วัดกลางเวียง

พิกัด: 19°54′39″N 99°49′57″E / 19.910743°N 99.832547°E / 19.910743; 99.832547
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดกลางเวียง
อุโบสถ, วิหาร และเจดีย์ช้างค้ำของวัดกลางเวียง
แผนที่
ชื่อสามัญวัดกลางเวียง, วัดจันทโลก, วัดจันทโลกกลางเวียง
ที่ตั้งถนนอุตรกิจ ตำบลเวียง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย
ประเภทมหานิกาย
เจ้าอาวาสพระสงการณ์ จารุวังโส
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดกลางเวียง วัดจันทโลก หรือ วัดจันทโลกกลางเวียง เป็นวัดและโบราณสถานในจังหวัดเชียงราย ตั้งอยู่บนถนนอุตรกิจ ตำบลเวียง อำเภอเมืองเชียงราย

ประวัติ[แก้]

วัดจันทโลก สร้างใน พ.ศ. 2180 โดยพญาขีธ็อก หรือพญาขีธอน เจ้าเมืองเชียงรายที่ได้รับการแต่งตั้งจากพระเจ้าตาลูน ยุคพม่าครองล้านนา พื้นเมืองเชียงราย ฉบับวัดป่าลาน ตำบลทุ่งต้อม อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า

"สรีสุขสวัสดี ทีนี้ จักกล่าวพื้นเมืองเชียงราย ด้วยย่ออันแคบก่อนแล ตั้งฟ้าสุมโธธัมมราชมาปราบล้านนาได้แล้ว แต่งพญาขีธ็อกกินเมืองเชียงราย สร้างวัดจันทโลกไว้แล้ว กินเมืองได้ 7 ปี สักกราช 1006 ตัว มังคัชชเทวมากินนานได้ 8 ปี จุติแล"[1]

เหตุที่เรียกวัดจันทโลก เพราะเดิมมีต้นจันทน์แดงขนาดใหญ่ในวัด เมื่อเมืองเชียงรายร้างไปในช่วงสงครามขับไล่พม่า วัดแห่งนี้ได้กลายเป็นวัดร้าง

พ.ศ. 2368 พระยารัตนอาณาเขต (เจ้าหนานธรรมลังกา) เจ้าหลวงเมืองเชียงราย พร้อมไพร่พลเมืองประมาณ 1,000 ครัวเศษ ร่วมกันบูรณะฟื้นฟูเมืองเชียงรายขึ้นใหม่ ชาวไทขืน เมืองพะยากได้ตั้งชุมชนบริเวณวัดจันทโลก เรียกบ้านพะยาก และได้ทำการบูรณะฟื้นฟูวัดจันทโลกขึ้นใหม่ การบูรณะฟื้นฟูเมืองเชียงรายดำเนินการมาถึงสมัยพระยารัตนอาณาเขต (เจ้าอุ่นเรือน) กำหนดเขตเวียงด้วยการตั้งลำเวียง ก่อกำแพงเมืองตามแนวเดิม ลวงแป (ด้านยาวทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก) มี 976 วา ลวงขื่อ (ด้านกว้างทิศเหนือไปทิศใต้) มี 365 วา วัดระยะกองไขว้ (เส้นทแยง) ได้ตำแหน่งศูนย์กลางบริเวณวัดจันทโลก จึงได้ทำการฝังสะดือเมืองเมื่อ พ.ศ. 2417 วัดจันทโลกจึงถูกเรียกว่า วัดจันทโลกกลางเวียง[2]

พ.ศ. 2438 วิหารวัดจันทโลกสร้างเสร็จ มีการฉลองวิหาร จดหมายเหตุเมืองเชียงราย ยุคฟื้นฟูเมืองเชียงรายกล่าวว่า

"สกราช 1257... เดือน 7 ลง 8 ฅ่ำ จหลองวิหารวัดจันทาโลกกลางเวียง"[3]

พ.ศ. 2446 เกิดลมพายุ พัดต้นจันทน์แดงใหญ่ที่อยู่ในบริเวณวัดโค่นล้มและพาดต้นตาล ต้นลาน ทับวิหารและกุฏิพังเสียหายอย่างหนัก จดหมายเหตุเมืองเชียงราย ยุคฟื้นฟูเมืองเชียงรายกล่าวว่า

"สกราช 1265 ตัว ปีกล่าเหม้า วัน 6 เดือน 8 ขึ้น 12 ฅ่ำ ลมใหญ่พัดลานหักเตงใส่โรงแลวิหารวัดจันทโลกกลางเวียง ขื่อแปปุดสะบั้น"[4]

ต้นจันทน์แดงต้นที่ล้ม พระยารัตนาณาเขตร์ (เจ้าน้อยเมืองไชย) เจ้าหลวงเชียงรายได้ตัดเป็น 2 ท่อน ไม้จันทน์ท่อนทางโคนสวยงามและมีขนาดใหญ่ เก็บไว้ที่เชียงราย ไม้จันทน์ท่อนส่วนปลายไปให้เชียงใหม่ ใช้เป็นสื่อไมตรีระหว่างเชียงราย-เชียงใหม่ บันทึกจดหมายเหตุเหล่าเจ้าเจ็ดตน กล่าวว่า

"เมื่อตูได้ของดีค็บ่ละเสียยังรีต บ่ลีดเสียยังปราเวณี ค็จักหื้อของดีแกล่สูไพ เคล้าเชียงราย ปลายเชียงใหม่ เทิอะเนิอ"

ไม้จันทน์ส่วนของเชียงราย ภายหลังศรัทธาวัดนำไปบรรจุใต้ฐานชุกชีพระประธานวัดกลางเวียง ส่วนท่อนที่มอบให้เชียงใหม่นั้นไม่มีผู้ใดทราบว่าปัจจุบันอยู่ที่ไหน ไม้จันทน์แดงที่โค่นล้มนี้เป็นมูลเหตุทำให้ชื่อวัดกร่อนลง เป็นวัดกลางเวียงในปัจจุบัน

ปูชนียวัตถุและถาวรวัตถุที่สำคัญของวัด[แก้]

วิหาร[แก้]

สร้างใหม่เมื่อ พ.ศ. 2534 เป็นสถาปัตยกรรมแบบล้านนาประยุกต์ บันไดทางขึ้นทำเป็นรูปพญานาคคายจากปากมกร มีรูปปั้นพญาราชสีห์และตุงกระด้าง 1 คู่

พระประธาน[แก้]

พระประธานปูนปั้น ปางมารวิชัย เดิมเป็นศิลปะสกุลช่างไทขืน ต่อมาได้บูรณะโดยก่อพอกทับองค์เดิม เป็นรูปแบบศิลปะล้านนา ลงรักปิดทองทั้งองค์ เรียกขานนามว่า "พระเจ้าเพชรมงคลมุนี"

เจดีย์[แก้]

เดิมเป็นพระเจดีย์ปัญจมหาธาตุ พ.ศ. 2539 ได้สร้างพระธาตุช้างค้ำครอบพระเจดีย์ปัญจมหาธาตุ ประดับซุ้มจระนำด้วยพระพุทธรูปจำนวนมาก ฐานเจดีย์มีช้างทรงเครื่องรายรอบ ฐานรองรับองค์ระฆังแปดเหลี่ยม ฐานสูง องค์ระฆังเล็ก

เสาสะดือเมือง[แก้]

ศาลสะดือเมืองเชียงราย

สร้างเมื่อ พ.ศ. 2417 สมัยพระยารัตนอาณาเขต (เจ้าอุ่นเรือน) จดหมายเหตุเมืองเชียงราย ยุคฟื้นฟูเมืองเชียงรายกล่าวว่า

"สกราช 1236 ตัว ปีกาบเสด เดือน 6 ออก 12 ฅ่ำ พายในพายนอกพร้อมกันฝังสะดือเมืองแล 4 แจ่งเวียง ยามแตรสู่เที่ยงวัน"[5]

สะดือเมืองเดิมตั้งอยู่ค่อนไปทางตะวันออกเฉียงใต้ของบริเวณวัด ไม่ใช่ที่ตั้งปัจจุบัน มีรูปร่างเป็นสถูปเหมือนลูกฟักทอง มียอดสูงขึ้นไป ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 6 ศอก สูง 8 ศอก มีการสร้างมณฑปครอบไว้ เดิมมีประเพณีใส่ขันดอกแบบเข้าอินทขิลเมืองเชียงใหม่ เริ่มในวันแรม 13 ค่ำ เดือน 8 เหนือ เสร็จเอาวัน ออก 4 ค่ำ เดือน 9 เหนือ เรียก "เดือนแปดเข้า เดือนเก้าออก" หรือ "ประเวณีไหว้ดือเมือง"

ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 พระ เณร ศรัทธาวัดได้อพยพจากพื้นที่ วัดกลายเป็นที่พักของกองทหารส่วนกลาง มีการลักลอบขุดเจาะของมีค่าในสถูปออกจนสถูปหมดสภาพ จากนั้นถูกละเลยขาดการบูรณะจนกระทั่งถูกรื้อเมื่อ พ.ศ. 2469 สมัยครูบาสุตาลังกา อภิวํโส

28 กันยายน พ.ศ. 2534 พระครูศานกิจโกศล (ครูบาดวงทิพย์) อดีตเจ้าอาวาสวัดกลางเวียงเป็นประธาน พร้อมด้วยคณะศิษยานุศิษย์ ศรัทธา และญาติโยม ร่วมกันกระทำพิธีวางศิลาฤกษ์สะดือเมืองเชียงรายใหม่ เพื่อเป็นอนุสรณ์และสักการะบูชาแก่สาธารณชนทั้งหลาย โดยในการสร้างมณฑปและสะดือเมืองนี้ได้รับความเมตตาอุปถัมภ์จาก นายวีรพันธ์ นางเพียงใจ งามศิริกุลชัย เป็นเจ้าภาพสร้างถวาย

พ.ศ. 2553 พระอาจารย์ยุทธพงษ์ ฐิตเมโธ อดีตเจ้าอาวาสวัดกลางเวียง พร้อมด้วยคณะศิษยานุศิษย์และศรัทธาญาติโยม ได้รื้อฟื้นประเวณีไหว้ดือเมืองขึ้นใหม่อีกครั้ง โดยได้จัดให้มีการปฏิบัติธรรมสวดมนต์เจริญภาวนา และบวงสรวงเสาสะดือเมือง บูชาดวงเมืองเพื่อสืบทอดประเพณีไหว้สะดือเมืองให้คงอยู่คู่ชาวเชียงรายสืบไป[6]

อ้างอิง[แก้]

  1. สรัสวดี อ๋องสกุล ปริวรรต. พินิจหลักฐานประวัติศาสตร์ล้านนา. เชียงใหม่: วิทอินดีไซน์, 2559.
  2. อภิชิต ศิริชัย. มรดกแห่งนครเชียงราย. พิมพ์ครั้งที่ 1. เชียงราย: ล้อล้านนา, 2563.
  3. อภิชิต ศิริชัย ปริวรรต. จดหมายเหตุเมืองเชียงราย ยุคฟื้นฟูเมืองเชียงราย พ.ศ. 2386-2446. พิมพ์ครั้งที่ 1. เชียงราย: ล้อล้านนา, 2558.
  4. อภิชิต ศิริชัย ปริวรรต. จดหมายเหตุเมืองเชียงราย ยุคฟื้นฟูเมืองเชียงราย พ.ศ. 2386-2446. พิมพ์ครั้งที่ 1. เชียงราย: ล้อล้านนา, 2558.
  5. อภิชิต ศิริชัย ปริวรรต. จดหมายเหตุเมืองเชียงราย ยุคฟื้นฟูเมืองเชียงราย พ.ศ. 2386-2446. พิมพ์ครั้งที่ 1. เชียงราย: ล้อล้านนา, 2558.
  6. อภิชิต ศิริชัย. มรดกแห่งนครเชียงราย. พิมพ์ครั้งที่ 1. เชียงราย: ล้อล้านนา, 2563.

ดูเพิ่ม[แก้]

19°54′39″N 99°49′57″E / 19.910743°N 99.832547°E / 19.910743; 99.832547