ฉบับพระเจ้าเจมส์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ปกฉบับพิมพ์ครั้งแรก ค.ศ. 1611

ฉบับพระเจ้าเจมส์ (อังกฤษ: King James Version: KJV) หรือ ไบเบิลพระเจ้าเจมส์ (อังกฤษ: King James Bible: KJB) หรือ ฉบับอนุมัติ (อังกฤษ: Authorized Version: AV) เป็นฉบับแปลภาษาอังกฤษของคัมภีร์ไบเบิลในคริสต์ศาสนา จัดทำขึ้นสำหรับคริสตจักรอังกฤษ เริ่มดำเนินการใน ค.ศ. 1604 และสำเร็จลุล่วงใน ค.ศ. 1611 เนื้อหาประกอบด้วย

การแปลนี้เป็นครั้งที่สามที่ได้รับอนุมัติจากคริสตจักรอังกฤษ ครั้งแรกเกิดขึ้นใน ค.ศ. 1535 รัชกาลพระเจ้าเฮนรีที่ 7 สำเร็จเป็นผลงานชื่อ เกรตไบเบิล (Great Bible) และครั้งที่สองเกิดใน ค.ศ. 1568 สำเร็จเป็นผลงานชื่อ บิช็อปส์ไบเบิล (Bishops' Bible)[1] ทว่า กลุ่มพิวริตัน (Puritan) ในคริสตจักรอังกฤษชี้ว่า คำแปลเหล่านี้มีปัญหา พระเจ้าเจมส์ที่ 1 จึงทรงเรียกประชุมราชสำนักแฮมป์ตัน (Hampton Court Conference) ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1604 นำไปสู่การแปลครั้งใหม่ซึ่งสำเร็จเป็นผลงานที่เรียก ฉบับพระเจ้าเจมส์ นี้[2]

ในการแปลนั้น คณะทำงานประกอบด้วยบัณฑิต 47 คน ทุกคนเป็นสมาชิกคริสตจักรอังกฤษ[3] การดำเนินงานเป็นไปในทำนองเดียวกับคำแปลชุดอื่น ๆ ในยุคนั้น คือ ภาคพันธสัญญาเดิม แปลจากเอกสารภาษาฮีบรูและภาษาแอราเมอิก, ภาคนอกสารบบ แปลจากเอกสารภาษากรีกแบบคอยเนและภาษาละติน, ส่วนภาคพันธสัญญาใหม่ แปลจากเอกสารภาษากรีกแบบคอยเน นอกจากนี้ พระเจ้าเจมส์ยังมีพระราโชวาทกำกับการทำงาน ด้วยหมายพระทัยจะให้คำแปลฉบับใหม่สอดคล้องกับวิทยาการพระศาสนจักร (ecclesiology) รวมถึงสะท้อนโครงสร้างการปกครองและความเชื่อในคณะสงฆ์ของคริสตจักรอังกฤษ[4] เมื่อสำเร็จแล้ว รอเบิร์ต บาร์เกอร์ (Robert Barker) ผู้พิมพ์หลวง เป็นผู้ตีพิมพ์ครั้งแรกใน ค.ศ. 1611

คำแปลฉบับพระเจ้าเจมส์นี้มีชื่อเสียงด้าน "โวหารอลังการ" (majesty of style) และนับเป็นหนึ่งในเอกสารสำคัญทางวัฒนธรรมอังกฤษ[5] ทั้งยังเป็นแรงผลักดันให้เกิดการหลอมรวมโลกที่ใช้ภาษาอังกฤษ[6] คำแปลฉบับนี้ยังเป็นที่ยึดถือในคริสตจักรแองกลิคันและโปรเตสแตนต์ เว้นแต่ส่วนเพลงสดุดี (Psalms) และข้อความสั้นบางตอน ที่ใช้ตาม หนังสือสวดมนต์ทั่วไป (Book of Common Prayer) คำแปลฉบับพระเจ้าเจมส์ไม่มีผู้ตั้งปัญหาเรื่องความถูกต้องแม่นยำเลยในตลอดครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 18 ทั้งนักวิชาการที่ใช้ภาษาอังกฤษก็ยึดเป็นพระคัมภีร์ฉบับมาตรฐานแทนเอกสารวัลเกตภาษาละติน (Latin Vulgate) ตลอดช่วงคริสต์ศตวรรษเดียวกันนั้น จนเมื่อการพิมพ์แบบสเตริโอไทป์ (stereotype) พัฒนาขึ้นในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 คำแปลฉบับพระเจ้าเจมส์ก็กลายเป็นหนังสือที่ตีพิมพ์บ่อยครั้งที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยมักยึดฉบับพิมพ์ ค.ศ. 1769 ที่เบนจามิน เบลย์นีย์ (Benjamin Blayney) จากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ปรับปรุง เป็นแม่แบบ และมักตัดภาคนอกสารบบออก ดังนั้น เมื่อกล่าวถึงพระคัมภีร์พระเจ้าเจมส์ ปัจจุบันก็มักเข้าใจถึงฉบับออกซฟอร์ดนี้

คำแปลฉบับพระเจ้าเจมส์ได้รับการแปลต่อเป็นหลายภาษา รวมถึงฉบับภาษาไทยที่สมาคมพระคริสตธรรมไทยดำเนินการตั้งแต่ ค.ศ. 1920 จนถึง ค.ศ. 1940[7]

อ้างอิง[แก้]

เชิงอรรถ[แก้]

  1. Daniell 2003, p. 204.
  2. Hill 1997, pp. 4–5.
  3. Daniell 2003, p. 436.
  4. Daniell 2003, p. 439.
  5. "400 years of the King James Bible". The Times Literary Supplement. 9 February 2011. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-06-17. สืบค้นเมื่อ 8 March 2011.
  6. "The King James Bible: The Book That Changed the World - BBC Two". BBC.
  7. สมาคมพระคริสตธรรมไทย (ม.ป.ป.). "วิวัฒนาการของการแปลพระคัมภีร์ไทย". thaibible.or.th. กรุงเทพฯ: สมาคมพระคริสตธรรมไทย. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-10-05. สืบค้นเมื่อ 2017-11-23. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)

บรรณานุกรม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]