ไชนาแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ 140

พิกัด: 35°14′43″N 136°55′56″E / 35.2453°N 136.9323°E / 35.2453; 136.9323
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ไชนาแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ 140
เครื่องบินแอร์บัส เอ300 ของไชนาแอร์ไลน์ซึ่งคล้ายกับเครื่องบินลำที่เกิดเหตุ
สรุปAccident
วันที่26 เมษายน ค.ศ. 1994
สรุปเครื่องบินอยู่ในภาวะร่วงหล่น (stall) เนื่องจากความผิดพลาดของนักบินและการฝึกหัดที่บกพร่อง
จุดเกิดเหตุคาซูงาอิ ใกล้กับนาโงยะ จังหวัดไอจิ
ญี่ปุ่น ประเทศญี่ปุ่น
35°14′43″N 136°55′56″E / 35.2453°N 136.9323°E / 35.2453; 136.9323
อากาศยานลำที่เกิดเหตุ
ประเภทอากาศยานแอร์บัส เอ300บี4-622อาร์
ดําเนินการโดยไชนาแอร์ไลน์
ทะเบียนB-1816
ต้นทางท่าอากาศยานนานาชาติเจียง ไคเชก
เถา-ยฺเหวียน ประเทศไต้หวัน
ปลายทางท่าอากาศยานนานาชาตินาโงยะ-โคมากิ
โคมากิ จังหวัดไอจิ ประเทศญี่ปุ่น
ผู้โดยสาร256
ลูกเรือ15
เสียชีวิต264
รอดชีวิต7

ไชนาแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ 140 เป็นเที่ยวบินจากท่าอากาศยานนานาชาติเจียง ไคเชก กรุงไทเป ประเทศไต้หวัน ไปยังท่าอากาศยานนานาชาตินาโงยะ-โคมากิ นครนาโงยะ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งประสบอุบัติเหตุตกขณะกำลังลงจอดที่นาโงยะเมื่อวันที่ 26 เมษายน ค.ศ. 1994 มีผู้เสียชีวิต 264 คน นับเป็นอุบัติเหตุทางการบินที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของไชนาแอร์ไลน์ และร้ายแรงที่สุดเป็นอันดับสองของประเทศญี่ปุ่นรองจากเจแปนแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ 123 ซึ่งตกเมื่อ ค.ศ. 1985[1]

เที่ยวบิน[แก้]

แผนผังที่นั่งบนเที่ยวบินที่ 140

เที่ยวบินที่ 140 ขึ้นบินจากท่าอากาศยานนานาชาติเจียง ไคเชกเมื่อเวลา 16:53 น. ตามเวลาท้องถิ่นในไต้หวัน (UTC+08:00) ซึ่งเร็วกว่าประเทศไทย 1 ชั่วโมง มีปลายทางที่ท่าอากาศยานนาโงยะ-โคมากิ นักบินประกอบด้วยกัปตันหวัง เล่อฉี (จีน: 王樂琦; พินอิน: Wáng Lèqí) อายุ 42 ปี และผู้ช่วยกัปตันจวง เมิ่งหรง (莊孟容; Zhuāng Mèngróng) อายุ 26 ปี[2][3] ไม่มีเหตุการณ์ผิดปกติเกิดขึ้นระหว่างเดินทาง นักบินเริ่มลดระดับเมื่อเวลา 19:47 น. และเครื่องบินผ่านจุดระบุตำแหน่ง (marker beacon) ด้านนอกเวลา 20:12 น. เครื่องบินลดระดับมาถึงระดับความสูง 1,000 ฟุต (300 เมตร) ที่ระยะทาง 3 ไมล์ทะเล (5.6 กิโลเมตร) จากปลายรันเวย์ก่อนจะรักษาระดับเดิมไว้ประมาณ 15 วินาที และลดระดับต่อมาจนถึงระดับความสูง 500 ฟุต (150 เมตร) นักบินได้เร่งเครื่องยนต์เพื่อเพิ่มแรงขับสองครั้งติดต่อกันก่อนที่ส่วนหัวของเครื่องบินจะเชิดขึ้นทำมุมสูง ความเร็วลมลดลงอย่างรวดเร็ว เครื่องบินอยู่ในภาวะร่วงหล่น (stall) และกระแทกพื้นในเวลา 20:15:45 น. โนริยาซุ ชิราอิ ผู้รอดชีวิตได้ให้สัมภาษณ์ว่าพนักงานบนเครื่องบินแจ้งว่าเครื่องบินกำลังตกหลังจากที่เครื่องเข้าสู่ภาวะร่วงหล่นแล้ว[4] ซิลวานี เดโตนิโอ ซึ่งรอดชีวิตก่อนจะเสียชีวิตในวันที่ 27 เมษายนได้ให้สัมภาษณ์ว่าผู้โดยสารไม่ได้รับคำเตือนก่อนเกิดเหตุ[5] ผู้โดยสารที่รอดชีวิตทั้งหมดนั่งอยู่ระหว่างแถวที่ 7 และ 15

วันที่ 27 เมษายน เจ้าหน้าที่ได้แจ้งว่ามีผู้รอดชีวิต 10 คน ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นเด็กอายุ 3 ขวบ โดยแบ่งเป็นชาวญี่ปุ่น 7 คน ชาวไต้หวัน 2 คน และชาวฟิลิปปินส์ 1 คน[5] อย่างไรก็ตาม ผู้รอดชีวิตเหลือเพียง 7 คนในวันที่ 6 พฤษภาคม ซึ่งในจำนวนนี้มีเด็กอยู่ด้วย 3 คน[4]

การสืบสวน[แก้]

อุบัติเหตุครั้งนี้มีสาเหตุจากความผิดพลาดของนักบิน พวกเขาไม่สามารถแก้ไขการควบคุมเครื่องและความเร็วพร้อมกันได้[6] เก้าเดือนก่อนเกิดเหตุ แอร์บัสได้แจ้งเตือนลูกค้าให้ปรับปรุงระบบควบคุมเพื่อให้ระบบออโตไพลอตหยุดทำงานเมื่อนักบินขยับคันบังคับไปในทางที่กำหนดระหว่างที่เครื่องอยู่ในโหมดโกอะราวด์[7] "ทางที่กำหนด" ดังกล่าวรวมไปถึงการดันคันบังคับไปข้างหน้า ซึ่งเป็นสิ่งที่นักบินเที่ยวบินที่ 140 ทำก่อนตก ไชนาแอร์ไลน์วางแผนว่าจะรอปรับปรุงเครื่องบินลำที่เกิดเหตุตอนที่เครื่องบินลำดังกล่าวจะเข้าตรวจซ่อมบำรุงครั้งสำคัญ เพราะมองว่าการปรับปรุงนั้นไม่เร่งด่วน[7] ซึ่งเป็นปัจจัยร่วมกับความผิดพลาดของนักบินที่นำไปสู่อุบัติเหตุในที่สุด[6] นอกจากนี้ยังพบว่านักบินฝึกอบรมการบินกับเครื่องบินแอร์บัส เอ300 ที่ศูนย์จำลองการบินในกรุงเทพมหานคร ซึ่งชุดฝึกอบรมดังกล่าวไม่ได้รวมปัญหาระหว่างโกอะราวด์เข้าไปด้วย ทำให้นักบินเข้าใจว่าถ้าดันคันบังคับไปข้างหน้าก็น่าจะเพียงพอที่จะทำให้ออโตไพลอตหยุดทำงาน เนื่องจากเครื่องบินโบอิง 747 ที่เขาคุ้นเคยก็ใช้วิธีการเดียวกัน[8]

หลังเกิดเหตุ[แก้]

กรมการบินพลเรือน (Civil Aeronautics Administration) ของประเทศไต้หวันสั่งการให้ไชนาแอร์ไลน์ปรับปรุงระบบตามที่แอร์บัสแจ้ง พร้อมทั้งปรับปรุงการฝึกอบรมและทดสอบนักบิน โดยให้ดำเนินการอย่างเร็วที่สุด[7]

ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2003 ศาลแขวงนาโงยะได้พิพากษาให้ไชนาแอร์ไลน์จ่ายค่าเสียหายให้ผู้รอดชีวิตและญาติของผู้เสียชีวิต 232 รายรวม 5 ล้านเยน ในขณะที่แอร์บัสนั้นศาลแขวงนาโงยะพิพากษายกฟ้อง อย่างไรก็ตาม ผู้รอดชีวิตและญาติของผู้เสียชีวิตบางส่วนเห็นว่าค่าเสียหายที่ได้นั้นยังไม่เพียงพอ จึงยื่นอุทธรณ์ ในเดือนเมษายน ค.ศ. 2007 ไชนาแอร์ไลน์ยินยอมที่จะจ่ายค่าเสียหายเพิ่มเติม[9]

การรำลึกครบรอบ 20 ปีของอุบัติเหตุครั้งนี้มีขึ้นเมื่อวันที่ 26 เมษายน ค.ศ. 2014 ที่เมืองคาซูงาอิ จังหวัดไอจิ โดยมีผู้เข้าร่วมประมาณ 300 คน[10]

อ้างอิง[แก้]

  1. "ASN Aircraft accident Airbus A300B4-622R B-1816 Nagoya-Komaki International Airport (NGO)". Aviation Safety Network. สืบค้นเมื่อ 16 November 2018.
  2. Landers, Peter (1 May 1994). "'It's over, it's over'/Recorder details cockpit panic aboard doomed plane". Houston Chronicle. Associated Press. p. A30. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-05-21. สืบค้นเมื่อ 25 April 2013.
  3. "華航名古屋空難 四人獲不起訴 เก็บถาวร 2007-09-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน." Liberty Times. Tuesday 10 April 2001 (90th year of the Republic, 中華民國90年4月10日 星期二). Retrieved on 25 July 2012.
  4. 4.0 4.1 "China Air co-pilot over limit for DWI." Associated Press at Houston Chronicle. Friday 6 May 1994. A26. Retrieved on 22 March 2009.
  5. 5.0 5.1 Thurber, David (27 April 1994). "261 die in crash of China Airlines Airbus in Japan". Houston Chronicle. Associated Press. p. A14. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 May 2011. สืบค้นเมื่อ 14 June 2009.
  6. 6.0 6.1 "Nagoya A300 Accident Report". Sunnyday.mit.edu. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 July 2018. สืบค้นเมื่อ 26 April 2013.
  7. 7.0 7.1 7.2 Nakao, Masayuki. "China Airlines Airbus A300-600R (Flight 140) Missed Landing and Goes Up in flame at Nagoya Airport" () Japan Science and Technology Agency. Retrieved on 25 December 2008. Descent path(), Primary scenario()
  8. "Deadly Go-Around". Mayday. ฤดูกาล 18. ตอน 9. 2018-06-27.
  9. "Kin settle over 1994 China Air Nagoya crash" (Archive). The Japan Times. Friday 20 April 2007. Retrieved on 25 December 2008.
  10. Jiji Press, "’94 China Air crash remembered เก็บถาวร 2014-12-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน" (), Japan Times, 28 April 2014