โรคคอตีบ
โรคคอตีบ (Diphtheria) | |
---|---|
ผู้ป่วยโรคคอตีบมีอาการคอบวม | |
สาขาวิชา | โรคติดเชื้อ |
อาการ | ไข้ เจ็บคอ ไอเสียงก้อง[1] |
การตั้งต้น | 2–5 วัน หลังได้รับเชื้อ[2] |
สาเหตุ | เชื้อแบคทีเรีย C. diphtheriae (ติดต่อผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งหรืออากาศที่มีเชื้อ)[2] |
วิธีวินิจฉัย | การตรวจลักษณะคอหอย และการเพาะเชื้อ[1] |
การป้องกัน | วัคซีนโรคคอตีบ[2] |
การรักษา | ยาปฏิชีวนะ, การเจาะคอ[2] |
ความชุก | 4,500 (ข้อมูลปี 2015)[3] |
การเสียชีวิต | 2,100 (2015)[4] |
โรคคอตีบ (อังกฤษ: diphtheria) เป็นโรคติดเชื้ออย่างหนึ่ง เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Corynebacterium diphtheriae[2] อาการมีได้หลากหลายตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงรุนแรง[1] ผู้ป่วยมักเริ่มมีอาการหลังได้รับเชื้อประมาณ 2-5 วัน[2] ในช่วงแรกมักมีอาการเจ็บคอและมีไข้[1] หากเป็นรุนแรงผู้ป่วยจะมีแผ่นเนื้อเยื่อสีขาวหรือสีเทาที่คอหอย[2][1] ซึ่งอาจอุดกั้นทางหายใจและทำให้เกิดอาการไอเสียงก้องเหมือนในโรคกล่องเสียงอักเสบ (ครุป) ได้[1] อาจมีต่อมน้ำเหลืองที่คอโต ทำให้มีคอบวม[2] เชื้อนี้นอกจากทำให้มีอาการที่คอแล้วยังทำให้มีอาการที่ระบบอื่น เช่น ผิวหนัง ตา หรืออวัยวะเพศ ได้อีกด้วย[2][1] ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้ได้แก่ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เส้นประสาทอักเสบ ไตอักเสบ เกล็ดเลือดต่ำ เป็นต้น[2]
เชื้อคอตีบสามารถติดต่อจากคนสู่คนได้ผ่านการสัมผัสโดยตรง ผ่านวัตถุที่เปื้อนเชื้อ หรือผ่านอากาศ[2][5][2] ผู้รับเชื้อบางรายอาจไม่มีอาการ แต่มีเชื้อในร่างกาย และสามารถแพร่เชื้อให้คนอื่นได้[2] เชื้อ C. diphtheriae มีชนิดย่อยอยู่ 3 ชนิด แต่ละชนิดอาจทำให้มีอาการรุนแรงแตกต่างกัน[2] อาการของโรคส่วนใหญ่เกิดจากพิษที่สร้างโดยเชื้อนี้ การวินิจฉัยทำได้โดยการตรวจร่างกายดูลักษณะของคอหอยของผู้ป่วย ร่วมกับการตรวจยืนยันด้วยการเพาะเชื้อ[1] การหายจากเชื้อนี้จะไม่ได้ทำให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่อการติดเชื้อครั้งถัดไป[1]
วัคซีนโรคคอตีบเป็นวิธีป้องกันโรคนี้ที่ได้ผลดี และมีให้ใช้ในหลายรูปแบบ[2] ส่วนใหญ่แนะนำให้เด็กทั่วไปได้รับวัคซีนนี้ร่วมกับวัคซีนโรคบาดทะยักและไอกรน 3-4 ครั้ง[2] หลังจากนั้นควรได้รับวัคซีนคอตีบและบาดทะยักร่วมกันทุก ๆ 10 ปี[2] สามารถตรวจหาระดับภูมิคุ้มกันในเลือดเพื่อยืนยันการมีภูมิคุ้มกันได้[2] การรักษาทำได้โดยให้ยาปฏิชีวนะเช่นอีริโทรมัยซิน หรือเบนซิลเพนิซิลลิน[2] ยาปฏิชีวนะเหล่านี้นอกจากใช้รักษาโรคแล้วยังใช้ป้องกันการเกิดโรคในผู้ที่สงสัยว่าจะได้รับเชื้อได้ด้วย[2] ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงบางรายอาจมีทางเดินหายใจอุดกั้นรุนแรงจนต้องรับการรักษาด้วยการเจาะคอ[1]
ในปี ค.ศ. 2015 มีรายงานผู้ป่วยโรคคอตีบทั่วโลกรวมกัน 4,500 ราย ลดลงจากสถิติปี ค.ศ. 1980 ที่จำนวน 100,000 ราย[3] ก่อนปี 1980 เชื่อว่าแต่ละปีอาจมีผู้ป่วยถึงหนึ่งล้านรายทั่วโลก[1] ปัจจุบันโรคนี้ยังพบได้ในแอฟริกาใต้สะฮารา ประเทศอินเดีย และประเทศอินโดนีเซีย[1][6] จำนวนผู้เสียชีวิตในปี 2015 อยู่ที่ 2,100 ราย ลดลงจากสถิติทศวรรษ 1980 ที่ 8,000 ราย[4][7] ในพื้นที่ที่ยังมีการระบาดจะพบผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยเด็ก[1] โรคนี้พบได้น้อยในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วเนื่องจากมีการให้วัคซีนกันอย่างกว้างขวาง[1] เช่นในประเทศสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี 1980 จนถึงปี 2004 มีผู้ป่วยรวมกันเพียง 57 ราย[2] ผู้ป่วยมีโอกาสเสียชีวิต 5-10%[2] โรคนี้ได้รับการบรรยายไว้ครั้งแรกตั้งแต่ 500 ปีก่อนคริสตกาล โดยฮิปโปคราเตส[2] ส่วนเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคถูกค้นพบเมื่อปี 1882 โดยเอดวิน เคลบส์[2]
อาการและอาการแสดง
[แก้]ผู้ป่วยมักเริ่มมีอาการของโรคคอตีบหลังจากได้รับเชื้อมาประมาณ 2-7 วัน อาการเหล่านี้ ได้แก่ ไข้สูง (มากกว่า 38 องศาเซลเซียส) หนาวสั่น อ่อนเพลีย ผิวหนังเขียว (cyanosis) เจ็บคอ เสียงแหบ ไอ ปวดศีรษะ กลืนลำบาก กลืนแล้วเจ็บ หายใจลำบาก หายใจเร็ว น้ำมูกมีกลิ่นเหม็นหรือมีเลือดปน และมีต่อมน้ำเหลืองโต[8][9] พิษของเชื้ออาจทำลายเนื้อเยื่อของระบบหายใจได้ภายใน 2-3 วัน เนื้อเยื่อที่ตายแล้วเหล่านี้จะหลุดลอกออกมา กลายเป็นแผ่นเนื้อเยื่อหนาสีขาวหรือสีเทา เรียกว่า ซูโดเมมเบรน (อังกฤษ: pseudomembrane, "แผ่นเยื่อเทียม") และสามารถสะสมจนอุดตันช่องจมูก คอหอย หรือหลอดลมได้ ทำให้เกิดอาการหายใจลำบากและกลืนลำบาก[10] เป็นที่มาของชื่อโรค "คอตีบ" อาการอื่น ๆ ที่พบได้เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เส้นประสาทอักเสบและเป็นอัมพาต เป็นต้น
สรุปจากโรคคอตีบ
[แก้]การเกิดโรคคอตีบที่กล่องเสียงอาจทำให้มีอาการคอบวมได้ ผู้ป่วยจะมีอาการไอเสียงก้องคล้ายเสียงสุนัขเห่า หายใจมีเสียงดัง เสียงแหบ หายใจลำบาก ภาวะนี้แต่เดิมเรียกว่าครุป[11][12][13][14] ปัจจุบันครุปจากโรคคอตีบพบได้น้อยมาก เนื่องจากมีการให้วัคซีนโรคคอตีบอย่างกว้างขวาง ปัจจุบันคำว่าครุปจึงมักหมายถึงภาวะครุปจากเชื้อไวรัส ซึ่งทำให้มีอาการคล้ายคลึงกันแต่อาจไม่รุนแรงเท่าครุปจากโรคคอตีบ[15]
การแพร่เชื้อ
[แก้]เชื้อโรคคอตีบติดต่อจากคนสู่คนผ่านอากาศที่มีเชื้อซึ่งออกมาจากการไอหรือจามของผู้ป่วย เมื่อคนทั่วไปหายใจเอาอากาศที่มีละอองเชื้อนี้เข้าไปก็จะทำให้เกิดการติดเชื้อได้[16] การสัมผัสรอยโรคบนผิวหนังของผู้ป่วยก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งของการรับเชื้อ แต่พบได้น้อยกว่า[17] การติดเชื้อทางอ้อมอาจเกิดขึ้นได้จากการที่ผู้ป่วยไปสัมผัสพื้นผิวหรือวัตถุ แล้วเชื้อแบคทีเรียเกิดตกค้างอยู่บนพื้นผิวนั้น แล้วมีคนมาสัมผัสต่อ หลักฐานบางแหล่งสนับสนุนว่าเชื้อแบคทีเรียอาจติดต่อไปยังสัตว์และติดต่อกลับมายังคนได้ เนื่องจากพบว่ามีเชื้อ Corynebacterium ulcerans ในสัตว์บางชนิด[18] แต่สมมติฐานนี้ยังต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อยืนยัน
การวินิจฉัย
[แก้]การวินิจฉัยโรคคอตีบในปัจจุบันอาศัยนิยามทางคลินิกสำหรับผู้ป่วยที่กำหนดโดยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของประเทศสหรัฐอเมริกา (ซีดีซี) ซึ่งนิยามนี้อาศัยเกณฑ์ผสมผสานทั้งอาการทางคลินิกและผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ
นิยามจากผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ
[แก้]- การแยกเชื้อ C. diphtheriae จากการตรวจย้อมสีแกรมหรือการเพาะเชื้อจากการป้ายคอหอย[9]
- ผลตรวจพยาธิวิทยาเนื้อเยื่อด้วยการย้อมสีแบบอัลเบิร์ตเข้าได้กับเชื้อโรคคอตีบ
นิยามจากอาการทางคลินิก
[แก้]- มีอาการเจ็บป่วยทางเดินหายใจส่วนบนร่วมกับเจ็บคอ
- มีไข้ต่ำ (ส่วนใหญ่ไม่เกิน 39 องศาเซลเซียส)
- มีแผ่นเยื่อหนา สีเทา ยึดติดอยู่กับคอหอย ในกรณีรุนแรงอาจเป็นลุกลามไปจนตลอดทั้งหลอดลม
การจำแนกกรณีผู้ป่วย
[แก้]- อาจจะใช่ (propable): ผู้ป่วยที่มีอาการทางคลินิกเข้าได้กับโรคคอตีบ ที่ยังไม่มีผลตรวจทางห้องปฏิบัติการยืนยัน และไม่มีความสัมพันธ์ทางวิทยาการระบาดกับผู้ป่วยรายอื่นที่ได้รับการยืนยันด้วยผลตรวจทางห้องปฏิบัตการ
- ยืนยัน (confirmed): ผู้ป่วยที่มีอาการทางคลินิกเข้าได้กับโรคคอตีบ ที่มีผลตรวจทางห้องปฏิบัติการยืนยัน หรือมีความสัมพันธ์ทางวิทยาการระบาดกับผู้ป่วยรายอื่นที่ได้รับการยืนยันด้วยผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ
การรักษา
[แก้]โรคนี้โดยส่วนใหญ่ถือว่าเป็นโรคที่รักษาได้ แต่ในบางรายที่มีอาการรุนแรง ต่อมน้ำเหลืองที่คออาจโตมาก จนทำให้หายใจลำบากและกลืนลำบาก จะรักษาค่อนข้างยาก ผู้ป่วยในระยะนี้จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที โดยอาจจำเป็นต้องได้รับการใส่ท่อช่วยหายใจ หรือการเจาะคอเพื่อเปิดทางหายใจ ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะอาจทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้ นอกจากนี้ยังอาจทำให้เกิดเส้นประสาทอักเสบในบางตำแหน่ง ทำให้กล้ามเนื้อบางมัด เช่น กล้ามเนื้อตา คอ คอหอย หรือกล้ามเนื้อที่ใช้ในการหายใจเป็นอัมพาตได้ ผู้ป่วยอาการรุนแรงเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการรักษาในหออภิบาลผู้ป่วยหนัก (ไอซียู) และต้องได้รับสารต้านพิษคอตีบ (diphtheria antitoxin) อย่างไรก็ดีสารต้านพิษเหล่านี้ไม่สามารถไปต้านพิษที่จับกับเนื้อเยื่อไปแล้วได้ จึงจำเป็นต้องให้โดยเร็วที่สุด หากให้ช้าผู้ป่วยจะมีโอกาสเสียชีวิตมากขึ้น ดังนั้นการตัดสินใจเพื่อให้สารต้านพิษนี้ต้องตัดสินใจจากอาการแสดงทางคลินิก โดยไม่รอผลตรวจทางห้องปฏิบัติการซึ่งมักใช้เวลานาน
ยาปฏิชีวนะมักไม่ช่วยทำให้รอยโรคติดเชื้อหายเร็วขึ้นในผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยสารต้านพิษแล้ว แต่จะมีบทบาทมากในผู้ที่เป็นพาหะ (ผู้ที่ไม่มีอาการ แต่มีเชื้อและสามารถแพร่ให้คนอื่นได้) เพื่อกำจัดเชื้อให้หมดไปไม่ให้แพร่เชื้อต่อได้
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.00 1.01 1.02 1.03 1.04 1.05 1.06 1.07 1.08 1.09 1.10 1.11 1.12 1.13 "Diphtheria vaccine" (PDF). Wkly Epidemiol Rec. 81 (3): 24–32. 20 มกราคม 2006. PMID 16671240. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 6 มิถุนายน 2015.
- ↑ 2.00 2.01 2.02 2.03 2.04 2.05 2.06 2.07 2.08 2.09 2.10 2.11 2.12 2.13 2.14 2.15 2.16 2.17 2.18 2.19 2.20 2.21 2.22 2.23 Atkinson, William (พฤษภาคม 2012). Diphtheria Epidemiology and Prevention of Vaccine-Preventable Diseases (12 ed.). Public Health Foundation. pp. 215–230. ISBN 9780983263135. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 15 กันยายน 2016.
- ↑ 3.0 3.1 "Diphtheria". who.int. 3 กันยายน 2014. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 เมษายน 2015. สืบค้นเมื่อ 27 มีนาคม 2015.
- ↑ 4.0 4.1 GBD 2015 Mortality and Causes of Death, Collaborators. (8 October 2016). "Global, regional, and national life expectancy, all-cause mortality, and cause-specific mortality for 249 causes of death, 1980-2015: a systematic analysis for the Global Burden of Disease Study 2015". Lancet. 388 (10053): 1459–1544. doi:10.1016/s0140-6736(16)31012-1. PMC 5388903. PMID 27733281.
{{cite journal}}
:|first1=
มีชื่อเรียกทั่วไป (help) - ↑ Kowalski, Wladyslaw (2012). Hospital airborne infection control. Boca Raton, Florida: CRC Press. p. 54. ISBN 9781439821961. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 ธันวาคม 2016.
- ↑ Mandell, Douglas, and Bennett's Principles and Practice of Infectious Diseases (8 ed.). Elsevier Health Sciences. 2014. p. 2372. ISBN 9780323263733. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 ธันวาคม 2016.
- ↑ GBD 2013 Mortality and Causes of Death, Collaborators (17 December 2014). "Global, regional, and national age-sex specific all-cause and cause-specific mortality for 240 causes of death, 1990–2013: a systematic analysis for the Global Burden of Disease Study 2013". Lancet. 385: 117–71. doi:10.1016/S0140-6736(14)61682-2. PMC 4340604. PMID 25530442.
{{cite journal}}
:|first1=
มีชื่อเรียกทั่วไป (help) - ↑ "Diphtheria—Symptoms—NHS Choices". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 28 มิถุนายน 2015. สืบค้นเมื่อ 28 มิถุนายน 2015.
- ↑ 9.0 9.1 "Updating PubMed Health". PubMed Health. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 ตุลาคม 2014. สืบค้นเมื่อ 28 มิถุนายน 2015.
- ↑ "Diphtheria Symptoms". www.cdc.gov (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 10 April 2017. สืบค้นเมื่อ 26 October 2017.
- ↑ Loving, Starling (5 ตุลาคม 1895). "Something concerning the diagnosis and treatment of false croup". JAMA: the Journal of the American Medical Association. XXV (14): 567–573. doi:10.1001/jama.1895.02430400011001d. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 กรกฎาคม 2014. สืบค้นเมื่อ 16 เมษายน 2014.
- ↑ Cormack, John Rose (8 May 1875). "Meaning of the Terms Diphtheria, Croup, and Faux Croup". British Medical Journal. 1 (749): 606. doi:10.1136/bmj.1.749.606. PMC 2297755. PMID 20747853.
- ↑ Bennett, James Risdon (8 May 1875). "True and False Croup". British Medical Journal. 1 (749): 606–607. doi:10.1136/bmj.1.749.606-a. PMC 2297754. PMID 20747854.
- ↑ Beard, George Miller (1875). Our Home Physician: A New and Popular Guide to the Art of Preserving Health and Treating Disease. New York: E. B. Treat. pp. 560–564. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 กรกฎาคม 2014. สืบค้นเมื่อ 15 เมษายน 2014.
- ↑ Vanderpool, Patricia (ธันวาคม 2012). "Recognizing croup and stridor in children". American Nurse Today. 7 (12). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 April 2014. สืบค้นเมื่อ 15 April 2014.
- ↑ Diphtheria Causes and Transmission เก็บถาวร 13 เมษายน 2014 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. U.S. Center for Disease Control and Prevention (2016).
- ↑ Youwang Y.; Jianming D.; Yong X.; Pong Z. (1992). "Epidemiological features of an outbreak of diphtheria and its control with diphtheria toxoid immunization". International Journal of Epidemiology. 21 (4): 807–11. doi:10.1093/ije/21.4.807. PMID 1521987.
- ↑ Hogg R. A.; Wessels J.; Hart A.; Efstratiou A.; De Zoysa G.; Mann T.; Pritchard G. C. (2009). "Possible zoonotic transmission of toxigenic Corynebacterium ulcerans from companion animals in a human case of fatal diphtheria". The Veterinary record. 165 (23): 691–2. doi:10.1136/vr.165.23.691. PMID 19966333.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]การจำแนกโรค | |
---|---|
ทรัพยากรภายนอก |