ข้ามไปเนื้อหา

แนวร่วมสามัคคีสงเคราะห์ชาติกัมพูชา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Front Uni National pour le Salut du Kampuchéa)
แนวร่วมสามัคคีสงเคราะห์ชาติกัมพูชา
រណសិរ្សសាមគ្គីសង្គ្រោះជាតិកម្ពុជា
Front Uni National pour le Salut du Kampuchéa (FUNSK)
ปีที่ปฏิบัติการ2 ธันวาคม ค.ศ. 1978
ภูมิภาคปฏิบัติการกัมพูชา
แนวคิดลัทธิคอมมิวนิสต์
ลัทธิมากซ์-เลนิน
การโจมตีเด่นการโจมตีกัมพูชา
สถานะเปลี่ยนเป็นแนวร่วมปลดปล่อยเพื่อการพัฒนามาตุภูมิกัมพูชา (2006–ปัจจุบัน)
แนวร่วมสามัคคีสงเคราะห์ชาติกัมพูชาได้นำธงของสมาคมเขมรอิสระในสมัยต่อต้านฝรั่งเศส มาใช้เป็นธงชาติของสาธารณรัฐประชามานิตกัมพูชา[1]

แนวร่วมสามัคคีสงเคราะห์ชาติกัมพูชา (เขมร: រណសិរ្សសាមគ្គីសង្គ្រោះជាតិកម្ពុជា รณสิรฺสสามคฺคีสงฺเคฺราะชาติกมฺพุชา; อังกฤษ: Kampuchean United Front for National Salvation: KUFNS; ฝรั่งเศส: Front Uni National pour le Salut du Kampuchéa: FUNSK) หรือในประเทศไทยเป็นที่รู้จักว่า แนวร่วมสามัคคีประชาชาติกู้ชาติกัมพูชา[2] เป็นศูนย์กลางของระบบใหม่ในกัมพูชาที่ต่อมาได้สถาปนาสาธารณรัฐประชามานิตกัมพูชา[3] แนวร่วมนี้ก่อตั้งเมื่อ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2522 ในเวียดนาม โดยชาวกัมพูชาที่ต้องการโค่นล้มรัฐบาลเขมรแดงของพล พต เป็นองค์กรทางการเมืองและการทหารของชาวกัมพูชาที่มีบทบาทระหว่างการรุกรานกัมพูชาของเวียดนามที่ทำให้การปกครองของกัมพูชาประชาธิปไตยต้องสิ้นสุดลง และนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ องค์นี้มีหลายชื่อตามแต่ละช่วงในประวัติศาสตร์

ประวัติศาสตร์

[แก้]

แนวร่วมปลดปล่อย (พ.ศ. 2521 – 2524)

[แก้]

ในทางการเมืองแนวร่วมปลดปล่อยเป็นองค์กรของกลุ่มนิยมเวียดนามที่มีชื่อว่าพรรคปฏิวัติประชาชนกัมพูชา การก่อตั้งแนวร่วมนี้ในกัมพูชาเกิดขึ้นในบริเวณจังหวัดกระแจะ ซึ่งเป็นเขตปลดปล่อยของพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชาที่ไม่เข้าร่วมกับนโยบายการต่อต้านเวียดนามและเน้นความรุนแรงของพล พต ที่นำไปสู่การนองเลือดในภาคตะวันออกของกัมพูชาใน พ.ศ. 2520[4] วันประกาศจัดตั้งอย่างเป็นทางการของแนวร่วมคือ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2522 ซึ่งเป็นวันที่นักสังคมนิยมชาวกัมพูชาเรียกว่าการประชุมเพื่อปรับความร่วมมือใหม่[5] เป้าหมายของแนวร่วมคือต้องการโค่นล้มรัฐบาลของพล พต ต้องการปรับรูปแบบของประเทศโดยใช้โครงสร้างแบบโซเวียตเพื่อคงไว้ซึ่งการปฏิวัติที่เป็นกลาง มีความเป็นไปได้จริง และเห็นคุณค่าของมนุษย์มากกว่าแบบของเขมรแดง แม้ว่าจะมีกลุ่มที่ไม่นิยมคอมมิวนิสต์เข้าร่วมด้วย

การติดต่อประสานงานเพื่อจัดตั้งขบวนการนี้เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2521 ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มหลัก ๆ 5 กลุ่ม คือกลุ่มของเฮง สำรินและเจีย ซีม ที่มีอิทธิพลทางตะวันออกของกัมพูชา กลุ่มของบู ทอง ผู้นำการปฏิวัติในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเมื่อ พ.ศ. 2518 กลุ่มของแปน โสวัณณ์ เจีย สต และจัน ซี เป็นกลุ่มปัญญาชนที่ผ่านการฝึกฝนจากเวียดนาม กลุ่มของฮุน เซน และกลุ่มของเตีย บัญกับใส่ ภู่ทอง ซึ่งเป็นกลุ่มต่อต้านเขมรแดงของชาวไทยเกาะกงที่ลี้ภัยเข้ามาในประเทศไทย โดยมีเวียดนามทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการประสานงาน โดยผู้แทนของเวียดนามที่เกี่ยวข้องคือเล ดึ้ก เถาะ และเล ดึ๊ก อัญ [6]

แนวร่วมแห่งชาติกัมพูชาเพื่อการสร้างชาติและการปกป้อง (พ.ศ. 2524 – 2549)

[แก้]

สองปีหลังจากการปลดปล่อยพนมเปญ แนวร่วมปลดปล่อยได้เปลี่ยนชื่อเป็นแนวร่วมแห่งชาติกัมพูชาเพื่อการสร้างชาติและการปกป้อง (ภาษาอังกฤษ: Kampuchean United Front for National Construction and Defence; ภาษาฝรั่งเศส: Front d'union pour l'édification et la défense de la patrie du Cambodge)[7] แนวร่วมนี้เป็นองค์กรหลักของสาธารณรัฐประชามานิตกัมพูชา มีบทบาทสำคัญในรัฐธรรมนูญมาตรา 3

แนวร่วมปลดปล่อยเพื่อการพัฒนามาตุภูมิกัมพูชา (พ.ศ. 2549 – ปัจจุบัน)

[แก้]

ในการประชุมครั้งที่ 5 ของแนวร่วมเมื่อ 29 เมษายน พ.ศ. 2549 แนวร่วมได้เปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น แนวร่วมปลดปล่อยเพื่อการพัฒนามาตุภูมิกัมพูชา (ภาษาอังกฤษ: Solidarity Front for Development of the Cambodian Motherland; ภาษาฝรั่งเศส: Front de solidarité pour le développement de la Patrie du Cambodge)[8]

องค์กรย่อย

[แก้]
ผู้นำสมาคมสตรีปฏิวัติกัมพูชา นุต คิม เลย และเรส สีวันนา ในเยอรมันตะวันออก ในการประชุมพันธมิตรสตรีประชาธิปไตยแห่งเยอรมัน เมื่อ พ.ศ. 2530

องค์กรย่อยที่เกี่ยวข้องกับแนวร่วมนี้ ได้แก่

  • สหพันธ์กัมพูชาเพื่อสหภาพการค้า มีสมาชิก 62,000 ใน พ.ศ. 2526 โดยเป็นโรงเรียนฝึกหัดสำหรับคนงานด้านเศรษฐกิจและการจัดการ
  • สหภาพเยาวชนปฏิวัติประชาชนกัมพูชา เป็นโรงเรียนลัทธิมาร์กสำหรับเยาวชนอายุ 15 - 26 ปี ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2530 มีสมาชิกมากกว่า 50,000 คนในหมู่บ้าน โรงงาน โรงพยาบาล โรงเรียนและกองทัพ
  • สมาคมเยาวชนปฏิวัติกัมพูชา เป็นโรงเรียนลัทธิมาร์กสำหรับเด็กอายุ 9-16 ปี มีสมาชิกราว 800,000 คน
  • องค์กรอาสาสมัครเยาวชนกัมพูชา มีสมาชิก 450,000 คน เป็นกลุ่มผู้ฝึกสอนและให้คำแนะนำต่อสหภาพเยาวชนปฏิวัติประชาชนกัมพูชาและสมาคมเยาวชนปฏิวัติกัมพูชา
  • สมาคมสตรีปฏิวัติกัมพูชา กล่าวอ้างว่าเคยมีสมาชิกถึง 923,000 คนเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2526

วันสำคัญ

[แก้]
  • วันมิตรภาพกัมพูชา-เวียดนาม ตรงกับวันที่ 18 กุมภาพันธ์
  • วันแห่งความเกลียดชัง เป็นวันแห่งการต่อต้านการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของ พล พต เอียง ซารี เขียว สัมพัน และกลุ่มของพระนโรดม สีหนุและซอน ซาน ตรงกับ 20 พฤษภาคม
  • วันมิตรภาพทหาร-ประชาชน ตรงกับ 19 มิถุนายน

อ้างอิง

[แก้]
  1. Margaret Slocomb, The People's Republic of Kampuchea, 1979-1989: The revolution after Pol Pot ISBN 9789749575345
  2. รุ่งมณี เมฆโสภณ. คนสองแผ่นดิน. พิมพ์ครั้งที่ 5. บ้านพระอาทิตย์. 2552
  3. David P. Chandler, A history of Cambodia, Westview Press; Allen & Unwin, Boulder, Sydney, 1992
  4. Michael Vickery, Cambodia 1975-1982
  5. Kathleen Gough, Interviews in Kampuchea; Bulletin of Concerned Asian Scholars, Vol. 14, 1982[ลิงก์เสีย]
  6. รุ่งมณี เมฆโสภณ. คนสองแผ่นดิน. พิมพ์ครั้งที่ 5. บ้านพระอาทิตย์. 2552
  7. Library of Congress / Federal Research Division / Country Studies - Cambodia - Major Political and Military Organizations
  8. Vietnamese News Agency - Cambodge: Le PPC veille à la grande union nationale 29 April 2006 -- 22:04(GMT+7)

บรรณานุกรม

[แก้]
  • Bekaert, Jacques, Cambodian Diary, Vol. 1: Tales of a Divided Nation 1983-1986, White Lotus Press, Bangkok 1997, ISBN 974-8496-95-3,
  • Gottesman, Evan, Cambodia after the Khmer Rouge: Inside the politics of Nation Building.
  • Vickery, Michael, Cambodia : 1975-1982, Boston: South End Press, 1984

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]