โลกที่สอง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แบบจำลอง "สามโลก" ในยุคสงครามเย็น ค.ศ. 1975
  โลกที่หนึ่ง: สหรัฐอเมริกา, สหราชอาณาจักร และชาติพันธมิตร
  โลกที่สอง: สหภาพโซเวียต, จีน และชาติพันธมิตร
  โลกที่สาม: ชาติเป็นกลาง และประเทศไม่สังกัดพันธมิตรใด

โลกที่สอง (อังกฤษ: Second World) เป็นอดีตรัฐสังคมนิยมอุตสาหกรรม (เดิมคือ กลุ่มตะวันออก) ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบด้วยดินแดนภายใต้อิทธิพลของสหภาพโซเวียต หลังสงครามโลกครั้งที่สองมีรัฐคอมมิวนิสต์ 19 รัฐ และหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตคงเหลือรัฐสังคมนิยมเพียงห้ารัฐ ได้แก่ ประเทศจีน เกาหลีเหนือ คิวบา ลาวและเวียดนาม คำนี้ร่วมกับคำว่า "โลกที่หนึ่ง" และ "โลกที่สาม" ใช้แบ่งรัฐบนโลกออกเป็นสามหมวดใหญ่

มโนทัศน์ "โลกที่สอง" เป็นคำสร้างในยุคสงครามเย็น และยังมีการใช้คำนี้อยู่โดยส่วนใหญ่ใช้อธิบายอดีตประเทศคอมมิวนิสต์ที่อยู่ระหว่างความยากจนและความมั่งคั่ง ซึ่งหลายประเทศปัจจุบันเป็นรัฐทุนนิยมแล้ว ต่อมา ความหมายแท้จริงของคำว่า "โลกที่หนึ่ง" "โลกที่สอง" และ "โลกที่สาม" จึงเปลี่ยนจากการยึดตามอุดมการณ์ทางการเมืองมาเป็นนิยามทางเศรษฐกิจ ทฤษฎีสามโลกถูกวิจารณ์ว่าหยาบและค่อนข้างล้าสมัยสำหรับการเรียงลำดับที่ และนักสังคมวิทยาใช้คำว่า "พัฒนาแล้ว" "กำลังพัฒนา" และ "ด้อยพัฒนา" แทน (แต่ก็ถูกวิจารณ์ว่ามีแนวคิดแบบลัทธิอาณานิคม)