โล่ปราบจลาจล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ตำรวจหน่วยป้องกันกลางของสหรัฐ (Federal Protective Service) พร้อมโล่ปราบจลาจล

โล่ปราบจลาจล (อังกฤษ: riot shield) เป็นอุปกรณ์ป้องกันที่มีน้ำหนักเบา ปกติจะใช้งานโดยตำรวจและหน่วยทางทหารบางหน่วย หรือแม้แต่ผู้ประท้วงก็ตาม โดยทั่วไปแล้ว โล่ปราบจลาจลจะมีความยาวพอที่จะปิดบังตัวคนโดยเฉลี่ยตั้งแต่ศีรษะจนถึงหัวเข่า แม้ว่าบางหน่วยจะมีการใช้งานรุ่นขนาดเล็กกว่าที่สามารถถือได้ด้วยมือเดียวก็ตาม ซึ่งทั่วไปจะมีวัตถุประสงค์ในการปราบจลาจล ใช้เพื่อปกป้องผู้ใช้งานจากการโจมตีระยะประชิดด้วยอาวุธทื่อหรืออาวุธมีคม และยังใช้เป็นที่กำบังในการโยนวัตถุวิถีโค้งไปยังผู้ชุมนุมหรือใช้งานอาวุธที่อันตรายไม่ถึงชีวิต เช่น กระสุนยาง และปืนฉีดน้ำแรงดันสูง นอกจากนี้ยังใช้เป็นอาวุธระยะประชิดระยะสั้นสำหรับผลักดันกองกำลังหรือฝูงชนฝ่ายตรงข้าม โล่ปราบจลาจลส่วนใหญ่ไม่สามารถป้องกันจากกระสุนปืนได้ ซึ่งโล่กันกระสุนจะถูกนำมาใช้งานในสถานการณ์ที่คาดว่าจะมีการต่อต้านด้วยอาวุธหนัก

โล่ปราบจลาจลถูกใช้ในเกือบทุกประเทศที่มีกองกำลังตำรวจตามรูปแบบมาตรฐาน และถูกผลิตสำหรับใช้งานโดยบริษัทหลายแห่ง ในการบังคับใช้กฎหมายโล่ปราบจลาจลจะถูกใช้งานร่วมกับกระบอง โล่ปราบจลาจลที่จัดทำขึ้นสำหรับการบังคับใช้กฎหมายมักจะถูกสร้างขึ้นจากโพลีคาร์บอเนตโปร่งใสเพื่อให้ผู้ถือสามารถมองเห็นวัตถุที่ถูกโยนเข้ามา ส่วนของโล่จลาจลที่ผู้ประท้วงใช้งานนั้นมักจะสร้างจากวัสดุชั่วคราว เช่น ไม้ เศษโลหะ หรือถังพลาสติก แม้ว่าโล่ปราบจลาจลจะแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการป้องกันไม่ให้ผู้ประท้วงฝ่าแนวตำรวจไปได้ แต่การใช้โล่ในลักษณะนี้มักจะกระตุ้นให้เกิดการขว้างปาวัตถุสิ่งของใส่แนวโล่ได้[1]

ประวัติ[แก้]

เจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาลถือโล่ปราบจลาจลระหว่างเหตุจลาจลในประเทศอังกฤษ พ.ศ. 2554

สมาพันธ์ตำรวจแห่งอังกฤษและเวลส์เริ่มล็อบบี้ให้นำโล่ปราบจลาจลมาใช้หลังจากเหตุจลาจลในเทศกาลนอตติ้งฮิลล์คาร์นิวัลเมื่อปี พ.ศ. 2519 ซึ่งระหว่างเทศกาลนั้นมีเจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวนมากได้รับบาเจ็บจากการถูกขว้างปาก้อนหิน อิฐ และขวดใส่ ซึ่งในเวลานั้นโล่ปราบจลาจลมีการใช้งานอยู่ก่อนแล้วในไอร์แลนด์เหนือและยุโรปแผ่นดินใหญ่[2] ซึ่งกองกำลังสหราชอาณาจักรได้ส่งพวกมันไปในช่วงเหตุฉุกเฉินไซปรัสช่วงคริสต์ทศวรรษ 1950[3][4][5] ตำรวจฝรั่งเศสใช้งานโล่ปราบจลาจลในเหตุจลาจลเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2511[6][7] และกองกำลังสหราชอาณาจักรได้ใช้โล่ปราบจลาจลในไอร์แลนด์เหนือมาตั้งแต่อย่างน้อยช่วงปี พ.ศ. 2512[8] โล่ปราบจลาจลถูกใช้งานครั้งแรกในอังกฤษระหว่างยุทธการที่เลวิแชมในปี พ.ศ. 2520[9][10] ในขณะที่กองบัญชาการตำรวจนครบาลออกแบบให้โล่ปราบจลาจลเป็นเพียงอุปกรณ์ตั้งรับและป้องกันตัวเท่านั้น นิว ไซแอนทิสต์ รายงานว่า "ชิ้นโล่ (ที่ใช้ในเลวิแชม) เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องมือในการปฏิบัติการที่เต็มไปด้วยความโกรธเกรี้ยวรุนแรงอย่างยิ่ง" ผู้ประท้วงจำนวนมากจงใจทุบเข้าใส่โล่ปราบจลาจลของตำรวจ โดยโฆษกตำรวจระบุว่า เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจรู้สึกว่าตนถูกคุกคาม ก็มักจะตอบโต้ด้วยทุกอย่างที่อยู่ในมือของตนเอง และเสริมว่า "ผมไม่เห็นวิถีทางที่จะหยุดไม่ให้เขาใช้โล่ปราบจลาจลตอบโต้เลย"[2]

ในระหว่าการจลาจลในไอร์แลนด์เมื่อคริสต์ทศวรรษ 1960 และ 1970 มีการบันทึกไว้ว่าไม่มีการใช้งานโล่ปราบจลาจล ขณะที่บุคลากรของกองทัพบกโต้การประท้วงที่เคอร์ราห์ พวกเขาเลือกที่จะใช้ดาบปลายปืนสำหรับการปราบจลาจลเมื่อมีโล่ปราบจลาจลใช้งานประกอบกันด้วย เมื่อเกิดการจลาจลที่ลิฟฟอร์ด ผลคือทำให้กิดการบาดเจ็บของตำรวจไอร์แลนด์จำนวน 9 นาย มีรายงานว่าในเหตุการณ์นั้นไม่มีโล่ปราบจลาจลสำหรับใช้งาน ในการจลาจลที่โมนาฮัน บุคลากรของกองทัพบกจำนวน 44 นายถูกส่งเข้าไปปราบจลาจลในขณะที่มีโล่ปราบจลาจลเพียง 5 ชิ้นเท่านั้นที่ใช้สำหรับกั้นระหว่างพวกเขากับผู้ก่อจลาจล เพื่อตอบสนองต่อปัญหาการขาดแคลนโล่ปราบจลาจล จึงมีการสั่งผลิตโล่ปราบจลาจลจำนวน 200 ชิ้นในเมืองดับลินเมื่อปี พ.ศ. 2515[11]

การออกแบบและประเภท[แก้]

ผู้ประท้วงต่อต้านสงครามในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. พร้อมโล่ปราบจลาจลที่ประดิษฐ์เอง

ปกติแล้วโล่ปราบจลาจลจะทำมาจากโพลีคาร์บอเนตโปร่งใสที่มีความหนาระหว่าง 4–6 มิลลิเมตร (0.16–0.24 นิ้ว) โล่ถูกออกแบบมาให้ทนทานต่อการแตกหัก แม้ว่าทั่วไปแล้วจะไม่สามารถกันกระสุนได้ก็ตาม[12] โล่บางชนิดที่ใช้ในการตอบโต้ผู้ก่อจลาจลสามารถป้องกันจากกระสุนปืนความเร็วต่ำที่ยิงมาจากปืนพกหรือปืนลูกซอง อย่างไรก็ตาม มีการใช้โล่กันกระสุนแทนในสถานการณ์ที่คาดว่าจะมีการตอบโต้เจ้าหน้าที่ด้วยอาวุธหนัก[13]

โล่โดยทั่วไปจะมีรูปทรงเป็นสี่เหลี่ยมหรือวงกลม มีความยาวระหว่าง 36–48 นิ้ว (91–122 เซนติเมตร) และมีความกว้างที่แตกต่างกันไป โล่ปราบจลาจลส่วนใหญ่หากใช้งานอย่างเหมาะสมจะสามารถปกป้องผู้ใช้งานตั้งแต่ศีรษะจนถึงหัวเข่า[12] ปกติโล่จะมีรูปทรงกระบอกเล็กน้อย และมีด้ามจับที่ทำจากโลหะหรือพลาสติกเสริมแรง ยึดติดด้วยกาวหรือวงแหวน[12] ด้ามจับจะได้รับการออกแบบให้ผู้ถือสามารถถือในลักษณะกำหมัด และมีส่วนป้องกันเพิ่มเติมช่วงปลายแขนสำหรับวางพักแขนได้ รวมถึงอาจจะเป็นสายรัดตีนตุ๊กแกเพื่อยึดให้ปลายแขนอยู่กับที่[12] โล่อาจจะมีช่องเก็บของสำหรับกระบองหรืออาวุธไม่ร้ายแรง และบางชนิดอาจจะออกแบบมาให้สามารถเชื่อมต่อกับโล่อื่นทั้งสองด้านเพื่อสร้างกำแพงโล่ที่มีประสิทธิผลมากขึ้น ซึ่งประเภทของโล่ที่จะใช้งานนั้นมีหลายรูปแบบแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับทั้งสถานการณ์และวัตถุประสงค์ของภารกิจและงบประมาณของหน่วยงาน[12]

โล่เว้าได้รับการออกแบบมาเพื่อใช้ในการตรึงผู้ก่อจลาจลหรือนักโทษลงและใส่กุญแจมือ[14] และโล่ไฟฟ้าออกแบบมาเพื่อส่งไฟฟ้าช็อตในระดับไม่ถึงชีวิตไปยังบุคคลที่โล่นั้นสัมผัส[12][15] โล่ไฟฟ้าถูกผลิตขึ้นในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1980 มีแถบโลหะด้านนอกโพลีคาร์บอเนต การช็อคไฟฟ้าจะถูกส่งผ่านการกดปุ่มที่ด้านข้างของผู้ถือ ซึ่งโล่ไฟฟ้าทำให้เกิดผู้เสียชีวิตหลายคนจากการถูกใช้งาน[16] ในปี พ.ศ. 2554 เรย์เธียนได้จดสิทธิบัตรสำหรับโล่ปราบจลาจลแบบอะคูสติกส์ (acoustic riot shield) ที่สามารถปล่อย "เสียงความถี่ต่ำซึ่งทำให้เกิดการสะท้อนที่ทางเดินหายใจ ทำให้หายใจลำบาก"[17]

ผู้ประท้วงอาจจะสร้างโล่ปราบจลาจลของตนเอง ซึ่งทำจากวัสดุต่าง ๆ เช่น ไม้, พาร์ติเคิลบอร์ด หรือเศษโลหะ[18][19][20][21]

การใช้งานและประสิทธิผล[แก้]

ผู้ชุมนุมชาวไทยกำลังผลักโล่ปราบจลาจลของตำรวจปราบจลาจลจากกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ก่อนการสลายการชุมนุมที่แยกปทุมวัน พ.ศ. 2563
ตำรวจในเบลีซจัดรูปขบวนโล่แบบกระดองเต่า (testudo shield wall)
ตำรวจสหรัฐ ใช้โล่ปราบจลาจลทรงกลมพร้อมกระบอง

การเลือกใช้โล่ปราบจลาจลหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการเลือกใช้กำลังของผู้บังคับการในการใช้กำลังกับผู้ประท้วง โดยมีข้อแนะนำให้กองกำลังรักษาความสงบที่ใช้โล่ปราบจลาจลร่วมกันกับอาวุธที่ไม่ร้ายแรงถึงชีวิต, การเฝ้าระวัง และกองกำลังสำรอง โล่ปราบจลาจลได้รับออกแบบมาให้เป็นอาวุธด้านการป้องกันเป็นหลัก แม้ว่าจะสามารถนำมาใช้ในลักษณะที่ก้าวร้าวเมื่อนำมาผลักดันสปะทะกับผู้ประท้วงก็ตาม มันถูกออกแบบมาให้ใช้งานติดอยู่กับแขนข้างที่ไม่ถนัดและทำมุมเข้าด้านในเล็กน้อยเพื่อใช้เบี่ยงเบนทิศทางจากวัตถุที่ถูกโยนลงสู่พื้น[12] เมื่อผู้ประท้วงได้ปะทะโดยตรงกับโล่ปราบจลาจล ผู้ประท้วงจะพยายามเข้าแย่งโล่จากเจ้าหน้าที่ ซึ่งหากผู้ประท้วงพยายามที่จะคว้าส่วนบนของโล่ เจ้าหน้าที่จะได้รับคำสั่งให้โจมตีใส่ผู้ชุมนุมด้วยมืออีกข้างที่ว่างอยู่ หากพยายามคว้าส่วนล่าง เจ้าหน้าที่จะได้รับคำสั่งให้ย่อเข่าลงข้างหนึ่งและกระแทกโล่ลงกับพื้นอย่างแรง เพื่อตรึงนิ้วมือของผู้ประท้วง ซึ่งโล่ปราบจลาจลมักจะใช้ร่วมกับกระบอง[12]

โล่ปราบจลาจลแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการผลักดันผู้ประท้วงกลับออกไป และป้องกันไม่ให้ผู้ประท้วงผลักดันผ่านแนวของตำรวจ เจ้าหน้าที่จากสหภาพแรงงานเหมืองระบุว่า แม้จะเป็นเรื่องยากมากในการฝ่าแนวกั้นของตำรวจเมื่อตำรวจไม่มีโล่และต้องอาศัยรูปขบวนลิ่มในการป้องกันการนัดหยุดงานของคนงานเหมืองสหราชอาณาจักร พ.ศ. 2515 แต่ในการนัดหยุดงานของคนงานในปี พ.ศ. 2527 กลับกลายเป็นว่าผู้ประท้วงไม่สามารถฝ่าแนวของตำรวจได้เลยเมื่อตำรวจเลิกใช้งานรูปขบวนลิ่มและนำโล่ปราบจลาจลพร้อมกับกระบองมาใช้งานแทน เจ้าหน้าที่ได้ข้อสรุปว่าผู้ประท้วงที่ไม่มีอาวุธจะไม่สามารถต่อต้านตำรวจที่ติดโล่ปราบจลาจลได้เลย[1] การใช้งานประกอบกันของโล่ปราบจลาจลและกระบองถือว่าช่วสเสริมความแข็งแกร่งให้กับกำลังของเจ้าหน้าที่ซึ่งมากพอที่จะรับมือและควบคุมสถานการณ์ทั้งหมดได้ ยกเว้นในกรณีที่เกิดการจลาจลที่รุนแรงที่สุด หากมาตรการในการใช้โล่และกระบองไม่เพียงพอ ตำรวจอาจจะยกระดับไปใช้วิธีการอื่นเพิ่มเติม เช่น ปืนฉีดน้ำแรงดันสูง, แก๊สซีเอส และกระสุนยาง[1]

โล่ปราบจลาจลอาจใช้งานร่วมกับอาวุธอันตรายไม่ถึงชีวิต เช่น แก๊สซีเอส ในวิธีการที่เรียกว่า "เทคนิคการแตะ-ลง" (Tap-down technique) โดยเจ้าหน้าที่ที่มีอาวุธวิถีโค้งจะเข้าหาผู้ถือโล่จากด้านหลัง จากนั้นจะแตะไหล่ผู้ถือโล่เพื่อส่งสัญญาณ ผู้ถือโล่จะตอบสนองด้วยการย่อเข่าลงข้างหนึ่งโดยที่โล่ปราบจลาจลยังตั้งปิดอยู่ด้านหน้า เจ้าหน้าที่ที่ถืออาวุธจะโน้มตัวไปที่หลังของผู้ถือโล่โดยใช้เข่าค้ำ ยื่นอาวุธปืนออกไปเหนือโล่และยิงไปยังผู้ชุมนุมที่เป็นภัยคุกคาม วิธีการนี้ดีที่สุดในการป้องกันทั้งผู้ยิงและผู้ถือโล่[12] ขณะที่ "ชุดสกัด" (Extraction teams) จะประกอบไปด้วยกองกำลังสำรองและทำหน้าเข้าถอนตัวบุคคลที่ตกอยู่ในอันตรายหรือเข้าจับกุมผู้ประท้วงเป็นรายบุคคล สามารถจัดวางชุดในจุดใดก็ได้หลังแนวป้องกันของโล่ ในการฝึกสอน เจ้าหน้าที่สองนายในแนวหน้าจะก้าวถอยหลังไปทางซ้ายและทางขวาตามลำดับ ทำให้เกิดช่องว่างชั่วขณะหนึ่งที่เปิดให้เจ้าหน้าที่ชุดสกัดออกไปหน้าแนวจนเจ้าหน้าที่คนสุดท้ายของชุดออกไปเจ้าหน้าที่ที่ถือโล่จึงก้าวขึ้นมาปิดช่องว่างของแนวโล่งนั้น ซึ่งเป้าหมายของชุดจะถูกระบุไว้ล่วงหน้าแล้วก่อนออกมาหน้าแนวและมีการมอบหมายหน้าที่ของเจ้าหน้าที่แต่ละนายอย่างชัดเจน ว่านายใดเป็นผู้เข้าจับกุมเป้าหมาย นายใดเป็นผู้สวมกุญแจมือ และนายอื่น ๆ นอกเหนือจากหน้าที่หลักจะคอยคุ้มครองขณะเข้าจับกุม เมื่อจับกุมแล้วแนวโล่ที่ใช้ผ่านเข้าไปยังหน้าแนวจะถูกเปิดออกเพื่อรับตัวชุดสกัดและผู้ต้องหาจากการชุมนุมที่ถูกพาตัวเข้ามายังหลังแนวโล่ ซึ่งโดยปกติจะแนะนำให้ชุดสกัดไม่ควรออกห่างไปจากแนวโล่เกินกว่า 10 เมตร[12]

แม้ว่าโล่ปราบจลาจลจะสามารถให้การป้องกันที่มีประสิทธิภาพในตัวมันเอง แต่การใช้งานโล่อาจจะกระตุ้นให้ผู้คนขว้างปาสิ่งของเข้าใส่ผู้ถือ[1] หัวหน้าผู้กำกับการคนหนึ่งในสหราชอาณาจักรระบุว่า แม้ปกติผู้ประท้วงจะไม่ได้มีความตั้งใจที่จะทำร้ายตำรวจ แต่ความไม่ตั้งใจนั้นจะหายไปหากเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้งานโล่ปราบจลาจล มีการตั้งข้อสังเกตว่าผู้ประท้วงจะไม่ขว้างปาสิ่งของใส่จนกว่าตำรวจจะนำโล่เข้ามาใช้ และบางคนก็จงใจที่จะขว้างปาสิ่งของใส่ไปที่โล่เท่านั้น แสดงให้เห็นว่าพวกเขาไม่ได้ต้องการทำร้ายตำรวจจริง ๆ[1]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 Geary, Roger (1985). Policing Industrial Disputes: 1893 to 1985. Cambridge University Press. pp. 109, 143. ISBN 978-0521303156. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ March 29, 2018.
  2. 2.0 2.1 "Riot shields – protective or aggressive". New Scientist: 739. September 22, 1977. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ March 30, 2018.
  3. "British Journal for Military History". British Journal for Military History. 1 (2): Front cover. 2015. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ April 16, 2018.
  4. French, David (2015). Fighting EOKA: The British Counter-Insurgency Campaign on Cyprus, 1955-1959. Oxford University Press. p. 120. ISBN 978-0191045592. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ April 17, 2018.
  5. Universal International News (Video) (Television broadcast). Universal-International. May 31, 1956. เหตุการณ์เกิดขึ้นที่ 00:35. สืบค้นเมื่อ April 16, 2018.
  6. Tariq, Ali (1998). 1968, Marching in the Streets. Free Press. p. 42. ISBN 978-0684853604. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ April 17, 2018.
  7. Black, Jeremy (2007). Tools of War. BOOK SALES Incorporated. p. 12. ISBN 978-1847240125. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ April 17, 2018.
  8. Jeffery, Keith (1985). The Divided Province: The Troubles in Northern Ireland, 1969-1985. Orbis Books. p. 45. ISBN 978-0856137990. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ April 17, 2018.
  9. Mackie, Lindsay (August 15, 1977). "The real losers in Saturday's battle of Lewisham". The Guardian. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ March 30, 2018.
  10. Bourne, Jenny (September 19, 2007). "Lewisham '77: success or failure?". Institute of Race Relations. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ August 4, 2012.
  11. Mulroe, Patrick (2017). Bombs, Bullets and the Border: Policing Ireland's Frontier: Irish Security Policy, 1969–1978. Irish Academic Press. pp. 85–86. ISBN 978-1911024521. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ March 30, 2018.
  12. 12.00 12.01 12.02 12.03 12.04 12.05 12.06 12.07 12.08 12.09 Hunsicker, A. (2011). Behind the Shield: Anti-Riot Operations Guide. Universal-Publishers. pp. 122–124, 135, 153–154. ISBN 9781612330358. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ March 29, 2018.
  13. Bhatnagar, Ashok (2016). Lightweight Ballistic Composites: Military and Law-Enforcement Applications. Woodhead Publishing. p. 214. ISBN 978-0081004258. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ March 29, 2018.
  14. "New GenTex Subduer helps you handle recalcitrant prisoners". American Journal of Correction. 28–30: 18. 1966. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ March 28, 2018.
  15. October 19, 2017 (19 October 2017). "Protesters Beware, Russian Law Enforcement Could Soon Wield Stun Shields". The Moscow Times. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ March 30, 2018.
  16. "The Globalization of Repression". Earth Island Journal. 16 (4): 32. 2001.
  17. Hambling, David (December 7, 2011). "Riot shields could scatter crowds with 'wall of sound'". New Scientist. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ March 30, 2018.
  18. Mogollon, Mery (May 4, 2017). "Gas masks, face paint, shields: Battle gear for a Venezuela protest". Los Angeles Times. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ March 28, 2018.
  19. Zuñiga, Mariana; Miroff, Nick (May 9, 2017). "Gas masks, wooden shields, gardening gloves: How Venezuela's protesters are protecting themselves". The Washington Post. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ May 9, 2017.
  20. Daileda, Colin (April 17, 2014). "Riot Gear: How Protesters Around the World Suit Up". Mashable. สืบค้นเมื่อ October 3, 2020.
  21. Flaccus, Gillian (July 26, 2020). "On Portland's streets: Anger, fear, and a fence that divides". Seattle Times. สืบค้นเมื่อ October 3, 2020.