การประชุมสุดยอดลิสบอน พ.ศ. 2553

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก 2010 Lisbon summit)
ที่ประชุม

การประชุมสุดยอดลิสบอน พ.ศ. 2553 เป็นการประชุมของประมุขแห่งรัฐและหัวหน้ารัฐบาลของเนโท จัดขึ้นในลิสบอน ประเทศโปรตุเกส ระหว่างวันที่ 19-20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

รัฐสมาชิกได้ลงมติยอมรับ "แนวคิดยุทธศาสตร์ใหม่" ซึ่งเป็นแผนการระยะเวลาสิบปีหลังจากการสิ้นสุดของแผนการก่อนหน้าที่ได้ลงมติยอมรับในการประชุมสุดยอดวอชิงตัน พ.ศ. 2542 นอกเหนือไปจากการเห็นชอบแนวคิดยุทธศาสตร์ซึ่งเตรียมการสำหรับความท้าทายสมัยใหม่อย่างเช่น การก่อการร้ายและการโจมตีไซเบอร์แล้ว รัฐสมาชิกยังได้ตกลงที่จะพัฒนาระบบการป้องกันขีปนาวุธร่วมกัน รัฐสมาชิกได้พบกับประธานาธิบดีอัฟกานิสถาน ฮามิด การ์ไซ เกี่ยวกับปฏิบัติการของเนโทในประเทศ และยังได้ตกลงที่จะค่อย ๆ ถอนกำลังรบออกจากอัฟกานิสถานจนหมดภายใน พ.ศ. 2557 เนโทได้กล่าวยืนยันซ้ำว่าความรับผิดชอบของกลุ่มในการคงกำลังทหารในอัฟกานิสถานเพื่อทำการฝึกและให้คำแนะนำแก่กองทัพและตำรวจอัฟกานิสถาน

หัวข้อการประชุม[แก้]

แนวคิดยุทธศาสตร์[แก้]

ได้มีการคาดการณ์ว่ารัฐสมาชิกจะมีการลงมติยอมรับแนวคิดยุทธศาสตร์ใหม่เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ พ.ศ. 2542 โดยเลขาธิการเนโท อันเดอร์ โฟค ราสมูสเซน ได้กล่าวก่อนการประชุมว่าเขาได้เตรียมร่างแผนดังกล่าวขึ้นมาด้วยตัวเอง และกล่าวอีกว่า เป้าหมายของแนวคิดยุทธศาสตร์ใหม่นี้ คือ "ต้องยืนยันงานหลักของเนโท - การป้องกันดินแดน - แต่ปรับปรุงวิธีการดำเนินการให้ทันสมัย รวมไปถึงการป้องกันไซเบอร์และการป้องกันขีปนาวุธ"[1] กลุ่มผู้เชี่ยวชาญ นำโดยอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา เมเดลีน อัลไบรท์ ได้ร่างรายงานเพื่อช่วยเตรียมแผนการดังกล่าว ในการประชุมก่อนการประชุมสุดยอด เจ้าหน้าที่ได้กล่าวว่าแผนการดังกล่าว "เสร็จสิ้นไปแล้ว 98%" และกล่าวว่าความไม่เห็นพ้องกันใด ๆ จะยกไปประชุม ร่างแผนดังกล่าวได้ยอมรับว่าภัยคุกคามสมัยใหม่ต่อรัฐสมาชิกมาในรูปแบบที่ไม่เหมือนเดิม อย่างเช่น การก่อการร้าย สิ่งที่เรียกว่า "รัฐอันธพาล" ซึ่งถือครองอาวุธอานุภาพทำลายล้างสูง และการโจมตีไซเบอร์ที่สามารถบั่นทอนสาธารณูปโภคด้านพลังงานได้[2]

ในระหว่างการประชุมสุดยอดวันแรก เมื่อ 19 พฤศจิกายน รัฐสมาชิกได้ตกลงยอมรับแผนยุทธศาสตร์ใหม่ซึ่งจะเป็นแผนพันธกิจของพันธมิตรเป็นเวลา 10 ปี เอกสารดังกล่าวได้แสดงถึงความสำคัญของการแก้ไขปัญหาถึงความมั่นคงระหว่างประเทศ การให้ความสำคัญอีกครั้งกต่อความรับผิดชอบที่จะร่วมมือกับสมาชิกในอนาคตและรัสเซีย[3][4] เอกสารที่มีความยาว 11 หน้านี้มีชื่อเรื่องว่า "ข้อตกลงแข็งขัน การป้องกันสมัยใหม่"[5]

อัฟกานิสถาน[แก้]

ประธานาธิบดีอัฟกานิสถาน ฮามิด การ์ไซ ได้เข้าร่วมการประชุมเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน โดยกล่าวว่าเขาต้องการให้เนโทคืนการปกครองประเทศภายในปลายปี พ.ศ. 2557[6] ก่อนหน้าการประชุม นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร เดวิด คาเมรอน ได้กล่าวว่า "การประชุมสุดยอดเนโทในลิสบอนถูกจัดขึ้นเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการส่งผ่านความรับผิดชอบด้านความมั่นคงให้กับกองทัพอัฟกานิสถานอย่างต่อเนื่อง"[7]

ในระหว่างการประชุมกับการ์ไซ รัฐสมาชิกได้ตกลงที่จะถอนปฏิบัติการรบอย่างต่อเนื่องจนถึง พ.ศ. 2557 หลังจากนั้น รัฐเนโทจะยังคังให้การสนับสนุนด้านการฝึกและให้คำแนะนำแก่กองทัพแห่งชาติอัฟกานิสถาน เลขาธิการเนโทได้กล่าวว่า "เราจะเริ่มกระบวนการโดยรัฐบาลอัฟกานิสถานจะเป็นผู้นำในการรักษาความมั่นคงภายในประเทศ อำเภอต่ออำเภอ"[8] ถึงแม้ว่ารัฐสมาชิกจะกำหนดให้ถอนทหารออกจากอัฟกานิสถานในปี พ.ศ. 2557 แต่หลายประเทศก็ได้กล่าวว่าการถอนกำลังทหารของตนจะเกิดขึ้นนอกเหนือจากการตัดสินใจของเนโท[8]

รัสเซีย[แก้]

ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2553 ราสมูสเซนได้ประกาศว่าประธานาธิบดีรัสเซีย ดมิทรี เมดเวเดฟ จะได้รับเชิญเข้าร่วมการประชุมด้วย[9] เมดเวเดฟได้ตอบตกลงที่จะเข้าร่วมหลังจากได้ประชุมกับประธานาธิบดีฝรั่งเศส นีกอลา ซาร์กอซี และนายกรัฐมนตรีเยอรมนี อังเงลา แมร์เคิล[10] ในระหว่างการประชุมสุดยอดดังกล่าวยังได้จัดการประชุมสภาเนโท-รัสเซียขึ้นเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ได้เริ่มก่อตั้งในปี พ.ศ. 2545 ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียและเนโทตึงเครียดนับตั้งแต่สงครามเซาท์ออสซีเชีย 2008 ซึ่งรัสเซียได้สนับสนุนและยอมรับพื้นที่ซึ่งแยกตัวออกมาจากจอร์เจีย ได้แก่ เซาท์ออสซีเชียและอับฮาเซีย

ก่อนหน้าการประชุม บทความในเดอะอีโคโนมิสท์ได้รายงานว่ารัสเซียอาจมีความกระตือรือร้นมากขึ้นที่จะร่วมมือกับประเด็นปัญหาของเนโทและอาจให้สัญญาที่จะสนับสนุนด้านกำลังพลไปยังอัฟกานิสถาน[2] ในการประชุม รัสเซียตกลงที่จะสนับสนุนโครงการการป้องกันขีปนาวุธที่เนโทต้องการจะพัฒนา รัสเซียยังได้ให้การสนับสนุนปฏิบัติการของเนโทในอัฟกานิสถานต่อไปโดยการอนุญาตให้มีการขนส่งเสบียงผ่านน่านฟ้ารัสเซียมากขึ้นและจัดหาเฮลิคอปเตอร์มิลมี-17 ให้แก่อัฟกานิสถานด้วย[11]

การป้องกันขีปนาวุธ[แก้]

ในวันแรกของการประชุม ผู้นำได้ตกลงที่จะสร้างโครงการระบบป้องกันขีปนาวุธที่จะมีขีดความสามารถครอบคลุมถึงรัฐสมาชิกทุกประเทศในยุโรป ตลอดจนถึงสหรัฐอเมริกาและแคนาดา[12][13] ระบบที่ได้รับการเสนอนั้นเคยเป็นจุดขัดแย้งระหว่างเนโทและรัสเซีย แต่ประธานาธิบดีรัสเซีย ดมิทรี เมดเวเดฟ ซึ่งเข้าร่วมการประชุม ได้แสดงความกระตือรือร้นมากยิ่งขึ้นที่จะร่วมมือกับเนโทในด้านดังกล่าว[14]

อ้างอิง[แก้]

  1. Childs, Nick (13 October 2010). "Nato considers new mission statement". BBC. สืบค้นเมื่อ 19 November 2010.
  2. 2.0 2.1 "Fewer dragons, less snakes". The Economist. 11 November 2010. สืบค้นเมื่อ 19 November 2010.
  3. "NATO adopts a new Strategic Concept". NATO. 19 November 2010. สืบค้นเมื่อ 19 November 2010.
  4. "NATO approves new strategic concept". Reuters. 19 November 2010. สืบค้นเมื่อ 19 November 2010.
  5. "Strategic Concept For the Defence and Security of The Members of the North Atlantic Treaty Organisation" (PDF). NATO. สืบค้นเมื่อ 19 November 2010.
  6. "Nato to debate Afghanistan at crucial Lisbon summit". BBC. 18 November 2010. สืบค้นเมื่อ 19 November 2010.
  7. Reynolds, Paul (18 November 2010). "What does Nato hope to achieve?". BBC. สืบค้นเมื่อ 19 November 2010.
  8. 8.0 8.1 Dempsey, Judy (20 November 2010). "NATO Agrees to Assist Afghanistan Past 2014". New York Times. สืบค้นเมื่อ 20 November 2010.
  9. "NATO-Russia Council Summit to take place in Lisbon". NATO. 19 October 2010. สืบค้นเมื่อ 19 November 2010.
  10. "Medvedev to attend NATO summit in Lisbon". Global Security.org. 19 October 2010. สืบค้นเมื่อ 19 November 2010.
  11. http://www.reuters.com/article/idUSTRE6AJ1EA20101120
  12. "NATO Members Back Joint Missile Defense System". NPR. 19 November 2010. สืบค้นเมื่อ 19 November 2010.
  13. "Obama: Missile defence shield for all Nato members". BBC. 19 November 2010. สืบค้นเมื่อ 19 November 2010.
  14. Parsons, Christi and Sergei L. Loiko (19 November 2010). "At Portugal NATO meeting, Obama to discuss Afghanistan; Medvedev to focus on missile shield". Los Angeles Times. สืบค้นเมื่อ 19 November 2010.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]