ข้ามไปเนื้อหา

อินคลูชัน (เซลล์)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Cytoplasmic inclusion)

อินคลูชัน (อังกฤษ: inclusion) เป็นสสารไร้ชีวิต[1]ที่อยู่ภายในเซลล์[2] ซึ่งไม่ถูกล้อมรอบด้วยเยื่อหุ้ม อินคลูชันเป็นได้ทั้งสารอาหารสะสม, สารสำหรับหลั่งออกนอกเซลล์, หรือเม็ดรงควัตถุ ตัวอย่างของอินคลูชันเช่น เม็ดไกลโคเจนในเซลล์ตับและเซลล์กล้ามเนื้อ, หยดลิพิดในเซลล์ไขมัน, เม็ดรงควัตถุในเซลล์ผิวหนังและเส้นขนบางเซลล์, และผลึกอื่น ๆ ซึ่งมีอยู่หลายชนิด[3] อินคลูชันในเซลล์ถือเป็นตัวอย่างหนึ่งของสารควบแน่นชีวโมเลกุล (biomolecular condensate) ที่เกิดจากการแยกเฟสของเหลว-ของแข็ง, ของเหลว-เจล, หรือของเหลว-ของเหลว โครงสร้างนี้ถูกสังเกตเป็นครั้งแรกโดย O. F. Müller ในปี ค.ศ. 1786[2]

ตัวอย่าง

[แก้]
เม็ดไกลโคเจนที่พบในกระบวนการสร้างสเปิร์มของหนอนตัวแบนในวงศ์ Pleurogenidae (คลาส Digenea)

ไกลโคเจน: ไกลโคเจนเป็นรูปแบบของกลูโคสที่พบได้มากที่สุดในสัตว์ ซึ่งมีอยู่มากเป็นพิเศษในเซลล์กล้ามเนื้อและเซลล์ตับ โดยปรากฏในภาพถ่ายจากกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนเป็นก้อน หรือกลุ่มก้อนของอนุภาคบีตาที่มีลักษณะคล้ายไรโบโซม[a] อยู่ใกล้กับร่างแหเอนโดพลาซึมชนิดเรียบ[3] ไกลโคเจนเป็นแหล่งพลังงานสำคัญแหล่งหนึ่งของเซลล์ เมื่อจำเป็นต้องใช้พลังงานจึงจะมีการสลายไกลโคเจน (glycogenolysis) เอนไซม์มีส่วนสำคัญในการสลายไกลโคเจนให้เป็นกลูโคสที่แต่ละอวัยวะในร่างกายสามารถใช้ประโยชน์ได้[4][1]

ลิพิด: ลิพิดที่เป็นไตรกลีเซอไรด์ในรูปของสารอาหารสะสมเป็นอินคลูชันที่พบได้บ่อยที่สุด ซึ่งไม่เพียงถูกสะสมไว้ในเซลล์ที่ถูกพัฒนามาทำหน้าที่นี้โดยเฉพาะ (เซลล์ไขมัน) แต่ยังพบว่าถูกจัดเก็บเป็นหยดน้ำมันหยดเล็ก ๆ หลายหยดในเซลล์หลายชนิด โดยเฉพาะเซลล์ตับ[3] ลิพิดมีสภาพเป็นของเหลวที่อุณหภูมิร่างกายและปรากฏในเซลล์ที่มีชีวิตในรูปของหยดน้ำมันทรงกลมมันวาว ลิพิดสะสมพลังงาน (แคลอรี) ต่อกรัมมากกว่าคาร์โบไฮเดรต เมื่อต้องการใช้งาน ลิพิดจะทำหน้าที่เป็นแหล่งสะสมพลังงานของเซลล์ และเป็นแหล่งวัตถุดิบของโซ่คาร์บอนสายสั้นซึ่งจะถูกเซลล์นำไปใช้สำหรับการสร้างเยื่อหุ้มและโครงสร้างอื่น ๆ ที่มีลิพิดเป็นองค์ประกอบ หรือถูกสังเคราะห์เป็นสารสำหรับหลั่งออกนอกเซลล์[3][4]

ผลึก: อินคลูชันในรูปผลึกเป็นที่ทราบกันอย่างยาวนานว่าเป็นส่วนประกอบของเซลล์บางชนิดเช่น เซลล์เซอโทลิ (Sertoli cell) และเซลล์เลย์ดิก (Leydig cell) ในอัณฑะของมนุษย์ และอาจพบได้บางครั้งในเซลล์แมโครฟาจ[4] เชื่อกันว่าโครงสร้างนี้เป็นรูปแบบผลึกของโปรตีนบางชนิด ซึ่งมีอยู่ทุกที่ในเซลล์ ไม่ว่าจะเป็นนิวเคลียส, ไมโทคอนเดรีย, ร่างแหเอนโดพลาซึม, กอลไจแอปพาราตัส, หรืออยู่อย่างอิสระในไซโทพลาซึม[3][4]

รงควัตถุ: นอกเหนือจากฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง รงควัตถุที่มีมากที่สุดในร่างกายคือเมลานิน ซึ่งสร้างมาจากเมลาโนไซต์ในเส้นขนและผิวหนัง, เซลล์รงควัตถุในเรตินาและเซลล์ประสาทพิเศษในส่วน substantia nigra ของสมอง[3] รงควัตถุเหล่านี้มีส่วนช่วยปกป้องผิวหนังและช่วยในด้านประสาทการมองเห็นของเรตินา สำหรับหน้าที่ของพวกมันในเซลล์ประสาทยังไม่เป็นที่ทราบกันอย่างกระจ่างนัก นอกจากนี้ เนื้อเยื่อหัวใจและเซลล์ประสาทในระบบประสาทส่วนกลางยังมีสีเหลืองไปจนถึงสีน้ำตาลอันเกิดจากสารสีที่เรียกว่าลิโพฟุสซิน (lipofuscin) เชื่อกันว่ารงควัตถุนี้มีการทำหน้าที่คล้ายไลโซโซม[4]

เชิงอรรถ

[แก้]
  1. อนุภาคบีตาในที่นี้เป็นการบอกถึงระดับการรวมโครงสร้างเท่านั้น ไม่มีความเกี่ยวข้องกับอนุภาคบีตาที่เป้นกลุ่มก้อนอิเล็กตรอนแต่อย่างใด

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 Peter S. Amenta (1 January 1997). Histology: from normal microanatomy to pathology. PICCIN. pp. 17–. ISBN 978-88-299-1195-0. สืบค้นเมื่อ 25 November 2010.
  2. 2.0 2.1 Shively, J. M. (ed.). (2006). Microbiology Monographs Vol. 1: Inclusions in Prokaryotes. Berlin, Heidelberg: Springer-Verlag. link.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 Leslie P. Gartner and James L. Hiatt ; Text book of Histology; 3rd edition
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 Fawcett; The cell, 2nd edition