ไข้เลือดออกไครเมีย–คองโก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ไข้เลือดออกไครเมีย–คองโก
ผู้ป่วยไข้เลือดออกไครเมีย–คองโกในปี ค.ศ. 1969
สาขาวิชาโรคติดเชื้อ
อาการไข้, ปวดกล้ามเนื้อ, ปวดศีรษะ, อาเจียน, ท้องร่วง, เลือดออกในผิวหนัง[1]
ภาวะแทรกซ้อนตับวาย[1]
การตั้งต้นรวดเร็ว[1]
ระยะดำเนินโรคสองสัปดาห์[1]
วิธีวินิจฉัยการตรวจสารภูมิต้านทาน, อาร์เอ็นเอของไวรัส, โปรตีนของไวรัส (แอนติเจน)[1]
โรคอื่นที่คล้ายกันไข้เด็งกี, ไข้คิว,[2] โรคไวรัสอีโบลา[3]
การรักษาการรักษาตามอาการ, ไรบาวิริน[1]
พยากรณ์โรค~25% เสี่ยงต่อการเสียชีวิต[1]

ไข้เลือดออกไครเมีย–คองโก (อังกฤษ: Crimean–Congo hemorrhagic fever, CCHF) เป็นโรคติดเชื้อไวรัส[1] อาการโรค ได้แก่ ไข้ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ อาเจียน ท้องร่วงและมีจุดเลือดออก[1] ผู้ป่วยเริ่มแสดงอาการน้อยกว่า 2 สัปดาห์หลังติดเชื้อ[1] อาการแทรกซ้อนรวมถึงตับวาย[1] ผู้ป่วยที่อาการดีขึ้นมักฟื้นตัวภายใน 2 สัปดาห์หลังแสดงอาการ[1]

ไข้เลือดออกไครเมีย–คองโกเป็นไข้เลือดออกจากไวรัสชนิดหนึ่ง[1] ไวรัสก่อโรคเป็นอาร์เอ็นเอไวรัสสกุล Orthonairovirus วงศ์ Nairoviridae แพร่กระจายผ่านเห็บหรือการสัมผัสกับเลือด สารคัดหลั่งและอวัยวะของสัตว์หรือผู้ติดเชื้อ[1] นอกจากนี้ยังสามารถติดต่อจากคนสู่คนผ่านสารน้ำ[1] ระยะฟักตัวอยู่ที่ 1–3 วันหลังถูกเห็บกัดหรืออาจนานถึง 9 วัน ขณะที่หากสัมผัสเลือดหรือเนื้อเยื่อของสัตว์ที่ติดเชื้อระยะฟักตัวอยู่ที่ 5–6 วันหรืออาจนานสุด 13 วัน[4] ชาวไร่ชาวนาและผู้ทำงานในโรงฆ่าสัตว์มีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อ[1] การวินิจฉัยโรคใช้การตรวจสารภูมิต้านทาน อาร์เอ็นเอของไวรัสหรือแอนติเจน[1]

ยังไม่มีวิธีรักษาที่องค์การอนามัยโลกและองค์การอาหารและยาสหรัฐรับรอง และยังไม่มีวัคซีนจำหน่ายเชิงพาณิชย์[1] การป้องกันโรคคือลดโอกาสการถูกเห็บกัด รักษาความสะอาดในกระบวนการแปรรูปเนื้อสัตว์และปฏิบัติตามมาตรการดูแลสุขภาพสากล[1] การรักษาใช้การรักษาตามอาการ[1] มีการแนะนำการใช้ยาต้านไวรัสไรบาวิริน[1]

มีรายงานผู้ป่วยไข้เลือดออกไครเมีย–คองโกในหลายพื้นที่ เช่น แอฟริกา รัสเซีย บอลข่าน ตะวันออกกลางและเอเชีย[1] การปะทุของโรคขนาดย่อมเกิดขึ้นทั่วไปในพื้นที่ประจำถิ่นของไวรัส[1] ในปี ค.ศ. 2013 อิหร่าน รัสเซีย ตุรกีและอุซเบกิสถานรายงานผู้ป่วยโรคนี้มากกว่า 50 ราย[2] อัตราป่วยตายอยู่ที่ 10–40% แม้จะมีการพบการปะทุของโรคบางครั้งที่อัตราป่วยตายสูงถึง 80%[1] ไวรัสก่อโรคถูกพบครั้งแรกที่ไครเมียในคริสต์ทศวรรษที่ 1940 ภายหลังถูกระบุว่าเป็นชนิดเดียวกับที่ก่อโรคไข้เลือดออกคองโก[5] ในปี ค.ศ. 1973 คณะกรรมการระหว่างประเทศว่าด้วยอนุกรมวิธานของไวรัสประกาศชื่อไวรัสไข้เลือดออกไครเมีย–คองโกเป็นชื่อทางการ[6]

20 ปีที่ผ่านมา มีการปะทุของโรคไข้เลือดออกไครเมีย–คองโกในยุโรปตะวันออก โดยเฉพาะอดีตสหภาพโซเวียต เมดิเตอร์เรเนียน ตะวันตกเฉียงเหนือของจีน เอเชียกลาง ยุโรปใต้ แอฟริกา ตะวันออกกลางและอนุทวีปอินเดีย ไข้เลือดออกไครเมีย–คองโกอยู่ในบัญชีโรคลำดับต้นสำหรับวิจัยและพัฒนาขององค์การอนามัยโลก[7] และบัญชีโรคประเภท A ของสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติสหรัฐ ในฐานะโรคที่มีความเสี่ยงสูงต่อความมั่นคงแห่งชาติและสาธารณสุข[8]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.00 1.01 1.02 1.03 1.04 1.05 1.06 1.07 1.08 1.09 1.10 1.11 1.12 1.13 1.14 1.15 1.16 1.17 1.18 1.19 1.20 1.21 1.22 1.23 "Crimean-Congo Haemorrhagic Fever". World Health Organization. May 23, 2022. สืบค้นเมื่อ January 29, 2023.
  2. 2.0 2.1 Berger S (2017). Crimean-Congo Hemorrhagic Fever: Global Status: 2017 edition (ภาษาอังกฤษ). GIDEON Informatics Inc. p. 7. ISBN 9781498815567. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-09-10.
  3. "Ebola virus infection - Differentials | BMJ Best Practice". bestpractice.bmj.com. สืบค้นเมื่อ 21 May 2018.
  4. "Crimean-Congo Hemorrhagic Fever (CCHF)". กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-03-16. สืบค้นเมื่อ March 17, 2023.
  5. Magill AJ (2013). Hunter's Tropical Medicine and Emerging Infectious Disease, Expert Consult - Online and Print,9: Hunter's Tropical Medicine and Emerging Infectious Disease (ภาษาอังกฤษ). Elsevier Health Sciences. p. 334. ISBN 978-1416043904. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-08-04.
  6. Ergönül O, Whitehouse CA (2007). "Personal Reflections, Jack Woodall". Congo Hemorrhagic Fever: A Global Perspective. Netherlands: Springer. p. 23. ISBN 978-1-4020-6105-9.
  7. "R&D Blueprint. List of Blueprint priority diseases". World Health Organization. January 2017. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 10 September 2017. สืบค้นเมื่อ 13 July 2017.
  8. "NIAID Emerging Infectious Diseases/ Pathogens". National Institutes of Health (NIH). July 26, 2018. สืบค้นเมื่อ March 17, 2023.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

การจำแนกโรค
ทรัพยากรภายนอก