โกฐสิงคลี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

โกฐสิงคลี จัดเป็นเครื่องยาประเภทสัตว์วัตถุชนิดหนึ่ง โดยคำว่า "สิงคลี" แปลว่า "เขาของสัตว์" ซึ่งโกฐสิงคลีนี้คือ "เขากุย" (Saiga horn) ภาษาจีนกลางเรียก "หลิงหยางเจี่ยว" ภาษาจีนแต้จิ๋วเรียก "เล่งเอี๊ยง" เป็นเครื่องยาที่ได้มาจากเขาของสัตว์กีบชนิดที่เรียกว่า "กุย" (Saiga antelope) ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์: Saiga tatarica ในวงศ์ Bovidae ซึ่งอาศัยอยู่ในที่ราบทุ่งหญ้าและบริเวณเนินสูงที่มีลมหนาวจัดและมักมีละอองฝุ่นทรายพัดกระจัดกระจายอยู่ โดยพบตั้งแต่ประเทศโปแลนด์ไปจนถึงตอนใต้ของประเทศรัสเซีย และทุ่งหญ้าในที่ราบสูงของประเทศมองโกเลีย พบมากสุดในเขตทุ่งหญ้าของประเทศคาซัคสถาน

โกฐสิงคลีที่มีขายในร้านขายเครื่องยาจีนส่วนใหญ่ นำเข้ามาจากทางภาคเหนือของเขตปกครองตนเองชนชาติอุยเกอร์แห่งซินเกียง มีสีขาวอมเหลือง ประมาณหนึ่งในสามถึงครึ่งหนึ่งจากโคนเขาจะมีเนื้อกระดูกที่แข็งและแน่น เมื่อเอาออกจะทำให้เขากลวง โปร่งใส เมื่อส่องกับแสงจะเห็นภายใน ส่วนครึ่งหลังของเขากุยจะมีช่องเล็กๆ ทอดเป็นเส้นตรงยาวไปจนถึงปลายเขาเรียกว่า "รูทะลุปลายเขา" ซึ่งจะเป็นลักษณะเฉพาะของโกฐสิงคลีนี้

ในพระคัมภีร์ทางแพทย์แผนไทยและตำราแผนโบราณกล่าวว่า "โกฐสิงคลี" มีฤทธิ์เย็นจัด มีรสเค็ม ใช้ในผู้ป่วยที่มีไข้สูง และมีอาการอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับอาการไข้สูง เช่น ชัก หมดสติ เพ้อคลั่ง เป็นต้น อีกทั้งยังใช้ตัวยานี้เป็นยากันชักได้อีกด้วย โดยพบว่าเมื่อรับประทานโกฐสิงคลีนี้เข้าไปแล้วจะทำให้ร่างกายเย็นลง และสรรพคุณนี้แรงกว่าเขากระบือถึง 15 เท่า

อ้างอิง[แก้]

  • ชยันต์ พิเชียรสุนทร และ วิเชียร จีรวงศ์. คำอธิบายตำราพระโอสถพระนารายณ์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กทม. อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง. 2548. หน้า 253 – 255