Lamprologus ocellatus

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
Lamprologus ocellatus
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Actinopterygii
อันดับ: Perciformes
วงศ์: Cichlidae
วงศ์ย่อย: Pseudocrenilabrinae
เผ่า: Lamprologini
สกุล: Lamprologus
สปีชีส์: L.  ocellatus
ชื่อทวินาม
Lamprologus ocellatus
(Steindachner, 1909)
ชื่อพ้อง[2]
  • Julidochromis ocellatus Steindachner, 1909

Lamprologus ocellatus เป็นปลาน้ำจืดขนาดเล็กชนิดหนึ่ง ในวงศ์ปลาหมอสี (Cichlidae)

จัดเป็นปลาหมอสีจำพวกปลาหมอหอยชนิดหนึ่ง มีหน้าตาประหลาดคล้ายกบ ลำตัวมีสีเหลืองสวยงาม มีเกล็ดเป็นจุดคล้ายมุกสีน้ำเงินอยู่ตามแนวยาวของลำตัว มีความยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร โดยตัวผู้จะมีขนาดใหญ่และลำตัวยาวกว่า

เป็นปลาที่อาศัยอยู่เฉพาะในทะเลสาบแทนกันยีกาเท่านั้น โดยอาศัยอยู่ตามแหล่งน้ำตื้นในระดับความลึก 15-100 ฟุต ได้แก่บริเวณ เอ็มบิต้า, แวมแพมบี้ และในบริเวณประเทศแซมเบีย มีพฤติกรรมอาศัยอยู่รวมฝูงกันบริเวณที่เป็นสุสานหอย คือ บริเวณที่มีซากเปลือกหอยทับถมกันอยู่หนาแน่น เพราะใช้ซากเปลือกหอยเป็นที่หลบภัยจากสัตว์ผู้ล่า ตลอดจนใช้แหล่งผสมพันธุ์สร้างรังวางไข่ และเก็บเลี้ยงลูกปลาให้ปลอดภัย

เป็นปลาที่นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม โดยได้ชื่อว่าเป็นปลาหมอสีตระกูลปลาหมอหอยที่ได้รับความนิยมสูงสุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตัวที่มีสีเหลืองจัด หรือสีทองทั้งตัว สามารถที่จะเพาะขยายพันธุ์ได้ในสถานที่เลี้ยง โดยปลาจะถึงวัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุได้ 1 ปี สามารถวางไข่ได้ประมาณ 5-6 รอบต่อปี ปลาตัวเมียจะมีขนาดป้อมสั้นกว่าตัวผู้ ขณะที่สีสันทั้งสองเพศนั้นคล้ายคลึงกันจนไม่สามารถแยกออกได้ด้วยวิธีนี้

Lamprologus ocellatus "orange" หรือปลาตัวที่มีสีส้ม

เป็นปลาที่มีพฤติกรรมก้าวร้าว หวงถิ่น โดยมักจะว่ายวนเวียนอยู่เฉพาะรอบ ๆ เปลือกหอยที่ตัวอาศัยอยู่ มักไล่ปลาอื่นที่เข้าใกล้ แต่ก็ไม่ถึงขั้นไล่กัดปลาตัวอื่นจนบาดเจ็บหรือล้มตาย และถึงแม้จะนำมาเลี้ยงในตู้กระจกแล้วก็ยังไม่เกรงกลัวมนุษย์ เมื่อใช้กระชอนช้อนลงไป จะไม่ว่ายหนีเหมือนปลาอื่น ๆ แต่กลับว่ายออกมาดูตลอดจนจิกกัดกระชอนเสียด้วยซ้ำ ในที่เลี้ยงสามารถให้กินได้ทั้งอาหารสด และอาหารสำเร็จรูป การผสมพันธุ์ในที่เลี้ยงจะเหมือนกับปลาผสมพันธุ์เองในธรรมชาติ โดยปลาจะฝ่ายจับคู่ที่เหมาะสมเอง พฤติกรรมเมื่อวางไข่ ปลาตัวผู้จะพยายามชักชวนตัวเมียให้เข้ามาวางไข่ในเปลือกหอย ตัวเมียจะเข้าออกเปลือกหอยติดต่อกันหลายวัน เมื่อพร้อมที่จะวางไข่ ตัวผู้จะปล่อยน้ำเชื้อเข้าไปในเปลือกหอยเพื่อให้ไข่ได้รับการปฏิสนธิ ช่วงที่ตัวเมียวางไข่นั้นมักจะมุดเข้าไปในเปลือกหอย จนดูเหมือนว่าจะหายตัวไป และจะไล่ปลาทุกตัวที่เข้าใกล้ ไม่เว้นแม้แต่ปลาตัวผู้ ไข่มีลักษณะเป็นเม็ดสีขาวขนาดเล็กมาก จำนวนประมาณ 8-30 ฟอง ไข่ใช้เวลา 2 สัปดาห์ จึงจะฟักเป็นตัว พ่อแม่ปลาจะช่วยกันดูแลลูกปลา จะป้อนอาหารให้ลูกปลาด้วยการเคี้ยวในปากแล้วย่อยออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ ผ่านทางเหงือก ลูกปลาจะว่ายอยู่บริเวณรอบ ๆ เปลือกหอย และเมื่อมีอันตรายก็จะมุดเข้าเปลือกหอยพร้อมกัน พ่อแม่ปลาจะอยู่แลดูลูกปลาจนมีขนาดได้ประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร พ่อแม่ปลาจะเริ่มห่างจากลูกปลา และเริ่มไล่ลูกปลาให้พ้นไปจากอาณาบริเวณตัวเอง เพื่อให้ลูกปลาเจริญเติบโตด้วยตนเอง และพ่อแม่ปลาก็พร้อมที่จะผสมพันธุ์และวางไข่ครั้งใหม่[3]

อ้างอิง[แก้]

  1. Bigirimana, C. 2006. Lamprologus ocellatus. In: IUCN 2012. IUCN Red List of Threatened Species. Version 2012.2. <www.iucnredlist.org>. Downloaded on 22 April 2013.
  2. Steindachner, F. 1909: Über einige neue Fischarten aus dem Tanganyikasee. Anzeiger der Kaiserlichen Akademie der Wissenschaften in Wien, Mathematisch-Naturwissenschaftliche Klasse, 46 (24): 399-404. BHL
  3. หน้า 74-79, Lamprologus Ocellatus, "Cichild Corner" โดย ปลาบ้านโรม. นิตยสาร Aquarium Biz ฉบับที่ 45 ปีที่ 4: มีนาคม 2014

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Lamprologus ocellatus ที่วิกิสปีชีส์