ข้ามไปเนื้อหา

เด็กโต๋

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เด็กโต๋
กำกับอารียา สิริโสภา
นิสา คงศรี
เขียนบทอารียา สิริโสภา
นิสา คงศรี
ผู้จัดจำหน่ายไทยฟิล์มพิคเจอร์ส,พิกโอนาย
วันฉาย24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548
ความยาว100 นาที
ประเทศไทย
ภาษาไทย
ข้อมูลจากสยามโซน

เด็กโต๋ เป็นภาพยนตร์นอกกระแส ประเภทสารคดี เมื่อปี พ.ศ. 2548 สร้างโดย อารียา สิริโสภา เป็นเรื่องราวของเด็กจากโรงเรียนบ้านแม่โต๋ ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำของเด็กนักเรียนชาวเขา ตั้งอยู่ในตำบลบ่อแก้ว อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ฉายรอบปฐมทัศน์ในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน พ.ศ. 2548[1]

สรุป

[แก้]

ภาพยนตร์ดังกล่าวถ่ายด้วยกล้องวิดีโอดิจิตอล เล่าเรื่องราวของประยูร คำชัย ครูใหญ่โรงเรียนบ้านแม่โต๋ในแถบภูเขาชนบทของจังหวัดเชียงใหม่ ที่มีครอบครัวเป็นชาวเขาฐานะยากจน (ส่วนใหญ่เป็นกะเหรี่ยงและม้ง) ดำรงชีพด้วยการเป็นเกษตรกรในสภาพภูมิประเทศที่มีความทุรกันดารและห่างไกล เด็กนักเรียนมักจะต้องเดินทาง 80 - 90 กิโลเมตรโดยใช้ถนนบนภูเขาที่แคบและคดเคี้ยว ซึ่งในฤดูฝนจะทำให้ถนนดังกล่าวใช้สัญจรไปยังโรงเรียนไม่ได้ และบ่อยครั้งที่ผู้ปกครองของนักเรียนยากจนเกินกว่าจะจ่ายค่าเล่าเรียนได้ ประยูรจึงมองหาหนทางที่จะรับประกันว่าเด็กนักเรียนในโรงเรียนขนาดใหญ่แห่งนี้จะได้รับการศึกษาอย่างเหมาะสม

ประยูร ผู้ซึ่งถูกขอร้องให้ไปทำหน้าที่ในโรงเรียนแห่งนี้เมื่อเขาเริ่มสอนในปี พ.ศ. 2526 ในตอนแรกเขาสังเกตว่าเด็กนักเรียนไม่มีอาหาร ดังนั้นเขาจึงริเริ่มโครงการอาหารกลางวันฟรี ด้วยการสร้างโรงเรียนกินนอนและหาหนทางที่เด็กนักเรียนยอมรับได้มากที่สุด

โรงเรียนแห่งนี้ได้รับเงินสนับสนุนจำนวนเล็กน้อยจากรัฐบาลไทย วัสดุก่อสร้างหอพักโรงเรียนกินนอนได้มาจากเงินบริจาคที่ได้รับการสนับสนุนจากหลายๆ แห่ง ซึ่งงานก่อสร้างและการพัฒนาอื่นๆ ส่วนใหญ่ เด็กนักเรียนและครูเป็นผู้ลงมือทำเอง นอกเหนือไปจากค่าอาหารส่วนหนึ่งที่ได้รับจากรัฐบาลนั้น นักเรียนต้องปลูกผักและเลี้ยงปศุสัตว์เองด้วย เพื่อนำผลผลิตที่ได้บางส่วนมาปรุงอาหารเลี้ยงดูกันภายในโรงเรียน

โรงเรียนบ้านแม่โต๋เปิดสอนตั้งแต่ระดับอนุบาลไปจนถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ประยูรกำหนดให้นักเรียนที่สำเร็จการศึกษาได้รับรางวัลเป็นการเดินทางไปท่องเที่ยวยังจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นระยะทางมากกว่า 1,000 กิโลเมตรเป็นเวลาสามวัน โดยรถบรรทุกหกล้อและรถบัส ซึ่งค่าใช้จ่ายทั้งหมดเกิดจากการร่วมเก็บออมเงินกันเองภายในโรงเรียน สำหรับนักเรียนแล้ว นั่นคือการเห็นทะเลเป็นครั้งแรกในชีวิต ถือเป็นกุศโลบายอันแยบยลที่ส่งเสริมให้เด็กนักเรียนมุ่งมั่นในการออมและร่ำเรียนให้จบการศึกษา ตลอดจนมีวิชาติดตัวเพื่อประกอบอาชีพหรือศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นไป

การผลิต

[แก้]

ผู้ผลิต-โปรดิวเซอร์ อารียา สิริโสภา เป็นนางแบบชาวไทย-อเมริกัน ผู้ได้รับตำแหน่งนางสาวไทยประจำปี พ.ศ. 2537 จากนั้นเธอได้ย้ายมายังประเทศไทยเป็นการถาวร กลายเป็นนายทหารในกองทัพไทยและสอนภาษาอังกฤษที่สถาบันการทหารของกองทัพ เช่นเดียวกับการเป็นคอลัมนิสต์ให้กับนิตยสารและหนังสือ ผู้อำนวยการร่วม ผู้กำกับภาพยนตร์และบรรณาธิการคนสำคัญ นิสา คงศรี ผู้ช่วยผู้กำกับ เคยร่วมงานในภาพยนตร์ทวิภพ และคืนไร้เงา อารียา ซึ่งต้องการวิจัยแนวคิดของเธอสำหรับการสร้างภาพยนตร์เกี่ยวกับเด็กชาวเขา ติดต่อขอความช่วยเหลือจากนิสา ทั้งคู่ร่วมมือกันเป็นหุ้นส่วนและพัฒนาบทภาพยนตร์เด็กโต๋ ซึ่งได้รับเลือกให้นำเสนอที่เทศกาลภาพยตร์นานาชาติปูซาน พ.ศ. 2546

ผลตอบรับ

[แก้]

เมื่อภาพยนตร์ออกฉาย รัฐบาลไทยได้ตัดงบประมาณการศึกษาลง ซึ่งทำให้เงินค่าอาหารของนักเรียนลดลงจากวันละ 20 บาท เหลือ 12 บาท การกล่าวถึงภาพยนตร์ดังกล่าวในสื่อได้ทำให้ผู้คนสนใจในประเด็นนี้ และรัฐบาลได้พิจารณายกเลิกการปรับลดงบประมาณ[2] รายได้จากภาพยนตร์และการรณรงค์ระดมทุนถูกนำไปสนับสนุนโรงเรียนดังกล่าวด้วย

อ้างอิง

[แก้]
  1. Official Selection Detail[ลิงก์เสีย], 2005 Pusan International Film Festival, retrieved 2007-04-02.
  2. Kuipers, Richard. 2006-02-24. Innocence Dek toh (Documentary -- Thailand), Variety, retrieved 2007-04-02.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]