกำหนดว่า เป็นการทดลองที่สำเร็จ จะมีการทดสอบ 3 ครั้งสำหรับผู้ทำนายแต่ละคน และผู้ทำนายต้องผ่านการทดลอง 2 ครั้งจาก 3 ครั้ง จึงจะเรียกว่าผ่าน มีทนายคนหนึ่งอยู่ด้วย ผู้ถือเช็คเบิกเงินของแรนดี้ไว้ ถ้าผู้ทดสอบผ่านการทดสอบ ทนายจะให้เช็คนั้นกับผู้ทดสอบ ถ้าไม่มีใครผ่านการทดสอบ ทนายจะคืนเช็คให้กับนายแรนดี้

ผู้ทำนายทั้ง 4 คนยินยอมต่อสภาวะการทดสอบ และได้กล่าวว่า ตนรู้สึกว่าสามารถจะทำการทดสอบได้ในวันนั้นและอัตราการวิ่งของน้ำก็ใช้ได้ ก่อนการทดสอบ มีการถามว่ารู้สึกมั่นใจแค่ไหนว่าจะผ่านการทดสอบ ทั้งหมดล้วนแต่กล่าวว่า มั่นใจ 99% หรือ 100% มีการถามอีกด้วยว่า จะสรุปว่าอย่างไรถ้ามีน้ำที่ไหลหักศอกคือ 90 องศาจากทางที่ตนคิดว่าน้ำวิ่งผ่าน ทั้งหมดล้วนแต่ตอบว่าเป็นไปไม่ได้ หลังจากที่ทำการทดสอบแล้วแต่ยังไม่เฉลย มีการถามว่ามั่นใจแค่ไหนว่าผ่านการทดสอบ สามคนตอบว่า 100% และอีกคนหนึ่งบอกว่า ยังทำไม่เสร็จ

เมื่อทำการทดสอบเสร็จและเปิดเผยทางวิ่งของน้ำแล้ว ก็ปรากฏกว่าไม่มีใครที่ผ่านการทดสอบ มี ดร. ผู้ทำนายคนหนึ่งที่ฝังสลักของตนอย่างระมัดระวัง แต่สลักที่ใกล้ที่สุดอยู่ห่างออกไป 8 ฟุตจากท่อน้ำ แม้ว่าจะกล่าวว่า "เราแพ้" แต่ภายในสองนาที ก็กลับไปโทษเรื่องอื่นเช่นจุดดวงอาทิตย์ (sunspot) และสภาวะของแม่เหล็กโลก มีผู้ทำนายสองคนที่พบน้ำธรรมชาติก่อนการทดสอบ แต่เห็นต่างกันว่าอยู่ที่ไหน และก็ไม่เห็นด้วยกับผู้ที่ไม่พบน้ำธรรมชาติ[11]

ข้อวิจารณ์[แก้]

นักดาราศาสตร์ เด็นนิส รอว์ลินส์ อดีตผู้ร่วมองค์กรแฉวิทยาศาสตร์เทียม Committee for Skeptical Inquiry (CSI) กับนายแรนดี้ วิจารณ์ว่า รางวัลนี้ไม่มีความจริงใจ เพราะว่านายแรนดี้จะหาทางไม่ต้องจ่ายรางวัล ในนิตยสารเรื่องเหนือธรรมชาติ Fate (โชคชะตา) เดือนตุลาคม 2524 นายรอว์ลินส์อ้างนายแรนดี้ว่ากล่าวว่า "ผมมีทางออกเสมอ"[12] ซึ่งต่อมานายแรนดี้จึงกล่าวว่า นายรอว์ลินส์ไม่ได้อ้างทั้งคำพูด ซึ่งจริง ๆ ก็คือ "เกี่ยวกับรางวัลที่ว่านี้ ผมมีทางออกเสมอ เพราะว่าผมถูก (คือรู้ว่าอะไรเป็นอะไร)"[13] แล้วกล่าวว่า คำว่า "ผมมีทางออกเสมอ" กล่าวถึงความจริงที่ว่า เขาไม่ยอมให้ผู้รับการทดสอบโกงได้ และว่าถ้ามีปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติจริง ๆ และมีคนที่สามารถแสดงได้ เขาก็จะให้รางวัลหนึ่งล้านดอลลาร์นั้นจริง ๆ[ต้องการอ้างอิง]

มีสื่อจิตวิญญาณผู้หนึ่ง (คือนางโรสแมรี่ อัลเทีย) ได้เสนอว่า รางวัลหนึ่งล้านดอลลาร์จริง ๆ ไม่มี หรือว่าอยู่ในรูปแบบของสัญญาผูกมัดตามกฎหมายหรือตั๋วสัญญาใช้เงินเท่านั้น[14] แต่มูลนิธิกล่าวว่า รางวัลอยู่ในรูปแบบของพันธบัตรที่เปลี่ยนมือได้ฝากไว้ในบัญชีรางวัลของมูลนิธิ และการตรวจสอบทั้งบัญชีทั้งมูลค่ารางวัลสามารถทำได้ตามที่ขอ ซึ่งฝากไว้กับบริษัทการลงทุน Evercore[15]

การท้าทาย/การชิงรางวัล[แก้]

ผู้ไม่ยอมรับการทดสอบ[แก้]

ในรายการ Larry King Live (รายการสดของนายแลร์รี คิง) วันที่ 6 มีนาคม 2544 นายแลร์รี คิง ขอสื่อวิญญาณและผู้มีอำนาจเหนือธรรมชาติซิลเวีย บราวน์ ให้เข้าชิงรางวัล ซึ่งเธอก็ได้ตกลง[16] ต่อมานายแรนดี้ออกรายการเดียวกันกับนางบราวน์เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2544 และเธอก็ตกลงที่จะเข้าชิงรางวัลอีก[17] แต่ว่า ต่อมาเธอปฏิเสธที่จะรับการทดสอบ ดังนั้น ในแรนดี้จึงแสดงนาฬิกาบนทเว็บไซต์ของเขาแสดงจำนวนอาทิตย์ที่ผ่านไปแล้วที่ซิลเวียรับที่จะเข้าชิงรางวัลแต่ไม่ทำจริง ๆ ในที่สุด นาฬิกานี้เปลี่ยนไปเป็นข้อความว่า "เวลาเกินกว่า 5 ปี" ได้ผ่านไปแล้ว[18] ในปี 2556 นางบราวน์ถึงแก่ชีวิต

ในรายการเดียวกันวันที่ 26 มกราคม 2550 นายแรนดี้ท้าให้สื่อจิตวิญญาณนางโรสแมรี่ อัลเทีย ให้เข้าชิงรางวัล เพราะว่า ก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2544 ที่นายแรนดี้พบกับนางอัลเทียในรายการเดียวกัน เธอได้ปฏิเสธที่จะเข้าชิงรางวัล โดยบอกว่ารางวัลมีเล่ห์เหลี่ยม และตอบเป็นข้อความส่วนหนึ่งว่า "ดิฉันเห็นด้วยกับสิ่งที่เขาพูด ว่ามีคนหลายคนที่อ้างว่าเป็นสื่อจิตวิญญาณ คือสามารถคุยกับคนตายได้ มีหลายคนมาก เราล้วนแต่รู้เรื่องนี้ดี คือมีพวกคนโกงและคนหลอกลวงทุกแห่งหน" นายแรนดี้ตอบเธอว่า "คุณเป็นคนคนหนึ่งในพวกนั้น"[19]

ในรายการ This Morning (เช้านี้) วันที่ 27 กันยายน 2554 นักมายากลพอล เซนอนได้ท้าผู้มีอำนาจเหนือธรรมชาติเลห์ แคเธอริน แซลเวย์ ให้เข้าชิงรางวัล ซึ่งเธอก็ได้ตกลง ผู้จัดรายการกล่าวว่า รายการจะจ่ายค่าเครื่องบินไปสหรัฐให้เพื่อการทดสอบ[20] แซลเวย์ต่อมาถอนตัวจากการชิงรางวัล โดยอธิบายทางทวิตเตอร์ว่า "ดังที่คาดหวัง มีเล่ห์เหลี่ยมทางกฎหมาย และทำให้เป็นไปไม่ได้ที่จะผ่าน"[21]

ผู้สมัครที่ถูกปฏิเสธ[แก้]

นายแรนดี้เคยปฏิเสธการสมัครจากนายริโก้ โคล็อดซี่ ผู้ที่อ้างว่าได้อดอาหารมาตั้งแต่ปี 2541 ในปี 2549 นายแรนดี้ตกลงที่จะทดสอบนายโคล็อดซี่ แต่ว่า ทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงเรื่องสถานที่ทดสอบและวิธีการทดสอบได้[22]

กลุ่มคนอินโดนีเซียกลุ่มหนึ่งจากจังหวัดบาหลีที่เรียกตนว่า Yellow Bamboo (ไม้ไผ่เหลือง) อ้างว่าสมาชิกของตนคนหนึ่งคือนาย Pak Nyoman Serengen สามารถล้มคู่ต่อสู้จากระยะไกล ๆ ได้โดยใช้เพียงแค่ไม้ไผ่สีเหลืองชิ้นหนึ่ง คลิปวิดีโอบนเว็บไซต์ของกลุ่มแสดงหมู่นักเรียนวิ่งเขาหานาย Serengen แล้วล้มลงที่พื้นเมื่อ (หรือ ในบางครั้ง ก่อน) นาย Serengen ยื่นมือออก แล้วตะโกน มูลนิธิจัดให้อาสาสมัครทำการตรวจสอบในเบื้องต้น แต่หลังจากที่กลุ่มไม้ไผ่เหลือง "คอยสร้างอุปสรรคทุกอย่างในการดำเนินแผนนั้น" นายแรนดี้จึงประกาศว่า เขาจะไม่ยุ่งกับกลุ่มนั้นอีก[23] มีคนในพื้นที่อีกคนหนึ่งที่ติดต่อนายแรนดี้เพื่ออาสาสมัครเข้าไปตรวจสอบอย่างไม่เป็นทางการ แล้วออกวิดีโอความละเอียดต่ำที่แสดงคนที่ตรวจสอบล้มไปที่พื้นเมื่อทำการทดสอบในเบื้องต้น ส่วนมูลนิธิได้ชี้ว่า การทดสอบไม่ได้ทำตามแบบที่วางไว้ และมีปัญหาในการทดสอบหลายอย่างรวมทั้งการทำในเวลากลางคืน[23] หลังจากที่ดูภาพนิ่งจากเหตุการณ์นั้น คนที่มีประสบการณ์หลายคนเสนอว่า อาจจะเป็นการใช้อาวุธช็อคด้วยไฟฟ้า[24]

การทดสอบที่งานประชุมจอมมหัศจรรย์[แก้]

ในเดือนกรกฎาคม 2557 มีการทดสอบพนักงานขายชาวจีนนายหวังเฟย ต่อหน้าผู้ชม 600 คนหลังงานประชุมจอมมหัศจรรย์ (The Amazing Meeting) ในเมืองลาสเวกัส นายหวังอ้างว่า จากมือขวาของเขา เขาสามารถส่งพลังงานลี้ลับเป็นระยะทาง 3 ฟุต ไม่ว่าจะมีไม้ โลหะ พลาสติก หรือกระดาษแข็งกั้นอยู่หรือไม่ ว่าพลังงานนี้คนอื่นสามารถรู้สึกได้โดยเป็นความร้อน ความดัน พลังแม่เหล็ก หรือว่า "เป็นความเปลี่ยนแปลงแบบพูดไม่ถูก" มีคน 9 คนที่นายหวังเลือกเพื่อรับพลังจากมือของเขา แต่ละคนจะมีการปิดตาบนเวที และนายหวังและบุคคลควบคุม (ดูการทดลองมีกลุ่มควบคุม) อีกคนหนึ่งจะอยู่หลังม่าน มีการทอดลูกเต๋า เป็นตัวบอกให้นายหวังหรือบุคคลควบคุม พยายามส่งพลังไปที่มือของคนรับการทดสอบที่มีมือซ่อนอยู่ในกล่องกระดาษแข็ง ซึ่งต่อมาจะเอาที่บังตาออก แล้วบอกว่า รู้สึกพลังอะไรหรือไม่ แล้วมาจากคนไหนระหว่างคนที่ 1 และ 2 จะต้องมีการเลือกนายหวังอย่างถูกต้อง 8 ใน 9 ครั้งเพื่อที่จะได้รางวัล หลังจากการทดลองเพียงแค่ 2 ครั้งที่นายหวังล้วนล้มเหลว การชิงรางวัลครั้งนี้ก็สิ้นสุดลง นายหวังกล่าวว่า ตนจะลองอีกปีต่อไป โดยกล่าวว่า "พลังงานนี้ลึกลับ"[25]

ต่อมานักเล่นเครื่องเสียงลี ฮัตชินสันติดต่อมูลนิธิหลังจากที่เขาเขียนบทความให้เว็บไซต์ข่าว Ars Technica เกี่ยวกับสายอีเทอร์เน็ตที่โฆษณาว่า "ช่วยป้องกันสัญญาณเสียงของคุณให้ปราศจากตัวกวนทางแม่เหล็กไฟฟ้า" ในงานประชุมจอมมหัศจรรย์ปี 2558 โครงการจัดการทดลองแบบอำพรางสองด้าน โดยให้อาสาสมัครฟังเสียงเหมือนกันสองอย่าง โดยที่ใช้เคเบิลธรรมดา หรือเคเบิลที่โฆษณา ที่เลือกโดยสุ่ม หลังจากที่อาสาสมัคร 7 คน (คนหนึ่งถูก คนหนึ่งผิด 5 คนไม่ได้ยินความแตกต่าง) การทดสอบก็สิ้นสุดลงเพราะไม่สามารเลือกเคเบิลที่ดีกว่าเป็นจำนวนครั้งที่กำหนดโดยกฏการดำเนินการได้[26][27]

ปี ผู้ชิงรางวัล ความสามารถที่อ้าง การทดสอบ ผล หมายเหตุ
2552 คอนนี่ ซอนเน ทำนายหาไพ่โดย dowsing แบบใช้ลูกตุ้มแกว่ง กำหนดหาไพ่ในซองจดหมายผนึกปิด แพ้
2553 อะนีตา ไอโคเน็น ทำนายหาไต กำหนดว่าผู้รับการทดสอบจำนวน 5 คนใครไม่มีไตข้างหนึ่ง แพ้ โฆษณาว่าเป็น "การแสดง" ไม่ใช่ "การทดสอบ"
2554 ไม่มีผู้สมัคร
2555 แอนดรูว์ นีเดิลส์ แถบข้อมือช่วยความสมดุล แยกแยะผู้ร่วมทดสอบที่ใส่แถบข้อมือผลิตภัณฑ์ตามจำนวนที่กำหนด แพ้ ผู้ชิงรางวัลล้มแลิกการทดสอบกลางคัน
2556 เบรฮิม อัดดูน ตาทิพย์ กำหนดวัตถุ 3 อย่างจาก 20 อย่างจากที่ไกล แพ้
2557 หวังเฟย สามารถส่งพลังจากมือไปให้คนอื่นรู้สึกได้ รู้สึกถึงพลังไฟฟ้าที่ส่งไปที่มืออย่างถูกต้อง 8 จาก 9 ครั้ง แพ้
2558 ไม่มีผู้สมัคร มีแต่ "การแสดง" เคเบิลอีเทอร์เน็ตที่โฆษณาว่าส่งสัญญาณตามทิศทางที่กำหนดเท่านั้น ให้อาสาสมัครฟังเสียงสองครั้งแล้วกำหนดว่า เคเบิลอันไหนมีคุณภาพเสียงที่ดีกว่า แพ้

ดูเพิ่ม[แก้]

เชิงอรรถและอ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 "JREF Challenge FAQ". James Randi Educational Foundation. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-12-12. สืบค้นเมื่อ 2012-12-18.
  2. "The Demystifying Adventures of the Amazing Randi". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ October 11, 2012. สืบค้นเมื่อ September 5, 2009.SF Weekly, August 24, 2009, online version, p. 2: "One of his friends, Internet pioneer Rick Adams, put up $1 million in 1996."
  3. Poulsen, Kevin (2007-01-12). "Skeptic Revamps $1M Psychic Prize". Wired. สืบค้นเมื่อ 2007-01-14.
  4. "SWIFT Newsletter January 4, 2008". Randi.org. 2008-01-04. สืบค้นเมื่อ 2014-06-12.
  5. "Million Dollar Challenge Update: It's not ending!". สืบค้นเมื่อ 2009-07-30. Announcement by Director Phil Plait on July 29, 2009
  6. Raphael, Seth (2008-04-01). "Seth Raphael claims Randi's Million Dollar Challenge". สืบค้นเมื่อ 2013-04-11.
  7. "JREF's $1,000,000 Paranormal Challenge Now Easier Than Ever". James Randi Education Foundation. 2011-03-09.
  8. "James Randi interview on Penn Radio, 2007-02-08". Pennfans.net. 2007-02-08. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-07-05. สืบค้นเมื่อ 2009-06-15.
  9. "Challenge Info". JREF. สืบค้นเมื่อ 2013-04-10.
  10. "JREF logs of challenge applicants". Forums.randi.org. สืบค้นเมื่อ 2013-04-10.
  11. Randi, James (1982). Flim-Flam!. Prometheus Books. pp. 307–324. ISBN 978-0879751982.
  12. Rawlins, Dennis (October 1981). "sTARBABY". Fate (34). Reprinted in "sTARBABY". Centre Universitaire de Recherche en Astrologie (The International Astrology Research Center). สืบค้นเมื่อ 2006-09-09.
  13. Swift newsletter, vol. 2 no. 2, 1998 (p. 3)
  14. "Interview with Larry Birkhead". Larry King Live, CNN. 2007-01-26.
  15. "Million Dollar Challenge financial statement" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2014-03-30. สืบค้นเมื่อ 2014-06-12.
  16. "Are Psychics for Real?". Larry King Live, CNN. 2001-03-06. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-01-12. สืบค้นเมื่อ 2016-01-22.
  17. King, Larry (2001-09-03). "Are Psychics Real?". CNN/arry King Live. สืบค้นเมื่อ 2006-08-18.
  18. "The Sylvia Browne Clock". Randi.org. สืบค้นเมื่อ 2010-05-13.
  19. "Spiritual Medium Versus Paranormal Skeptic". Rosemary Altea versus James Randi on Larry King Live. CNN. สืบค้นเมื่อ 2001-06-05.
  20. "Good Morning TV Clip".
  21. Catherine, Leigh. "Twitter Account".
  22. Marcus Rosenlund. "En hederlig lögnare". yle.fi.
  23. 23.0 23.1 "Rejection of Yellow Bamboo's claim". Randi.org. 2003-10-03. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-04-23. สืบค้นเมื่อ 2009-06-15.
  24. "Yellow Bamboo may have used a stun gun to achieve his results". Randi.org. 2003-10-17. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-06-16. สืบค้นเมื่อ 2009-06-15.
  25. Higginbotham, Adam. "The Unbelievable Skepticism of the Amazing Randi". New York Times Magazine. สืบค้นเมื่อ 2014-11-10.
  26. Hutchinson, Lee. "STAFF / FROM THE MINDS OF ARS To the audiophile, this $10,000 Ethernet cable apparently makes sense In reality, one-way silver cable does nothing but make "audiophools" poorer". Ars Technica. สืบค้นเมื่อ 2015-07-25.
  27. "The audiophile's dilemma: strangers can't identify $340 cables, either". สืบค้นเมื่อ 2015-07-31.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]