ไข้ลาสซา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Lassa fever)
ไข้ลาสซา
ชื่ออื่นไข้เลือดออกลาสซา
สื่อการศึกษาชุมชนสำหรับโรคไข้ลาสซา
สาขาวิชาโรคติดเชื้อ
อาการไข้, ปวดศีรษะ, เลือดออก[1]
ภาวะแทรกซ้อนสูญเสียการได้ยินบางส่วนหรือทั้งหมด เป็นเวลาชั่วคราวหรือถาวร[1]
การตั้งต้น1–3 สัปดาห์หลังติดเชื้อ[1]
สาเหตุไวรัสลาสซา[1]
ปัจจัยเสี่ยงสัมผัสกับสัตว์ฟันแทะในแอฟริกาตะวันตก[1]
วิธีวินิจฉัยการตรวจทางห้องปฏิบัติการ[1]
โรคอื่นที่คล้ายกันโรคไวรัสอีโบลา, มาลาเรีย, ไข้รากสาดน้อย[1]
การรักษาการดูแลประคับประคอง[1]
พยากรณ์โรค~1% เสี่ยงต่อการเสียชีวิต (โดยรวม)[1]
ความชุก400,000 รายต่อปี[2]
การเสียชีวิต5,000 รายต่อปี[2]

ไข้ลาสซา (อังกฤษ: Lassa fever) หรือ ไข้เลือดออกลาสซา (Lassa hemorrhagic fever, LHF) เป็นชนิดของไข้เลือดออกจากไวรัสที่เกิดจากไวรัสลาสซา ไวรัสในวงศ์ Arenaviridae[1] ผู้ติดเชื้อไวรัสจำนวนมากไม่แสดงอาการ[1] เมื่อแสดงอาการ ผู้ป่วยมักมีไข้ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ อาเจียน และปวดกล้ามเนื้อ[1] อาการที่พบได้น้อยกว่าปกติรวมถึงมีเลือดออกในปากและทางเดินอาหาร[1] ความเสี่ยงในการเสียชีวิตหลังติดเชื้ออยู่ที่ประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์ และมักเกิดขึ้นภายในสองสัปดาห์เมื่อเริ่มมีอาการ[1] ผู้ป่วยที่หายดีประมาณ 1 ใน 4 มีภาวะสูญเสียการได้ยิน ซึ่งประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยกลุ่มนี้มีอาการดีขึ้นภายในสามเดือน[1]

ผู้ป่วยไข้ลาสซาจะแสดงอาการในช่วง 7 ถึง 21 วันหลังติดเชื้อ[3] โดยร้อยละ 80 ของผู้ติดเชื้อจะไม่แสดงอาการหรือแสดงอาการน้อย[3][4] อาการที่ไม่รุนแรงประกอบด้วยไข้, เหนื่อยหอบ, อ่อนแรง และปวดศีรษะ[3]

โดยปกติไข้ลาสซาเริ่มติดต่อสู่คนผ่านทางการสัมผัสปัสสาวะหรืออุจจาระของ Natal multimammate mouse (Mastomys natalensis) สัตว์ฟันแทะจำพวกหนูที่ติดเชื้อ[1] หลังจากนั้นเชื้อสามารถติดต่อจากคนสู่คนได้โดยตรง[1] การวินิจฉัยจากการสอบถามอาการทำได้ยาก การยืนยันโรคใช้วิธีตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อหาอาร์เอ็นเอของไวรัส แอนติบอดีสำหรับไวรัส หรือตัวไวรัสเองในการเพาะเลี้ยงเซลล์[1] สาเหตุที่การวินิจฉัยเป็นไปได้ยากเนื่องจากอาการของไข้ลาสซาคล้ายกับโรคอื่น เช่น โรคไวรัสอีโบลา มาลาเรีย ไข้รากสาดน้อย และไข้เหลือง[1]

ยังไม่มีวัคซีนสำหรับรักษาไข้ลาสซา[5] การป้องกันโรคใช้การแยกผู้ติดเชื้อและลดการสัมผัสกับหนู[1] ความพยายามอื่น ๆ ในการควบคุมการแพร่กระจายของโรครวมถึงการใช้แมวจับหนู และการเก็บอาหารในภาชนะปิดสนิท[1] การรักษามุ่งไปที่ภาวะขาดน้ำและการรักษาตามอาการ[1] มีการแนะนำยาต้านไวรัสไรบาวิรินในการรักษา[1] แต่หลักฐานที่สนับสนุนการใช้ยานี้ยังไม่ชัดเจน[6]

มีการบรรยายถึงไข้ลาสซาเป็นครั้งแรกช่วงคริสต์ทศวรรษ 1950[1] และมีการระบุไวรัสที่ก่อโรคในปี ค.ศ. 1969 จากรายงานผู้ป่วยในเมืองลาสซา รัฐบอร์โน ประเทศไนจีเรีย[1][7] ไข้ลาสซาเป็นโรคที่พบได้ทั่วไปในประเทศแถบแอฟริกาตะวันตก เช่น ไนจีเรีย ไลบีเรีย เซียร์ราลีโอน กินี และกานา[1][2] มีรายงานผู้ป่วย 300,000–500,000 ราย และเสียชีวิต 5,000 รายต่อปี[2][8]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.00 1.01 1.02 1.03 1.04 1.05 1.06 1.07 1.08 1.09 1.10 1.11 1.12 1.13 1.14 1.15 1.16 1.17 1.18 1.19 1.20 1.21 1.22 1.23 1.24 1.25 "Lassa fever". WHO. March 2016. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 1 November 2016. สืบค้นเมื่อ 2 November 2016.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 Ogbu O, Ajuluchukwu E, Uneke CJ (2007). "Lassa fever in West African sub-region: an overview". Journal of Vector Borne Diseases. 44 (1): 1–11. PMID 17378212. Lassa fever is endemic in West Africa.
  3. 3.0 3.1 3.2 "Signs and Symptoms | Lassa Fever | CDC". www.cdc.gov (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 6 March 2019. สืบค้นเมื่อ 18 June 2019.
  4. Greenky D, Knust B, Dziuban EJ (May 2018). "What Pediatricians Should Know About Lassa Virus". JAMA Pediatrics. 172 (5): 407–408. doi:10.1001/jamapediatrics.2017.5223. PMC 5970952. PMID 29507948.
  5. Yun, N. E.; Walker, D. H. (2012). "Pathogenesis of Lassa Fever". Viruses. 4 (12): 2031–2048. doi:10.3390/v4102031. PMC 3497040. PMID 23202452.
  6. Eberhardt, KA; Mischlinger, J; Jordan, S; Groger, M; Günther, S; Ramharter, M (October 2019). "Ribavirin for the treatment of Lassa fever: A systematic review and meta-analysis". International Journal of Infectious Diseases. 87: 15–20. doi:10.1016/j.ijid.2019.07.015. PMID 31357056.
  7. Frame JD, Baldwin JM, Gocke DJ, Troup JM (1 July 1970). "Lassa fever, a new virus disease of man from West Africa. I. Clinical description and pathological findings". Am. J. Trop. Med. Hyg. 19 (4): 670–6. doi:10.4269/ajtmh.1970.19.670. PMID 4246571.
  8. Houlihan, Catherine; Behrens, Ron (12 July 2017). "Lassa fever". BMJ. 358: j2986. doi:10.1136/bmj.j2986. PMID 28701331. S2CID 206916006.