ปิศาจจิ้งจอก (จีน)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Huli Jing)
ภาพวาดปิศาจจิ้งจอกเก้าหางในสมัยราชวงศ์ชิง

ปีศาจจิ้งจอก หรือเดิมใช้ว่า ปิศาจเสือปลา[1] (จีน: 狐狸精; พินอิน: húlí jīng; จีน: 九尾狐; พินอิน: jiǔ wěi hú; คำแปล: จิ้งจอกเก้าหาง) เป็นปิศาจในเทพปกรณัมจีนซึ่งอาจดีหรือร้ายก็ได้

จีนเชื่อว่า สรรพสิ่งสามารถมีอำนาจวิเศษ มีชีวิตอมตะ และแปลงเป็นมนุษย์ได้ ถ้าได้บำเพ็ญตบะมานานพอสมควร ปิศาจจิ้งจอกนั้นคือสุนัขจิ้งจอกเพศเมียที่สามารกลายร่างเป็นมนุษย์หญิงสาวโฉมงาม

ปรกติแล้วเชื่อกันว่า ปิศาจจิ้งจอกเป็นผีร้าย ปิศาจจิ้งจอกซึ่งเป็นที่รู้จักมากที่สุดตัวหนึ่ง คือ ปิศาจจิ้งจอกเก้าหางในนิยายเรื่อง เฟิงเฉิน หรือ สถาปนาเทวดา (封神) ของสฺวี่ จ้งหลิน (許仲琳) ในสมัยราชวงศ์หมิง ที่ฆ่านางต๋าจี่ (妲己) แล้วสิงร่างนางไปเป็นสนมพระเจ้าโจ้ว (紂) แห่งราชวงศ์ซาง เพื่อล่อลวงให้พระเจ้าโจ้วถึงแก่ความวิบัติตามเสาวนีย์ของนางฟ้านฺหวี่วา (女媧)[2]

อย่างไรก็ดี ในนิยายบางเรื่อง ปิศาจจิ้งจอกมิได้มุ่งร้าย เช่น เรื่อง ซันซุ่ยผิงเยาฉวน หรือ สามซุ่ยพิชิตมาร (三遂平妖傳) ของหลัว กวั้นจง (羅貫中) ในสมัยราชวงศ์หมิง ว่าด้วยปิศาจจิ้งจอกสอนวิทยาคมให้หญิงสาวคนหนึ่ง หญิงคนนั้นจึงเอาชนะกองทัพได้ และเรื่อง เหลียวไจจื้ออี้ หรือ เรื่องประหลาดจากห้องศิลป์ (聊齋誌異) ของผู ซงหลิง (蒲松齡) ในสมัยราชวงศ์ชิง ที่ว่าด้วยความรักระหว่างมนุษย์หนุ่มและจิ้งจอกสาว[3] รวมถึงในความเชื่อดั้งเดิมของชาวจ้วง ที่อาศัยอยู่ในภาคใต้ของจีน ตลอดจนปรากฏเป็นภาพเขียนสีตามผนังถ้ำในยุคก่อนประวัติศาสตร์ทางภาคเหนือและอีสานของไทย หมาเก้าหางเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ที่ขโมยข้าวด้วยการจุ่มหางจากสวรรค์มาให้แก่มวลมนุษย์ จึงถูกเทวดาไล่ฟันจนเหลือหางเพียงหางเดียวอย่างในปัจจุบัน และเป็นต้นกำเนิดของข้าว เชื่อว่านิทานเรื่องหมาเก้าหางนี้กระจายไปทั่วภูมิภาคอาเซียนในยุคก่อนประวัติศาสตร์[4]

นอกจากนี้ ชาวจีนยังโทษว่า ปิศาจจิ้งจอกทำให้ชายมีองคชาตหดเล็กลงจนเป็นโรคจู๋[5]

อ้างอิง[แก้]

  1. มีในสำเนียงแต้นิ๋วว่า húlì jíeuy ฮูหลี่เงียว. (2506) กรุงเทพฯ: องค์การค้าของคุรุสภา. หน้า 13.
  2. "Fox-spirit Daji invents the Paoluo torture". Chinese Torture/Supplice chinois. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-11-17. สืบค้นเมื่อ 2006-12-26.
  3. Lu, Xun (1959). A Brief History of Chinese Fiction. Translated by Hsien-yi Yang and Gladys Yang. Foreign Language Press. p. 176. ISBN 978-7-119-05750-7.
  4. สุจิตต์ วงษ์เทศ (2014-12-10). "กำเนิดข้าว หมาเก้าหาง บุรีรัมย์". มติชน. สืบค้นเมื่อ 2016-09-11.
  5. Cheng, S. T. "A critical review of Chinese Koro." Culture, Medicine and Psychiatry 20(1):67-82 (1996).

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]