โบราณสถานถ้ำพระ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โบราณสถานถ้ำพระ
หลวงพ่อดั่งใจ๋ (หลวงพ่อทันใจ) ในถ้ำพระ
แผนที่
ที่ตั้งริมแม่น้ำกก หมู่ 5 บ้านป่าอ้อ ตำบลแม่ยาว อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย
ประเภทโบราณสถาน ถ้ำ
เจ้าอาวาสพระอาจารย์สังวาลย์ อาภากโร
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

โบราณสถานถ้ำพระ หรือ วัดถ้ำพระ เป็นวัดโบราณที่สร้างภายในถ้ำพระ ซึ่งเป็นถ้ำที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำกก บริเวณ หมู่ 5 บ้านป่าอ้อ ตำบลแม่ยาว อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย ตัวถ้ำตั้งอยู่ภายในภูเขาหินซึ่งมีความสูงประมาณ 800 เมตร ภายในถ้ำพระประดิษฐานพระพุทธรูปจำนวนมาก นอกจากนี้ยังพบหินงอกหินย้อย และเป็นแหล่งอาศัยของค้างคาว ในภูเขาลูกเดียวกันนอกจากถ้ำพระแล้ว ยังประกอบด้วยถ้ำอื่น ๆ ได้แก่ ถ้ำช้างล้วง ถ้ำลม และถ้ำหวาย ซึ่งบางถ้ำเป็นที่อยู่อาศัยของฤๅษีตามความเชื่อของชาวบ้านและสงฆ์

ประวัติ[แก้]

ถ้ำพระ ปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีทั้งสมัยก่อนประวัติศาสตร์และสมัยประวัติศาสตร์ แต่ไม่ได้แสดงถึงความต่อเนื่องในการใช้พื้นที่ มีช่วงหนึ่งที่ถูกทิ้งร้าง และช่วงที่กลับมาใช้งานอีกครั้ง ในปี พ.ศ. 2474 ศาสตราจารย์ฟริทซ์ สารสิน (Fritz Sarasin) ได้ขุดค้นพบเครื่องมือหินที่ถ้ำพระ บนดอยถ้ำพระพบเครื่องมือหินกะเทาะที่ทำด้วยหินกรวดไดอะเบส หินชนวนสีเขียว ในกลุ่มเครื่องมือแบบไซแอเมียน (Siamian) และพบเศษภาชนะดินเผาแบบไม่มีลายและแบลายเชือกทาบ เครื่องมือที่ทำด้วยกระดูกสัตว์ และเปลือกหอย โดยสรุปว่าเครื่องมือหินที่พบเป็นของกลุ่มชนล่าสัตว์ ยังไม่รู้จักการเพาะปลูกหรือเลี้ยงสัตว์ ผู้ที่ผลิตเครื่องมือเหล่านี้เป็นกลุ่มชนเมลานีเชียดั้งเดิม (Proto-Melanesian)

เหตุที่ได้ชื่อถ้ำพระ เพราะสมัยก่อนมีพระพุทธรูปในถ้ำมากมาย ทั้งพระที่สร้างด้วยโลหะ, อิฐก่อด้วยปูนสอ และไม้ต่างๆ อดีตหากผู้ใดอยากได้บุญหรือเห็นผู้อื่นบวชลูกหลาน ก็เอาพระที่ทำขึ้นมาบวชและเก็บไว้ที่นี่ รวมทั้งถวายพระพุทธรูปที่ได้บนบานไว้ ว่ากันว่ามีมากจนไม่มีที่วางเท้าเดินกันเลย

ในอดีตถ้ำพระมีความสำคัญมาก พบการกล่าวถึงถ้ำพระในจารึกเจ้าเมืองท้าวมูยเชียงรายสร้างพระพุทธรูป เนื้อความจารึกว่า พ.ศ. 2027 พ่อหญัวเจ้าเมืองท้าวมูย เจ้าเมืองเชียงราย ได้มาสร้างพระพุทธรูปไว้ในถ้ำพระ ถวายค่าเช่าหรือภาษีที่นา 82,000 เบี้ย และภาษีที่นาที่มีอยู่เดิมแล้วจำนวน 50,000 เบี้ย และถวายเกิน(ภาษี)หินปูน 20,000 เบี้ย ภาษีหินปูนที่เก็บจากบ้านถ้ำอีก 7,000 เบี้ย รวมเป็นเงิน 159,000 เบี้ย เป็นเครื่องบูชาและบำรุงรักษาพระพุทธรูปในถ้ำพระ ทั้งยังได้ชักชวนให้บรรดาข้าราชการ นักบุญทั้งหลายให้อุทิศข้าพระ ที่ดิน และเงิน ไว้เป็นของบูชาแด่พระพุทธรูป[1]

พ.ศ. 2432 พระยารัตนอาณาเขต (เจ้าหนานสุริยะ) เจ้าหลวงเมืองเชียงราย ได้สร้างพระพุทธรูปที่ถ้ำพระ เพื่อเป็นสิริมงคลเนื่องในงานเฉลิมฉลองทำบุญเมืองเชียงรายในครั้งนั้น จดหมายเหตุเมืองเชียงราย ยุคฟื้นฟูเมืองเชียงรายกล่าวว่า

"เดือน 6 ขึ้น 5 ฅ่ำ เจ้าหลวงสุริยะเป็นเคล้าก่อพระเจ้าถ้ำพระ สกราช 1251 จหลองเมืองค็ปีนี้"[2]

พระนามาภิไธยบนผนังถ้ำ "มกุฎทอง"

ถ้ำพระมีบุคคลสำคัญมานมัสการไม่ได้ขาด เมื่อมีบุคคลสำคัญมายังเชียงรายทั้งคนไทยและต่างประเทศ ก็มักจะแวะนมัสการพระพุทธรูปหรือเยี่ยมชมถ้ำพระด้วย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งพระองค์ยังเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จมาถ้ำพระเมื่อ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2448 ได้ทรงจารึกพระนามาภิไธยลงผนังถ้ำว่า "มกุฎทอง" พระนิพนธ์พรรณนาถ้ำพระไว้ในลิลิตพายัพ ดังนี้

๏ รุ่งเช้าพระทรงเดช ลดเลื่อนริมฝั่งน้ำ
ไป่ดำเนินเดินลุถ้ำ พระพร้อมนามขนาน ฯ
๏ ยามนมัสการพระเพี้ยง คูหา
หวลระลึกถึงเรื่องชวา แต่งไว้
เมื่ออิเหนาลักบุษบา มาสู่ ถ้ำแฮ
จัดแต่งคูหาได้ ลูบล้วนงามคม ฯ
ลิลิตพายัพ

[3]

พ.ศ. 2456 เรจินัลด์ เลอ เมย์ (Reginald Le May) รองกงสุลอังกฤษประจำเชียงใหม่ ได้เดินทางมาเที่ยวถ้ำพระ และบรรยายถึงสภาพของถ้ำพระในขณะนั้น ความว่า

บ่ายวันหนึ่ง ข้าพเจ้าออกไปเที่ยว "ถ้ำพระ" (a cave of Buddha) ตามที่ได้ยินมาว่าอยู่เหนือน้ำแม่กกขึ้นไปหน่อย ข้าพเจ้าลงเรือประทุนลำยาวและท้องตื้น โดยมีคนถ่อสองคนอยู่ข้างหน้าและคนถือท้ายคนหนึ่งอยู่ข้างหลัง น้ำแม่กกมีสายน้ำไหลเชี่ยวและคดเคี้ยวไปมา ใช้เวลาทวนน้ำขึ้นไปสองชั่วโมงเต็มๆจึงถึงปลายทางฝั่งหนึ่งนั้น เราเห็นแต่สวนและไร่ยาสูบแปลงเล็กๆ แต่อีกฟากหนึ่งนั้นงามกว่า เราผ่านหน้าภูผาสูงยาวไปหลายต่อหลายลูกซึ่งเอียงลงมาจดชายน้ำ ในหมู่ต้นไม้ที่ขึ้นตามเนินเขา มีฝูงลิงสีดำตัวน้อยๆ ฉุดหางกันอยู่ จนกระทั่งมันเห็นพวกเราจึงหายเข้าไปในหลืบหินโค้งสุดท้ายของแม่น้ำเกือบจะเป็นรูปวงกลม

และเราก็มาถึงหน้าผาที่มีช่องทางเข้า ตรงปากถ้ำมีพระพุทธรูปที่พึ่งได้รับปฏิสังขรณ์มาใหม่ๆ ตั้งอยู่มีแสงแวววับของทองคำเปลวที่ปิดหุ้มองค์พระไว้ มีทางเข้าถ้ำสองทาง แต่ต้องปีนหน้าผาสูงชันขึ้นไปเสียจนเหนื่อยกว่าจะถึงถ้ำ หลังจากผ่านปากถ้ำเข้าไปแล้วข้าพเจ้ามาถึงห้องโล่งที่มีเพดานโค้งตามธรรมชาติ มีหินย้อยขนาดใหญ่ยื่นลงมาขึ้นราเขียวด้วยความเก่าแก่ มองตรงไปข้างหน้าก็เห็นแท่นพระยกสูงจากพื้นตลอดความกว้างของถ้ำถัดไปทางขวาเล็กน้อยมีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่ซ่อมแซมแล้วตั้งอยู่หน้าแท่นพระ บนแท่นพระมีพระพุทธรูปหลายองค์ทั้งพระนอนและพระยืนกองสุมกันอยู่ระเกะระกะ บางองค์ก็เศียรขาด ไม่มีฐานรอง แขนขาด มีทั้งที่ทำด้วยไม้ ดินเผา อิฐ และทองสัมฤทธิ์องค์ใหญ่ บางองค์ที่สร้างติดกับหินไว้อย่างแน่นหนาก็เหลือเพียงครึ่งเดียว เข้าใจว่าเมื่อนานมาแล้วพระพุทธรูปส่วนมากคงจะถูกขนย้ายไปไว้ตามวัดและสถานที่อื่นๆ เพราะที่เหลืออยู่ไม่น่าสนใจเท่าไหร่

ที่มุมหนึ่งที่ถูกทิ้งร้างนั้นข้าพเจ้าเจอพระพุทธรูปไม้สักเก่าแก่ที่สลักอย่างสวยงามองค์หนึ่ง มีฐานกว้างราว 12 นิ้ว แกะจากไม้ท่อนเดียวกันกับองค์พระ องค์พระนั้นถูกขูดเอาทองออกไปหมดและมีฐานสีแดงที่ซีดจาง พอจับขึ้นมาฐานก็หักเป็นสองท่อน ดูเนื้อไม้ผุกร่อนไปหมด อย่างไรก็ตามหลังจากสำรวจถ้ำอยู่นาน ข้าพเจ้าก็ได้ของดีเป็นศีรษะเล็กๆ ทำด้วยหินทรายทาน้ำมันเคลือบเงาสีดำและยังมองเห็นร่องรอยของการปิดทองรางๆอยู่ คงจะเป็นรูปศีรษะของนักบุญ (พระอรหันต์) มากกว่าเศียรพระพุทธเจ้าเพราะไม่มียอดโมลี และพุทธลักษณะที่น่าเคารพอื่นๆ ที่จำเป็นจะต้องแสดงไว้ รูปปั้นศีรษะนี้มีความสูงเพียง 3 นิ้ว แต่ในแง่ของงานแกะสลักแล้ว มันประณีตที่สุดข้าพเจ้าเคยเห็นมาในสยาม รูปทรงของศีรษะสมบูรณ์และใบหน้านั้นแม้จะมีเปลือกตาหนาแบบชาวมองโกล เส้นรอบนอกของจมูกที่งองุ้ม ริมฝีปากและคอที่มั่นคงนั้น ก็คงจะได้รับแรงบันดาลใจจากศิลปะโรมัน รูปถ่ายของศีรษะนี้อยู่บนปกหน้าของหนังสือเล่มนี้แล้ว

เวลานี้ประวัติของถ้ำสูญหายไปเสียแล้ว และถึงแม้จะมีคนบอกข้าพเจ้าว่ายังมีประวัติที่จารึกไว้อยู่ แต่ข้าพเจ้าก็ค้นหาไม่เจอ ข้าพเจ้าใช้เวลาอยู่ในถ้ำพระนานราว 1 ชั่วโมงหรือกว่านั้น ขูดแซะและคุ้ยเขี่ยไปตามฝุ่นผงที่ทับถมกันมานานหลายยุค แต่เนื่องจากใกล้จะมืดค่ำแล้วในที่สุดข้าพเจ้าจึงไต่กลับลงไปที่เรืออีกเห็นหมอกลอยอยู่เหนือพื้นน้ำ และอากาศก็เย็นลงทุกที ในขณะที่เรือล่องปราดไปตามแม่น้ำ ฝ่าลมอันเย็นยะเยือกยามสายัณห์นั้น ความคิดของข้าพเจ้าก็ย้อนหลังไปหลายร้อยปี และนึกแปลกใจว่า อะไรหนอทำให้คนพากันทิ้งถ้ำไว้เช่นนั้น ปล่อยให้พวกขโมย และใจบาปมาลักพระพุทธรูปจำนวนมากนั้นไป สำหรับจิตใจที่มีระเบียบของพวกเราแล้ว การทิ้งขว้างและการปล่อยให้ทรุดโทรมอย่างนั้นเป็นเรื่องที่เข้าใจยากเหลือเกิน แต่ภายในภูมิภาคส่วนนี้ของโลก ส่วนที่คนรุ่นก่อนสร้างและอนุรักษ์ไว้รุ่นต่อมากลับไม่เห็นคุณค่า ปัญหาสำคัญเกี่ยวกับนิสัยของคนไทยที่จะต้องแก้ไขก็คือเรื่องการทำงานไม่ต่อเนื่องและไม่รักษาของเก่านี่แหละ

— An Asian Arcady: The Land and Peoples of Northern Siam

[4]

นอกจากนี้ยังมีเจ้านายระดับสูงอีกหลายพระองค์ที่มานมัสการพระพุทธรูปในถ้ำพระ และจารึกพระนามาภิไธยลงผนังถ้ำด้วย คือ

พระนามภิไทย เจ้าดารารัศมี บนผนังถ้ำ
พระนามภิไทย "สุขุมาล" สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี, "บริพัตร" สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต และ "นภาพร" พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้านภาพรประภา กรมหลวงทิพยรัตนกิริฎกุลินี

16 มกราคม พ.ศ. 2469 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชทานพระแสงศาตราเมืองเชียงราย พระองค์ได้เสด็จมาถ้ำพระพร้อมข้าราชบริพาร มีการสร้างสะพานไม้ข้ามแม่น้ำกกฝั่งหน้าปากถ้ำ โดยใช้เส้นทางบกผ่านบ้านเด่นห้าไปสู่แม่น้ำกก เรียกว่าถนนถ้ำพระ (ปัจจุบันคือ ถนนหน้าค่าย)

ถ้ำพระ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 หน้า 3673 วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478

ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้มีผู้มาขนพระพุทธรูปจากถ้ำพระไปเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยโลหะ พระพุทธรูปที่ถูกนำไปครั้งนั้นมากกว่า 5-6,000 องค์ ผู้เฒ่าผู้แก่แถวนั้นยังช่วยหาพระดีๆ ให้เสียด้วยซ้ำ บางองค์เมื่อ พ.ศ. 2500 ราคาองค์หนึ่งถึงแสนบาทก็มี บางองค์เศียรเป็นแก้วกลมๆ ขนาดหน้าตักกว้างประมาณ 6 นิ้ว (พระเชียงแสน-โจฬะ) เมื่อ พ.ศ. 2502 พระรุ่นนี้มีการเช่ากันที่เชียงแสน ราคาหนึ่งล้านบาทถ้วน ทำให้ถ้ำพระปัจจุบันมีพระพุทธรูปไม่มากเท่าในอดีต

พ.ศ. 2498 มีการสร้างวิหารน้อยภายในถ้ำด้วยปูนซีเมนต์ แทนวิหารหลังเดิมที่สร้างจากไม้และชำรุด

ภายหลังพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินมาถ้ำพระ ได้มีพระสงฆ์มาจำพรรษาปฏิบัติธรรมและคอยดูแลรักษาโบราณสถานถ้ำพระอย่างต่อเนื่อง อาทิเช่น 1.หลวงพ่อเข้ม 2.หลวงพ่อดี 3.หลวงพ่อศิริ 4.หลวงพ่อดวงตา โชโต และพระอีกหลายรูปที่ไม่สามารถหาชื่อได้

พ.ศ. 2520 - 2526 หลวงพ่อทองคำ ภทฺทโก ได้มาจำพรรษาปฏิบัติธรรมที่ถ้ำพระ ได้สร้างกุฏิ 2 หลัง ส่งเสริมให้มีกิจกรรมแประเพณีอย่างต่อเนื่อง ชุมชนถ้ำพระในสมัยนั้นมีความทุรกันดารมาก เด็กๆ จะไปเรียนหนังสือก็ยากลำบาก เพราะต้องเดินไปโรงเรียนข้ามเขา ข้ามทุ่งนาและลำน้ำ ห่างจากโรงเรียนประมาณ 5-6 กิโลเมตร เด็กๆ ส่วนใหญ่จะเลี้ยงวัวเลี้ยงควายที่ครอบครัวเลี้ยงเพื่อใช้ทำนา หลวงพ่อทองคำ ภทฺทโกจึงแนะนำให้เด็กๆ วันเสาร์หรือวันอาทิตย์นำวัวควายมาเลี้ยงใกล้ๆ ถ้ำพระ เพื่อให้เด็กๆ มารวมตัวกันและให้ท่านได้สอยหนังสือเพิ่มเติมความรู้ของเด็กๆ ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือท่านมาก

พ.ศ. 2526-2530 พระจ่ามร ได้มาจำพรรษาปฏิบัติธรรมที่ถ้ำพระ ได้สร้างกุฏิ 1 หลัง

พ.ศ. 2530-2534 พระวิรัตน์ ได้มาจำพรรษาปฏิบัติธรรมและคอยดูแลรักษาถ้ำพระ

พ.ศ. 2534-2540 มีพระมาจำพรรษาปฏิบัติธรรมและคอยดูแลรักษาถ้ำพระ 3-4 รูป ไม่ปรากฏชื่อ

พ.ศ. 2540-2563 หลวงพ่อทองคำ ภทฺทโก ได้มาจำพรรษาปฏิบัติธรรมที่ถ้ำพระอีกครั้งหนึ่ง และได้นำชาวบ้านปลูกต้นไม้บริเวณหน้าบันไดของถ้ำพระ ยังเจริญเติบโตจนถึงทุกวันนี้ จนเมื่อวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2563 หลวงพ่อทองคำ ภทฺทโก ได้อาพาธหนักและมรณภาพ ญาติๆ ของหลวงพ่อได้นำสรีระไปบำเพ็ญกุศลที่วัดป่าซาง ต.บ้านดู่ อ.เมืองเชียงราย ชาวบ้านและคณะศรัทธาถ้ำพระได้นำอัฐิของท่านมาก่อบรรจุไว้ในถ้ำพระ

พ.ศ. 2543-2547 มีพระมาจำพรรษาปฏิบัติธรรมและคอยดูแลรักษาถ้ำพระ 5 รูป ไม่ปรากฏชื่อเพราะแต่ละรูปอยู่ไม่นาน

พ.ศ. 2547-2554 พระชัยวัฒน์ ญาณธโร ได้มาจำพรรษาปฏิบัติธรรมและคอยดูแลรักษาถ้ำพระ ได้สร้างกุฏ 5 ห้อง 2 ชั้น พระพุทธรูปบนก้อนหินกลางน้ำ ศาลา 1 หลัง ไม่มีอะไรแล้วเสร็จสักอย่าง เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2552 วิหารน้อยในถ้ำพระเกิดไฟไหม้เสียหายหมด เนื่องจากมีเด็กมาเล่นประทัดและจุดเทียนหน้าพระประธาน ก้อนหินที่อยู๋ในถ้ำเมื่อถูกความร้อนได้ตกลงมาใส่พระประธานเสียหาย พระชัยวัฒน์ ญาณธโรและคณะศรัทธาได้ร่วมกันบูรณะองค์พระประธานและสิ่งต่างๆที่ได้รับความเสียหาย แต่ไม่ได้สร้างวิหารน้อยเหมือนเดิม พระชัยวัฒน์ ญาณธโรได้ออกจากการจำพรรษาปฏิบัติธรรมและคอยดูแลรักษาถ้ำพระเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2554 ในช่วงที่ยังไม่มีพระสงฆ์มาจำพรรษา คณะศรัทธาถ้ำพระและผู้เลื่อมใสจากกรุงเทพมหานครได้สร้างพระพุทธรูปกลางน้ำจนเสร็จ

พ.ศ. 2556 พระอาจารย์สังวาลย์ อาภากโร ได้มาจำพรรษาปฏิบัติธรรมและคอยดูแลรักษาถ้ำพระ ได้ร่วมกับคณะศรัทธาถ้ำพระช่วยกันสานต่องานสร้างกุฏิและศาลาจนแล้วเสร็จ[5]

ปูชนียวัตถุและถาวรวัตถุที่สำคัญของวัด[แก้]

ถ้ำพระ[แก้]

ตั้งอยู่ปลายสุดของตัวดอยถ้ำพระทางทิศตะวันตก หันหน้าไปทางทิศใต้ซึ่งเป็นที่แม่น้ำกกไหลผ่าน ตัวถ้ำอยู่สูงกว่าระดับพื้นดินประมาณ 12 เมตร มีบันไดก่ออิฐขึ้นไป อดีตหน้าถ้ำแนวเส้นน้ำกกไหลผ่านเลียบเชิงถ้ำพระ ต่อมาเกิดการเปลี่ยนทางน้ำจากสายเดิมราว 100 เมตร ทำให้เป็นผืนดินที่โล่งราบเรียบ ในถ้ำมีพื้นที่ประมาณ 70-80 ตารางเมตร ตรงกลางมีฐานชุกชีประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นจำนวนมาก ด้านซ้ายมือมีหินงอกหินย้อยมีน้ำหยดลงมาตลอดเวลา ต้องเอาโอ่งรองน้ำไว้ เชื่อว่าเป็นน้ำทิพย์วิเศษ บริเวณด้านหน้าถ้ำพระพบจารึกสลักชื่อบุคคลไว้ว่า "ร.อ.อ. หลวงชวกรม ร.อ.ต. วาศ สารภี ระเบิด 4/8 พ.ศ. 2468" คือ รองอำมาตย์เอก หลวงชวกรมกรณี (อิน แสงสนิท) อัยการจังหวัดเชียงราย และรองอำมาตย์ตรี วาส สารภี ปลัดอำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย สันนิษฐานว่าเป็นภารกิจสำรวจถ้ำพระเพื่อเตรียมความพร้อมในการรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. 2469[6]

ถ้ำฤๅษี[แก้]

เป็นช่องซอกถ้ำเล็กๆ สามารถเดินขึ้นไปสักการะรูปปั้นฤๅษีและถ้ำชีปะขาวเพื่อแสดงความเคารพและเป็นสิริมงคล[7]

ถ้ำช้างล้วง[แก้]

ตั้งอยู่ประมาณกึ่งกลางของดดอยทางทิศใต้ติดกับลำน้ำกก เล่าว่าช้างทรงของกษัตริย์ยื่นงวงล้วงเข้าไปในถ้ำเพื่อถวายของสักการะสิ่งศักสิทธิ์ จึงได้ชื่อว่าถ้ำช้างล้วง ภายในถ้ำมีปล่องอากาศพอให้มีแสงสว่างลอดมาถึงเฉพาะตรงที่มีโบราณสถานตั้งอยู่ ลึกประมาณ 40 เมตร กว้างพอจุคนได้ประมาณ 80 คน ด้านซ้ายของผนังถ้ำมีการก่ออิฐยกพื้นสูงประมาณ 1 คืบ กว้างประมาณ 1 เมตร ยาวตามแนวผนังถ้ำ ด้านในสุดเป็นฐานชุกชีประดิษฐานพระประธานก่ออิฐสูงประมาณ 1 เมตร มีบันไดขึ้น 3 ขั้น อดีตมีพระประธานก่ออิฐถือปูนหน้าตักกว้างประมาณ 3 ซอก ด้านซ้ายขวาอีกอย่างละ 1 องค์ แต่ถูกทำลาย วันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2561 พระอธิการยุทธพงษ์ ฐิตฺเมโธ เจ้าอาวาสวัดกลางเวียง พร้อมคณะศรัทธาถ้ำพระ ได้ร่วมใจก่อสร้างพระเจ้าทันใจทดแทนพระประธานองค์เดิมภายในวันเดียว[8]

ถ้ำยุบ[แก้]

อยู่หัวสุดของดอยทางทิศตะวันออก ปากถ้ำอยู่ต่ำคล้ายว่าจะยุบลงเหลือทางเข้าครึ่งเดียว จึงได้ชื่อว่าถ้ำยุบ ปากถ้ำกว้างประมาณ 6 เมตร ถ้ำลึกประมาณ 20 เมตร สามารถเดินทะลุออกได้ 2 ทาง ภายในถ้ำมีการก่อพระมหากัจจายนะ 1 องค์ สูงประมาณ 2 เมตร ไม่ทราบผู้ก่อและปีที่สร้าง บริเวณปากถ้ำพบรอยสลักพระพุทธบาทจำลอง โดยมีพระพุทธรูปและเจดีย์อยู่สองข้าง ไม่ทราบปีที่สลัก และยังพบจารึกอยู่ใต้รอยพระพุทธบาท สลักชื่อบุคคลไว้ว่า "ร.อ.ต. วาศ 12/8/2468" คือ รองอำมาตย์ตรี วาส สารภี ปลัดอำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย สันนิษฐานว่าเป็นภารกิจสำรวจถ้ำพระเพื่อเตรียมความพร้อมในการรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. 2469[9]

ถ้ำหวาย[แก้]

อยู่ห่างจากถ้ำยุบประมาณ 100 เมตร ทางเดินเป็นอุโมงค์แคบๆ ภายในเป็นห้องโถงโล่งๆ ประกอบด้วยหินงอกหินย้อย เมื่อโดนแสงไฟฉายจะส่องประกายระยิบระยับ เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวที่ชอบความตื่นเต้น ผจญภัย[10]

ถ้ำสายลม[แก้]

มีลมพัดออกมาจากรูปากถ้ำตลอดเวลา เหมือนว่าจะมีลมพัดลอดมาอีกด้านหนึ่งของดอยทางแม่น้ำกก[11]

พระสิงห์หนึ่ง[แก้]

พระพุทธรูปสิงห์หนึ่ง หน้าตัก 3 เมตร 9 นิ้ว สร้างเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2536[12]

อ้างอิง[แก้]

  1. https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/detail/2000
  2. อภิชิต ศิริชัย ปริวรรต. จดหมายเหตุเมืองเชียงราย ยุคฟื้นฟูเมืองเชียงราย พ.ศ. 2386-2446. พิมพ์ครั้งที่ 1. เชียงราย: ล้อล้านนา, 2558.
  3. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. ลิลิตพายัพ. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทย (พิมพ์เป็นอนุสรณ์แด่พระตำรวจเอก เจ้าพระยาราชศุภมิตร (อ๊อด ศุภมิตร)) 2472.
  4. Reginald Le May. An Asian Arcady: The Land and Peoples of Northern Siam. Bangkok: White Lotus, 1986.
  5. อภิชิต ศิริชัย . ประวัติโบราณสถานถ้ำพระ. พิมพ์ครั้งที่ 1. เชียงราย: ล้อล้านนา, 2562.
  6. อภิชิต ศิริชัย . ประวัติโบราณสถานถ้ำพระ. พิมพ์ครั้งที่ 1. เชียงราย: ล้อล้านนา, 2562.
  7. อภิชิต ศิริชัย . ประวัติโบราณสถานถ้ำพระ. พิมพ์ครั้งที่ 1. เชียงราย: ล้อล้านนา, 2562.
  8. อภิชิต ศิริชัย . ประวัติโบราณสถานถ้ำพระ. พิมพ์ครั้งที่ 1. เชียงราย: ล้อล้านนา, 2562.
  9. อภิชิต ศิริชัย . ประวัติโบราณสถานถ้ำพระ. พิมพ์ครั้งที่ 1. เชียงราย: ล้อล้านนา, 2562.
  10. อภิชิต ศิริชัย . ประวัติโบราณสถานถ้ำพระ. พิมพ์ครั้งที่ 1. เชียงราย: ล้อล้านนา, 2562.
  11. อภิชิต ศิริชัย . ประวัติโบราณสถานถ้ำพระ. พิมพ์ครั้งที่ 1. เชียงราย: ล้อล้านนา, 2562.
  12. อภิชิต ศิริชัย . ประวัติโบราณสถานถ้ำพระ. พิมพ์ครั้งที่ 1. เชียงราย: ล้อล้านนา, 2562.

ดูเพิ่ม[แก้]

ประวัติวัดถ้ำพระจากคำบอกเล่าของพระครูปลัดชัยวัฒน์ โพสต์โดยผู้ใช้บน ธรรมะห้านาที