ข้ามไปเนื้อหา

วงศ์นกอ้ายงั่ว

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Darter)
วงศ์นกอ้ายงั่ว
ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: ไมโอซีนตอนต้น - ปัจจุบัน
18–0Ma
เสียงร้องของนกอ้ายงั่ว ที่อุทยานแห่งชาติเอเวอร์เกลดส์, สหรัฐอเมริกา
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Aves
อันดับ: Pelecaniformes[1]
หรือ Suliformes[2]
วงศ์: Anhingidae
Reichenbach, 1849[3]
สกุล: Anhinga
Brisson, 1760
ชนิดต้นแบบ
Plotus anhinga
Linnaeus, 1766
ชนิด[2]
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์

นกอ้ายงั่ว หรือ นกงั่ว[4] หรือ นกคองู[5] หรือ นกงู[1] (อังกฤษ: Darters, Snakebirds) เป็นวงศ์ของนกน้ำวงศ์หนึ่ง ใช้ชื่อวงศ์ว่า Anhingidae

ลักษณะ

[แก้]

มีลักษณะโดยรวม คือ เป็นนกขนาดใหญ่ ความยาวจากปลายปากจดหางประมาณ 70-95 เซนติเมตร หัวเรียวมาก, ปาก ยาวเป็นสองเท่าของหัว จะงอยปากตรงเรียวและแหลม ขอบขากรรไกรหยักเล็กน้อย ด้านข้างเป็นร่องรูจมูกเล็กและรียาว ไม่เปิดออกข้างนอก ถุงใต้คางมีขนาดเล็ก มีส่วนคอเรียวมาก ปลายปีกแหลม ขนปลายปีกเส้นที่ 2 และ 3 นับจากด้านนอกยาวที่สุด หางยาว ปลายหางมน มีขนหาง 12 เส้น หน้าแข้งสั้นแต่ใหญ่ มีพังผืดนิ้วเป็นแบบตีนพัดเต็ม กินปลาเป็นอาหารหลัก หาอาหารโดยดำน้ำและว่ายน้ำ ทำรังเป็นกลุ่มตามต้นไม้ รังมีไข่ 3-5 ฟอง เปลือกไข่สีฟ้า มีผงคล้ายผงชอล์กปกคลุมบางส่วน ลูกอ่อนแรกเกิด มีสภาพเป็นลูกอ่อนเดินไม่ได้ ผิวหนังเป็นสีเนื้อ

นกอ้ายงั่ว มีลักษณะทั่วไปคล้ายกับนกกาน้ำ (Phalacrocoracidae) ซึ่งอยู่ต่างวงศ์กัน ซึ่งในยุคก่อนประวัติศาสตร์เคยมีบรรพบุรุษร่วมกันมา นักบรรพชีวินวิทยาเคยขุดค้นพบซากดึกดำบรรพ์ของบรรพบุรุษของนกทั้งสองวงศ์ในทวีปอเมริกาเหนือซึ่งมีอายุย้อนหลังไปถึงเมื่อราว 60,000,000 ปีที่ผ่านมา สันนิษฐานว่านกอ้ายงั่วมีวิวัฒนาการจนแตกต่างจากนกกาน้ำเมื่อราว 30,000,000 ปีที่ผ่านมา[6]

จุดที่นกอ้ายงั่วแตกจากนกกาน้ำ คือ มีรูปร่างที่ใหญ่กว่ามาก อีกทั้งขนเมื่อลงน้ำจะไม่อุ้มน้ำเหมือนนกกาน้ำ ที่สำคัญ คือ ลำคอที่เรียวยาว เมื่อนกลงไปว่ายน้ำ ลำตัวจะจมลงในน้ำแต่ส่วนคอจะชูขึ้นเหนือน้ำ เหมือนงูเลื้อยในน้ำ อันเป็นที่มาของชื่อ "นกงู" หรือ "นกคองู"[1] ด้วยกระดูกคอชิ้นที่ 8 และชิ้นที่ 9 จะมีการปรับให้หดคอเป็นรูปตัว S ได้ มีกล้ามเนื้อคอที่แข็งแรง ช่วยให้การพุ่งปากเข้าหาเหยื่อเหมือนลูกดอก นอกจากจะว่ายน้ำและดำน้ำเก่งแล้ว นกอ้ายงั่วยังมีความสามารถในการบินสูงด้วย โดยท่าบินของนกอ้ายงั่ว จะกระพือปีกถี่คล้าย ๆ นกกาน้ำ แต่จะสลับด้วยการถลาร่อนมากกว่า สามารถใช้ประโยชน์จากกระแสความร้อนบนผืนดิน เพื่อใช้ในการยกตัวขึ้นสู่ระดับสูงลิบ คล้ายกับนกล่าเหยื่อจำพวกเหยี่ยว หรืออินทรีได้ด้วย จึงบินอพยพหากินได้เป็นระยะทางไกลมาก [7]

ในวันที่ 9 พฤศจิกายน ค.ศ. 2006 ได้มีการค้นพบนกอ้ายงั่วเผือกตัวแรกของโลก ที่มีทั้งตัวเป็นสีขาวล้วน บริเวณวัดห้วยจันทร์ ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ตำบลโคกตูม อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี หลังจากนั้นอีกไม่นาน ไม่มีใครพบนกอ้ายงั่วเผือกตัวนี้ซึ่งเชื่อว่ามีเพียงตัวเดียวในโลกอีกเลย[8]

การจำแนก

[แก้]

นกอ้ายงั่ว จำแนกได้เพียงแค่สกุลเดียว มีทั้งหมด 4 ชนิดทั่วโลก (ดูในเนื้อหา) แต่ละชนิดจะมีลักษณะแตกต่างกันไปเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่มีพฤติกรรมและสภาพแวดล้อมที่อาศัยคล้ายคลึงกัน โดยพบได้ในทุกภูมิภาคทั่วโลกในเขตร้อนและเขตอบอุ่น ได้แก่ ทวีปเอเชีย, ทวีปอเมริกาเหนือ, อเมริกาใต้, แอฟริกา และออสเตรเลีย ในประเทศไทยพบเพียงชนิดเดียวเท่านั้น [7]

รูปภาพ

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 Harrison, Peter; Peterson, Roger Tory (1991). Seabirds: A Complete Guide to the Seabirds of the World (Helm Identification Guides) . Christopher Helm Publishers Ltd. ISBN 071363510X.
  2. 2.0 2.1 2.2 "Anhinga". ระบบข้อมูลการจำแนกพันธุ์แบบบูรณาการ.
  3. Walter J. Bock (1994) : History and Nomenclature of Avian Family-Group Names. Bulletin of the American Museum of Natural History, number 222; with application of article 36 of ICZN.
  4. งั่ว ๒ น.ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542
  5. นกคองู จาก siamensis.org
  6. "นกกาน้ำ (1) กายสัณฐานวิทยา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-08-20. สืบค้นเมื่อ 2012-11-10.
  7. 7.0 7.1 "ปริศนานกงู". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-30. สืบค้นเมื่อ 2012-11-10.
  8. "นก"อ้ายงั่วเผือก"ตัวแรกของโลก". คมชัดลึก.[ลิงก์เสีย]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]