เสือหวัด

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สวัสดิ์ โพธิ์หอม
ชุมนุมกองโจร "เสือหวัด" ในขณะที่ถือปืนด้ามยาวไว้ตรงไหล่
เกิดพ.ศ. 2462
จังหวัดสุพรรณบุรี ประเทศสยาม
เสียชีวิตพ.ศ. 2500 (38 ปี)
จังหวัดกาญจนบุรี ประเทศไทย
สัญชาติไทย
อาชีพชาวนา, โจร
บุพการี
  • สว่าง โพธิ์หอม (บิดา)
  • ย้อย โพธิ์หอม (มารดา)

เสือหวัด มีชื่อจริงว่า สวัสดิ์ โพธิ์หอม (พ.ศ. 2462 - พ.ศ. 2500) เป็นจอมโจรชื่อดังในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ร่วมสมัยกับ เสือดำ, เสือมเหศวร, เสือใบ, เสือฝ้าย เป็นต้น โดยเสือหวัดจะออกปล้นในแถบภาคกลาง จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดนครปฐม และจังหวัดกาญจนบุรี เรื่องราวของเสือหวัด โด่งดังเป็นที่รู้จักกันในกรมตำรวจภูธรภาค 7 ยุคสมัยก่อน ปรากฏเป็นเสือร้ายที่มีประวัติร้ายกาจ และค่าตัวที่สูงมาก ๆ

ประวัติ[แก้]

"เสือหวัด" เกิดที่ ตำบลมดแดง อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี ในปี พ.ศ. 2462 บิดาชื่อ นายสว่าง มารดาชื่อ นางย้อย นามสกุล โพธิ์หอม เป็นลูกชาวนา บุตรคนที่ 3 ในจำนวนพี่น้องทั้งหมด 5 คน

ชีวประวัติเสือหวัดนั้นไม่ชัดเจนนัก เนื่องจากบุคคลในยุคสมัยก่อนนั้นยังไม่นิยมบันทึกเรื่องราวชีวประวัติกันเท่าไรนัก โดยเรื่องราวของเสือหวัดก็ไม่แตกต่างจากเรื่องราวของเสือร้ายอื่น ๆ เท่าใดนัก คือ ชีวิตได้รับความไม่เป็นธรรมจากผู้มีอำนาจอิทธิพลในพื้นที่ จนต้องผันตัวกลับกลายเป็นเสือร้าย

ชีวิตในเบื้องต้นของเสือหวัดก็ไม่แตกต่างจากคนบ้านนอกอื่นในรุ่นราวคราวเดียวสักเท่าไรนัก คือ ช่วยบิดามารดาทำไร่ทำนา กระทั่งในคืนหนึ่ง มีโจรลักควายผู้ใหญ่บ้านจำนวนหนึ่งแล้วหนีมาทางบ้านนายสวัสดิ์ ซึ่งอยู่ท้ายทุ่งของหมู่บ้าน แล้วผู้ใหญ่บ้านนั้นก็ใช้อำนาจของตนที่มีอยู่ ใส่ความว่านายสวัสดิ์และพรรคพวกจำนวนหนึ่งเป็นโจรลักควาย จะต้องจ่ายเงินค่าเสียหายจำนวนมากมายที่นายสวัสดิ์และพรรคพวกไม่สามารถจ่ายได้ให้แก่ตน ทั้ง ๆ ที่ไม่มีหลักฐานใด ๆ เอาผิดนายสวัสดิ์ได้ แต่ว่าใช้อำนาจอิทธิพลของตนและความมีพรรคพวกที่มากกว่ากล่าวเท็จใส่ร้ายนายสวัสดิ์ และพรรคพวก ด้วยว่าไม่ชอบคอกันมาแต่ครั้งก่อนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เพราะด้วยเรื่องผู้หญิง จึงนำตำรวจมาจับกุมนายสวัสดิ์ ซึ่งเมื่อสบโอกาสนายสวัสดิ์เองก็มิได้คิดหนีไปแต่อย่างใด ด้วยว่าเกรงบิดามารดาและพี่น้องจะได้รับเคราะห์ไปกับตนด้วย เมื่อตำรวจมาถึง จึงถูกตำรวจจับกุมไปดำเนินคดี

นายสวัสดิ์และพรรคพวกถูกดำเนินคดีและฝากขัง ณ เรือนจำแห่งหนึ่งทางกรุงเทพ ไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นเรือนจำใด เป็นระยะเวลานานพอสมควร กระทั่งวันหนึ่งมีผู้คุมขังที่ไม่ซื่อสัตย์ในหน้าที่ ได้ออกอุบายว่าจะปล่อยให้นายสวัสดิ์และพรรคพวกอีกประมาณสามสี่คนออกไปจากคุกและกลับไปบ้านโดยอิสระหลุดพ้นจากคดี แต่ว่าจะต้องไปปล้นเงินจำนวนหนึ่งมาให้เท่าที่ผู้คุมคนนั้นต้องการ นายสวัสดิ์และพรรคพวกขั้นแรกยังไม่ยินยอมทำตามข้อเสนอแนะของผู้คุม ระหว่างอยู่ที่เรือนจำก็จำต้องถูกผู้คุมนั้นกลั่นแกล้ง และหลอกลวงด้วยอุบายต่าง ๆ นานา จนในที่สุดนายสวัสดิ์จึงต้องจำยอมรับข้อเสนอของผู้คุม

หลังจากออกจากเรือนจำได้แล้วนายสวัสดิ์และพรรคพวกก็ได้เริ่มออกปล้นบริเวณในกรุงเทพมหานคร โดยในระยะแรกนี้ยังไม่มีการทำร้ายเจ้าทรัพย์ เป็นเพียงการปล้นเพื่อหวังในทรัพย์เพียงเท่านั้น เมื่อได้เงินจำนวนที่ต้องการแล้วก็รวบรวมไปให้ผู้คุมเรือนจำ

ระหว่างที่เป็นเสือ[แก้]

แต่นั้นมาจุดเริ่มต้นของการเป็นเสือออกปล้นของนายสวัสดิ์ก็เริ่มขึ้น จนกระทั่งเหตุการณ์ปล้นเหตุการณ์หนึ่ง ผู้คุมได้สั่งให้ไปปล้นบ้านเศรษฐี เมื่อไปปล้นบ้านเศรษฐีผู้นั้น ก้าวแรกที่ขึ้นไปถึงประตูบ้าน นายสวัสดิ์ถูกระดมยิงเข้าเต็มหน้าอกตกลงจากบ้าน แต่ด้วยเป็นคนมีวิชาอาคม กระสุนปืน อาวุธต่าง ๆ จึงไม่สามารถทำอะไรนายสวัสดิ์ได้ แต่พรรคพวกของนายสวัสดิ์ถูกยิงเสียชีวิตกันหลายราย หลังจากหนีรอดมาได้ ทราบภายหลังว่า เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นการวางแผนของผู้คุมจากเรือนจำนั้น ต้องการจะปิดปากนายสวัสดิ์และพรรคพวก

นายสวัสดิ์และพรรคพวกที่รอดถูกไล่ล่าอย่างหนัก จึงแยกกันหลบหนีคนละทิศละทาง พร้อมทั้งข้อหาอุกฉกาจที่ตามหลังตนที่ถูกยัดเยียดจากผู้มีอิทธิพลเหล่านั้น

นายสวัสดิ์หนีกลับบ้านไม่ได้ จึงต้องซ่อนตัวอยู่ตามต่างจังหวัดบริเวณพื้นที่เขตติดต่อสุพรรณบุรี กาญจนบุรี นครปฐม ด้วยต้องหลบหนีอย่างหัวซุกหัวซุนกลับบ้านไปใช้ชีวิตตามเดิมไม่ได้ สิ่งแวดล้อมหลายๆสิ่งหลาย ๆ อย่างบีบบังคับ เหตุนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการก้าวเข้ามาเป็นเสือร้ายอย่างเต็มตัว ที่ออกปล้นอย่างร้ายกาจ ของจอมโจรเมืองสุพรรณที่มีค่าหัวสูง นามว่า "เสือหวัด"

หนังสือบันทึกประวัติ "เสือหวัด"

หลังจากที่ได้ก้าวเข้าไปเป็นเสือร้ายอย่างเต็มตัวแล้ว เสือหวัดก็ได้ออกปล้นในหลาย ๆ พื้นที่ โดยจะเลือกถือปล้นตามฤกษ์ยาม และปล้นเฉพาะบ้านที่มีฐานะร่ำรวย ด้วยเป็นผู้ที่มีจิตใจกว้างขวาง มีบารมี จึงทำให้เสือหวัดมีสมุนมาก แต่ด้วยการปล้นแต่ละครั้งเสือหวัดจะไม่ปล้นเจ้าทรัพย์จนหมดตัวเหมือนชุมเสืออื่น ๆ โดยจะปล้นแบ่งเอาเพียงบางส่วน เหตุนี้จึงทำให้ต่อมาพรรคพวกเสือหวัดจึงหมุนเวียนเปลี่ยนออกจากกลุ่มเสือหวัดไปอยู่ยังกลุ่มหรือชุมเสืออื่น ๆ เมื่อออกปล้นได้เงินทองแล้วเสือหวัดก็ยังคงมีใจกตัญญู นึกถึงคุณบิดามารดาและผู้อื่น ได้เอาทรัพย์จำนวนหนึ่งนั้นไปให้วัดและชาวบ้านที่ยากจน และบิดามารดาซึ่งชรา โดยการแอบเอาไปซุกซ่อนไว้ในบ้าน ด้วยทราบว่าบิดามารดาย่อมไม่ยอมรับเงินทองเหล่านี้โดยตรงจากตนแน่นอน แต่เมื่อบิดามารดามาพบเงินทองเหล่านี้เข้า เมื่อทราบว่าเป็นเงินร้อนของลูกชาย ก็หาได้ยินดีรับเงินทองเหล่านี้ด้วยไม่ มีแต่ขอร้องให้ลูกชายเลิกดำเนินชีวิตเช่นนี้

เสือหวัดเองเคยลูบคมเจ้าหน้าที่บ้านเมือง บุกปล้นบ้านนายอำเภอท่านหนึ่ง พร้อมทั้งชิงปืนทองของนายอำเภอท่านนั้นที่ว่ากันว่าทันสมัยและสวยงามมากในยุคนั้นมาด้วย แล้วต่อมาเอาไปฝากน้องชายที่บ้านที่ศรีประจันต์ แต่น้องชายไม่รับไว้ แต่พี่เขยเสือหวัดสนใจ เสือหวัดจึงมอบให้พี่เขยคนนี้ไป

มรณกรรม[แก้]

จุดจบของเสือหวัด กล่าวกันว่าครั้งสุดท้ายที่เสือหวัดเดินทางมาเยี่ยมมารดา (ส่วนบิดาเสียชีวิตไปแล้ว) และเยี่ยมพี่น้องที่บ้านเกิด ขากลับยังได้รับชายวัยฉกรรจ์ในหมู่บ้านและใกล้เคียงไปสมทบเป็นลูกน้องเพิ่มเติมอีกสามสี่คน การกลับมาครั้งนี้เป็นการกลับบ้านเกิดครั้งสุดท้าย ก่อนเสือหวัดจะสิ้นลาย (ประมาณช่วงยุค พ.ศ. 2500) โดยการปราบปรามของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตามคำสั่งจับตาย ณ ท้องทุ่งชายเมืองสุพรรณบุรี (บริเวณแถวอำเภอสองพี่น้อง อำเภออู่ทอง หรือเข้าเขตอำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี ไม่ทราบจุดแน่ชัด) โดยการดวลปืนกันครั้งใหญ่กับตำรวจ ก่อนจะถูกปิดคดี และเรื่องราวเงียบงันหายไป โดยทั้งที่ญาติพี่น้องและบุคคลอื่น ๆ ไม่มีใครทราบถึงแม้กระทั่งหลุมศพของเสือหวัดเลย (บ้างก็เล่ามาว่าเสือหวัดพลาดท่าหนีลอดราวตากผ้าถุงจึงทำให้วิชาอาคมมนต์ขลังเสื่อมลงแล้วถูกกลุ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจ วิสามัญฆาตกรรม)

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]