ฉบับพระเจ้าเจมส์
ฉบับพระเจ้าเจมส์ (อังกฤษ: King James Version: KJV) หรือ ไบเบิลพระเจ้าเจมส์ (อังกฤษ: King James Bible: KJB) หรือ ฉบับอนุมัติ (อังกฤษ: Authorized Version: AV) เป็นฉบับแปลภาษาอังกฤษของคัมภีร์ไบเบิลในคริสต์ศาสนา จัดทำขึ้นสำหรับคริสตจักรอังกฤษ เริ่มดำเนินการใน ค.ศ. 1604 และสำเร็จลุล่วงใน ค.ศ. 1611 เนื้อหาประกอบด้วย
- ภาคพันธสัญญาเดิม (Old Testament) ซึ่งแบ่งเป็นหนังสือ 39 เล่ม
- ภาคนอกสารบบ (Apocrypha) ซึ่งแบ่งเป็นหนังสือ 14 เล่ม ส่วนใหญ่ตรงกับคัมภีร์อธิกธรรม (Deuterocanon) ของเอกสารซิกซ์โต-เคลเมนไทน์วัลเกต (Sixto-Clementine Vulgate) ที่คริสตจักรคาทอลิกยึดถือกัน
- ภาคพันธสัญญาใหม่ (New Testament) ซึ่งแบ่งเป็นหนังสือ 27 เล่ม
การแปลนี้เป็นครั้งที่สามที่ได้รับอนุมัติจากคริสตจักรอังกฤษ ครั้งแรกเกิดขึ้นใน ค.ศ. 1535 รัชกาลพระเจ้าเฮนรีที่ 7 สำเร็จเป็นผลงานชื่อ เกรตไบเบิล (Great Bible) และครั้งที่สองเกิดใน ค.ศ. 1568 สำเร็จเป็นผลงานชื่อ บิช็อปส์ไบเบิล (Bishops' Bible)[1] ทว่า กลุ่มพิวริตัน (Puritan) ในคริสตจักรอังกฤษชี้ว่า คำแปลเหล่านี้มีปัญหา พระเจ้าเจมส์ที่ 1 จึงทรงเรียกประชุมราชสำนักแฮมป์ตัน (Hampton Court Conference) ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1604 นำไปสู่การแปลครั้งใหม่ซึ่งสำเร็จเป็นผลงานที่เรียก ฉบับพระเจ้าเจมส์ นี้[2]
ในการแปลนั้น คณะทำงานประกอบด้วยบัณฑิต 47 คน ทุกคนเป็นสมาชิกคริสตจักรอังกฤษ[3] การดำเนินงานเป็นไปในทำนองเดียวกับคำแปลชุดอื่น ๆ ในยุคนั้น คือ ภาคพันธสัญญาเดิม แปลจากเอกสารภาษาฮีบรูและภาษาแอราเมอิก, ภาคนอกสารบบ แปลจากเอกสารภาษากรีกแบบคอยเนและภาษาละติน, ส่วนภาคพันธสัญญาใหม่ แปลจากเอกสารภาษากรีกแบบคอยเน นอกจากนี้ พระเจ้าเจมส์ยังมีพระราโชวาทกำกับการทำงาน ด้วยหมายพระทัยจะให้คำแปลฉบับใหม่สอดคล้องกับวิทยาการพระศาสนจักร (ecclesiology) รวมถึงสะท้อนโครงสร้างการปกครองและความเชื่อในคณะสงฆ์ของคริสตจักรอังกฤษ[4] เมื่อสำเร็จแล้ว รอเบิร์ต บาร์เกอร์ (Robert Barker) ผู้พิมพ์หลวง เป็นผู้ตีพิมพ์ครั้งแรกใน ค.ศ. 1611
คำแปลฉบับพระเจ้าเจมส์นี้มีชื่อเสียงด้าน "โวหารอลังการ" (majesty of style) และนับเป็นหนึ่งในเอกสารสำคัญทางวัฒนธรรมอังกฤษ[5] ทั้งยังเป็นแรงผลักดันให้เกิดการหลอมรวมโลกที่ใช้ภาษาอังกฤษ[6] คำแปลฉบับนี้ยังเป็นที่ยึดถือในคริสตจักรแองกลิคันและโปรเตสแตนต์ เว้นแต่ส่วนเพลงสดุดี (Psalms) และข้อความสั้นบางตอน ที่ใช้ตาม หนังสือสวดมนต์ทั่วไป (Book of Common Prayer) คำแปลฉบับพระเจ้าเจมส์ไม่มีผู้ตั้งปัญหาเรื่องความถูกต้องแม่นยำเลยในตลอดครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 18 ทั้งนักวิชาการที่ใช้ภาษาอังกฤษก็ยึดเป็นพระคัมภีร์ฉบับมาตรฐานแทนเอกสารวัลเกตภาษาละติน (Latin Vulgate) ตลอดช่วงคริสต์ศตวรรษเดียวกันนั้น จนเมื่อการพิมพ์แบบสเตริโอไทป์ (stereotype) พัฒนาขึ้นในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 คำแปลฉบับพระเจ้าเจมส์ก็กลายเป็นหนังสือที่ตีพิมพ์บ่อยครั้งที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยมักยึดฉบับพิมพ์ ค.ศ. 1769 ที่เบนจามิน เบลย์นีย์ (Benjamin Blayney) จากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ปรับปรุง เป็นแม่แบบ และมักตัดภาคนอกสารบบออก ดังนั้น เมื่อกล่าวถึงพระคัมภีร์พระเจ้าเจมส์ ปัจจุบันก็มักเข้าใจถึงฉบับออกซฟอร์ดนี้
คำแปลฉบับพระเจ้าเจมส์ได้รับการแปลต่อเป็นหลายภาษา รวมถึงฉบับภาษาไทยที่สมาคมพระคริสตธรรมไทยดำเนินการตั้งแต่ ค.ศ. 1920 จนถึง ค.ศ. 1940[7]
อ้างอิง
[แก้]เชิงอรรถ
[แก้]- ↑ Daniell 2003, p. 204.
- ↑ Hill 1997, pp. 4–5.
- ↑ Daniell 2003, p. 436.
- ↑ Daniell 2003, p. 439.
- ↑ "400 years of the King James Bible". The Times Literary Supplement. 9 February 2011. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-06-17. สืบค้นเมื่อ 8 March 2011.
- ↑ "The King James Bible: The Book That Changed the World - BBC Two". BBC.
- ↑ สมาคมพระคริสตธรรมไทย (ม.ป.ป.). "วิวัฒนาการของการแปลพระคัมภีร์ไทย". thaibible.or.th. กรุงเทพฯ: สมาคมพระคริสตธรรมไทย. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-10-05. สืบค้นเมื่อ 2017-11-23.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
(help)
บรรณานุกรม
[แก้]- Daniell, David (2003). The Bible in English: its history and influence. New Haven, Conn: Yale University Press. ISBN 0-300-09930-4.
- Hill, Christopher (1997). Society and Puritanism in pre-revolutionary England. New York: St. Martin's Press. ISBN 0-312-17432-2.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- "King James Version (text of original 1611 Bible)". kingjamesbibleonline.org. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 April 2011. สืบค้นเมื่อ 5 April 2011.
- สมาคมพระคริสตธรรมไทย (ม.ป.ป.). "พระคัมภีร์ภาษาไทยฉบับ KJV". bible.com. กรุงเทพฯ: YouVersion. สืบค้นเมื่อ 2017-11-23.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|year=
(help)