เนินปราสาท

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Citadel)
เนินปราสาทซิสเตอรงที่ตั้งอยู่เหนือตัวเมืองที่ตั้งอยู่ต่ำลงมารอบ ๆ ปราสาท
เนินปราสาทเบอซ็องซงในฝรั่งเศส โดย โวบ็อง
ซิทาเดลลาที่ตั้งอยู่บนเนินเหนือแม่น้ำดานูบที่บูดาเปสต์ในฮังการี

เนินปราสาท (อังกฤษ: citadel) คือป้อมปราการสำหรับป้องกันเมือง บางครั้งก็จะมีปราสาทรวมอยู่ด้วย[1] หรือบางครั้งก็อาจจะหมายถึงบริเวณที่สูงที่สุดของตัวเมือง

ในภาษาอังกฤษคำว่า "citadel" มีรากจากภาษาละตินเช่นเดียวกับคำว่า "city" ว่า "civis" ที่แปลว่า "พลเมือง"

ในระบบป้อมปราการที่มีมุขป้อมยื่นออกไป เนินปราสาทคือส่วนที่มั่นคงที่สุดของระบบ บางครั้งก็จะตั้งลึกเข้าไปจากกำแพงนอกและมุขป้อม แต่ก็มักจะมีส่วนหนึ่งที่ติดกับกำแพงด้านนอกเพื่อเป็นการประหยัดการสร้างกำแพงใหม่สำหรับตัวสิ่งก่อสร้างหลัก เนินปราสาทจะเป็นระบบการป้องกันขั้นสุดท้ายถ้าข้าศึกสามารถบุกเข้าในปราสาทจากกำแพงชั้นต่าง ๆ ที่ตั้งอยู่รอบนอกได้ นอกจากนั้นในยุคกลาง "เนินปราสาท" เป็นคำที่ใช้เรียกส่วนที่สามของปราสาทที่มีกำแพงที่สูงกว่ากำแพงอื่น ๆ ของเมือง ซึ่งเป็นที่มั่นสุดท้ายของระบบการป้องกันก่อนที่จะถึงตัวหอกลาง

โครงสร้างที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่ทราบที่ใช้เป็นเนินปราสาทสร้างในสมัยอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุเมื่อเนินปราสาทถือว่าเป็นศูนย์กลางของการบริหาร[2] แต่วัตถุประสงค์ของโครงสร้างก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ แม้ว่าโครงสร้างที่พบที่ซากโมเฮนโจ-ดาโร (ภาษาสินธี: मोइन जो दड़ो) หรือ "เนินมรณะ" จะเป็นโครงสร้างที่มีกำแพงล้อมรอบ แต่ก็ไม่เป็นที่ชัดแจ้งว่าจะเป็นกำแพงที่สร้างขึ้นเพื่อการป้องกันการโจมตีจากข้าศึกหรือไม่ ข้อสันนิษฐานข้อหนึ่งคือเป็นกำแพงที่สร้างขึ้นเพื่อเปลี่ยนทิศทางการไหลของกระแสน้ำท่วม

ในสมัยกรีกโบราณ เนินปราสาทอัครปุระตั้งเด่นอยู่บนเนินสูงที่มองเห็นสิ่งต่าง ๆ ได้แต่ไกล อัครปุระแห่งเอเธนส์ประกอบด้วยสถานที่สำหรับหลบภัย และ ที่มั่น ที่เป็นที่เก็บเสบียงและอาวุธ, เทวสถานสำหรับเทพเจ้า และ พระราชวัง อัครปุระที่มีชื่อเสียงที่สุดคืออัครปุระเอเธนส์ แต่อัครปุระเป็นองค์ประกอบของการสร้างเมืองแทบทุกเมืองในสมัยกรีกโบราณ เช่นอัครปุระคอรินท์ (Acrocorinth) ที่มีชื่อเสียงว่ามีระบบป้อมปราการที่มั่นคงที่แข็งแรง ในสมัยต่อมาเมื่อกรีซปกครองโดยจักรวรรดิละติน องค์ประกอบนี้ก็ได้รับการนำไปใช้โดยผู้ปกครองใหม่โดยมีวัตถุประสงค์เช่นเดียวกัน

เนินปราสาทมีชื่อเรียกกันไปต่าง ๆ ในแต่ละภูมิภาคเช่น "เครมลิน" (kremlin) ในรัสเซีย หรือ "อัลกาซาร์" (alcázar) ในคาบสมุทรไอบีเรีย ในเมืองในยุโรปคำว่า "citadel" และ "city castle" มักจะใช้สลับความหมายกันได้ หรือบางครั้งก็อาจจะใช้คำว่า "tower" แทนได้เช่น ทาวเวอร์ออฟลอนดอน หรือ ทาวเวอร์ออฟเดวิดในเยรูซาเลม

ในช่วงระยะเวลาต่าง ๆ โดยเฉพาะในยุคกลาง เนินปราสาทที่มีระบบการป้องกันทางการทหารอิสระจากกำแพงเมืองเป็นระบบการป้องกันขั้นสุดท้ายของข้าศึกที่มาล้อมเมือง เมืองจะเสียก็ต่อเมื่อเสียเนินปราสาท เช่นในปี ค.ศ. 1543 ในการล้อมเมืองนีซโดยออตโตมันที่นำโดยเฮย์เรดดิน บาร์บารอสซา บาร์บารอสซาบุกเข้ามาในเมืองและทำความเสียหายเป็นอย่างมากให้แก่ตัวเมืองและจับผู้คนไปเป็นเชลย แต่ไม่สามารถยึดปราสาทของเมืองนีซได้

ในกรณีที่คล้ายคลึงกันถ้าผู้ก่อการยึดอำนาจในเมืองแต่ยังไม่สามารถยึดเนินปราสาทได้จากประมุขที่ยังครองอยู่ ก็แสดงถึงความไม่มั่นคงของอำนาจของผู้ก่อการ เช่นที่เกิดขึ้นในกรณีการก่อการกำเริบแมกคาบี (Maccabean Revolt) ในการต่อต้านจักรวรรดิซิลูซิด กองทหารเฮลเลนิสติกของเยรูซาเลมและผู้สนับสนุนซิลูซิดรักษาเนินปราสาทที่ป้อมอัคราได้อยู่หลายปี ซึ่งทำให้อำนาจการปกครองส่วนอื่นของเยรูซาเลมของฝ่ายแมกคาบีเป็นไปอย่างไม่มั่นคงเท่าใดนัก ในที่สุดเมื่อยึดปราสาทได้ฝ่ายแมกคาบีก็ทำการทำลายป้อมอัคราราบลง แต่ก็ย้ายไปสร้างเนินปราสาทของตนเองใหม่ตรงตำแหน่งอื่นของเยรูซาเลม

มาจนกระทั่งถึงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ก็เกิดสถานการณ์ที่คล้ายคลึงกันที่แอนต์เวิร์ป เมื่อกองทหารดัตช์ภายใต้การนำของนายพลดาฟิด แฮ็นดริก ชาเซ รักษาเนินปราสาทอยู่ได้ระหว่างปี ค.ศ. 1830 ถึงปี ค.ศ. 1832 ขณะที่ตัวเมืองแอนต์เวิร์ปเองตกไปอยู่ภายใต้การปกครองของฝ่ายอิสระเบลเยียมแล้ว

ในยามสงครามเนินปราสาทส่วนใหญ่จะใช้เป็นที่หลบภัยของประชากรในเมืองและปริมณฑล แต่ในขณะเดียวกันเนินปราสาทก็จะใช้เป็นที่มั่นของกองทหารหรือผู้มีอำนาจทางการเมืองจากอันตรายที่อาจจะมาจากชาวเมืองเองก็ได้ เช่นในกรณีของบาร์เซโลนาที่สร้างเนินปราสาทอย่างมั่นคงในปี ค.ศ. 1714 เพื่อเป็นการแสดงความมีอำนาจต่อชาวกาตาลาที่เคยทำการปฏิวัติในกลางคริสต์ศตวรรษที่ 17 และ 18 ในการต่อต้านรัฐบาลกลางของสเปน ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 เมื่อได้โอกาสชาวเมืองบาร์เซโลนาก็ทำการรื้อเนินปราสาททิ้ง และสร้างอุทยานซิวตาเด็ลยา (Parc de la Ciutadella) หรือ "อุทยานเนินปราสาท" ขึ้นแทนที่ สถานการณ์คล้ายคลึงกันเกิดขึ้นที่ซิทาเดลลาที่ตั้งอยู่บนเนินเหนือแม่น้ำดานูบที่บูดาเปสต์ในฮังการี

การทลายคุกบัสตีย์ระหว่างการปฏิวัติฝรั่งเศส (ที่จำได้กันแต่เพียงการปลดปล่อยนักโทษไม่กี่คน) ส่วนหนึ่งก็ถือกันว่าเป็นสถานการณ์ที่เกิดจากการถือว่าที่ตั้งของคุกบัสตีย์เป็นสัญลักษณ์ของ "เนินปราสาทหลวง" ทางกลางความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในปารีสขณะนั้น

หรือเมื่อการีบัลดีโค่นอำนาจการปกครองของราชวงศ์บูร์บงในปาแลร์โมระหว่าง ค.ศ. 1860 ระหว่างการรวมประเทศอิตาลี (Unification of Italy) ในเหตุการณ์นั้น เนินปราสาทกัสเตลลัมมาเรซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความเกลียดชังและความกดขี่ของรัฐบาลเดิมก็ถูกรื้อทิ้งอย่างเป็นทางการ

การล้อมอัลกาซาร์ระหว่างสงครามกลางเมืองสเปนในปี ค.ศ. 1936 ที่ฝ่ายชาตินิยมสามารถรักษาเนินปราสาทไว้ได้จากฝ่ายรัฐนิยมที่มีกำลังเหนือกว่าเป็นเวลาสองเดือนก็ที่จะได้รับความช่วยเหลือจากกองหนุน ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่าเนินปราสาทก็ยังเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพแม้ในการสงครามสมัยใหม่ เช่นเดียวกันกับสถานการณ์ในยุทธการที่เมืองเว้ (Battle of Huế) ในปี ค.ศ. 1968 เมื่อกองทหารฝ่ายเวียดนามเหนือรักษาเนินเว้ไว้ได้ 26 วันในการต่อสู้กับกองทหารสหรัฐและเวียดนามใต้ที่มีกำลังและอาวุธที่เหนือกว่า

เนินปราสาทควิเบกยังคงเป็นเนินปราสาทที่ใหญ่ที่สุดที่มีทหารประจำการในทวีปอเมริกาเหนือ หลังจากที่ก่อสร้างมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1693 โดยราชอาณาจักรฝรั่งเศส

อ้างอิง[แก้]

  1. Sidney Toy (1985). Castles: Their Construction and History. Courier Dover. ISBN 0486248984.
  2. Thapar, B. K. (1975). "Kalibangan: A Harappan Metropolis Beyond the Indus Valley". Expedition. 17 (2): 19–32.

ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ เนินปราสาท