เทวดามาโปรด
เทวดามาโปรด[1] (ละติน: deus ex machina, ออกเสียง: [ˈdɛ.ʊs ɛks ˈmaːkʰɪnaː]; แปลจากกรีกโบราณ: ἀπὸ μηχανῆς θεός, ออกเสียง [apò mɛːkʰanɛ̂ːs tʰe.ós]; แปลว่า เทพเจ้าจากเครื่องจักร) เป็นกลวิธีการสร้างโครงเรื่องวิธีหนึ่ง ที่ซึ่งปัญหาที่ดูเหมือนว่าจะไม่มีทางแก้นั้น จู่ ๆ ก็คลี่คลายได้ด้วยการแทรกแซงที่คาดหมายไม่ถึง ไม่ว่าเพราะสถานการณ์ใหม่ ตัวละครใหม่ ความสามารถใหม่ หรือวัตถุใหม่ที่ไม่ได้กล่าวถึงมาก่อน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับวิธีการใช้ เทวดามาโปรดสามารถทำให้เรื่องดำเนินต่อไปได้ เมื่อเนื้อเรื่องดำเนินไปถึงบางสถานการณ์ เช่น เมื่อผู้เขียนตกอยู่ในสภาวะ "จนตรอก" หาทางออกไม่ได้ เมื่อผู้เขียนต้องการให้ผู้ชมแปลกใจ เมื่อต้องการให้เรื่องลงเอยด้วยดี หรือแม้กระทั่งการใช้เทวดามาโปรดในฐานะจุดหักมุมเชิงขบขัน เป็นต้น
ต้นกำเนิดของสำนวน
[แก้]สำนวนละติน deus ex machina ประกอบด้วยคำว่า deus หมายถึง "เทพเจ้า", ex หมายถึง "จาก" และ machina หมายถึง "เครื่องมือ, นั่งร้าน, กลไก" อันเป็นคำยืมจากภาษากรีก กลวิธีนี้ได้รับการกล่าวถึงโดยฮอเรซ กวีชาวโรมัน ใน อาร์สปอเอติกา (บรรทัดที่ 191–192) โดยฮอเรซได้แนะนำนักกวีว่าพวกเขาไม่ควรหันหา "เทพเจ้าจักรกล" ในการคลายปมเนื้อเรื่อง "นอกเสียแต่ว่าความยุ่งยากนั้นควรค่าแก่การช่วยเหลือจากเทพเจ้า" (nec deus intersit, nisi dignus uindice nodus inciderit; nec quarta loqui persona laboret.)[2] ในกรณีนี้ ฮอเรซอ้างอิงถึงวิธีปฏิบัติในละครโศกนาฏกรรมกรีกที่ซึ่งนักแสดงที่ได้รับบทบาทเป็นเทพเจ้าจะถูกนำขึ้นเวทีด้วยเครื่องจักร ซึ่งเป็นกลไกที่สามารถยกนักแสดงขึ้นหรือลงผ่านประตูกลบนเวทีได้
วิธีการใช้ในสมัยโบราณ
[แก้]กว่าครึ่งของละครโศกนาฏกรรมของยูริพิดีสใช้กลวิธีเทวดามาโปรดในการคลี่คลายปมปัญหา ซึ่งทำให้นักวิจารณ์หลายคนอ้างว่ายูริพิดีสเป็นผู้ให้กำเนิดกลวิธีนี้ขึ้น แม้ว่าเอสคิลัส นักเขียนโศกนาฏกรรมชาวกรีก จะใช้กลวิธีที่คล้ายกันในบทละคร เอ็วเมนิเด็ส[3] ตัวอย่างที่ได้รับการยกขึ้นมาบ่อยครั้งคือเรื่อง มีเดีย ของยูริพิดีส ซึ่งเทวดามาโปรดในรูปลักษณ์ของรถลากมังกรที่ถูกส่งมาโดยเทพเจ้าแห่งดวงอาทิตย์ถูกนำมาเป็นพาหนะในการพามีเดีย ซึ่งเพิ่งก่อคดีฆาตกรรมและฆ่าทารก ให้ได้หนีจากเจสัน สามีของเธอ สู่ที่ปลอดภัยในเอเธนส์ ในบทละครเรื่อง อัลแกสติส อัลแกสติส ตัวเอกได้ตกลงที่จะสละชีวิตเพื่อช่วยชีวิตอัดแมโตส สามีของเธอ ในตอนท้ายของเรื่อง เฮราคลีสได้ปรากฏตัวขึ้นและแย่งตัวเธอจากยมทูตทำให้เธอรอดชีวิตและได้กลับไปอยู่กับอัดแมโตส
กลวิธีนี้ไม่รอดพ้นการถูกวิพากษ์วิจารณ์จากนักวิจารณ์ในสมัยโบราณ โดยหนึ่งในคำวิจารณ์แรก ๆ ที่ได้รับการบันทึกนั้นมาจากบทสนทนา กราตือโลส ของเพลโต แม้ว่าจะอยู่ในบริบทของการถกเถียงที่ไม่ได้เกี่ยวกับการละคร
อาริสโตเติลได้วิจารณ์กลวิธีนี้ไว้ใน เปรีโปเยติแกส โดยกล่าวว่าการคลี่คลายปมปัญหานั้นควรมาจากภายใน และสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้นในละคร:[4]
ในตัวละครก็เช่นกัน เฉกเช่นเดียวกับโครงสร้างของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น [กวี] ควรมองหาถึงสิ่งที่จำเป็นหรือเป็นไปได้อยู่เสมอ เพื่อที่ว่าตัวละครดังกล่าวจะสามารถกระทำหรือพูดสิ่งใดที่จำเป็นหรือเป็นไปได้สำหรับตัวละครนั้น ๆ และด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงทำให้เหตุการณ์ที่จำเป็นหรือเป็นไปได้เกิดขึ้นหลังจากการกระทำดังกล่าว เห็นได้ชัดว่านี่เอง จึงเป็นสิ่งสมควรที่การคลี่ปมปัญหาเนื้อเรื่องจะเป็นผลจากเนื้อเรื่องในตัวมันเอง ไม่ได้มาจากสิ่งประดิษฐ์ อย่างใน "มีเดีย" และบทที่กล่าวถึงการล่องเรือกลับบ้านใน อีเลียด สิ่งประดิษฐ์ควรใช้ในบริบทนอกเนื้อเรื่องในละคร — เช่น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนหน้า ซึ่งอยู่นอกเหนือความรู้ของมนุษย์ หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังที่ควรเล่า เพราะเรายอมรับในดวงตาที่เห็นในทุกสิ่งของเทพเจ้า ไม่ควรมีส่วนประกอบใดในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ดูเป็นไปไม่ได้ หากมี สิ่งนั้นก็ควรอยู่นอกเรื่องราวที่สำคัญ เช่น ในเรื่อง อิดิปุส ของซอโฟคลีส
— (1454a33–1454b9)
อย่างไรก็ตาม อาริสโตเติลได้ชื่นชมยูริพิดีสในการจบเรื่องด้วยเหตุร้าย ซึ่งอาริสโตเติลมองว่าเป็นสิ่งที่ถูกควรในละครโศกนาฏกรรม และให้ข้อยกเว้นกับการแทรกแซงจากเทพเจ้า โดยกล่าวว่าควรมี "ความน่าประหลาดใจ" อยู่ในละครโศกนาฏกรรม:[5]
ความไม่เป็นเหตุเป็นผลควรอยู่ในกรอบของสิ่งที่คนพูด นี่เป็นทางออกหนึ่ง เพราะบางครั้งมีความเป็นไปได้เสมอว่าสิ่งที่ไม่น่าเกิดอาจเกิดขึ้นได้
ในบทละคร เท็ซโมโพริอัซดูไซ ของอาริสโตพาแนส อาริสโตพาแนสได้ล้อการชอบใช้เครนของยูริพิดีสด้วยให้ยูริพิดีสเป็นตัวละครหนึ่งที่ถูกเครนยกขึ้นบนเวที
ในวรรณกรรมสมัยใหม่
[แก้]โดยทั่วไป "เทวดามาโปรด" มักถูกมองว่าเป็นกลวิธีที่ไม่ควรใช้ในการเขียน โดยมักชี้ให้เห็นถึงการขาดความคิดสร้างสรรค์ของผู้เขียน ด้วยเหตุผลที่ว่ากลวิธีนี้ไม่ต้องตรงกับตรรกะภายในเรื่อง (แม้ว่าบางครั้งกลวิธีนี้จะถูกใช้อย่างจงใจด้วยประการนี้) และมักจะระงับความกังขาของผู้ชมลงได้ในชั่วครู่ เพื่อให้ผู้เขียนสามารถจบเรื่องได้ด้วยบทสรุปที่ไม่น่าเชื่อ แม้ว่าอาจทำให้ได้ตอนจบที่น่าพอใจกว่าก็ตาม[6] ตามข้อวิจารณ์ของอาริสโตเติล นักวิจารณ์ในสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยายังคงมองเทวดามาโปรดในฐานะกลวิธีที่ขาดความสร้างสรรค์ แม้ว่านักเขียนบทละครหลายคนในช่วงยุคนี้จะยังใช้กลวิธีนี้อยู่ก็ตาม เช่น วิลเลียม เชกสเปียร์ ที่ใช้กลวิธีนี้ใน ตามใจท่าน, เพริคลีส พรินซ์ออฟไทร์, ซิมเบอลีน และ เดอะวินเทอส์เทล[7]
ระหว่างความผันผวนทางการเมืองในคริสต์ศตวรรษที่ 17 และ 18 กลวิธีเทวดามาโปรดมักถูกนำมาใช้เพื่อทำให้ประเด็นที่กำลังเป็นที่ถกเถียงดูดีมากขึ้น เพื่อความพึงพอใจของผู้ที่มีอำนาจ เช่น ในฉากสุดท้ายของ ตาร์ตุฟ บทละครของมอลีแยร์ ตัวเอกได้รับการช่วยเหลือให้พ้นภัยจากกษัตริย์ผู้มีความเมตตาและรู้เห็นทุกสิ่งอย่าง — ซึ่งเป็นกษัตริย์คนเดียวกันที่กุมชะตาชีวิตของมอลีแยร์[8]
ในวรรณคดีไทย ตัวอย่างของการใช้กลวิธีเทวดามาโปรดก็มีอยู่ เช่น ในนิทานคำกลอนของสุนทรภู่เรื่อง พระอภัยมณี ตอนกำเนิดสุดสาคร เมื่อนางเงือกจะคลอดสุดสาครนั้นนางอยู่ตัวคนเดียว หาใครช่วยก็ไม่มี มีแต่พระฤๅษีซึ่งถือตบะบำเพ็ญพรต ทำให้แตะต้องตัวนากเงือกไม่ได้ และท่านก็ไม่รู้วิธีผูกแต่งเปลไว้เลี้ยงเด็ก แต่เทพยาดาก็มาช่วยให้นางเงือกคลอดได้อย่างปลอดภัย ส่วนเปลเลี้ยงเด็กนั้นพระฤๅษีหลับตาเข้ากรรมฐานแล้วเปลเด็กก็ปรากฏขึ้นเอง
ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ฟรีดริช นีทเชอ ได้วิจารณ์ยูริพิดีสที่ทำให้โศกนาฏกรรมเป็นประเภทวรรณกรรมสุขนาฏกรรมผ่านการใช้กลวิธีนี้ นอกจากนี้ นีทเชอยังมีข้อกังขาเกี่ยวกับ "ความรื่นเริงแบบชาวกรีก" ที่ทำให้เขามองละครประเภทดังกล่าวว่าเป็น "ความสุขยินดีในชีวิต"[9] สำหรับนีทเชอ เทวดามาโปรด เป็นอาการของวัฒนธรรมแบบโสกราตีสซึ่งให้คุณค่าความรู้เหนือสุนทรียดนตรี และเป็นสาเหตุของจุดจบและความเสื่อมถอยของละครโศกนาฏกรรม:[10]
แต่ตอนนี้ จิตวิญญาณใหม่ที่ไร้สุนทรียะนั้นเห็นได้ชัดแจ้งที่สุดใน "ตอนจบ" ของละครใหม่ ๆ ในตอนจบของโศกนาฏกรรมแบบเก่านั้นมีกลิ่นอายของความประนีประนอมเชิงอภิปรัชญาอยู่ ซึ่งหากปราศจากสิ่งนี้แล้วยากเหลือเกินที่จะจินตนาการว่า เราจะหาความยินดีจากโศกนาฏกรรมได้อย่างไร บางที น้ำเสียงผ่อนโยนนั้นอาจสะท้อนก้องจากอีกโลกหนึ่งอย่างพิสุทธิ์สูงสุดใน อีดิปุสแอตโคโลนัส ตอนนี้ เมื่อโศกนาฏกรรมขาดอัจฉริยภาพทางดนตรี โศกนาฏกรรมในความหมายของตัวมันเองได้ตายลงเสียแล้ว ก็ในเมื่อความประนีประนอมเชิงอภิปรัชญานั้นหายไปเสียแล้ว ดังนั้นทางออกสำหรับความไม่กลมกลืนในโศกนาฏกรรมนั้นต้องเกิดขึ้น ตัวเอก หลังจากได้รับความทรมานจากชะตากรรม ได้รับรางวัลที่คุ้มค่าจากการแต่งงานที่สมเกียรติ รวมไปถึงเครื่องแสดงเกียรติยศที่สมศักดิ์ศรี ตัวเอกได้กลายเป็นนักรบ ได้รับอิสรภาพหลังจากที่พานพบอุปสรรคนานัปการ การปลอบประโลมเชิงอภิปรัชญากลับถูกขับออกไปด้วยเทวดามาโปรด
— ฟรีดริช นีทเชอ
นีทเชอได้กล่าวว่าเทวดามาโปรดทำให้เกิดการปลอบประโลมอย่างลวง ๆ ซึ่งไม่ควรมีขึ้นในปรากฏการณ์นี้[11] คำครหาของเขาได้กลายเป็นข้อคิดเห็นกระแสหลักในหมู่นักวิจารณ์
คำวิจารณ์จากนักคิดแนวหันเหใหม่ (revisionism) ในคริสต์ศตวรรษที่ 20 ได้ชี้ว่าเทวดามาโปรดไม่สามารถได้รับการวิเคราะห์ได้ในคำจำกัดความที่ตื้นเขินได้ และโต้เถียงว่ากลวิธีนี้ทำให้มนุษย์สามารถ "ล้วงลึก" ถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับเทพเจ้าได้[12] โดยเฉพาะรัช เรห์ม ที่ได้ยกตัวอย่างละครโศกนาฏกรรมกรีกที่เทวดามาโปรด ได้เข้ามาทำให้ชีวิตและทัศนคติของตัวละครที่พบกับเทพเจ้ายุ่งยากยิ่งขึ้น ในขณะที่ยังสื่อเรื่องราวให้แก่ผู้ชม[12] ทั้งนี้ ในบางกรณี ความไม่น่าเชื่อของเทวดามาโปรดถูกนำมาใช้อย่างจงใจ เช่น การหักมุมอย่างขบขันที่เกิดขึ้นในฉากหนึ่งของ มอนตี้ ไพธอนส ไลฟ์ ออฟ ไบรอัน เมื่อไบรอัน ตัวละครที่อาศัยอยู่ในจูเดีย ในคริสต์ศักราชที่ 33 ได้รับการช่วยชีวิตจากการตกลงจากที่สูงด้วยยานอวกาศของมนุษย์ต่างดาวที่ผ่านมา[13]
ตัวอย่างใหม่ ๆ
[แก้]ในนวนิยายคลาสสิก ลอร์ดออฟเดอะฟลายส์ การกู้ภัยกลุ่มเด็กที่ติดเกาะด้วยนายทหารนาวีที่บังเอิญผ่านมา (ซึ่งวิลเลียม โกลดิง ผู้เขียน ได้กล่าวว่าเป็น "กลสนุกเล็ก ๆ น้อย ๆ") ถูกนักวิจารณ์บางกลุ่มมองว่าเป็นเทวดามาโปรด ตอนจบที่กระทันหันนั้นชี้เป็นนัยว่า หากไม่ได้รับการช่วยเหลือ เด็ก ๆ จะต้องประสบกับชะตากรรมที่เลวร้าย (โดยเฉพาะราล์ฟ)[14]
แมตต์ แฟร็กชัน นักเขียนการ์ตูน ถูกวิจารณ์ว่าได้ใช้ที่พลังมหาศาล แต่ไม่เคยได้รับการระบุอย่างชัดเจนว่าคืออะไรของตัวละคร แฟรงกลิน ริชาดส์ เป็นเทวดามาโปรดในการ์ตูนเรื่อง เฟียร์อิตเซลฟ์ #5 (ค.ศ. 2011)[15]
เจ. อาร์. อาร์. โทลคีน ได้ประดิษฐ์คำว่า ยูคาแทสโตรฟี ซึ่งหมายถึงจุดหักเหของเหตุการณ์ที่ทำให้ตัวเอกไม่พบกับชะตากรรมที่เลวร้าย โทลคีนยังได้กล่าวถึงอินทรียักษ์ที่ปรากฏตัวทั้งใน ฮอบบิท และ อภินิหารแหวนครองพิภพ ว่าเป็น "เครื่องจักรที่อันตราย"[16] นักวิจารณ์บางสำนักได้กล่าวว่า ยูคาแทสโตรฟี โดยเฉพาะในกรณีอินทรียักษ์ เป็นตัวอย่างของเทวดามาโปรด เช่น เมื่ออินทรียักษ์ได้ช่วยชีวิตโฟรโดและแซมจากเมานต์ดูมในตอนสุดท้ายของ มหาสงครามชิงพิภพ[17][18] ในขณะที่นักวิจารณ์สำนักอื่นโต้ว่าสองแนวคิดนี้ไม่เหมือนกัน โดย ยูคาแทสโตรฟี นั้นไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อความสะดวกสบาย แต่เป็นส่วนหนึ่งของโลกในนวนิยายที่ซึ่งความหวังจะชนะทุกสิ่งในตอนท้าย[19]
เอ็กเซลซากา ซีรีส์อนิเมะและมังงะญี่ปุ่น ใช้เทวดามาโปรดเป็นกลวิธีเพื่อความขบขัน ด้วยการใช้ตัวละครนาเบะชิน[20] หรือชินอิจิ วาตานาเบะ ผู้กำกับอนิเมะ ซึ่งได้รับบทเป็นตัวร้ายในเรื่อง รวมไปถึงเดอะเกรตวิลล์ออฟเดอะแมโครคอซึม ซึ่งเป็นสิ่งที่มีรูปร่างเหมือนหลุมดำที่มีความสามารถในการเปลี่ยนแปลงเวลาและสถานที่ได้ตามความต้องการของเนื้อเรื่อง
หมายเหตุ
[แก้]- ↑ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. พจนานุกรมศัพท์วรรณกรรม ฉบับราชบัณฑิตยสภา (แก้ไขเพิ่มเติม). พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: สำนักงานราชบัณฑิตยสภา, 2561, หน้า 148.
- ↑ Ars Poetica by Horace
- ↑ Rehm (1992, 72) and Walton (1984, 51).
- ↑ Janko (1987, 20)
- ↑ Poetics 11.5, Penguin (1996, 45).
- ↑ Dr. L. Kip Wheeler. "Literary Terms and Definitions: D". สืบค้นเมื่อ 2008-07-26.
- ↑ Rehm (1992, 70).
- ↑ "Tartuff: Novel Guide" เก็บถาวร 2012-01-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. 2003. Retrieved November 2, 2011.
- ↑ Nietzsche (2003, 85).
- ↑ Nietzsche (2003, 84–86).
- ↑ Nietzsche (2003, 80).
- ↑ 12.0 12.1 Rehm (1992, 71).
- ↑ James Berardinelli, James. "Review: Life of Brian". Reelviews Movie Reviews. 2003
- ↑ Friedman, Lawrence S. (2008). "Grief, grief, grief: Lord of the Flies". ใน Bloom, Harold (บ.ก.). William Golding's Lord of the Flies. Infobase Publishing. pp. 67–68. สืบค้นเมื่อ 2013-12-31.
- ↑ Evans, Alex. "Fear Itself #5 – Review" เก็บถาวร 2013-10-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Weekly Comic Book Review. August 12, 2011
- ↑ J. R. R. Tolkien, letter 210 as quoted here
- ↑ Tolkien's Art: A Mythology for England by Jane Chance (2001), p. 179
- ↑ The Greenwood Encyclopedia of Science Fiction and Fantasy: Themes, Works, and Wonders, Volume 1, p. 195 [1]
- ↑ Mallinson, Jeffrey (2011). "Eucatastrophe". ใน Mazur, Eric Michael (บ.ก.). Encyclopedia of Religion and Film. ABC-CLIO. p. 175. สืบค้นเมื่อ 2014-01-01.
- ↑ MyAnimeList Character Database: Nabeshin
อ้างอิง
[แก้]- Bushnell, Rebecca ed. 2005. A Companion to Tragedy. Malden, MA and Oxford: Blackwell Publishing. ISBN 1-4051-0735-9.
- Heath, Malcolm, trans. 1996. Poetics. By Aristotle. Penguin: London. ISBN 978-0-14-044636-4.
- Janko, Richard, trans. 1987. Poetics with Tractatus Coislinianus, Reconstruction of Poetics II and the Fragments of the On Poets. By Aristotle. Cambridge: Hackett. ISBN 0-87220-033-7.
- Mastronarde, Donald, 1990. Actors on High: The Skene roof, the Crane and the Gods in Attic Drama. Classical Antiquity, Vol 9, October 1990, pp 247–294. University of California.
- Rehm, Rush, 1992. Greek Tragic Theatre. Routledge, London. ISBN 0-415-04831-1.
- Tanner, Michael ed. 2003. The Birth of Tragedy. By Nietzsche, Friedrich. Penguin: London. ISBN 978-0-14-043339-5.
- Taplin, Oliver, 1978. Greek Tragedy in Action. Methuen, London. ISBN 0-416-71700-4.
- Walton, J Michael, trans. 2000. Euripides: Medea. Methuen, London. ISBN 0-413-75280-1.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- New International Encyclopedia. 1905. .