แกงปีศาจ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แกงปีศาจ
ชื่ออื่นเดอบัล, อายัมเซอตัน
มื้ออาหารหลัก
แหล่งกำเนิดประเทศมาเลเซีย
ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ผู้สร้างสรรค์ชาวกริซตัง
อุณหภูมิเสิร์ฟร้อน
ส่วนผสมหลักเนื้อไก่, น้ำส้มสายชู, เมล็ดมัสตาร์ด, ถั่วเทียน, พริก, กระเทียม, ตะไคร้, ข่า, มันฝรั่ง, ขิง, หอมแดง, ผงขมิ้น, น้ำมันพืช

แกงปีศาจ (อังกฤษ: Devil's curry) หรือ แกงเดอบัล (มลายู: Kari debal; กริซตัง: Cari Debal) บ้างเรียก อายัมเซอตัน (มลายู: Ayam setan; แปลว่า ไก่ซาตาน) เป็นอาหารของชาวยูเรเชียในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบได้ในกลุ่มชาวกริซตังในรัฐมะละกา ประเทศมาเลเซีย ชาวอินโดในประเทศอินโดนีเซีย และประชากรลูกครึ่งอินโด-ดัตช์พลัดถิ่น[1] โดยอาหารชนิดนี้จะทำขึ้นในช่วงหนึ่งหรือสองวันหลังวันคริสตสมภพ หรือในโอกาสสำคัญอื่น ๆ[2][3]

แกงปีศาจมาต้นกำเนิดจากแกงวินดาลูของชาวกัวในประเทศอินเดีย ซึ่งอดีตบริเวณดังกล่าวก็เป็นอาณานิคมของโปรตุเกสเช่นกัน โดยอาหารทั้งสองชนิดนี้ต่างมีน้ำส้มสายชูเป็นส่วนประกอบหลักเช่นเดียวกันซึ่งสืบทอดจากธรรมเนียมการทำอาหารของโปรตุเกส ถือเป็นอาหารลูกผสมที่รับเอาอิทธิพลพื้นถิ่นเอเชียอาคเนย์มาผสมกับอาหารตะวันตกของเจ้าอาณานิคมโปรตุเกส[4]

แกงปีศาจมีวัตถุดิบ ได้แก่ เนื้อไก่, น้ำส้มสายชู, เมล็ดมัสตาร์ด, ถั่วเทียน, พริก, กระเทียม, ตะไคร้, ข่า, มันฝรั่ง, ขิง, หอมแดง, ผงขมิ้น, น้ำมันพืช เบื้องต้นนำพริก กระเทียม ตะไคร้ ข่า และถั่วเทียนมาตำเป็นพริกแกงเสียก่อน จากนั้นจึงตั้งกระทะเจียวหอมแดง ขิงฝอย และเมล็ดมัสตาร์ด เมื่อหอมดีแล้วจึงใส่พริกแกงที่ตำละเอียดแล้วลงไป จากนั้นใส่ผงขมิ้น พริกป่น น้ำตาล และเกลือเพื่อแต่งรส จากนั้นจึงใส่เนื้อไก่ และมันฝรั่งลงไป ก่อนแต่งรสด้วยน้ำส้มสายชูอีกครั้ง รอจนเนื้อไก่และมันฝรั่งสุกเป็นอันเสร็จ

ทั้งนี้ชื่อแกงปีศาจมาจากคำว่า Debal แปลว่าของเหลือ เพราะเป็นของที่เหลือจากมื้ออาหารในวันคริสตสมภพนั่นเอง[5] ปัจจุบันแกงนี้ไม่ได้ทำจากของเหลืออีกต่อไป และกลายเป็นหนึงในรายการอาหารประจำบ้านของชาวยูเรเชีย ส่วนชื่อ Debal นั้นพ้องเสียงกับคำว่า Devil ซึ่งแปลว่าปีศาจ ด้วยเปรียบเปรยถึงความเผ็ดของแกง จึงมีผู้เรียกอาหารนี้เป็นภาษาอังกฤษว่าแกงปีศาจ (Devil's curry)[2][6]

อ้างอิง[แก้]

  1. Oost-Indisch Kookboek / pag. 150 / Ajam setan / 1896 / https://books.google.nl/books?id=g1HHeMAgp5gC&printsec=frontcover&hl=nl&source=gbs_ge_summary_r&cad=0#v=onepage&q&f=false
  2. 2.0 2.1 Pereira, Quentin (2012). Eurasian Heritage Cooking (ภาษาอังกฤษ). Singapore: Marshall Cavendish International Asia Pte Ltd. p. 154. ISBN 978-981-4435-10-9.
  3. Gomes, Mary (2016). Mary Gomes: Food for Family and Friends (ภาษาอังกฤษ). Singapore: Marshall Cavendish International Asia Pte Ltd. p. 31. ISBN 978-981-4751-16-2.
  4. Ebrahim, Naleeza; Yee, Yaw Yan (2006). Singapore: An Introduction to What Where When to Eat in the City. Not Just a Food Guide (ภาษาอังกฤษ). Singapore: Marshall Cavendish. p. 21. ISBN 978-981-232-922-6.
  5. Bloor, Azlin (2021-11-23). "Curry Devil (aka Kari Debal, a Eurasian Christmas Recipe)". Singaporean and Malaysian Recipes (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2022-09-23.
  6. Pereira, Alexius (2018). "Eurasian Community and Culture in Singapore". ใน Mathews, Mathew (บ.ก.). Singapore Ethnic Mosaic, The: Many Cultures, One People (ภาษาอังกฤษ). Singapore: World Scientific. p. 393. ISBN 978-981-323-475-8.