โคเซ็น

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Kosen)
โคเซ็น
高等専門学校 (こうとうせんもんがっこう)
สัญลักษณ์ประจำสถาบันโคเซ็น ประเทศญี่ปุ่น
ประเภทรัฐและเอกชน
สถาปนาค.ศ. 1962 (12 แห่งแรก)
อธิการบดีทานิกุจิ อิซาโอะ
ผู้ศึกษา56,576 คน (2023)[1]
ประเทศประเทศญี่ปุ่น, ประเทศไทย
เว็บไซต์kosen-k.go.jp

โคเซ็น (ญี่ปุ่น: 高専、こうせん、KOSEN) หรือแบบเต็มเรียกว่า โคโตเซ็นมองกักโค (ญี่ปุ่น: 高等専門学校 (こうとうせんもんがっこう)、kōtō-senmon-gakkō、อังกฤษ: National Institute of Technology, แปลไทย: สถาบันเทคโนโลยีแห่งชาติ) เป็นสถาบันทางการศึกษาขั้นสูงรูปแบบหนึ่งของประเทศญี่ปุ่น ที่มุ่งฝึกอบรมวิศวกรเชิงปฏิบัติและวิศวกรที่มีความคิดในการสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ มีสถาบันระดับชาติ ท้องถิ่นและภาคเอกชนทั้งสิ้น 57 แห่งในญี่ปุ่น มีนักศึกษาประมาณ 60,000 คน[1] โดยรวมอีกประมาณ 3,000 คนในหลักสูตรขั้นสูงแล้ว

ในความเป็นจริงแล้ว โคเซ็นไม่ได้มีเพียงเฉพาะในประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น ยังมีในประเทศมองโกเลีย ไทย และเวียดนาม โดยมีการปรับเปลี่ยนภายใต้วัฒนธรรมของประเทศนั้น ๆ [2] อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยถือเป็นประเทศเดียวที่ใช้รูปแบบ "ระบบการศึกษาสไตล์ญี่ปุ่น" (日本型高等専門学校の教育制度) อย่างเต็มรูปแบบ[3]

โคเซ็นในประเทศญี่ปุ่น[แก้]

โคเซ็นในประเทศญี่ปุ่นถูกก่อตั้งขึ้นมาในช่วงครึ่งหลังของคริสต์ทศวรรษ 1950 จากการที่ในช่วงเวลานั้นมีความต้องการวิศวกรในการพัฒนาประเทศเป็นจำนวนมาก เพื่อเป็นการตอบสนองต่อความต้องการเหล่านี้ ในปี ค.ศ. 1962 รัฐบาลจึงได้ก่อตั้งวิทยาลัยเทคโนโลยีแห่งชาติ (โคเซ็น) ขึ้นมาทั้งสิ้น 12 แห่ง ดังนี้ ฮาโกดาเตะ, อาซาฮิกาวะ, ฟุกุชิมะ, กุมมะ, นางาโอกะ, นุมะซุ, ซูซูกะ, อะกะชิ, อุเบะ, ทากามัตสึ, นิอิฮามะ และ ซาเซโบะ[4]

โคเซ็นนั้นแตกต่างจากมหาวิทยาลัยแบบปกติตรงที่ โคเซ็นนั้นรับนักศึกษาที่จบจากชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นและให้การศึกษาเป็นเวลา 5 ปี (ห้าปีครึ่งสำหรับวิทยาลัยเทคโนโลยีสำหรับการค้าทางทะเล (商船高専)) และตามด้วยการศึกษาเฉพาะทางสองปี

ตารางเทียบอายุกับระดับชั้นการศึกษาโคเซ็น[5][6]
มัธยมศึกษาตอนต้น
อายุ (ปี) สายสามัญ KOSEN ภาษาญี่ปุ่น
16 มัธยมศึกษาปีที่ 4 ปี 1 高専一年生
17 มัธยมศึกษาปีที่ 5 ปี 2 高専二年生
18 มัธยมศึกษาปีที่ 6 ปี 3 高専三年生
อุดมศึกษาและเทียบเท่า
อายุ (ปี) สายตรงทั่วไป KOSEN ภาษาญี่ปุ่น
19 บัณฑิตปี 1 ปี 4 高専四年生
20 บัณฑิตปี 2 ปี 5 高専五年生
21 บัณฑิตปี 3 หลักสูตรขั้นสูงปี 1 専攻科
- บัณฑิตปี 4-6 หลักสูตรขั้นสูงปี 2
- บัณฑิต (ปริญญาตรี)
- มหาบัณฑิต (ปริญญาโท)
- ดุษฎีบัณฑิต (ปริญญาเอก)
หมายเหตุ

โคเซ็นมุ่งเป้าไปที่การให้การศึกษาที่หลากหลาย รวมถึงให้การศึกษาวิชาทั่วไปอย่างสมดุล เช่น วิชาคณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ และภาษาญี่ปุ่น ตลอดจนวิชาเฉพาะทาง การศึกษาเฉพาะทางเน้นการทดลองและการฝึกในเชิงปฏิบัติ และออกแบบมาเพื่อให้นักศึกษาได้รับความรู้และทักษะเฉพาะทางที่เกือบเทียบเท่าระดับมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การวิจัยเพื่อสำเร็จการศึกษาได้รับการออกแบบเพื่อปลูกฝังทักษะประยุกต์เพื่อให้นักศึกษาสามารถเป็นวิศวกรที่พึ่งพาตนเองได้ และได้มีการผลิตงานวิจัยระดับสูงที่สามารถนำไปนำเสนอในงานประชุมวิชาการ[7]

นักศึกษาที่จบการศึกษา 5 ปีแล้วนั้น ร้อยละ 60 เลือกที่เข้ารับการทำงานทันทีหลังจากเรียนจบ ส่วนอีกร้อยละ 40 เลือกที่จะเข้ารับการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น ไม่ว่าทั้ง หลักสูตรขั้นสูง 2 ปี หรือ มหาวิทยาลัยต่าง ๆ เพื่อรับการศึกษาต่อในชั้นปริญญาตรี[8]

โคเซ็นในต่างประเทศ[แก้]

ประเทศไทย[แก้]

โคเซ็นในประเทศไทย เริ่มต้นมาจากการร่วมมือทางด้านการศึกษา การให้คำแนะนำ และหลักสูตรตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ส่วนทางด้านกลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยได้มีการร่วมมือในการส่งนักเรียนไปศึกษาที่โคเซ็นประเทศญี่ปุ่นมาก่อนหน้านี้แล้ว จนกระทั่งในวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2561 คณะรัฐมนตรี อนุมัติให้ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือว่าด้วยการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านอุตสาหกรรม ระหว่างไทย-ญี่ปุ่น (KOSEN) ต่อมาในวันที่ 23 สิงหาคม นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้น ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงฉบับนี้ โดยมีรัฐมนตรีช่วยกระทรวงศึกษาธิการ วัฒนธรรม กีฬา วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี แห่งประเทศญี่ปุ่น ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงฉบับนี้ และในวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2561 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในการปรับเปลี่ยนรายละเอียดโครงการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมสนับสนุนการลงทุนและเพิ่มขีดความสามารถภาคอุตสาหกรรมในประเทศและภูมิภาคโดยให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานและสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ[9] แต่ก็ได้ถ่ายโอนไปยังสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในภายหลัง[10]

ในประเทศไทยมีการจัดตั้งทั้งสิ้น 2 วิทยาเขต คือ สถาบันโคเซ็นแห่งสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เป็นที่แรก และ สถาบันโคเซ็นแห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เป็นแห่งที่สอง โดยรัฐบาลไทยมีความหวังในการผลิตวิศวกรนักปฏิบัติ นักเทคโนโลยี และนวัตกร กลับมาทำงานที่เขต EEC โดยมีระยะดำเนินการ 13 ปี[11] ทางองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) ได้ให้ความช่วยเหลือผ่าน Yen Loan สำหรับให้ทุนการศึกษาเพื่อศึกษาต่อที่ KOSEN ประเทศญี่ปุ่น และสำหรับการฝึกอบรมอาจารย์และผู้บริหารไทยโคเซ็นในประเทศญี่ปุ่น[12]

ส่วนเรื่องหลักสูตรนั้น ทั้ง 2 สถาบันมีหลักสูตรที่แตกต่างกัน แต่เป็นหลักสูตรอนุปริญญาวิศวกรรมศาสตร์ทั้งหมด ยกเว้นหลักสูตรวิศวกรรมการผลิตของ KOSEN-KMITL ที่เป็นหลักสูตรปริญญาวิศวกรรมศาสตร์ โดยทาง KOSEN-KMITL มีทั้งสิ้น 4 หลักสูตร คือ วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ (Computer Engineering), วิศวกรรมแมคคาทรอนิกส์ (Mechatronics Engineering), วิศวกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (Electrical and Electronics Engineering) และ วิศวกรรมการผลิต (Production Engineering)[13] ส่วน KOSEN-KMUTT มีทั้งสิ้น 3 หลักสูตร คือ หลักสูตรวิศวกรรมอัตโนมัติ (Automation Engineering) หลักสูตรวิศวกรรมชีวภาพ (Bio Engineering) [14] และหลักสูตรวิศวกรรมเกษตร (Agri Engineering)[15]

ไทยโคเซ็นมีความใกล้เคียงกับโคเซ็นของญี่ปุ่นคือ เรียนทั้งสิ้น 5 ปี และมีหลักสูตรขั้นสูง (Advance Course) ให้เรียนอีก 2 ปี อย่างไรก็ตามหลักสูตรของทั้ง 2 วิทยาเขตก็ไม่ได้ยกจากของญี่ปุ่นมาทั้งหมด เนื่องจากมีการปรับปรุงให้เข้ากับหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลายและกฎหมายในประเทศไทย ทำให้มีบางวิชาที่เพิ่มเข้ามาจากหลักสูตรของโคเซ็นญี่ปุ่น เช่น วิชานักศึกษาวิชาทหาร[16] เป็นต้น และบางวิชาที่หลักสูตรมัธยมปลายทั่วไปไม่มี เช่น วิชาเขียนแบบวิศวกรรม วิชาภาษาญี่ปุ่น วิชาเวิร์คชอพ เป็นต้น

นักศึกษาทุกคนถือเป็นนักศึกษาทุน โดยทุนการศึกษาสามารถแบ่งออกเป็น 4 ประเภทดังต่อไปนี้[17]

  • ประเภทที่ 1 ทุนการศึกษาสำหรับนักเรียนโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยไปศึกษา ณ สถาบันโคเซ็น ประเทศญี่ปุ่น ในชั้นปีที่ 1 ถึง 7 เพื่อกลับมาเป็นครู ณ สถาบันไทยโคเซ็น รุ่นละ 12 คน จำนวน 6 รุ่น
  • ประเภทที่ 2 ทุนการศึกษาสำหรับนักศึกษาสถาบันไทยโคเซ็นในชั้นปีที่ 1 ถึง 2 จากนั้นไปศึกษาต่อ ณ สถาบันโคเซ็น ประเทศญี่ปุ่นในชั้นปีที่ 3 ถึง 5 จำนวน 180 คน
  • ประเภทที่ 3 ทุนการศึกษาสำหรับนักศึกษาสถาบันไทยโคเซ็นตลอดทั้งหลักสูตร จำนวน 900 คน โดยจะได้รับทุนไปแลกเปลี่ยนที่สถาบันโคเซ็น ประเทศญี่ปุ่น 1 ภาคการศึกษาในชั้นปีที่ 4 (อย่างไรก็ตาม ทั้งสองสถาบันจัดการแลกเปลี่ยนไว้เพียง 1 เดือน[18][19])
  • ประเภทที่ 4 นักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาหลักสูตร 5 ปี ทั้งจากประเภทที่ 2 และ 3 จำนวน 328 คนจะได้รับทุนศึกษาต่อในระดับ Advance Course (เทียบเท่าปริญญาตรี) อีก 2 ปี และได้รับทุนไปแลกเปลี่ยน ที่สถาบันโคเซ็น ประเทศญี่ปุ่น ครั้งละ 1 ภาคการศึกษา รวม 2 ครั้ง
ประเภททุน จำนวนคน หลักสูตรโคเซ็นห้าปี Advanced Courses การบรรจุหลังสำเร็จการศึกษา
ปี 1 ปี 2 ปี 3 ปี 4 ปี 5 ปี 6 ปี 7
1 72 ศึกษาต่อ ณ สถาบันโคเซ็น ประเทศญี่ปุ่น เป็นครู/บุคคลากรในสถาบันไทยโคเซ็น โดยอาจปฏิบัติงานในภาคอุตสาหกรรมโดยไม่เต็มเวลา
2 180 ศึกษาในสถาบันไทยโคเซ็น ศึกษาต่อ ณ สถาบันโคเซ็น ประเทศญี่ปุ่น - - เป็นบุคคลากรในหน่วยงานภาครัฐหรือภาคอุตสาหกรรมใน EEC โดยต้องมาปฏิบัติการสอนที่สถาบันไทยโคเซ็นแบบไม่เต็มเวลาด้วย

หรือ เป็นครู/บุคคลากรในสถาบันไทยโคเซ็น

3 900 ศึกษาในสถาบันไทยโคเซ็น โดยมีการแลกเปลี่ยน 1 ภาคการศึกษา ในชั้นปีที่ 4 ณ สถาบันโคเซ็น ประเทศญี่ปุ่น - -
4 328 - - - - - ศึกษาในสถาบันไทยโคเซ็น และมีการแลกเปลี่ยน ณ สถาบันโคเซ็น ประเทศญี่ปุ่น รวม 2 ภาคการศึกษา
อ้างอิง: หนังสือกระทรวงศึกษาธิการ ที่ ศธ ๐๔๒๗๘/๓๘๖๕ ลงวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๖๑

ประเทศมองโกเลีย[แก้]

ประเทศเวียดนาม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 "高等専門学校とは・・・". กระทรวงศึกษาธิการ วัฒนธรรม กีฬา วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี. สืบค้นเมื่อ May 2, 2024.
  2. "海外にも日本式高専が!? その実態に迫る". Gekkan Kosen. สืบค้นเมื่อ 27 January 2022.
  3. "タイ高専 | 国立高等専門学校機構" (ภาษาญี่ปุ่น). 2023-11-21.
  4. "History". National Institute of Technology. สืบค้นเมื่อ 28 January 2022.
  5. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม. (2564). พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โครงการจัดตั้งสถาบันไทยโคเซ็น(Facebook). สืบค้นเมื่อ 9 ธันวาคม 2564
  6. Kobe City College of Technology. (2562). 高専とは?. สืบค้นเมื่อ 9 ธันวาคม 2564
  7. "国立高等専門学校の学校制度上の特色". Institute of National Colleges of Technology, Japan. สืบค้นเมื่อ 27 January 2022.
  8. "Message from the President". National Institute of Technology, Kitakyushu College. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-01-29. สืบค้นเมื่อ 29 January 2022.
  9. "สรุปมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประจำวันที่ 4 ธันวาคม 2561". แนวหน้า. สืบค้นเมื่อ 24 November 2022.
  10. "รายงานประจำปี 2565 สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)" (PDF). สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. สืบค้นเมื่อ 2023-11-14.
  11. "ครม.เห็นชอบตั้งสถาบัน Thai KOSEN ที่ สจล. และ มจธ. สร้างคนทำงานด้าน Sci-Tech". Techsauce Team. สืบค้นเมื่อ 27 January 2022.
  12. "JICA Thailand Office(JICAタイ事務所)". JICA Thailand Office. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-01-28. สืบค้นเมื่อ 28 January 2022.
  13. "ประวัติ KOSEN-KMITL". สถาบันโคเซ็นแห่งสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง. สืบค้นเมื่อ 29 January 2022.
  14. กรุงเทพธุรกิจ. (2563). KOSEN KMUTT ผลิตวิศวกรนักปฏิบัติ เคลื่อนอุตสาหกรรม 4.0. สืบค้นเมื่อ 13 ตุลาคม 2564
  15. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม. (2564). Fact Sheet Thai KOSEN. สืบค้นเมื่อ 9 ธันวาคม 2564
  16. "นักศึกษา KOSEN-KMITL ชั้นปีที่ 1 รายงานตัวนักศึกษาวิชาทหาร". สถาบันโคเซ็นแห่งสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง. สืบค้นเมื่อ 29 January 2022.
  17. "หนังสือกระทรวงศึกษาธิการ ที่ ศธ ๐๔๒๗๘/๓๘๖๕ ลงวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๖๑" (PDF). กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2022-11-24. สืบค้นเมื่อ 24 November 2022.
  18. "รวมภาพบรรยากาศ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ไปศึกษาดูงานที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อเดือนตุลาคม 2565". สถาบันโคเซ็นแห่งสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง. สืบค้นเมื่อ 21 December 2022.
  19. "การเรียนรู้ ณ ประเทศญีปุ่น". ห้องเรียนวิศว์-วิทย์ มจธ. สืบค้นเมื่อ 21 December 2022.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]