ข้ามไปเนื้อหา

ไอแซก ซิงเกอร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ไอแซก ซิงเกอร์
เกิดไอแซก เมอร์ริต ซิงเกอร์
27 ตุลาคม ค.ศ. 1811(1811-10-27)
พิตต์สทาวน์, นิวยอร์ก
เสียชีวิต23 กรกฎาคม ค.ศ. 1875(1875-07-23) (63 ปี)
Paignton, เดวอน, สหราชอาณาจักร
สัญชาติสหรัฐ
บิดามารดาAdam Singer กับ Ruth Beson
แม่แบบ:Infobox engineering career

ไอแซก เมอร์ริต ซิงเกอร์ (อังกฤษ: Isaac Merritt Singer - 26 ตุลาคม พ.ศ. 2354 - 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2418) นักประดิษฐ์ นักแสดงและผู้ประกอบการชาวอเมริกัน ผู้ทำการออกแบบปรับปรุงส่วนสำคัญของจักรเย็บผ้าและเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทซิงเกอร์จักรเย็บผ้า

ชีวิตในวัยเยาว์

[แก้]

ไอแซก ซิงเกอร์ เกิดที่เมืองพิตส์ทาวน์ นิวยอร์ก เป็นบุตรของแอดัม ซิงเกอร์ผู้อพยพชาวแซกซอนเชื้อสายยิว ซิงเกอร์เข้าเป็นนักแสดงในคณะลครเร่ ทำให้เขามีรายได้ทั้งจากการเป็นนักแสดงและการเป็นช่าง และได้แต่งงานกับ แคทรีน มาเรีย ฮาเลย์เมื่อ พ.ศ. 2373

ปี พ.ศ. 2378 ซิงเกอร์พร้อมครอบครัวได้ย้ายไปอยู่นครนิวยอร์กและเข้าทำงานในโรงงานแห่งหนึ่งและในปี พ.ศ. 2379 เขาได้ออกเดินทางในฐานะตัวแทนล่วงหน้าคณะนักแสดงผ่านไปถึงบัลติมอร์ได้พบและขอแต่งงานกับแมรี แอนน์ สปอนส์เลอร์ ซิงเกอร์ได้กลับนิวยอร์กและมีบุตรสาวชื่อลิเลียนเมื่อ พ.ศ. 2380

แมรี แอนน์ได้มานิวยอร์กและพบว่าซิงเกอร์เป็นชายที่แต่งงานแล้ว แต่เธอกับซิงเกอร์ก็ได้กลับไปบัลติมอร์อีกในฐานะคู่สมรสและมีบุตรชายด้วยกันชื่อไอแซก

ผลงานประดิษฐ์ชิ้นแรก

[แก้]

ในปี พ.ศ. 2382 ซิงเกอร์ได้จดสิทธิบัตรเครื่องเจาะหินและขายสิทธิบัตรเป็นเงิน 2,000 เหรียญซึ่งเป็นจำนวนเงินมากมายกว่าทุกครั้งที่เขาเคยมีรายได้ และด้วยความสำเร็จด้านการเงิน ซิงเกอร์จึงหันกลับไปยึดอาชีพนักแสดงอย่างเต็มตัว เขาตั้งคณะละครเร่ชื่อ "เมอร์ริตต์นักแสดง" ออกเดินทางเร่แสดงและใช้ชื่อตนในฐานะนักแสดงว่า "ไอแซก เมอร์ริตต์" และมีแมรี แอนน์ร่วมแสดงด้วยโดยใช้ชื่อว่า "นางเมอร์ริตต์" งานเร่แสดงเป็นไปเป็นเวลาประมาณ 5 ปี

ในปี พ.ศ. 2387 ซิงเกอร์หันกลับมาทำงานด้านช่างอีกในโอไฮโอและย้ายไปอยู่ที่พิตส์เบิร์กในปี พ.ศ. 2389 และตั้งโรงงานช่างไม้ทำตัวหนังสือและป้ายไม้ และที่นี่เองที่ฮได้ประดิษฐ์และจดสิทธิบัตร "เครื่องแกะสลักไม้และโลหะ" เมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2392

เมื่ออายุ 38 ปี ซิงเกอร์พร้อมภรรยา 2 คนและลูกๆ 8 คนอพยพกลับไปอยู่นิวยอร์กอีกครั้งหนึ่งเพื่อเริ่มจัดจำหน่ายเครื่องมือที่เขาประดิษฐ์ขึ้น และด้วยการหาเงินลงทุนล่วงหน้าได้ก้อนหนึ่งเขาก็ได้เริ่มสร้างเครื่องมือต้นแบบและยังได้รับข้อเสนอให้ไปสร้างโรงงานผลิตเครื่องมือที่บอสตัน ในปี พ.ศ. 2393 ซิงเกอร์ไปไปตั้งเครื่องแกะสลักของเขาที่โรงงานของออร์สัน ซี เฟลพ์ที่ซึ่งเป็นที่ผลิตเครื่องเย็บผ้าลีโลว์และบลอดเจตต์ ในขณะที่ยังไม่มีใบสั่งซื่อเครื่องแกะสลักไม้ เฟลพ์เจ้าของโรงงานจึงขอให้ซิงเกอร์ช่วยดูเครื่องเย็บผ้าดังกล่าวที่ผลิตอยู่ซึ่งนอกจากจะใช้งานยากแล้วยังผลิตยากอีกด้วย ซิงเกอร์ได้แนะว่าเครื่องเย็บจะทำงานได้ดีขึ้นหากทำให้กระสวยเดินเป็นเส้นตรงแทนที่จะเดินเป็นวงโดยใช้เข็มตรงแทนที่เข็มรูปโค้ง

ซิงเกอร์ได้รับเงินทุนอีกครั้งหนึ่งจากจอร์จ บี ซีเบอร์ซึ่งได้ร่วมเป็นหุ้นส่วนกันรวมทั้งเฟลพ์ด้วยและตั้งชื่อเครื่องว่า "จักรเย็บผ้าเจนนี ลินด์" ตามชื่อนักร้องสาวชาวสวีเดนที่โด่งดังในยุคนั้น จักรเย็บผ้าต้นแบบของซิงเกอร์นับเป็นจักรตัวแรกของโลกที่ทำการเย็บได้จริงและได้รับการจดสิทธิบัตรเมื่อวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2394 และเมื่อเริ่มจำหน่ายชื่อจักรที่ตั้งว่า "เจนนี ลินด์" กลับไม่มีคนเรียกแต่ไปเรียกกันแพร่หลายทั่วไปว่า "จักรซิงเกอร์"

การออกแบบจักรเย็บผ้า

[แก้]

ซิงเกอร์ไม่ได้เป็นผู้ประดิษฐ์จักรเย็บผ้า และเขาก็ไม่เคยอ้างตนเป็นผู้ประดิษฐ์ เมื่อเขาเห็นจักรครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2393 นั้นก็เป็นการประดิษฐ์คิดค้นครั้งที่ 4 แล้ว จักรเย็บผ้าตัวก่อนของวอลเตอร์ ฮันท์ใช้วิธีเย็บแบบลูกโซ่วึ่งมีข้อเสียที่ด้ายมักยุ่งพันกัน จักรของฮันท์ใช้การเย็บวิธีจับยึดเช่นเดียวกับของลีโรว์และบลอดเจตต์ที่ซิงเกอร์ได้ทำการปรับปรุงแก้ไขที่โรงงานของเฟลพ์ เอลีแอส โฮว์ได้ประดษฐ์จักรเย็บผ้าโดยอิสสระซึ่งได้จดลิขสิทธิ์เมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2389 ไว้เช่นกัน

ได้เกิดสงครามแย่งชิงลิขสิทธิ์จักรเย็บผ้าขึ้นระหว่างซิงเกอร์และโฮว์ ซิงเกอร์ได้พบว่าการปรับปรุงของโฮว์เป็นการใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่ก่อนแล้ว โดยการพบจักรตัวเก่าของโฮว์ซึ่งที่จริงเป็นการใช้กระสวยแบบจับยึด ส่วนฮันท์ซึ่งยื่นขอจดลิขสิทธิ์ในปี พ.ศ. 2396 ได้อ้างว่าได้ลิขสิทธิ์ก่อนโฮว์ 7 ปี การฟ้องร้องคดี "ฮันท์และโฮว์" ขึ้นศาลในปี พ.ศ. 2397 โดยโฮว์เป็นผู้ชนะคดีและได้หันมาฟ้องศาลขอให้ยับยั้งซิงเกอร์ในการจำหน่ายจักรซิงเกอร์

จักรเย็บผ้าซิงเกอร์: ภาพถ่ายโดยวินเซน เดอ กรูท

บริษัท ไอ เอ็ม ซิงเกอร์

[แก้]

ในปี พ.ศ. 2399 ผู้ผลิตทั้งหลายคือ โกรเวอร์ เบเกอร์ ซิงเกอร์ วีลเลอร์และวิลสันซึ่งต่างฟ้องร้องซึ่งกันและกันว่าเป็นผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ได้มาพบกันที่แอลบานี นิวยอร์กเพื่อติดตามคดี โอลานโด บี พอตเตอร์ ทนายความและประธานบริษัทโกรเวอร์และเบเกอร์ได้เสนอว่าแทนที่จะฟ้องร้องกันจนสิ้นเนื้อประดาตัวทำไมไม่เอาลิขสิทธิ์มารวมกัน ทำให้เกิด "ลิขสิทธิ์กองรวม" (Patent pool) ขึ้นเป็นครั้งแรกเป็นกระบวนการซึ่งเอื้อให้มีการพัฒนาเครื่องจักรกลที่ซับซ้อนได้โดยไม่ต้องพะวงสงครามกฎหมายลิขสิทธิ์ ทั้งหมดตกลงและจัดตั้งบริษัทสหการจักรเย็บผ้า แต่ก็ยังต้องเผชิญปัญหากับเอลีแอส โอว์ผู้ซึ่งมีลิขสิทธิ์ในส่วนสำคัญของจักรอยู่ซึ่งแปลว่าจะต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้แก่โฮว์สำหรับจักรทุกตัวที่ผลิตซึ่งโฮว์ยอมเงื่อนไข การผลิตจักรเย็บผ้าในปริมาณมากจึงเกิดขึ้น บริษัท ไอ เอ็ม ซิงเกอร์ได้ผลิตจักรเย็บผ้าได้ 2,564 ตัวในปี พ.ศ. 2399 และ 13,000 ตัวในปี พ.ศ. 2403 ที่โรงงานใหม่ถนนมอตต์ นิวยอร์ก

จักรเย็บผ้าที่ผลิตในช่วงแรกเป็นจักรประเภทอุตสาหกรรมการตัดเย็บ จักรขนาดเล็กส่วนบุคคลสำหรับใช้ในงานตลาดยุโรป สร้างโรงงานในอังกฤษใกล้เมือง กลาสโกว์ นับเป็นเป็นการดำเนินธุรกิจข้ามชาติเป็นครั้งแรกของอเมริกาโดยมีตัวแทนจำหน่ายในปารีสและริโอเดอจาไนโร

การประสบความสำเร็จทางการเงิน

[แก้]

ความสำเร็จทางการเงินทำให้ซิงเกอร์สามารถซื้อคฤหาสน์ที่ถนนฟิฟท์อเวนู ในปี พ.ศ. 2403 เขาหย่ากับภรรยาคนแรกในข้อหาการมีชู้และอยู่กินกับแมรี แอนน์ต่อไปจนกระทั่งเธอได้เห็นเขานั่งรถคู่มากับพนักงานบริษัทชื่อแมรี แมกโกนิกัลผู้ต้องสงสัยมานาน ซิงเกอร์มีบุตรกับแมรี แมกโกนัล 5 คน โดยใช้นามสกุลแมททิว แมรี แอนน์ ซึ่งยังเรียกตัวเองว่านางซิงเกอร์ได้แจ้งจับซิงเกอร์ในข้อหาทะเลาะวิวาท ซิงเกอร์ผู้ได้รับความอับอายได้รับการประกันตัวและหลบไปอยู่ลอนดอนพร้อมกับแมกโกนัล หลังจากนั้นก็เกิดการอย่าร้างของครอบครัว "ไอแซก" ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง และได้แต่งงานใหม่อีกกับแมรี อีสท์วูดโดยใช้นามสกุลว่า "เมอร์ริต" ซิงเกอร์มีลูกทั้งหมดรวม 18 คนจากภรรยา 4 คน (ปัจจุบันลูก 18 คนยังมีชีวิตอยู่)

แมรี แอนน์พบกับไอแซกที่ลอนดอนได้ทำข้อตกลงเรียกร้องเรื่องทรัพย์สินโดยอ้างว่าแม้ไม้ได้จดทะเบียนถูกต้องแต่ก็ถือว่าถูกกฎหมายเนื่องจากได้อยู่กินด้วยกันเป็นเวลา 7 เดือนในระหว่างที่ไอแซกหย่าขาดจากแคทรีนภริยาคนแรกแล้วซึ่งเป็นที่ตกลงกันได้

ชีวิตช่วงสุดท้ายในยุโรป

[แก้]

ในปี พ.ศ. 2406 ได้มีความเห็นร่วมกันยกเลิกบริษัทไอ เอม ซิงเกอร์ และดำเนินกิจการต่อโดย "บริษัทซิงเกอร์" ตัวซิงเกอร์เองได้ลดบทบาทในงานบริหารจัดการประจำวันลงโดยทำหน้าที่เพียงเป็นกรรมการอำนวยการและผู้ถือหุ้นใหญ่

ถึงตอนนี้ ซิงเกอร์ก็เริ่มเพิ่มจำนวนครอบครัวอีกโดยมีลูกกับอิซาเบลลาอีก 6 คน และเนื่องจากปัญหายอกย้อนในการมีครอบครัวในอดีตทำให้เขาไม่สามารถกลับไปอยู่ในนิวยอร์กได้อีก ได้อพยพไปอยู่ปารีสในเวลาต่อมาและไม่ได้กลับอเมริกาอีกเลย เมื่อเกิดสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย ซิงเกอร์และครอบครัวหนีไปอยู่ในอังกฤษและสร้างคฤหาสน์ใหญ่ที่เดวอน 9 วันหลังงานแต่งงานของลูกสาวคนหนึ่ง ไอแซก ซิงเกอร์ก็ได้เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดลมอักเสบและถูกฝังที่สุสานทอร์เควย์ในประเทศอังกฤษ

ทรัพย์สินและมรดก: ครอบครัวหลังมรณกรรม

[แก้]

ซิงเกอร์ทิ้งทรัพย์สินมรดกเป็นมูลค่าประมาณ 14 ล้านเหรียญสหรัฐและพินัยกรรม 2 ฉบับ เว้นบางคนได้ด้วยเหตุผลต่างๆ สร้างความวุ่นวายขึ้นในระหว่างสมาชิกครอบครัวทำให้เกิดการฟ้องร้องกันขึ้น แมรี แอนน์อ้างสิทธิ์การเป็น "นางซิงเกอร์" ที่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งในที่สุดศาลตัดสินให้อิซาเบลลาเป็นแม่หม้ายที่ถูกต้องตามกฎหมายซึ่งต่อมาได้แต่งงานกับนักดนตรีชาวเบลเยี่ยมชื่อ วิกเตอร์ รูบซีท ผู้ซึ่งได้ตำแหน่งวิสคอมเต เดอ เอสเตมบอร์ก ตำแหน่งวาติกันว่าดยุกแห่งแคมโปเซลิซ

ลูกคนที่ 18 ของซิงเกอร์แต่งงานกับเจ้าชายคนหนึ่งเมื่ออายุ 22 ปี ต่อมาหย่าขาดมาแต่งกับเจ้าชายอีกคนหนึ่งในปี พ.ศ. 2436 และเธอได้กลายเป็นผู้อุปถัมภ์คนสำคัญในดนตรีฝรั่งเศสสมัยใหม่ อิซาเบลลาฆ่าตัวตายในปี พ.ศ. 2439 บุตรชายคนหนึ่งได้เป็นผู้ให้เงินอุดหนุนมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในประเทศอังกฤษตะวันตกเฉียงใต้ซึ่งต่อมาคือมหาวิทยาลัยเอกซีเตอร์ ซึ่งได้ตั้งชื่ออาคารหลังหนึ่งว่า อาคารวอชิงตัน ซิงเกอร์เพื่อเป็นเกียรติแก่เขา

อ้างอิง

[แก้]
  1. Klepper, Michael; Gunther, Michael (1996), The Wealthy 100: From Benjamin Franklin to Bill Gates—A Ranking of the Richest Americans, Past and Present, Secaucus, New Jersey: Carol Publishing Group, p. xiii, ISBN 978-0-8065-1800-8, OCLC 33818143