โบซา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โบซากับขนมหวาน บอเอมชนิตา เสิร์ฟในซาราเยโว ประเทศบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา

โบซา (ตุรกี: boza) เป็นเครื่องดื่มหมักที่มีต้นกำเนิดจากตะวันออกกลาง และนิยมทำดื่มกันในยุโรปตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียตะวันตกเฉียงใต้ คอเคซัส เอเชียกลาง และแอฟริกาเหนือ โบซาเป็นเครื่องดื่มมอลต์ ได้จากการหมักข้าวสาลีหรือมิลลิตในแอลเบเนีย บัลแกเรีย โรมาเนีย มาซิโดเนียเหนือ เซอร์เบีย และบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา ส่วนในอียิปต์โบราณได้จากการหมักข้าวโพด และในตุรกีได้จากการหมักข้าวสาลี[1][2] โบซามีลักษณะข้น มีปริมาณแอลกอฮอล์ต่ำมาก อาจต่ำกว่า 1% และมีรสหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย

ศัพทมูลวิทยาและประวัติศาสตร์[แก้]

พจนานุกรมนีชันยัน (Nişanyan Sözlük) ซึ่งเป็นพจนานุกรมศัพทมูลวิทยาภาษาตุรกีร่วมสมัย ระบุว่าคำว่า boza มีรากศัพท์มาจากภาษาเปอร์เซียหรือไม่ก็ภาษากลุ่มเตอร์กิก โดยคำว่า būza หรือ buχsum ในภาษาเปอร์เซียเป็นคำร่วมเชื้อสายกับคำว่า buχsı หรือ buχsum ในภาษาเตอร์กิกเก่า แต่ไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่าภาษาใดเป็นที่มาของคำนี้และภาษาใดเป็นฝ่ายยืมคำนี้ไป ฟรานซิส โจเซฟ สไตน์แกสส์ เชื่อว่าคำนี้เป็นคำเปอร์เซีย ในขณะที่อาร์มีน วามเบรี เชื่อว่าคำนี้เป็นคำตุรกีโบราณที่พบในวรรณกรรมเรื่อง วิทยปัญญาที่นำมาซึ่งโชคดี (Kutadgu Bilig)

หลักฐานลายลักษณ์อักษรที่เก่าแก่ที่สุดที่เรียกเครื่องดื่มนี้ว่า buχsum ปรากฏอยู่ในพจนานุกรมภาษาเตอร์กิกกลางชื่อ ทะเบียนภาษาของกลุ่มชนเตอร์กิก (ديوان لغات الترك) ซึ่งมะห์มูด อัลกาชเฆาะรี รวบรวมไว้ใน ค.ศ. 1073 เชื่อกันว่าคำว่า boza ในภาษาตุรกีสมัยใหม่เป็นคำร่วมเชื้อสายกับคำว่า buχsı หรือ buχsum ในภาษาเตอร์กิกเก่า โดยปรากฏหลักฐานยืนยันการเรียกเครื่องดื่มนี้ว่า boza เป็นครั้งแรกในหนังสือว่าด้วยภาษาเตอร์กิกคิปชากเรื่อง ตำราลักษณะภาษาของกลุ่มชนเตอร์กิก (كتاب الإدراك للسان الأتراك) ซึ่งอะบู ฮัยยาน อัลฆ็อรนาฏี แต่งขึ้นในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 14[3]

อ้างอิง[แก้]

  1. Jr, Arthur Goldschmidt (2013-10-10). Historical Dictionary of Egypt (ภาษาอังกฤษ). Scarecrow Press. ISBN 978-0-8108-8025-2.
  2. Alpion, Gëzim I. (2011-02-01). Encounters With Civilizations: From Alexander the Great to Mother Teresa (ภาษาอังกฤษ). Transaction Publishers. ISBN 978-1-4128-1831-5.
  3. "boza". Nişanyan Sözlük. สืบค้นเมื่อ 2020-10-21.