แทว็อนกุนฮึงซ็อน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ลี ฮาอึง
แทวอนกุน (대원군)
ประสูติ1820
สิ้นพระชนม์22 กุมภาพันธ์ 1898 (พระชนมายุ 78 พรรษา)
พระชายาYeoheung, Princess Consort to the Prince of the Great Court, of the Yeoheung Min clan
พระราชบุตรYi Jae-myeon 이재면 李載冕
* Yi Myeong-bok 이명복 李載晃
* Yi Jae-seon 이재선 李載先
* 3 daughters
พระนามเต็ม
ลี ฮา-อึง
이하응 李昰應
ราชวงศ์ราชวงศ์โชซอน
พระราชบิดาPrince Namyeon

แทว็อนกุนฮึงซ็อน (เกาหลี흥선 대원군; ฮันจา興宣大院君) เป็นพระราชบิดาของพระเจ้าโคจง และเป็นผู้สำเร็จราชการแทนในรัชสมัยของพระโอรส แทว็อนกุนฮึงซ็อน หรือเรียกสั้น ๆ ว่า แทว็อนกุน เป็นผู้มีบทบาทอย่างมากในการเมืองสมัยราชวงศ์โชซอนตอนปลาย

พระราชวงศ์ตกอับ[แก้]

องค์ชายแดวอนกุน พระบิดาในพระเจ้าโกจง(จักรพรรดิโกจง)

แทว็อนกุนฮึงซ็อนเดิมพระนามว่า ลี ฮาอึง (เกาหลี: 이하응 李昰應) ประสูติเมื่อค.ศ. 1820 เป็นพระโอรสองค์ที่ 4 ขององค์ชายนัมยอน (เกาหลี: 남연군 南延君) กับพระชายาจากตระกูลมินแห่งยอฮึง บิดาขององค์ชายลีฮาอึงคือองค์ชายนัมยอนนั้น เดิมชื่อว่า ลีกู เป็นผู้สืบเชื้อสายมาจากพระเจ้าอินโจมาแล้วหลายรุ่น ด้วยความห่างไกลทางสายพระโลหิตทำให้ตระกูลของลีกูมีสถานะเป็นเพียงขุนนาง ยังบัน ธรรมดา แต่ทว่าในค.ศ. 1815 ลีกูได้เข้าเป็นบุตรบุญธรรมขององค์ชายอึนชิน (เกาหลี: 은신군 恩信君) พระโอรสขององค์ชายรัชทายาทซาโด) เนื่องจากองค์ชายอึนชินต้องพระอาญาถูกเนรเทศไปยังเกาะเชจูและสิ้นพระชนม์ที่นั่นทำให้ขาดทายาท ลีกูได้รับสถานะเป็นองค์ชายและได้รับพระนามว่า องค์ชายนัมยอน ค.ศ. 1843 องค์ชายลีฮาอึงได้รับพระนามว่า องค์ชายฮึงซ็อน (เกาหลี: 흥선군 興宣君)

ราชสำนักโชซอนในสมัยนั้นอยู่ภายใต้การปกครองของราชนิกูล หรือการปกครองแบบเซโด (เกาหลี: 세도정치 勢道政治) ซึ่งเป็นการปกครองโดยพระญาติของพระมเหสีหรือพระพันปี ได้แก่ ตระกูลคิมแห่งอันดง ตระกูลโจแห่งพุงยาง และตระกูลฮงแห่งนัมยาง ซึ่งตระกูลเหล่านี้คอยแก่งแย่งผลัดกันขึ้นมามีอำนาจและมักหาทางกำจัดองค์ชายที่มีความสามารถไปให้พ้นทาง องค์ชายฮึงซ็อนตระหนักถึงความจริงข้อนี้ดีจึงทรงแสร้งทำองค์เหมือนคนวิปริตไร้ความสามารถ ขาดสติปัญญา เพื่อที่จะไม่เป็นที่สนใจของตระกูลคิมแห่งอันดงซึ่งมีอำนาจอยู่ในขณะนั้น[1] จนกระทั่งค.ศ. 1863 พระเจ้าชอลจงสวรรคตโดยที่ไม่มีทายาท ทำให้ราชบัลลังก์ขาดผู้สืบทอด องค์ชายฮึงซ็อนได้ทรงเข้าหาพระอัยยิกาตระกูลโจแห่งพุงยาง ผู้ทรงอาวุโสที่สุดในราชสำนักขณะนั้น โดยเสนอให้ยกบุตรชายของตนคือ ลี มยองบก (เกาหลี: 이명복 李命福) ขึ้นเป็นกษัตริย์องค์ต่อไป เนื่องจากองค์ชายลีมยองบกมีพระชนมายุเพียงแค่สิบเอ็ดพระชันษาพระอัยยิกาโจจึงสามารถกุมอำนาจในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนได้[2] ซึ่งพระอัยยิกาตระกูลโจก็ทรงเห็นชอบจึงยกให้องค์ชายลีมยองบกเป็นกษัตริย์เกาหลีองค์ต่อมา คือ พระเจ้าโกจงแห่งโชซอน

เมื่อพระโอรสคือพระเจ้าโคจงได้ขึ้นครองราชย์แล้ว องค์ชายฮึงซ็อนในฐานะเป็นพระบิดาของพระเจ้าโคจงได้รับตำแหน่งเป็น แทว็อนกุน หรือ แทวอนกุน (เกาหลี: 대원군 大院君) อันเป็นตำแหน่งสำหรับพระบิดาของกษัตริย์โชซอนซึ่งมักจะล่วงลับไปแล้ว แทว็อนกุนฮึงซ็อน หรือ ฮึงซ็อนแทวอนกุนนั้น จึงเป็นแทว็อนกุนเพียงพระองค์เดียวที่ได้รับตำแหน่งในขณะที่มีพระชนม์ชีพอยู่

ขึ้นสู่อำนาจ[แก้]

เมื่อพระเจ้าโคจงขึ้นครองราชย์ ตระกูลคิมแห่งอันดงซึ่งครอบครองตำแหน่งระดับสูงต่าง ๆ อยู่ในขณะนั้นก็ถูกขับออกจากราชสำนักไปจนเกือบหมดสิ้น โดยที่มีตระกูลโจแห่งพุงยางนำโดยพระอัยยิกาตระกูลโจและโจโดซุน ขึ้นมามีอำนาจแทน อย่างไรก็ตามแทว็อนกุนก็ได้ทรงแสดงศักยภาพโดยการยึดอำนาจการปกครองจากตระกูลโจมาไว้แก่ตนเอง โดยแทว็อนกุนทรงสามารถดำเนินการปฏิรูปการปกครองของราชสำนักโชซอน ซึ่งเสื่อมลงและเต็มไปด้วยการทุจริตจากการปกครองของราชนิกูลแบบเซโด โดยมีพื้นฐานบนหลักของลัทธิขงจื้อ และแก้ไขปัญหาการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายของขุนนาง โดยแทว็อนกุนได้กำจัดต้นเหตุแห่งการแบ่งฝักฝ่ายของขุนนางคือ สำนักปราชญ์ขงจื้อต่าง ๆ ตามหัวเมืองเรียกว่า ซอวอน (เกาหลี: 서원 書院) โดยแทว็อนกุนทรงสั่งปิด ซอวอน ทั่วอาณาจักรโชซอนกว่าสี่ร้อยแห่ง ท่ามกลางการประท้วงของขุนนางและนักปราชญ์ต่าง ๆ เพราะนอกจากจะเป็นที่ปลูกฝังความคิดแบ่งฝ่ายแล้ว ซอวอน ยังเป็นสถานที่สำหรับเซ่นไหว้บูชานักปราชญ์ผู้มีชื่อเสียงชาวจีนและชาวเกาหลีต่าง ๆ ซึ่งแทวอนกุนได้ทำการตอบโต้ว่า "...ข้าจะไม่ยอมรับแม้แต่การฟื้นคืนชีพของขงจื้อ ถ้าหากว่านั่นจะเป็นการทำร้ายประชาชน..."[3] จึงกล่าวได้ว่าการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายของขุนนางเกาหลีที่ดำเนินมานานหลายร้อยปี สิ้นสุดลงในสมัยของแทวอนกุนนั้นเอง

ค.ศ. 1865 แทว็อนกุนทรงมีโครงการที่จะย้ายพระราชวังจากพระราชวังชังด็อกกลับไปยังพระราชวังคย็องบก ซึ่งได้ถูกเผาทำลายเสียหายไปเมื่อครั้งการบุกครองเกาหลีของญี่ปุ่น (พ.ศ. 2135–2141) เมื่อกว่าสามร้อยปีก่อนโดยที่มิได้มีการบูรณะ แต่ทว่าราชสำนักโชซอนไม่มีงบประมาณพอที่จะทำการซ่อมแซมบูรณะพระราชวังใหม่ แทว็อนกุนจึงทรงให้มีการเก็บภาษีจากชนชั้นขุนนาง ยังบัน ซึ่งแต่เดิมชนชั้นขุนนางได้รับการยกเว้นภาษีเสมอมา สร้างความไม่พอใจให้แก่ชนชั้น ยังบัน เป็นอย่างมากแต่เป็นการแบ่งเบาภาระของประชาชน และการเก็บภาษีนี้ยังทำให้อำนาจทางเศรษฐกิจของชนชั้น ยังบัน อ่อนแอลง หลังจากที่ใช้เวลาบูรณะสองปี พระราชวังคย็องบกก็เสร็จสิ้นในค.ศ. 1867 พระเจ้าโคจง แทว็อนกุน และพระอัยยิกาตระกูลโจจึงเสด็จแปรพระราชฐานไปประทับยังพระราชวังใหม่

การรุกรานของชาวตะวันตก[แก้]

ความท้าทายอย่างใหญ่หลวงที่สุดของราชสำนักเกาหลีในสมัยของแทว็อนกุนคือ ความพยายามของชาติตะวันตกในการติดต่อค้าขายกับอาณาจักรโชซอน ซึ่งอาณาจักรโชซอนยึดถือนโยบายปิดประเทศไม่ข้องแวะกับชาวต่าชาติใด ๆ (ยกเว้นราชวงศ์ชิงและญี่ปุ่น) จนได้รับฉายาว่า อาณาจักรฤๅษี (The Hermit Kingdom) และปัญหาการเผยแพร่คริสต์ศาสนาในเกาหลีช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 อันจะเป็นภัยคุกคามต่อลัทธิขงจื้อที่ราชสำนักยึดถือเป็นหลักสำคัญมาช้านาน ทำให้ราชสำนักโชซอนนั้นมีทัศนคติที่ไม่สู้ดีนักกับชาวตะวันตกและวิทยาการตะวันตกโดยรวม

ในความพยายามที่จะกำจัดคริสต์ศาสนาออกไปจากเกาหลี ในค.ศ. 1866 หลังจากที่ราชวงศ์ชิงได้พ่ายแพ้ในสงครามฝิ่นครั้งที่สอง ชาติตะวันตกเริ่มให้ความสนใจแก่อาณาจักรโชซอน โดยรัสเซียได้ส่งเรือรบเข้ามาหวังเปิดการเจรจาการค้า ทำให้ในปีนั้นแทว็อนกุนทรงตัดสินพระทัยดำเนินกวาดล้างชาวคริสเตียนในเกาหลี โดยมีการประหารชีวิตบาทหลวงซีเมอง-ฟรองซัว แบร์โนซ์ (Siméon-François Berneux) หัวหน้าสมาคมมิชชันนารีต่างประเทศแห่งกรุงปารีส (Société des Missions Étrangères de Paris) ในเกาหลี ชาวคริสเตียนที่หลุดรอดไปได้เดินทางไปพบปิแอร์-กุสตาฟ โรเซอ (Pierre-Gustave Roche) นายพลเรือฝรั่งเศสที่กรุงปักกิ่ง โรเชอจึงตัดสินใจรุกรานโชซอนในทันที ทัพเรือของโรเซอบุกยึดได้เกาะคังฮวา แต่กระแสน้ำแปรปรวนและแม่น้ำฮันตื้นเขินเกินกว่าจะล่องเรือไปได้ทำให้โรเซอยกทัพไปไม่ถึงเมืองฮันยาง โรเซอมีพยายามจะยกทัพขึ้นฝั่งอยู่หลายครั้งแต่ถูกกองทัพโชซอนต่อต้านอย่างรุนแรงจึงถอยกลับไปในที่สุด การบุกเกาหลีของฝรั่งเศสครั้งนี้เรียกว่า พยองอินยังโย (เกาหลี: 병인양요) หรือ การรุกรานของชาวตะวันตกในปีพยองอิน

ในปีค.ศ. 1866 เช่นกัน บริษัทอังกฤษแห่งหนึ่งในจีน ต้องการที่จะทำสัญญาการค้ากับโชซอน จึงส่งเรือรบชื่อว่าเจเนอรัล เชอร์แมน (General Sherman) ซึ่งเป็นเรือรบของสหรัฐอเมริกามายังโชซอน ซึ่งเรือเจเนอรัล เชอร์แมนถูกต่อต้านอย่างรุนแรงจากทางการโชซอนโดยการส่งทัพมาโจมตีและเผาเรือเจเนอรัล เชอร์แมน อีกห้าปีต่อมาในค.ศ. 1871 รัฐบาลสหรัฐอเมริกาจึงส่งทัพเรือส่วนหนึ่งจากกองกำลังภาคเอเชีย (Asiatic Squadron) นำโดยนายจอห์น ร็อดเจอร์ส (John Rodgers) มายังโชซอน เพื่อเจรจาขอชดเชยค่าเสียหายจากกรณีเรือเจเนอรัล เชอร์แมน แต่ด้วยการสื่อสารที่ไม่ได้ผลทำให้เมื่อทัพเรือสหรัฐอเมริกาเข้าสู่แม่น้ำฮัน ชาวโชซอนเข้าใจว่าทัพเรือสหรัฐฯ จะมาบุกยึดเมืองฮันยางจึงยิงปืนเข้าใส่ ทัพสหรัฐอเมริกาตอบโต้ด้วยการบุกยึดเกาะคังฮวา และโจมตีเมืองต่าง ๆ ของโชซอน และได้จับชาวโชซอนเป็นเชลยไว้จำนวนมาก จึงคิดจะให้เป็นข้อแลกเปลี่ยนในการทำสัญญาทางการค้า แต่ทางราชสำนักไม่สนใจชีวิตของตัวประกันและยังคงยืนยันจะปิดประเทศต่อไป เมื่อการเจรจาไม่ได้ผลทัพเรืออเมริกาจึงถอยทัพกลับ การบุกเกาหลีของสหรัฐอเมริกาครั้งนี้เรียกว่า ชินมียังโย (เกาหลี: 신미양요) การรุกรานของชาวตะวันตกในปีชินมี

สูญเสียอำนาจ[แก้]

ค.ศ. 1866 เมื่อพระเจ้าโกจงมีพระชนมายุสิบห้าชันษาถึงเวลาอภิเษกสมรส พระอัยยิกาตระกูลโจและแทว็อนกุนฮึงซ็อน พระบิดาของพระเจ้าโกจงเป็นผู้คัดเลือกพระมเหสีองค์ใหม่ พระชายาของแทว็อนกุนคือ พระชายายอฮึง (เกาหลี: 여흥부대부인 驪興府大夫人) ได้แนะนำสตรีจากตระกูลของพระนาง เป็นบุตรสาวของมินชีรก (เกาหลี: 민치록 閔致祿) ให้เป็นพระมเหสีของพระเจ้าโกจง ซึ่งแทว็อนกุนฮึงซ็อนนั้นก็เห็นด้วยเนื่องจากว่าเป็นตระกูลของพระชายาของเจ้าชายแทวอนเอง ซึ่งเป็นตระกูลที่มีอิทธิพลและบทบาทในราชสำนักน้อย ไม่น่าจะเป็นภัยคุกคามต่อแทว็อนกุนในอนาคต แต่ปรากฏว่าพระมเหสีองค์ใหม่จากตระกูลมิน (จักรพรรดินีมย็องซ็อง) กลับเข้ามาแทรกแซงกิจการบ้านเมืองและนำตระกูลมินแห่งยอฮึงเข้ามามีอำนาจในราชสำนักแข่งขันกันกับแทว็อนกุน

ค.ศ. 1868 พระสนมควีอินระกูลลี (เกาหลี: 귀인이씨 貴人李氏) ประสูติพระโอรสองค์แรกแด่พระเจ้าโคจงพระนามว่า เจ้าชายวานฮวา (เกาหลี: 완화군 完和君) ซึ่งเจ้าชายแทวอนประสงค์จะแต่งตั้งเจ้าชายวานฮวาเป็นเจ้าชายรัชทายาท พระมเหสีมินประสูติพระโอรสองค์แรกของพระองค์เองแต่ทว่าสิ้นพระชนม์ลงเมื่อพระชนมายุเพียงสามวัน เจ้าชายแทวอนตำหนิพระมเหสีมินว่าทรงไม่อาจทำหน้าที่ของภรรยาที่ดีได้ ในขณะที่พระมเหสีมินตรัสโทษโสมของเจ้าชายแทวอนที่ประทานแก่พระโอรสว่าเป็นต้นเหตุการสิ้นพระชนม์ ในค.ศ. 1873 กลุ่มขุนนางตระกูลมินได้สนับสนุนให้ขุนนางชื่อว่า ชเวอิกฮยอน (เกาหลี: 최익현 崔益鉉) ถวายฏีกาตำหนิการปกครองของเจ้าชายแทวอนว่ามีการทุจริตฉ้อฉล และร้องขอให้พระเจ้าโคจงทรงปกครองประเทศด้วยพระองค์เองเนื่องจากมีพระชนมายุเกินยี่สิบชันษาแล้ว พระเจ้าโคจงจึงทรงประกาศว่าจะว่าราชการด้วยพระองค์เอง เป็นเหตุให้เจ้าชายแทวอนต้องทรงพ้นสภาพจากการเป็นผู้สำเร็จราชการแทนไปโดยปริยาย[4] เมื่อทรงสูญเสียอำนาจให้แก่พระสุนิสา (ลูกสะใภ้) แล้ว แทว็อนกุนก็เสด็จย้ายไปประทับที่พระราชวังอุนฮยอน

หลังจากที่สูญเสียอำนาจไปแล้วนั้น แทว็อนกุนยังทรงหาทางกอบกู้อำนาจคืนจากพระมเหสีมินและตระกูลมินอยู่เสมอ ในค.ศ. 1881 แทว็อนกุนทรงร่วมกับขุนนางผู้สมรู้ร่วมคิดจำนวนหนึ่งวางแผนการก่อกบฏยึดอำนาจจากพระเจ้าโคจงและพระมเหสีมิน พร้อมทั้งยกให้องค์ชายวานึง (เกาหลี: 완은군 完恩君) พระโอรสองค์โตผู้เป็นพระเชษฐาของพระเจ้าโคจงเป็นกษัตริย์แทน แต่ทว่าแผนการกลับล่วงรู้ไปถึงพระมเหสีมินเสียก่อน จึงมีการจับกุมลงโทษประหารชีวิตผูสมรู้ร่วมคิด รวมทั้งองค์ชายวานึงถูกสำเร็จโทษประหารชีวิตไปเช่นกัน ส่วนแทว็อนกุนในฐานะพระราชบิดาจึงไม่มีผู้ใดสามารถเอาผิดได้

ในค.ศ. 1882 ในเหตุการณ์กบฏปีอีโม (เกาหลี: 임오군란) ทหารเก่าไม่พอใจการปฏิรูปของพระมเหสีมินได้ยกทัพเข้ายึดพระราชวังคย็องบก และถวายคืนอำนาจให้แด่แทว็อนกุน แต่ทว่าพระมเหสีได้ทรงร้องขอความช่วยเหลือจากจีนราชวงศ์ชิง ได้ส่งกองทัพจำนวน 4,500 นำโดยหลี่หงจาง (จีน: 李鴻章 Lǐ Hóngzhāng) เข้ามายังกรุงโซลเพื่อทำการปราบกบฏลงได้สำเร็จ แทว็อนกุนทรงต้องโทษและถูกจับกุมองค์ไปยังเมืองเทียนจิน หลังจากที่ประทับอยู่เมืองเทียนจินเป็นเวลาเกือบสามปี ทางราชสำนักชิงก็ได้ปลดปล่อยแทว็อนกุนกลับมาสู่โชซอน

ค.ศ. 1895 เหตุการณ์ปีอึลมี พระมเหสีมินทรงถูกลอบสังหารอย่างโหดเหี้ยมโดยกลุ่มทหารญี่ปุ่นทำโดย มิอุระ โกโร (ญี่ปุ่น: 三浦梧楼โรมาจิMiura Gorō) ราชทูตญี่ปุ่นประจำเกาหลีในขณะนั้น เป็นที่คาดเดาว่า แทว็อนกุนทรงมีส่วนรู้เห็นในเหตุการณ์ครั้งนี้

แทว็อนกุนสิ้นพระชนม์เมื่อค.ศ. 1898 ที่พระราชวังอุนฮยอน พระชนมายุ 78 ชันษา

พระราชวงศ์[แก้]

  • พระราชบิดา
    • องค์ชายนัมยอง (1788-1836)
  • พระราชมารดา
    • ไม่ทราบพระนามแน่ชัด
  • พระชายา
    • พระชายายอฮึงจากตระกูลมิน (1818-1898)
    • อนุภรรยา กเย ซองวอล (계성월)
  • พระโอรสและธิดา
    • ลี แจมยอน (องค์ชายวอนฮึง) (1845-1912)- ประสูติในพระชายาตระกูลมิน
    • ลี มยอนบก (พระเจ้าโคจง) (1852-1919)- ประสูติในพระชายาตระกูลมิน
    • ลี แจซอน (องค์ชายวานึง) 완은군 (1842-1881) -ประสูติในอนุภรรยากเยซองวอล

ดูเพิ่ม[แก้]

  1. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-05-23. สืบค้นเมื่อ 2014-03-15.
  2. http://www.koreanhistoryproject.org/Ket/C21/E2101.htm
  3. Jae-eun Kang. The Land of Scholars: Two Thousand Years of Korean Confucianism. Homa & Sekey Books, 2006.
  4. http://www.koreanhistoryproject.org/Ket/C22/E2204.htm