ข้ามไปเนื้อหา

ปลาหมอหอย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
Lamprologus ocellatus กับเปลือกหอยว่างเปล่า จัดเป็นปลาหมอหอยชนิดที่ได้รับความนิยมที่สุด

ปลาหมอหอย (อังกฤษ: Shell dweller, Shelldweller, Shell-breeding, Ostracophil) เป็นชื่อสามัญเรียกปลาน้ำจืดในวงศ์ปลาหมอสี (Cichlidae) กลุ่มหนึ่ง ที่มีพฤติกรรมการอาศัยตลอดจนผสมพันธุ์และวางไข่ไว้ในเปลือกหอย

ปลาหมอหอย โดยมากเป็นปลาหมอสีขนาดเล็ก ขนาดโดยเฉลี่ยประมาณ 2 นิ้ว (พบใหญ่ที่สุด 6 นิ้ว) จะพบอาศัยอยู่ในทะเลสาบแทนกันยีกาและทะเลสาบมาลาวี ในทวีปแอฟริกา จะอาศัยและผสมพันธุ์วางไข่และเลี้ยงดูลูกปลาในเปลือกหอยที่ว่างเปล่าเสมือนรัง โดยจะเป็นเปลือกหอยที่เป็นหอยเปลือกเดี่ยว ชนิด Neothauma tanganyicense และสกุล Lanistes ของปลาที่พบในทะเลสาบมาลาวี[1]

ปลาหมอหอย มีอุปนิสัยซื่อสัตย์และจงรักภักดีกับคู่ของตัว มีพฤติกรรมหวงที่อยู่อาศัย เมื่อมีอันตรายเข้ามาใกล้ปลาหมอหอยจะเข้าไปหลบชั้นในสุดของเปลือกหอย และเมื่อปลาหมอหอยทั้งเพศผู้และเพศเมียพร้อมที่จะผสมพันธุ์ จะจับคู่กันและช่วยกันทำความสะอาดเปลือกหอยและรอบ ๆ บริเวณเปลือกหอย เมื่อถึงเวลาวางไข่จะเข้าไปวางไข่อยู่ในเปลือกหอยและคอยเลี้ยงลูกอยู่ในเปลือกหอยจนลูกอายุได้ประมาณ 1 เดือนจึงออกจากเปลือกหอย ในระหว่างที่เฝ้าไข่หรือเลี้ยงลูก ปลาหมอหอยจะคอยว่ายวนเวียนอยู่บริเวณหอยที่อาศัยอยู่ ไม่ให้ปลาตัวอื่นมาใกล้ ถ้าปลาตัวไหนว่ายมาใกล้ ๆ จะทำการขับไล่ไปทันที พฤติกรรมดังกล่าวจึงเสมือนกับว่าหวงเปลือกหอยของตัวเองมาก

ปลาหมอหอย มีประมาณ 15 ชนิด ล้วนแต่นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม ด้วยความที่มีสีสันและพฤติกรรมที่แปลก น่าสนใจ ในประเทศไทยมีการนำเข้าและเลี้ยงกันประมาณ 10 ชนิด เช่น Lamprologus ocellatus ที่ได้ชื่อว่าเป็นปลาหมอหอยชนิดที่ได้รับความนิยมที่สุด โดยเฉพาะในตัวที่มีสีเหลืองสดหรือสีทอง[2], L. meleagris และหลายชนิดในสกุล Neolamprologus เช่น N. brevis, N. similis, N. boulengeri, N. cauodopuntatus, Altolamprologus compressiceps และA. calvus

สามารถเลี้ยงและเพาะขยายพันธุ์ได้ในตู้กระจก โดยวิธีการเลี้ยงทำไปโดยง่าย โดยพื้นตู้ควรปูด้วยทรายละเอียดและโปรยเปลือกหอยประเภทหอยเปลือกเดี่ยวลงไปให้ทั่ว เช่น หอยเชอรี่, หอยโข่ง หรือหอยหวาน เพราะเมื่อถึงเวลาผสมพันธุ์ ปลาทั้งตัวผู้และตัวเมียจะทำการคัดเลือกเปลือกหอย และทำความสะอาดรอบ ๆ บริเวณที่วางเปลือก และจะขุดดึงเปลือกหอยให้ฝังลึกลงไปในพื้นทรายให้เห็นโผล่มาเฉพาะบริเวณรูเปลือกเท่านั้น ส่วนเปลือกหอยอันอื่นที่ไม่ได้ใช้ จะอมทรายมาเทกลบเพื่อไม่ให้ปลาตัวอื่นมาใช้ได้ เมื่อรังถูกสร้างเสร็จแล้ว ปลาทั้งคู่จะอาศัยหากิน ตลอดจนว่ายเข้าออกบริเวณาปากเปลือกหอยของตนเท่านั้น จนกระทั่งมีลูกปลาตัวเล็ก ๆ ลูกปลาก็จะว่ายอยู่บริเวณปากเปลือกหอยที่เป็นรังของตน พร้อมด้วยปลาพ่อแม่เป็นผู้ดูแล และจะผลุบหลบเข้าไปในเปลือกหอยเมื่อเห็นว่ามีภัยอันตรายเข้ามาคุกคาม[3]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Konings A (2001) Malawi cichlids in their natural habitat Cichlid Press, USA.
  2. หน้า 74-79, Lamprologus Ocellatus, "Cichild Corner" โดย ปลาบ้านโรม. นิตยสาร Aquarium Biz ฉบับที่ 45 ปีที่ 4: มีนาคม 2014
  3. "คุณรู้จัก "หมอ...หวงหอย" หรือยัง ?". กรมประมง. 11 March 2014. สืบค้นเมื่อ 11 March 2014.