ไห่รุ่ย
ไห่รุ่ย | |
---|---|
เกิด | 23 มกราคม ค.ศ. 1514 ไหโข่ว |
ถึงแก่กรรม | 13 พฤศจิกายน ค.ศ. 1587 หนานจิง | (73 ปี)
สุสาน | ไหโข่ว |
สัญชาติ | จีน |
ไห่รุ่ย (จีน: 海瑞, 23 มกราคม 1514 – 13 พฤศจิกายน 1587) เป็นขุนนางและนักปราชญ์ชาวจีนสมัยราชวงศ์หมิง เป็นที่จดจำในฐานะแบบอย่างของขุนนางผู้ซื่อสัตย์และสุจริตในราชสำนัก
ประวัติ
[แก้]ไห่รุ่ยเกิดเมื่อวันที่ 23 มกราคม 1514 ที่เมืองไหโข่ว ในปลายรัชสมัยจักรพรรดิเจิ้งเต๋อ บิดาของเขาเสียชีวิตเมื่ออายุ 3 ขวบ และเขาได้รับการเลี้ยงดูโดยมารดาที่นับถือศาสนาอิสลาม[1] พ่อของปู่ทวดของเขาเป็นชาวอาหรับชื่อ ไห่ ต้าเอ๋อร์ และมารดาของเขาเป็นมุสลิม (ชาวหุย) มีบรรพบุรุษมาจากอนุทวีปอินเดีย[2] อย่างไรก็ตาม ไห่รุ่ยเองก็บันทึกว่าตัวเองเป็นนักปราชญ์ลัทธิขงจื๊อใหม่ และไม่เคยกล่าวถึงศาสนาอิสลามในผลงานของเขา[1][3]
แม้ว่าไห่จะเข้าสอบขุนนาง แต่เขาก็สอบไม่ผ่าน และเริ่มต้นรับราชการในปี 1553 เมื่ออายุ 39 ปี กับตำแหน่งเสมียนประจำสำนักงานการศึกษาในมณฑลฝูเจี้ยน เขาเป็นที่รู้จักในฐานะผู้ยึดมั่นในศีลธรรมอันดีงาม ซื่อสัตย์สุจริต อดออม และยุติธรรม เขาได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางจากประชาชน เห็นได้จากการที่เขาได้รับการยกย่องในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่เขาก็สร้างศัตรูไว้มากมายในระบบราชการ อย่างไรก็ตาม เขาถูกเรียกตัวเข้าสู่กรุงปักกิ่งและเลื่อนตำแหน่งเป็นเลขานุการกระทรวงครัวเรือน ในปี 1565 ขุนนางผู้นี้ได้ทำหนังสือวิพากษ์วิจารณ์จักรพรรดิเจียจิ้งอย่างรุนแรงว่าละเลยพระราชกิจ และนำพาความหายนะมาสู่พระราชอาณาจักร[4] เขาถูกจำคุกและตัดสินประหารชีวิตในปี 1566 เขาได้รับการปล่อยตัวหลังจากจักรพรรดิสวรรคตในต้นปี 1567[1]
ไห่รุ่ยได้รับแต่งตั้งอีกครั้งเป็นขุนนางชั้นผู้น้อยที่จี๋หลี่ใต้ ในรัชสมัยจักรพรรดิหลงชิ่ง พระราชโอรสและรัชทายาทของจักรพรรดิเจียจิ้ง แต่เขาถูกบีบให้ลาออกในปี 1570 หลังจากมีการร้องเรียนเกี่ยวกับการจัดการปัญหาการถือครองที่ดินที่เข้มงวดเกินไปของเขา นายทุนเงินกู้รายใหญ่ในจังหวัดถูกกล่าวหาว่าปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยโหดให้กับเจ้าของที่ดินรายย่อยและผู้เช่า จากนั้นยึดที่ดินของพวกเขาเป็นหลักประกัน ไห่รุ่ยทุ่มเทเวลาในการสืบสวนคดีเหล่านี้ กดดันให้นายทุนเงินกู้คืนที่ดินให้กับเจ้าของเดิม แต่ถูกเจ้าหน้าที่กล่าวหาว่าละเมิดขั้นตอนและส่งเสริมการร้องเรียนไร้สาระ ก่อนถูกยื่นเรื่องถอดถอน[5]
ไห่รุ่ยได้เลื่อนเป็น censor-in-chief of Nanjing ในปี 1586 แต่ถึงแก่กรรมในตำแหน่งหลังจากดำรงตำแหน่งได้เพียงปีเดียว[1] เขาได้รับนามหลังมรณกรรมว่า จงเจี๋ย (忠介)
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 Goodrich, L. Carrington; Chaoying Fang, บ.ก. (1976). Dictionary of Ming Biography, 1368–1644. Vol. 1. Columbia University Press. pp. 474–479. ISBN 978-0231038331.
- ↑ Wagner, Rudolf G. (1997). Jonathan Unger (บ.ก.). Using the Past to Serve the Present: Historiography and Politics in Contemporary China. M.E. Sharpe. p. 99. ISBN 9780873327480.
- ↑ Tan Ta Sen (2009). Cheng Ho and Islam in Southeast Asia. Institute of Southeast Asian Studies. p. 114. ISBN 978-9812308375.
- ↑ Frederick W. Mote (2003). Imperial China 900–1800. Harvard University Press. ISBN 978-0674012127.
- ↑ Ray Huang (1981). 1587: A Year of No Significance. Yale University. pp. 138–140. ISBN 0-300-02884-9.