ข้ามไปเนื้อหา

ทะเลสาบไท่

พิกัด: 31°14′N 120°8′E / 31.233°N 120.133°E / 31.233; 120.133
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ทะเลสาบไท่
ไท่หู
ทิวทัศน์มองจากริมน้ำ
ทะเลสาบไท่ตั้งอยู่ในมณฑลเจียงซู
ทะเลสาบไท่
ทะเลสาบไท่
ที่ตั้งในมณฑลเจียงซู
ทะเลสาบไท่ตั้งอยู่ในมณฑลเจ้อเจียง
ทะเลสาบไท่
ทะเลสาบไท่
ที่ตั้งในมณฑลเจ้อเจียง
ทะเลสาบไท่ตั้งอยู่ในจีนตะวันออก
ทะเลสาบไท่
ทะเลสาบไท่
ทะเลสาบไท่ (จีนตะวันออก)
ที่ตั้งเจียงซูตอนใต้ และเจ้อเจียงตอนเหนือ
พิกัด31°14′N 120°8′E / 31.233°N 120.133°E / 31.233; 120.133
ชื่อในภาษาแม่太湖 (จีน)
ประเทศในลุ่มน้ำจีน
พื้นที่พื้นน้ำ2,250 ตารางกิโลเมตร (869 ตารางไมล์)
ความลึกโดยเฉลี่ย2 เมตร (6.6 ฟุต)
เกาะ90
เมืองหูโจว, ซูโจว, อู๋ซี
ทะเลสาบไท่
ภาษาจีน太湖
ความหมายตามตัวอักษรทะเลสาบใหญ่

ทะเลสาบไท่ หรือ ไท่หู[1] (อังกฤษ: Lake Tai หรือ Lake Taihu; จีน: 太湖; พินอิน: Tài Hú; แปลตามตัวอักษรว่า "Great Lake") เป็นทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่ในบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี (Yangtze Delta) ใกล้เมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ตั้งอยู่ในเขตมณฑลเจียงซู โดยมีบริเวณตอนใต้ของทะเลสาบติดกับเขตของมณฑลเจ้อเจียง พื้นที่ทะเลสาบมีขนาดประมาณ 2,250 ตารางกิโลเมตร (870 ตารางไมล์) และความลึกเฉลี่ยประมาณ 2 เมตร (6.6 ฟุต)[2] จึงนับได้ว่าเป็นทะเลสาบน้ำจืดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่สามของประเทศจีนต่อจากทะเลสาบผัวหยาง (จีน: 鄱阳湖; พินอิน: Póyáng Hú; Gan: Po-yong U) และทะเลสาบต้งถิง (จีน: 洞庭湖; พินอิน: Dòngtíng Hú) ภายในบริเวณทะเลสาบประกอบด้วยเกาะต่าง ๆ กว่า 90 เกาะ[3] โดยเป็นเกาะที่มีขนาดเล็กเพียงไม่กี่ตารางเมตรจนถึงเกาะขนาดใหญ่ที่มีพื้นที่หลายตารางกิโลเมตร

ทะเลสาบไท่เชื่อมต่อกับคลองต้ายวิ่นเหอ (Grand Canal) ที่มีชื่อเสียงและเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำหลายสาย เช่น แม่น้ำซูโจว (Suzhou Creek) เป็นต้น

เมื่อไม่กี่ปีมานี้ทะเลสาบไท่ได้รับการรบกวนจากมลภาวะเป็นพิษอันเป็นผลมาจากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วในบริเวณโดยรอบ

การก่อตัว

[แก้]

จากการศึกษาทางวิทยาศาสตร์พบว่าโครงสร้างรูปทรงกลมของทะเลสาบไท่เป็นผลมาจากผลกระทบของดาวตก (meteor impact) โดยมาจากการค้นพบแร่ธาตุต่าง ๆ ในยุคดึกดำบรรพ์ คือ หิน shatter cones หิน shock-metamorphosed ควอตซ์ อุลกมณี และหิน shock-metamorphic unloading fractures[4] จากการศึกษาเมื่อเร็ว ๆ นี้ พบความเป็นไปได้ว่ามีการอัดปะทะเป็นแอ่ง (impact crater) ที่เกิดขึ้นมากกว่า 70 ล้านปีก่อน หรืออาจเป็นช่วงปลายยุคดีโวเนียน (Devonian Period)[5]

จากการศึกษาฟอสซิล หรือซากดึกดำบรรพ์ พบว่าพื้นที่บริเวณทะเลสาบไท่เคยเป็นพื้นดินแห้งมาก่อน จนกระทั่งยุคโฮโลซีน (Holocene) หรือมากกว่าหมื่นปีที่ผ่านมา ได้กลายเป็นทางน้ำไหลผ่านสู่ทะเลจีนตะวันออก ต่อมาสันดอนที่สะสมเพิ่มมากขึ้นบริเวณปากแม่น้ำแยงซี  (อังกฤษ: Yangtze river; จีนตัวย่อ: 扬子江; จีนตัวเต็ม: 揚子江; พินอิน: Yángzǐ jiāng) และแม่น้ำเฉียนถัง (อังกฤษ: Qiantang River; จีนตัวย่อ: 钱塘江; จีนตัวเต็ม: 錢塘江; พินอิน: Qiántáng Jiāng, หรือรูจักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า แม่น้ำเฉียน) ทำให้พื้นที่บริเวณทะเลสาบถูกปิดล้อมและไม่มีทางออกสู่ทะเลอีกต่อไป ภายหลังเมื่อมีการไหลเข้าของน้ำจืดจากแม่น้ำและฝนทำให้ทะเลสาบแห่งนี้กลายเป็นทะเลสาบน้ำจืดในที่สุด

ประวัติ

[แก้]

ตั้งแต่ยุคราชวงศ์จีนโบราณ ทะเลสาบไท่ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในทะเลสาบที่มีชื่อเสียงในด้านเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและล่องเรือ มีสถานที่ท่องเที่ยวที่มีทัศนียภาพน่าสนใจหลายแห่งในบริเวณโดยรอบทะเลสาบ มีผู้มีชื่อเสียงจำนวนมากเคยเยี่ยมชมทะเลสาบแห่งนี้ อาทิ สมเด็จพระจักรพรรดิ มหาเสนาบดี นายทหาร บัณฑิต จิตรกร และกวีที่มีชื่อเสียง เป็นต้น[3]

สถานที่ชมทัศนียภาพ

[แก้]

ทะเลสาบไท่เป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียงมากในด้านหินปูนที่มีรูปร่างและโครงสร้างสวยงามเฉพาะตัว มีหินหลายชิ้นถูกนำไปใช้ประดับสวนโบราณเมืองซูโจวที่ใช้หินที่ได้มาจากทะเลสาบไท่แห่งนี้ หินที่ถูกใช้ประดับสวนจีนโบราณ (traditional Chinese gardens) จึงมักถูกเรียกว่า "หินบัณฑิต (Chinese scholar's rocks)" หรือ "หินทะเลสาบไท่ (Taihu stones)"

สถานที่ที่ดีที่สุดในการชมทัศนียภาพของทะเลสาบไท่ คือจากยอดเขาเจดีย์มังกร (Longguang Pagoda หรือ Dragon Light Pagoda) ในบริเวณสวนซีฮุ่ย (Xihui Park) ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกของอู๋ซี (Wuxi)[3] เป็นจุดที่จะได้เห็นทั้งทัศนียภาพของเมืองอู๋ซีและทะเลสาบพร้อม ๆ กัน

หยวนโถวจู่ หรือแหลมหัวเต่า (鼋头渚; Yuantouzhu หรือ the Islet of Turtle head Island) เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งซึ่งมีลักษณะเป็นแหลมคล้ายหัวเต่า ที่ตั้งอยู่ทางฝั่งเหนือของทะเลสาบไท่

เมืองสตูดิโอถ่ายทำภาพยนตร์และโทรทัศน์ทะเลสาบไท่ (Taihu Lake Film and TV Studio Town) สร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1987 โดยสถานีโทรทัศน์กลาง (China Central Television station) ในบริเวณสตูดิโอมีการสร้างเมืองจำลองหลายแห่งเพื่อใช้เป็นฉากในการถ่ายทำภาพยนตร์ เช่น เมืองโบราณสมัยราชวงศ์ถัง เมืองโบราณแบบยุโรป เมืองในยุคสามก๊ก เป็นต้น[3]

ธุรกิจและอุตสาหกรรม

[แก้]

ทะเลสาบไท่เป็นที่รู้จักกันในฐานะแหล่งผลิตสำหรับอุตสาหกรรมประมงและกลุ่มเรือประมง รวมถึงเรือตกปลาส่วนตัวขนาดเล็ก[6] ตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา อุตสาหกรรมการผลิตอาหารทะเล เช่น ปลา และปู เป็นต้น ได้กลายเป็นส่วนสำคัญในชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณทะเลสาบไท่เป็นอย่างยิ่ง รวมทั้งเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจในบริเวณโดยรอบด้วย

นอกจากนี้ ทะเลสาบไท่ยังเป็นถิ่นกำเนิดของการผลิตเครื่องปั้นดินเผา หรือเซรามิก ที่มีการผลิตอย่างกว้างขวางในพื้นที่นี้ และยังเป็นที่ตั้งของโรงงานผลิตหม้อชา (Ishing pottery factory) ที่มีชื่อเสียงมาก

ชิงช้าสวรรค์

[แก้]

ชิงช้าสวรรค์ (Ferris wheel) ขนาดใหญ่ ชื่อ "ดวงดาวแห่งทะเลสาบไท่ (The Star of Lake Tai)" มีความสูง 115 เมตร (377 ฟุต) ตั้งอยู่ริมฝั่งทะเลสาบไท่[7] สร้างขึ้นเสร็จในปี คศ 2008 ใช้เวลาประมาณ 18 นาทีในการหมุนครบหนึ่งรอบ นักท่องเที่ยวสามารถชื่นชมทัศนียภาพของทะเลสาบและศูนย์กลางเมืองจากชิงช้าสวรรค์นี้ได้อย่างสวยงาม

มลภาวะ

[แก้]

ทะเลสาบไท่ได้รับผลกระทบจากมลภาวะมายาวนานหลายทศวรรษ แม้จะมีความพยายามในการลดมลพิษเหล่านั้น แต่หากไม่ยั่งยืนและไม่มีประสิทธิภาพ ในช่วงปี 1980 และ 1990 จำนวนอุตสาหกรรมในบริเวณทะเลสาบมีเพิ่มมากขึ้นถึงสามเท่า และจำนวนประชากรยังมีเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากด้วย ในปี ค.ศ. 1993 เพียงปีเดียวมีน้ำเสียที่ปล่อยลงสู่ทะเลสาบถึง 1 พันล้านตัน นอกจากนั้นยังมีขยะอีก 450,000 ตัน และเศษซากสัตว์อีก 880,000 ตันที่ถูกนำมาทิ้งในทะเลสาบแห่งนี้ รัฐบาลกลางได้เริ่มเข้ามาบริหารจัดการและเริ่มรณรงค์การรักษาความสะอาดพื้นที่ทะเลสาบ รวมทั้งกำหนดค่ามาตรฐานทางมลภาวะต่าง ๆ ให้โรงงานอุตสาหกรรมทำตามในระยะเวลาที่กำหนด ทำให้ในปี ค.ศ. 1999 มีโรงงานถึง 128 แห่งถูกปิดลงเนื่องจากไม่ได้มาตรฐาน

แม้ว่าจะมีการปฏิบัติตามกฎระเบียบที่กำหนดไว้ แต่ปัญหามลภาวะยังคงอยู่ในสภาวะรุนแรง[8] ในเดือนพฤษภาคม ปี ค.ศ. 2007 ทะเลสาบมีสาหร่าย (algae) และสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน (cyanobacteria หรือ blue-green algae) ซึ่งเป็นสาหร่ายที่เป็นพิษต่อแหล่งน้ำจืดอยู่เป็นจำนวนมาก[9] อย่างไรก็ตามรัฐบาลจีนเรียกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ว่าเป็น ภัยธรรมชาติครั้งใหญ่ แทนที่จะเรียกว่าเป็นภัยพิบัติด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยทะเลสาบไท่เป็นแหล่งน้ำที่สำคัญของประชาชนในบริเวณโดยรอบกว่า 30 ล้านคน รวมถึงชาวเมืองอู๋ซีด้วย[10] ราคาน้ำดื่มบรรจุขวดในช่วงนั้นมีการปรับขึ้นถึงหกเท่า ซึ่งต่อมารัฐบาลกลางได้มีคำสั่งห้ามการขายน้ำดื่มของโรงงานในบริเวณนั้นเกินราคาที่กำหนด[11]

ในเดือนตุลาคม ปี ค.ศ. 2007 มีรายงานว่ารัฐบาลยื่นจดหมายเตือน รวมถึงสั่งปิดโรงงานอุตสาหกรรมมากกว่า 1,300 แห่งในบริเวณโดยรอบทะเลสาบไท่ อย่างไรก็ตามอู๋ลี่หง (อังกฤษ: Wu Lihong; จีนตัวย่อ: 吴立红; จีนตัวเดชต็ม: 吳立紅; พินอิน: Wú Lìhóng; เกิดเมื่อปี ค.ศ. 1968) หนึ่งในผู้นำนักสิ่งแวดล้อมซึ่งตีพิมพ์เรื่องมลภาวะของทะเลสาบไท่แห่งนี้ได้ถูกลงโทษจำคุกเป็นเวลา 3 ปี ในข้อหากรรโชกผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องให้เกิดมลภาวะขึ้น[9] มณฑลเจียงซูเคยมีการจัดวางแผนงานในการทำความสะอาดทะเลสาบ[12] โดยมีนายเวิน เจียเป่า เป็นประธาน ซึ่งเป็นผู้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะทำให้ทะเลสาบไท่กลับสู่ภาวะปกติได้ภายในปี   ค.ศ. 2012.[13] อย่างไรก็ตาม ในปี ค.ศ. 2010 หนังสือพิมพ์ ดิอีโคโนมิสต์ (The Economist) รายงานไว้ว่าความคืบหน้าในการแก้ปัญหามลภาวะของทะเลสาบไท่มีน้อยมาก จากการสำรวจและสัมภาษณ์ประชาชนในบริเวณโดยรอบทะเลสาบ พบว่ามีประชาชนจำนวนมากกล่าวว่าภาวะมลพิษยังคงมีอยู่ไม่แตกต่างจากสถานการณ์ในปี ค.ศ. 2007 ในขณะที่ Wu Lihong ผู้ซึ่งได้รับการปล่อยตัวหลังจากถูกคุมขังนาน ในเดือนเมษายน ค.ศ. 2007 ได้กล่าวว่านักข่าวท้องถิ่นแจ้งว่ารัฐบาลพยายามปิดข่าวความล้มเหลวในการแก้ปัญหาและการระบาดเพิ่มขึ้นอย่างรุนแรงของสาหร่ายในทะเลสาบ[14]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Also translated as Tai or T'ai Lake and as Taihu or T'ai-hu Lake.
  2. "太湖" [Lake Tai]. The Suzhou Science Window [苏州科普之窗] (ภาษาจีน). Science and Technology Association of Suzhou City [苏州市科学技术协会]. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-06-11. สืบค้นเมื่อ 2014-06-13.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 Jiangsu.net (http://wuxi.jiangsu.net/attraction/premier.php?name=Lake_Taihu&city=Wuxi&id=51)
  4. Wang Erkang; Wan Yuqiu; Xu Shijin (May 2002). "Discovery and implication of shock metamorphic unloading microfractures in Devonian bedrock of Taihu Lake". Science in China Series D: Earth Sciences. 45 (5): 459. doi:10.1360/02yd9048. S2CID 195300513.
  5. Wang, K.; Geldsetzer, H. H. J. (1992). "A late Devonian impact event and its association with a possible extinction event on Eastern Gondwana". Lunar and Planetary Inst., International Conference on Large Meteorite Impacts and Planetary Evolution: 77. Bibcode:1992lmip.conf...77W.
  6. Barrett, Rick (February 3, 2007). "China offers open waters". Milwaukee Journal Sentinel. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-02-28. สืบค้นเมื่อ 2014-06-13.
  7. 文涛 (September 1, 2008). ""太湖之星"摩天轮即将开放". Xinhuanet (ภาษาจีน). สืบค้นเมื่อ January 15, 2013.
  8. Ma, Jun (2004). China's Water Crisis. Norwalk, CT: International Rivers Network. pp. 163–164. ISBN 1-891936-28-X.
  9. 9.0 9.1 Kahn, Joseph (October 13, 2007). "In China, a Lake's Champion Imperils Himself". International Herald Tribune.
  10. "China's third-largest freshwater lake faces algae threat". China Daily. Xinhua. April 14, 2008. สืบค้นเมื่อ April 20, 2008.
  11. "Algae smother Chinese lake, millions panic". MSNBC. AP. May 31, 2007.
  12. "China to clean up polluted lake". BBC News. October 27, 2007.
  13. "Taihu cleanup plan". China Daily - Across China: Beijing. April 4, 2008. p. 4. สืบค้นเมื่อ April 20, 2008.
  14. The Economist, 7 August 2010 p 49.