ปลาอะราไพม่า

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Arapaima gigas)
ปลาอะราไพม่า
ปลาขนาดใหญ่
สถานะการอนุรักษ์

ไม่มีข้อมูล (IUCN 2.3)[1]
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Actinopterygii
อันดับ: Osteoglossiformes
วงศ์: Arapaimidae
วงศ์ย่อย: Heterotidinae
สกุล: Arapaima
สปีชีส์: A.  gigas
ชื่อทวินาม
Arapaima gigas
(Schinz, 1822)
ชื่อพ้อง
  • Arapaema gigas
  • Sudis gigas
  • Sudis pirarucu
  • Vastres agassizii
  • Vastres arapaima
  • Vastres cuvieri
  • Vastres mapae

ปลาอะราไพม่า หรือที่นิยมเรียกกันในภาษาไทยว่า ปลาช่อนยักษ์อเมซอน (อังกฤษ: arapaima; ชื่อวิทยาศาสตร์: Arapaima gigas) ปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ชนิดหนึ่ง ในวงศ์ปลาอะราไพม่า (Arapaimidae) ในอันดับปลาลิ้นกระดูก (Osteoglossiformes) [2]

ลักษณะ[แก้]

มีรูปร่างคล้ายปลาช่อน (Channa stiata) มาก เป็นปลาที่มีขนาดใหญ่มาก เกล็ดมีขนาดใหญ่ มีสีดำเงาเป็นมัน ครีบบน ครีบล่าง มีตำแหน่งค่อนไปทางหาง มีแถบสีแดงส้ม ตัดกับพื้นสีดำ มีลำตัวค่อนข้างกลมและเรียวยาว ส่วนหัวมีลักษณะแข็งและมีน้ำหนักมาก ส่วนลำตัวด้านท้ายมีลักษณะแบนกว้าง ในขณะที่ปลายังเล็กพื้นลำตัวจะมีสีเขียวเข้ม และลำตัวส่วนที่ค่อนไปทางหางจะเป็นสีดำ และรูปร่างจะออกไปทางทรงกระบอก เมื่อโตขึ้นบริเวณลำตัวและส่วนที่ค่อนไปทางหาง ครีบ และหาง จะปรากฏสีชมพูปนแดงหรือสีบานเย็นประแต้มกระจายอยู่ทั่วไป เมื่อจวนตัว ปลาอะราไพม่าจะใช้ส่วนหัวที่แข็งพุ่งชนและกระโดดใส่ด้วยความรุนแรงเพื่อป้องกันตัว[3]

ปลาอะราไพม่าไม่มีหนวด ซึ่งแตกต่างจากปลาชนิดอื่น ๆ ในวงศ์เดียวกัน และเป็นปลาที่มีอัตราการเจริญเติบโตที่ไวมาก ภายในเวลาเพียง 1–2 ปี สามารถมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นถึง 3–5 เท่าได้ ปลาที่โตเต็มที่เท่าที่มีการบันทึกสถิติไว้คือยาว 4.5 เมตร น้ำหนักกว่า 400 กิโลกรัม

พบในแม่น้ำแอมะซอนและลุ่มน้ำสาขาในทวีปอเมริกาใต้ โดยชาวพื้นเมืองจะเรียกว่า ปีรารูกู (pirarucu) ขณะที่ชาวพื้นเมืองที่ประเทศเปรูจะเรียกว่า ไปเช (paiche) โดยปลาชนิดนี้เป็นปลาที่ชาวพื้นเมืองใช้บริโภคกันในท้องถิ่น ในบางท้องที่มีการเพาะเลี้ยงกันเป็นปลาเศรษฐกิจ[3]

ปลาอะราไพม่ากินอาหาร ได้แก่ ปลาและสัตว์น้ำขนาดเล็กเป็นอาหาร โดยใช้ลิ้นที่แข็งเป็นกระดูกนั้นบดอาหารกับเพดานปาก[3] ในบางครั้งสามารถกินสัตว์เลือดอุ่นขนาดเล็กกว่าที่อยู่บนบก เช่น ลิง สุนัข นก ด้วยการกระโดดงับได้อีกด้วย

ชนิดใหม่[แก้]

นอกจากนี้แล้ว ยังมีความเป็นไปได้ว่า ปลาอะราไพม่าชนิดที่อาศัยอยู่ในแม่น้ำเอสเซกวีโบที่ห่างไกลในกายอานา อาจจะเป็นชนิดใหม่จากการตรวจสอบทางดีเอ็นเอ[4]

การขยายพันธุ์[แก้]

จากการศึกษาพบว่า ปลาอะราไพม่าจะถึงวัยเจริญพันธุ์ได้เมื่อมีอายุ 4–5 ปีและจะมีอายุยืน มากกว่า 20 ปี ปลาเพศผู้ เพศเมีย สังเกตดูเพศจากภายนอกได้ยาก แต่ในฤดูผสมพันธุ์ในช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนพฤษภาคมของทวีปอเมริกาใต้ ปลาเพศเมียจะมีไข่ จะเห็นบริเวณท้องจะขยายใหญ่ขึ้นได้ชัดเจน ส่วนเพศผู้หัวและลำตัวจะสีเข้ม และสีแดงอมส้มแถบโคนหางได้ชัดเจน ในฤดูวางไข่ ปลาวัยเจริญพันธุ์จะตีแอ่งสร้างรังใต้น้ำ ในระดับความลึกประมาณ 40–50 เซนติเมตร ในบริเวณพื้นที่เป็นทราย แล้วนำหญ้า หรือพืชน้ำมาสร้างเป็นรัง พ่อแม่ปลาจะช่วยกันสร้างรัง จากนั้นตัวเมียจะวางไข่ แม่ปลา 1 ตัวสามารถมีไข่ได้เป็นหมื่น ๆ ฟอง และจะฟักเป็นตัวในเวลาประมาณ 3–4 วัน แม่ปลาจะฟักไข่หรือดูแลตัวอ่อนไว้ในปาก ส่วนพ่อปลาจะช่วยป้องกันอันตรายจนกว่าลูกปลาจะแข็งแรง และช่วยตัวเองได้ แม่ปลา 1 ตัว (อายุ 4–5 ปี) ที่สมบูรณ์เต็มที่ สามารถวางไข่ได้ถึง 180,000 ฟอง ไข่ของปลาชนิดนี้ มีเส้นผ่าศูนย์กลางราว 1.8–1.4 นิ้ว

ปลาอะราไพม่า เป็นปลาที่ได้รับความนิยมในแง่ของการเป็นปลาสวยงาม ซึ่งมีจุดเด่นคือ ความใหญ่โตในรูปร่าง ซึ่งปลาอะราไพม่าจัดได้ว่าเป็นปลาน้ำจืดที่มีขนาดความยาวที่สุดในโลก (ปลาบึก (Pangasianodon gigas) ที่พบในแม่น้ำโขง มีความยาวสั้นกว่า แต่มีน้ำหนักตัวที่มากกว่า) ในประเทศไทยปลาชนิดนี้ถูกนำเข้ามาครั้งแรกราวปี พ.ศ. 2529 และได้รับความนิยมสูงสุดในปี พ.ศ. 2530 ตราบจนปัจจุบัน ซึ่งปลาอะราไพม่าแม้จะมีพฤติกรรมการกินอาหารที่ดูดุร้ายก็ตาม แต่เมื่อนำมาเลี้ยงในสถานที่เลี้ยงแล้ว แม้ในปลาขนาดใหญ่กลับไม่มีพฤติกรรมก้าวร้าวกับมนุษย์เลย ผู้เลี้ยงสามารถลงไปปล้ำไล่จับปลาเล่นได้ โดยที่ปลาไม่ขัดขืนหรือทำอันตรายใด ๆ

ปัจจุบัน สามารถเพาะขยายพันธุ์ในบ่อดินขนาดใหญ่ได้แล้ว ในประเทศมาเลเซียและไทย และมีคนไทยจำนวนหนึ่งกำลังทดลองเลี้ยงเป็นเพื่อบริโภคขายซึ่งเป็นปลาที่โตเร็วและเนื้อมีราคาแพง อาจนำมาทดแทนเนื้อปลาช่อนทั่วไปได้ ถ้ามีการเลี้ยงขนาดใหญ่ซึ่งให้กำไรมากกว่าและอาจทำให้อนาคตราคาเนื้อถูกลงเพราะเลี้ยงง่ายโตไว คุ้มกว่าการเลี้ยงปลาช่อนธรรมดา

ในตำนานและวัฒนธรรมร่วมสมัย[แก้]

ปลาอะราไพม่าเป็นปลาที่ปรากฏในความเชื่อของชนพื้นเมืองอเมริกาใต้ โดยมีชื่อเรียกว่า "ปีรารูกู" ปีรารูกูเป็นบุตรชายของหัวหน้าเผ่าอินเดียนแดงที่มีความโหดร้ายและหยิ่งผยอง ปีรารูกูไม่นับถือเทพเจ้า เทพเจ้าสูงสุดจึงพิโรธ แต่ปีรารูกูไม่หวั่นไหว เมื่อปีรารูกูไปตกปลา เทพเจ้าสูงสุดจึงใช้สายฟ้าดึงเขาตกลงไปในแม่น้ำ และสาบให้เขากลายเป็นปลาใหญ่ไป[3]

ในวัฒนธรรมร่วมสมัย ปลาอะราไพม่าได้ปรากฏอยู่ในเกมสตรีตไฟเตอร์ 2 เป็นเครื่องประดับในฉากของคาร์ลอส บลังกา ร่วมกับงูอนาคอนดา

รูปภาพ[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. World Conservation Monitoring Centre 1996. Arapaima gigas. In: IUCN 2013. IUCN Red List of Threatened Species. Version 2013.1. <www.iucnredlist.org>. Downloaded on 04 October 2013.
  2. หนังสือคู่มือเลี้ยงปลาอะโรวาน่า โดย สุรศักดิ์ วงศ์กิตติเวชสกุล (พ.ศ. 2540) ISBN 974-86869-5-7
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 Amazon Assassins, "River Monsters" สารคดีทางอนิมอลพลาเน็ต. ทางทรูวิชั่นส์: อังคารที่ 22 กรกฎาคม 2557
  4. Liar of Giant, "River Monsters" สารคดีทางอนิมอลพลาเน็ต. ทางทรูวิชั่นส์: อาทิตย์ที่ 20 มกราคม 2556

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]